ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

สรุปท้าย ฮู้คิง...ฮู้คนลำปาง


แผนที่แสดงการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในลำปาง

คนหลากหลายที่ถูกลืม
เรามักจะมองกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง(หรือแม้ว) เมี่ยน(เย้า) กะเหรี่ยง อาข่า(อีก้อ) ลาหู่(มูเซอ)ฯลฯ ว่าเป็นชาวเขา ด้วยสายตาที่เหยียดหยาม ดูถูก หรืออย่างดีก็สมเพชเวทนา(ดังชื่อในวงเล็บเป็นชื่อที่คนไทยเรียก แต่ชื่อหน้าวงเล็บ เป็นชื่อที่เขาเรียกตนเอง เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเขาก็เป็นคนที่ไม่ยอมให้ถูกเหยียดหยามเช่นเดียวกับเราๆนี่เอง) แต่ใครจะรู้เลยว่า ความรู้สึกนี้เป็นอคติที่ถูกสร้างขึ้นมา ให้มองเขาเหล่านั้นอย่างเหมารวมไปหมด ว่าเป็นพวกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น ขนยาบ้า ตลอดจน คนเร่ร่อน

จะมีใครรู้บ้างไหมว่า กลุ่มชนกะเหรี่ยงนั้น เป็นชนดั้งเดิมร่วมกับชาวลัวะ[1](ซึ่งอยู่มาก่อนที่เจ้าอนันตยศมาสร้างเมืองเขลางค์นครเสียอีก) พวกเขากระจายตัวอยู่แทบจะทุกอำเภอของลำปาง บางกลุ่มชนอยู่มาก่อนจะมีชาติไทย แต่คนไทยกลับพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็น “คน” ด้วยการให้ร้องเพลงชาติ!!(ส่วนในกรณีที่พึ่งโยกย้ายอพยพ ก็เพราะเหตุผลว่าเขาไม่มีที่ไป เขาต้องการมีชีวิตอยู่รอด และสุขสบายตามที่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์พึงจะได้รับเช่นกัน)

บนความเชื่อของผู้เขียนที่เห็นความสำคัญของการเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เห็นว่าเรื่องสำคัญก็คือการเร่งทำความรู้จักตัวเอง และคนอื่นอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงการเสแสร้งทำด้วยการจัดงานแสดงเพื่อการตลาดหรือท่องเที่ยวเท่านั้น โอกาสที่คนและคนจะได้รู้จักความเป็นคนด้วยกัน….มีโอกาสเป็นไปได้ไหม?

มาทีหลัง แต่ก็รักและผูกพันกับลำปาง

หันกลับมามองกลุ่มคนอีกกลุ่มใหญ่ ก็คือ พ่อแม่พี่น้องที่มาจากหลากหลายถิ่นที่ ดังปรากฏในสถิติการสำรวจการย้ายสัมมะโนประชากร ที่เข้ามาในลำปางช่วง พ.ศ.2531 มีจำนวน 18,577 คน และในปี พ.ศ.2536 จำนวน 12,799 คน[2](เสียดายที่ไม่สามารถหาสถิติในระยะเวลาใกล้เคียงกว่านี้ได้) บ้างก็มาในนามราชการที่ย้ายมาตามสายงาน(อย่าลืมว่า ลำปางเคยถูกคาดหวังให้เป็น ศูนย์กลางการบริหารราชการของภาคเหนือตอนบน อยู่ช่วงสั้นๆ)

บ้างก็เป็นพนักงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บ้างก็เป็นพนักงานบริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ขาย นักวิชาการ นักวิชาชีพอื่นๆ ที่ล้วนต้องการที่ทางของตนเองเช่นกัน บางคนอยู่ลำปางมาเป็นสิบๆปี บางคนอยู่มาไม่กี่ปี ล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่งของลำปาง อยากเป็นคนลำปาง แม้จะไม่ได้มีกำเนิดอยู่ในที่แห่งนี้



ศูนย์ราชการจังหวัดลำปาง ถนนลำปาง-เด่นชัย

แต่เหตุใดยังมีอคติที่ว่า เขาเหล่านั้นเป็นคนมาจากที่อื่น ไม่ใช่คนลำปาง

อะไรคือ คนลำปางกันแน่!!!

สร้างทางเดินร่วมกัน กับความลำปางที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

จนถึงหน้ากระดาษนี้ หากมองอย่างหยาบๆ จะประมวลได้ว่า ผู้คนในบ้านเมืองลำปางมีอยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1) กลุ่มคนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มาเป็นเวลาเกือบ 200 ปีขึ้นไป อันได้แก่ คนเมืองและกลุ่มคนในวัฒนธรรมคนเมือง-ล้านนา ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัดลำปาง

2) กลุ่มพลังทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมที่เข้ามาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มชนพม่า จีน อินเดีย ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้จำแนกให้เห็นได้ชัดในบทความที่ผ่านมา

3) กลุ่มพลังทางเศรษฐกิจ-การเมือง-ระบบราชการ ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาทีหลังในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา แต่มีบทบาทกำหนดกรอบคิด และนโยบายเกี่ยวกับบ้านเมืองในปัจจุบันอย่างสูง เช่น ระบบราชการจากส่วนกลาง-ภูมิภาค,กฟผ.แม่เมาะ,บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย,บริษัท ปตท. เป็นต้น

กับกลุ่มสุดท้ายคือ 4) กลุ่มชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถูกเบียดขับออกจากความเป็นลำปางมากที่สุด



โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ลำปางในทุกวันนี้จึงมิได้มีเฉพาะคนเมือง วัฒนธรรมล้านนาที่ดูดี มีระดับและขายได้เท่านั้น เรายังมีพี่น้องผองเพื่อนอีกมากมาย รอให้รู้จัก เข้าใจ และยอมรับอีก แน่นอนว่า การรู้จักและเข้าใจกันเองนี้ยังเป็นภารกิจเบื้องต้นที่ต้องลุล่วงให้ได้

การฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง จึงมิใช่การรู้จักเพื่อไปท่องจำ หรือสำหรับเป็นความรู้รอบตัวเฉยๆ แต่เป็นความตั้งใจที่จะจุดประกายความอยากรู้ อยากเห็นเรื่องบ้านเมือง เช่นเดียวกับที่ผู้เขียนอยากรู้ อยากเห็น แต่ทำได้ด้วยสติปัญญาอันจำกัด สิ่งที่สร้างสรรค์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

จากฐานของสังคมที่ไร้รากและไร้ซึ่งความรู้ การถกเถียงแลกเปลี่ยนทางปัญญา ชุมนุมของผู้รู้ ผู้มีความสามารถ การแลกเปลี่ยนเผยแพร่สู่สาธารณชนจำเป็นต้องสถาปนาให้เกิดขึ้นให้ได้ มิใช่เพื่อเกียรติยศ หรือหน้าตาของใครบางคนเท่านั้น แต่การกระทำเหล่านั้นจะเป็นการสร้างคนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นภูมิต้านทานความไม่รู้ อำนาจมืดที่ครอบงำ ปิดบังทางออกของบ้านเมืองอยู่เรื่อยมา.

บรรณานุกรม
1. ศักดิ์ รัตนชัย.”เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง.2512.
2. ขนิษฐา ปานคง.การเปลี่ยนแปลงสภาพย่านตลาดหลักของเมืองกับการพัฒนานครลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.

เชิงอรรถ
[1] ศักดิ์ รัตนชัย.”เมืองนคร-เมืองลำปาง” ใน ของดีนครลำปาง.2512,หน้า 29
[2] ขนิษฐา ปานคง.การเปลี่ยนแปลงสภาพย่านตลาดหลักของเมืองกับการพัฒนานครลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543,หน้า 233-234

ชาวคริสต์ในลำปาง (3)



โรงเรียนวิชชานารี
[ที่มา : คุณสุวภรณ์ ชูโต]

ศาสนาคริสต์กับพัฒนาการบ้านเมือง
คุณูปการด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลแบบตะวันตก ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิม(สมุนไพร รวมไปถึงการเป่า การนับถือผีต่างๆด้วย ซึ่งนับเป็นการท้าทายโลกทัศน์แบบเดิมด้วยความคิดแบบตะวันตกที่ใกล้ตัวมาก) มีบันทึกไว้ว่าเริ่มดำเนินการเมื่อพ.ศ.2428 จากเงินพระราชทานของรัชกาลที่ 5 โดยนายแพทย์ซามูเอล พีเพิลส์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก เดิมชื่อ โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น[1]

และได้เปลี่ยนชื่อเรื่อยมาจนปัจจุบันคือ โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด (มีความพยายามเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลอีกหลายครั้งเช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลประจำถิ่น โรงพยาบาลวิชิตสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[2]) การรักษาพยาบาลยังมีการปฏิบัตินอกสถานที่ด้วย กล่าวคือ มีการจัดคลินิกในย่านชุมชนของคนจีน(ไม่ทราบว่าบริเวณตลาดจีน หรือสบตุ๋ย?)

ในส่วนของภารกิจสนับสนุนการศึกษา มีพื้นฐานเนื่องมาจากการทำงาน(ซึ่งเป็นค่านิยม-โลกทัศน์ของนิกายโปรเตสแตนท์) ทั้งแบบของเด็กหญิงและเด็กชาย ในกรณีเด็กหญิงนั้นมีการจัดชั้นเรียนพระคัมภีร์และสอนวิชาเย็บปักถักร้อย เรียกชื่อว่า โรงเรียนวันสะบาโต-Sabbath Schoolในที่สุดก็ได้พัฒนาจนสามารถจัดตั้งเป็นโรงเรียน เมื่อพ.ศ.2431 โดยได้รับบริจาคเงินจากมิตรสหาย และไม้สักจาก บริษัทบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์ม่าซึ่งเป็นบริษัททำไม้ มาสร้างอาคารเรียน[3] ในปีพ.ศ.2444

แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2447[4] ได้ชื่อว่า โรงเรียนสตรีละกอน(ละกอนเกิร์ลสกูล-Lakawn Girls school) แต่ในปีพ.ศ.2468 มีการใชื่อว่า สตรีอเมริกัน และครั้งหลังสุด คือ พ.ศ.2475 ใช้ชื่อว่า วิชชานารี บุคลากรสำคัญที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนี้ได้แก่ คุณครูทองฟัก เพ็ชรสุวรรณ คุณหญิงวลัย ลีลานุช คุณศรีวรรณ สิริวิสาล[5]ฯลฯ

ในส่วนของเด็กชายนั้น ได้กำเนิดในช่วงพ.ศ.2433 โดย นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์(ผู้ดูแลคริสจักรที่1 และโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นด้วย) ถือว่าเป็นโรงเรียนแบบอาชีวศึกษาดังปรากฏการสอนด้านการเกษตรและโรงฟอกหนัง(ซึ่งโรงเรียนผลิตเข็มขัดและรองเท้าขายให้กับกองทัพบกด้วย)ในพ.ศ.2454 หรือการเปิดแผนกปั่นด้าย ปั้นหม้อ พ.ศ.2462 ในระยะแรกโรงเรียนมีชื่อว่า ละกอนบอยสกูล-Lakawn boy’s school

ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ท่ามกลางไฟสงคราม ทำให้โรงเรียนต้องย้ายที่ทำการไปหลายที่ เช่น พ.ศ.2489 ไปเปิดสอนในชื่อโรงเรียน ขวัญนคร บริเวณโรงเรียนเทศบาล4 พ.ศ.2490 ก็ได้เช่าสถานกงสุลอังกฤษ(กองบังคับการตำรวจภูธรปัจจุบัน) ใช้ชื่อ เคนเน็ตแมคเคนซีดังเดิม แล้วย้ายกลับไปที่แรกสร้าง เมื่อพ.ศ.2494[6] โรงเรียนแห่งนี้ยังผลิตบุคลากรคนสำคัญของบ้านเมืองอันได้แก่ ส.ส.บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.พินิจ จันทรสุรินทร์ นายบุญเรือง ชุ่มอินทรจักร์[7]ฯลฯ



หอละกอน โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี
[ที่มา : คุณอนิรุทธิ์ อินทิมา]

ฉากสำคัญ เมื่อครั้งรัชกาลที่7 เสด็จเยี่ยม จนถึง สงครามโลกครั้งที่2
แม้จะเป็นชุมชนชาวคริสต์จะมีไม่มากนัก แต่ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของเจ้านายหลายครั้งหลายครา(หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นเพราะว่าชุมชนกลุ่มอื่นมิได้มีการบันทึกไว้) เช่นในพ.ศ.2469 คราวที่รัชกาลที่7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จประพาสลำปาง นักเรียนสตรีอเมริกันได้ตั้งแถวรับเสด็จ[8] เช่นเดียวกับโรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี[9]

พ.ศ.2472 สมเด็จพระศรีวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร และสมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เสด็จเยี่ยมโรงเรียนสตรีอเมริกัน[10] และร่วมฉลองคริสต์มาสที่โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี[11]

พ.ศ.2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานชื่อ วิชชานารี แทนชื่อ สตรีอเมริกัน[12] พ.ศ.2493 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่7 เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลแวนแซนวูร์ดเป็นการส่วนพระองค์[13] พ.ศ.2507 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด[14]

สมัยสงครามโลกครั้งที่2 รัฐบาลสยามรับรองการตั้งฐานทัพและยินยอมให้ญี่ปุ่นกรีธาทัพผ่าน อาคารสถานที่ของชาวตะวันตกที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร(ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา)ถูกยึด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์ ในส่วนของชาวอเมริกัน จึงประสบความยากลำบากในการดำเนินงาน บางแห่งต้องเปลี่ยนชื่อ บางแห่งต้องย้ายโรงเรียนหนี



ภาพวาดแสดงสภาพ โรงเรียนอรุโณทัยเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว
[ที่มา : สุวรรณสมโภชโรงเรียนอรุโณทัย, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2545]

ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
แม้จะเข้ามาทีหลัง คริสตชนกลุ่มนี้ ได้มาลงหลักปักฐานทำมาหากินอยู่บริเวณ บ้านดอนปาน ต.สบตุ๋ย อ.เมือง ลำปาง แต่ยังไม่มีพระสงฆ์(โรมันคาทอลิก) จนกระทั่งปีพ.ศ.2452 ถึงได้มีการส่งพระธรรมทูตขึ้นมาเผยแพร่ ดังปรากฏว่า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จนได้ก่อสร้างวัดขึ้นเมื่อพ.ศ.2494 ชื่อ วัดโรมันคาทอลิกลำปาง ณ บริเวณสวนผักเดิม[15]

แต่มีบทบาทโดดเด่นมากในด้านการศึกษา ได้แก่ การจัดตั้งโรงเรียนอรุโณทัย พ.ศ.2495 และโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง พ.ศ.2501 สถานศึกษาหลังนี้มีบุคคลสำคัญในบ้านเมืองจบการศึกษามาจำนวนมาก และมีความหลากหลายของวิชาชีพ อันได้แก่ ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรี ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ [16] ฯลฯ

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวคริสต์ลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. ตวงธรรม สุริยคำ.”ชื่อของโรงพยาบาลนี้” ใน แวนแซนวูร์ดอนุสรณ์ ที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิด ตึกพยาบาลสองชั้นปีกซ้าย ตึกปรุงอาหารคมสัน 2496 และเรือนศพ.พงส์วรุตม์ : ลำปาง,2496.
2. วัดแม่พระประจักษ์แห่งลูร์ดลำปาง.เอกสารอัดสำเนา
3. วีรยุทธ จงสถาพรพงศ์.“ศิษย์เก่าก้าวหน้า” ใน หนังสืออนุสรณ์ เคนเน็ตแม็คเคนซี 100 ปี,2533.
4. หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี วิชชานารี ค.ศ.1889-1989.กิจเสรีการพิมพ์ : ลำปาง,2532.
5. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
6. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
7. อเนก วงศ์ตระกูล และคณะ.บันทึกอัสสัมชัญลำปาง.พริ้นท์ แอนด์ คอนโทรล : กรุงเทพฯ,2545.

เชิงอรรถ
[1] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 37
[2] ตวงธรรม สุริยคำ.”ชื่อของโรงพยาบาลนี้” ใน แวนแซนวูร์ดอนุสรณ์ ที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิด ตึกพยาบาลสองชั้นปีกซ้าย ตึกปรุงอาหารคมสัน 2496 และเรือนศพ.พงส์วรุตม์ : ลำปาง,2496,หน้า 31
[3] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 31
[4] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” อ้างแล้ว หน้า 39
[5] ดูใน หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี วิชชานารี ค.ศ.1889-1989.กิจเสรีการพิมพ์ : ลำปาง,2532.
[6] อ้างแล้ว หน้า 41-43
[7] วีรยุทธ จงสถาพรพงศ์.“ศิษย์เก่าก้าวหน้า” ใน หนังสืออนุสรณ์ เคนเน็ตแม็คเคนซี 100 ปี,2533.
[8] อ้างแล้ว หน้า 39
[9] อ้างแล้ว หน้า42
[10] อ้างแล้ว หน้า 40
[11] อ้างแล้ว หน้า 42
[12] อ้างแล้ว หน้า 40
[13] อ้างแล้ว หน้า 38
[14] อ้างแล้ว
[15] วัดแม่พระประจักษ์แห่งลูร์ดลำปาง.เอกสารอัดสำเนา
[16] อเนก วงศ์ตระกูล และคณะ.บันทึกอัสสัมชัญลำปาง.พริ้นท์ แอนด์ คอนโทรล : กรุงเทพฯ,2545

ชาวคริสต์ในลำปาง (2)


ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน(พ.ศ.2373-2454)
[ที่มา : คุณอนิรุทธิ์ อินทิมา]

ศาสนาคริสต์บนแผ่นดินนครลำปาง[1]
จวบจนกระทั่งพ.ศ.2421 ตามบันทึกของมิชชันนารีที่เชียงใหม่ กล่าวไว้ว่า มีชายสูงวัยท่าทางภูมิฐานคนหนึ่งเข้าไปหา ที่เชียงใหม่ และกล่าวทักทายตามภาษาที่มีในพระคัมภีร์ไบเบิล ชายคนนั้นก็คือ พญาสีหนาท ชายคนนี้มีตำแหน่งในสูงในเค้าสนามเมืองลำปาง กล่าวกันว่าเคยติดตามเจ้าหลวงลงไปกรุงเทพฯ และได้รับพระคัมภีร์ไบเบิลจากหมอบรัดเลย์! ในที่สุดท่านก็ได้รับเชื่อคริสต์ศาสนารับศีลบัพติศมาเป็นคริสเตียน

สาเหตุอาจเนื่องมาจากความขัดแย้งกับเค้าสนาม ราชสำนักลำปาง ประกอบกับความสนใจเป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ท่านสูญเสียยศฐาบรรดาศักดิ์และหน้าที่การงานที่เคยมีทั้งหมด (อย่างไรก็ดีนับว่ายังโชคดีกว่าเชียงใหม่ ที่ผู้รับเชื่อหลายท่านถูกประหารชีวิต เนื่องจาก ได้ส่งผลต่อระบบความคิดความเชื่อ และสะเทือนมาถึงอำนาจของเจ้าชีวิต ที่เคยมีเหนือไพร่ของตน ซึ่งไพร่ที่รับเชื่อ บังอาจขัดขืนคำสั่งเกณฑ์แรงงานในวันอาทิตย์ ตามหลักปฏิบัติคำสอนของคริสตศาสนา)

เพียง 2 ปีต่อมา เมื่อพ.ศ.2423 พญาสีหนาทก็สามารถจัดตั้ง คริสตจักรขึ้น ณ เมืองนครลำปางได้สำเร็จ โดยมีพญาสีหนาทเป็นผู้นำคริสตจักร

ที่น่าสนใจก็คือ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสยามที่ผ่านมาทาง กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ประจำเชียงใหม่ เนื่องในการจัดตั้งศูนย์มิชชั่น ซึ่งได้รับมอบที่ดินสำหรับตั้งบ้านพัก สำนักงาน รวมทั้งทุนทรัพย์จำนวน 2,000 รูปี ในการจัดตั้งโรงพยาบาลแบบตะวันตก เมื่อพ.ศ.2428

การเมือง การคานอำนาจระหว่างกันของประเทศตะวันตก
วิถีชีวิตของคริสตชนที่แปลกไปจากเดิม น่าจะส่งผลความขัดแย้งในประเพณีปฏิบัติในจารีตดั้งเดิม ดังที่ปรากฏว่า มิชชันนารีได้ร้องเรียนไปยังราชสำนักกรุงเทพฯ ในเรื่อง เหตุการณ์ขัดแย้งการแต่งงานตามประเพณีคริสต์และประเพณีดั้งเดิม จึงสันนิษฐานได้ว่า พระบรมราชโองการ รัชกาลที่ 5 เรื่อง เสรีภาพทางศาสนา(Edict of the toleration)[2] ซึ่งน่าจะเป็นการหนุน การนับถือศาสนาพระเยซูเจ้า มากกว่าสิ่งใด

ที่น่าสนใจก็คือว่า ไฉนรัฐบาลสยามจึงดูเอาใจ ชาวคริสต์เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การมอบที่ดิน ทรัพย์ และการคุ้มครองทางกฏหมายในการนับถือศาสนา อาจเป็นเนื่องเพราะช่วงนั้นประเทศตะวันตกทั้งหลายเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนต่างๆไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจเก่าอย่างจีน อินเดีย หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนาม เขมร ลาว ฉะนั้นนโยบายสำคัญก็คือ การสนับสนุนกิจการของชาวตะวันตก(เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่า ล้าหลัง ป่าเถื่อน ซึ่งมักเป็นข้ออ้างในการยึดดินแดน) และการสร้างเงื่อนไขการคานอำนาจกันเองของประเทศตะวันตก



แผนที่เมืองนครลำปาง แสดงการกระจายตัวของผู้คน : ฝั่งตะวันตกอันเป็นที่อยู่ของชาวอเมริกัน ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นที่อยู่ของชาวอังกฤษ

หากจะมองในทางกายภาพ และการตั้งถิ่นฐานจะพบ 2 ชุมชนสำคัญได้แก่ ชุมชนชาวอเมริกัน ในนามของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนา ณ คริสจักรที่1(โบสถ์คริสต์ข้างโรงเรียนวิชชานารี) การศึกษา และการแพทย์ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของถนนรัษฎา ซึ่งอีกฟากฝั่งคือ แหล่งชุมชนชาวอังกฤษ อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ สถานกงสุลอังกฤษ อยู่บริเวณ กองบังคับการตำรวจภูธร จ.ลำปาง ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งยืนอยู่บนผลประโยชน์ การค้าไม้สัก ทั้งในหัวเมืองเหนือ ต่อเนื่องไปยังพม่า ดังนั้นทางฝั่งตะวันออกของถนนรัษฎา ยังปรากฏ อาคารสำนักงาน ของบริษัทค้าไม้อังกฤษ แม้กระทั่งอาคารบ้านเรือน

ก่อรูป-บ่มเพาะ
เดิมนั้นเมื่อสถานีมิชชั่นได้มาเปิดทำการ มีครอบครัวนายแพทย์ซามูเอล และนางซาราห์ พีเพิลส์ เป็นมิชชันนารีครอบครัวแรก ใช้บ้านพญาสีหนาท เป็นที่ทำการ แต่ภารกิจของนายแพทย์ซามูเอล ต้องใช้เวลาในการรักษาผู้ป่วยจึงไม่มีเวลามากนักในการ ภายหลัง ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ย้ายมาทำงาน ณ เมืองนครลำปาง ในตำแหน่งศิษยาภิบาล ของคริสตจักรที่ 1 ลำปาง เมื่อพ.ศ.2431[3] พร้อมกับหลานสาวคือ มิสแคทรีน ฟลีสัน

ท่านและหลานสาวได้เปิดชั้นเรียนในวันอาทิตย์ที่จะสอนภาษาพื้นเมือง โดยมี หนานพรหม ชาวแจ้ห่มเป็นผู้ช่วย นักร้องเพลงสวด ท่านยังเป็นผู้แปลเพลงสวด(เพลงนมัสการพระเจ้า หรือ Hymnal)จากภาษาอังกฤษเป็นคำเมืองกว่า 500 เพลงซึ่งบทเพลงดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2438 และ พ.ศ.2448[4] ซึ่งเป็นผลงานสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของท่าน

นอกจากนั้นศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างโบสถ์ฟลีสันเมโมเรียล ร่วมกับพ่อครูเทเลอร์ (ศาสนาจารย์ ฮิวจ์ เทเลอร์) ที่เริ่มสร้างในปีพ.ศ.2452 มาแล้วเสร็จเอาเมื่อปีพ.ศ.2469[5] อย่างไรก็ตามศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ที่ใช้เวลาเผยแพร่ศาสนาในลำปางเป็นเวลากว่า 23 ปี ก็ไม่สามารถอยู่ถึงวันที่โบสถ์เสร็จ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเมื่อพ.ศ.2454 อายุได้ 81 ปี[6]



โบสถ์ฟลีสันแมโมเรียล ข้างโรงเรียนวิชชานารี สร้างเมื่อพ.ศ.2452
[ที่มา : คุณอนิรุทธิ์ อินทิมา]

มีการอ้างว่า ชุมชนคริสเตียนลำปางแม้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย ที่รวมกันแล้วไม่ถึง 2 พันคน เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับพบว่า หลายท่านได้มีบทบาทในนามนักการเมืองท้องถิ่น(ซึ่งไม่ปรากฏความสำคัญดังกล่าวในจังหวัดอื่นๆ) ได้แก่ ศจ.ดวงดี ทิพย์มาบุตร อาจารย์วิริยะ พูลวิริยะ นายแพทย์สมคิด มานะรัตน์ ซึ่งเป็นถึงเทศมนตรีเมืองลำปาง หรือบางท่านที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาล(สท.) ได้แก่ นายแพทย์รัศมี สุทธิคำ นายปุ่น ปั้นแหน่งเพ็ชร นายวิเชียร อินทิมา และผป.ผัน ศรีสุระ[7]

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวคริสต์ลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544.
2. พิษณุ อรรฆภิญญ์.”สง่างามเมืองลคร” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
3. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
4. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”ประวัติความเป็นมาของคริสตจักรที่ 1 ลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง,2543.
5. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน : ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรละกอน” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง,2543.

เชิงอรรถ
[1] ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544,หน้า 66-68
[2] อ้างแล้ว หน้า 68
[3] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”ประวัติความเป็นมาของคริสตจักรที่ 1 ลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง,2543,หน้า 26
[4] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน : ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรละกอน” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง,2543,หน้า 33-34
[5] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 31
[6] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน : ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรละกอน” อ้างแล้ว หน้า 34
[7] พิษณุ อรรฆภิญญ์.”สง่างามเมืองลคร” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 22

ชาวคริสต์ในลำปาง (1)



มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ นครวาติกัน

ศาสนาคริสต์ในหลายบริบท คาทอลิก โปรเตสแตนท์ และอื่นๆ[1]
ดังที่ใครๆทราบมาแล้วว่า ศาสนาคริสต์ได้ถือกำเนิดเมื่อราว 2,006 ปีที่แล้ว (พ.ศ.543 นับเป็นคริสตศักราชที่1) พร้อมกับพระเยซูไครสต์ ที่ถือกำเนิด ณ ตำบลเบธเลเฮม ดินแดนในประเทศปาเลสไตน์ในปัจจุบัน เป็นบุตรของโยเซฟและนางมาเรีย แต่เดิมนั้นศาสนาคริต์ถูกบีบบังคับอย่างมาก ดังเหตุการณ์สำคัญที่เรียกกันว่า อาหารมื้อสุดท้าย (The last supper) ที่หลังจากนั้นก็ถูกทหารโรมันจับ จนถูกพิพากษาให้ตึงไม้กางเขน ในพ.ศ.575 เมื่อพระชนมายุได้ 32 พรรษาเท่านั้น ทั้งยังทรงกล่าวปัจฉิมพจน์ไว้ว่า “ขอทรงยกโทษให้เขา เพราะเขาได้ทำไปในสิ่งที่เขาไม่รู้” ซึ่งแสดงถึงความรักความเมตตาของมนุษยชาติอย่างสูง

อย่างไรก็ตามเมื่อยุคสมัย เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป จากศาสนิกชนที่ต้องหลบๆซ่อนๆในการนับถือ ศาสนาคริสต์ ในเวลาต่อมา กลับกลายมาเป็นศาสนาสำคัญของอาณาจักรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรโรมันตอนปลาย สมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ประกาศว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อต้นคริสตวรรษที่ 4(ค.ศ.300-399 ราว พ.ศ.843-942) ก่อตัวเรื่อยมา

จนคริสตจักรเรืองอำนาจในสมัยกลางของยุโรป ราวค.ศ.500-1300(พ.ศ.1043-1843) [2] ที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของศาสนาคือ การปฏิรูปโดย แบ่งแยก พวกปฏิรูป(โปรเตสแตนท์-Protestant ไทยเรียก คริสเตียนตามภาษาอังกฤษ) ออกมาโดยไม่ขึ้นกับคริสตจักรเดิม(ไทยเรียก คริสตัง ตามเสียงฝรั่งเศส)[3] ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ นครวาติกัน แรงผลักดันนั้นเองทำให้แนวความคิดของศาสนาคริสต์ มีความหลากหลายขึ้นกว่าเดิม รองรับความเชื่อ และชีวิตในยุคสมัยต่างๆกัน เช่น การกำเนิดของ นิกายออร์ธอดอกซ์ รวมไปถึงนิกายอิงลิชเชิร์ช ที่อังกฤษ[4]

คริสตศาสนาบนผืนดินสยามประเทศ
คนสยามมึโอกาสรู้จักศาสนาคริสต์มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะกล่าวถึง ชาวคริสต์ในดินแดนล้านนาประเทศในยุคร่วมสมัยเดียวกัน(ดังที่ปรากฏหลักฐานภาพวาดกรุงศรีอยุธยา ปัตตานี ในยุคดังกล่าว) ชาวคริสต์ในกรุงศรีอยุธยามาพร้อมกับบาทหลวง พ่อค้าและทหารรับจ้าง(เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญ ที่มีผลประโยชน์ในการค้าขายมหาศาล)

ดังปรากฏ ชุมชนคริสเตียน 3 โบสถ์ ในกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ คณะฟรานซิสกัน คณะโดมินิกัน และคณะเยซูอิต แต่ก็ล่มสลายพร้อมๆไปกับกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงครั้งที่2 ในพ.ศ.2310 แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยธนบุรี มีทหารอาสาชาวโปรตุเกส มาตั้งเป็นชุมชนใหม่เรียกว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” มีศูนย์กลางอยู่ที่ โบสถ์วัดซางตาครู้ส ธนบุรี[5]

คริสต์ศาสนาที่เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาล้วน เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ที่แพร่หลายอยู่บริเวณตอนใต้ของยุโรป อันได้แก่ สเปน โปรตุเกส เป็นต้น พอล่วงมาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ คริสต์ศาสนาที่เข้ามาพร้อมกับมิชชันนารีนั้น ล้วนแต่เป็นนิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงไม่โปรดพวกมิชชันนารี และคนไทยที่เชื่อก็ถูกจองจำลงโทษ เพราะในยุคนั้นการล่าอาณานิคมของประเทศทางตะวันตกปรากฏให้เห็นชัด แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนนโยบายทางต่างประเทศ ที่พระองค์ทรงเมตตาต่อบรรดามิชชันนารี พระองค์ทรงเรียนรู้ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ จากผู้ประกาศกิตติคุณ[6]



นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์


การเผยแพร่ศาสนา ที่มาพร้อมกับ เทคโนโลยีการพิมพ์, การแพทย์, การศึกษา ฯลฯ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเรียนรู้เรื่องราวมากหลายจากมิชชันนารี หนึ่งในนั้นที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์(พ.ศ.2347-2416) หรือหมอบรัดเลย์ มีบทบาทสำคัญในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การเผยแพร่ศาสนา การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน(แบบตะวันตก) โดยริเริ่มให้มีการปลูกฝี การเขียนตำราผดุงครรภ์ ชื่อว่า ครรถ์ทรักษา

แม้กระทั่งการรักษาโดยการผ่าตัดเอง หมอบรัดเลย์ก็ฝากฝีมือไว้ และคุณูปการสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเรียนรู้คือ การริเริ่มเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือ เพื่อพิมพ์เผยแพร่ศาสนา รวมถึงตำราวิทยาการความรู้ต่างๆ เช่น คัมภีร์การปลูกฝี พ.ศ.2382 กฎหมายว่าด้วยการจอดเรือ พ.ศ.2402 พงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2407 สามก๊ก พ.ศ.2408

หรือแม้แต่ อักขราภิธานศรับท์ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพจนานุกรมภาษาไทยเล่มแรก เมื่อ พ.ศ.2416[7] เหล่านี้เองจะทำให้บรรยากาศความคึกคักของบ้านเมืองในระดับหนึ่ง ที่ได้รับเมื่อคราวที่มิชชันนารีเข้ามาในสยาม นอกจากนั้นคณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งเป็นสังกัดของหมอบรัดเลย์ ก็ยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อพ.ศ.2394[8] อีกด้วย

เป้าหมายที่เชียงใหม่
ในช่วงพ.ศ.2406 ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี(ลูกเขยหมอบรัดเลย์) และศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน(ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดตั้งสถานีมิชชั่นในนครลำปาง) ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก ในช่วงดังกล่าวราชสำนักเชียงใหม่ ในสมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์(พ.ศ.2399-2413)[9] เองก็ต้องการความรู้และเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาเช่นเดียวกัน จึงเห็นชอบให้ตั้งสถานีมิชชั่นขึ้นในเชียงใหม่ ขณะที่เมืองนครลำปางยังไม่เป็นที่สนใจของมิชชันนารี แม้ว่าจะมีการเดินทางสำรวจไปถึงเชียงรายและหลวงพระบางแล้วก็ตาม[10]



ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี(ลูกเขยหมอบรัดเลย์)

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวคริสต์ลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
เว็บไซต์
1. กรมศาสนา,ศาสนาคริสต์,ประวัติศาสนา,
http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_1.asp
2. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, http://www.bcc.ac.th/web2005/index052.htm
เอกสาร
1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.อยุธยา : Discovering Ayutthaya,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ,2546.
2. ธเนศวร์ อาภรณ์สุวรรณ.”หมอบรัดเลย์กับ American Orientalism ในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547.
3. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544.
4. ไมเคิล ไรท์.ตะวันตกวิกฤต คริตส์ศาสนา ตีแผ่รากเหง้าชาวตะวันตก.มติชน : กรุงเทพฯ,2546.
5. สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,อมรินทร์ : กรุงเทพฯ,2544.
6. อุบลวรรณ มีชูธน.”หมอบรัดเลย์กับการประกาศศาสนาในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547.

เชิงอรรถ
[1] จากเว็บไซต์ กรมศาสนา ในหน้า ศาสนาคริสต์,ประวัติศาสนา, http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_1.asp วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2549
[2] ไมเคิล ไรท์.ตะวันตกวิกฤต คริตส์ศาสนา ตีแผ่รากเหง้าชาวตะวันตก.มติชน : กรุงเทพฯ,2546,หน้า 60
[3] ไมเคิล ไรท์,อ้างแล้ว หน้า 78
[4] จากเว็บไซต์ กรมศาสนา ในหน้า ศาสนาคริสต์,นิกาย, http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_2.asp วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2549
[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.อยุธยา : Discovering Ayutthaya,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ,2546,หน้า 166.
[6] อุบลวรรณ มีชูธน.”หมอบรัดเลย์กับการประกาศศาสนาในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547,หน้า 87
[7] ธเนศวร์ อาภรณ์สุวรรณ.”หมอบรัดเลย์กับ American Orientalism ในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547,หน้า 96-98
[8] จากเว็บไซต์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, http://www.bcc.ac.th/web2005/index052.htm วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2549
[9] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,อมรินทร์ : กรุงเทพฯ,2544,หน้า 277
[10] ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544,หน้า 63-66

ชาวพม่าในลำปาง (3)







บ้านบอมเบย์ บริเวณตีนสะพานพัฒนาภาคเหนือ




กลุ่มชนพม่า คือ ผู้คนหลากหลายที่มาจากเมืองพม่า
จากการกล่าวถึงการเข้ามาของกลุ่มชนพม่าเมื่อตอนที่แล้ว เราต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า กลุ่มชนพม่าที่ได้เข้ามาทำไม้นั้น ไม่ใช่มีแต่ชาติพันธุ์พม่า(หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ม่าน)อย่างเดียว ยังรวมถึงไทใหญ่(ที่เราเรียกว่า เงี้ยว ปัจจุบันเลี่ยงไปใช้คำว่า ไทใหญ่ หรือไต แทน) มอญ ตองสู้ (แม้ว่าในการทำไม้จะมีแรงงานสำคัญคือ กลุ่มชาวกำมุ(หรือขมุ) ที่มาจากลาว จะไม่ขอกล่าวในที่นี้) แต่ที่ปรากฏบทบาทชัดเจน(เท่าที่มีหลักฐานในปัจจุบัน) ก็คือ ชาวพม่า และไทใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อการปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างสำคัญ

ระบบเงินรูปีจากพม่า
บทบาทสำคัญของบริษัททำไม้ ที่เข้ามาทำมาหากินในลำปางมีอยู่ทั้งสิ้น 4 บริษัท ได้แก่
1. บริษัท บริติชบอร์เนียว จำกัด ( British Borneo Ltd. )
2. บริษัท บอมเบย์เบอร์มา จำกัด ( Bombay Burma Trading coporation )
3. บริษัท สยามฟอร์เรสต์ จำกัด ( Siam Forest )
4. บริษัท แอล.ที.เลียวโนเวนส์ จำกัด ( L.T.Leonowens Ltd. )
[1]
ซึ่งกลุ่มชนพม่าล้วนมีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างสูงมาก่อนชาวจีน ดังปรากฏได้จากการเป็นเจ้าของห้องแถวไม้สักริมแม่น้ำย่านกาดกองต้า(ตลาดจีน หรือถนนตลาดเก่าปัจจุบัน) กลุ่มชนพม่ายังนำเอาระบบเงินรูปีที่เป็นระบบเงินตราในประเทศอาณานิคม เช่น อินเดีย พม่า[2]

คติการสร้างวัด
ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและบทบาททางสังคมที่เพิ่มขึ้น(โดยเฉพาะการที่ได้เลื่อนสถานะจากหัวหน้างานมาเป็นผู้รับเหมาช่วงในการทำไม้ต่อจากนายฝรั่ง) จึงเกิดการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิสังขรณ์วัดเดิมในท้องถิ่น ได้แก่ วัดศรีชุมที่สร้างจากวัดท้องถิ่นเดิม รวมไปถึงการบูรณะให้เป็นรูปแบบพม่า เช่น เจดีย์พระธาตุม่อนพระยาแช่ เป็นต้น และสร้างศาสนสถานใหม่ขึ้น เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสัมพันธ์ในกลุ่มของตน ซึ่งสร้างตามแบบแผนทางศิลปกรรมทั้งหมด โดยช่างชาวพม่า ไทใหญ่ ในการก่อสร้างแต่ละครั้งจะมีการขออนุญาตเจ้าเมืองลำปาง และบอกบุญไปยังเจ้านายบุตรหลานและคนพื้นเมืองด้วย[3]



วัดศรีชุม ศิลปสถาปัตยกรรมรูปแบบพม่า
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ]

รูปแบบเมื่อดูกันเผินๆแล้วจะมีความต่างจาก วัดพื้นเมืองอย่างชัดเจน แต่ใครจะทราบว่าในรูปแบบที่ต่างนั้นยังพบอีก 2 รูปแบบย่อยคือ ศิลปกรรมรูปแบบพม่าและรูปแบบไทใหญ่ ที่ต่างกันคือ หลังคาวิหารในรูปแบบพม่าจะเป็นหลังคาแบบยอดปราสาท นักวิชาการทั่วไปเรียกกันว่า หลังคาทรงพระยาธาตุ(ชาญคณิต อาวรณ์ และอ.มงคล ถูกนึก เสนอให้เรียกว่า ปราสาท ตามลักษณะศิลปะและรูปคำ) เช่น วิหารวัดศรีชุม ขณะที่รูปแบบไทใหญ่คือ หลังคาวิหารซ้อนชั้น อย่างที่วัดศรีรองเมือง เป็นต้น

จากการศึกษาของชาญคณิต อาวรณ์[4] สามารถแบ่งกลุ่มชนพม่า ที่เป็นผู้ดูแลและอุปถัมภ์ศาสนสถานประจำกลุ่มชาติพันธุ์ เป็น 3 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1. กลุ่มชาติพันธุ์ ตองสู้ ได้แก่ วัดป่ารวก วัดม่อนปู่ยักษ์ สร้างราว พ.ศ.2442 โดยพ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่[5] วัดศรีรองเมือง สร้างราว พ.ศ.2447(เจ้าศรัทธาคือ จองตะก่าวารินต๊ะ แม่จองตะก่าจันทร์แก้ว จองตะก่าส่างโต แม่จองตะก่าจันทร์ฟอง)
2. กลุ่มชาติพันธุ์ พม่า ได้แก่ วัดป่าฝาง สร้างพ.ศ.2450(วัดประจำตระกูลสุวรรณอัตถ์) วัดจองคา วัดศรีชุม สร้างราว พ.ศ.2436(เจ้าศรัทธา คือ จองตะก่าอูโย พ่อเลี้ยงหม่องยี และแม่เลี้ยงป้อม ตระกูลบูรณ์) ยังแบ่งย่อยเป็น พม่า-มอญ คือ วัดท่ามะโอ
3. กลุ่มชาติพันธุ์ ไทใหญ่ ได้แก่ วัดจองคำ และวัดม่อนจำศีล
ยังรวมถึงตระกูลอื่นๆอีกเช่น มณีนันท์ รัตนคำมล เป็นต้น

ป่าขาม ย่านวัดพม่า[6]
เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดบริเวณป่าขามจึงมีวัดพม่ากระจายอยู่มากที่สุด มีการเล่าว่า บริเวณรอบๆวัดม่อนปู่ยักษ์นี้ เดิมเป็นป่าไม้จะมีพืชล้มลุกจำนวนมาก ในฤดูแล้งจะมีพืชยืนต้นคือ ต้นมะขามเท่านั้น ด้วยความมีต้นมะขามจึงเรียกว่า ป่าขาม พ่อค้าในสมัยนั้นจึงพากันอพยพมาตั้งรกรากเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ป่าเป็นที่เลี้ยงช้าง ทั้งฝักมะขามกก็เป็นอาหารของช้าง เช่นเดียวกับมะขามเปียกใช้เป็นยากรักษาอาการป่วยของช้างได้ บริเวรณดังกล่าว มีถึง 4 วัด ได้แก่ วัดม่อนปู่ยักษ์(วัดม่อนสัณฐาน) วัดม่อนจำศีล วัดจองคำ และวัดร่มโพธิ์งาม(วัดป่าขาม) หรือไกลออกไปหน่อยคือ วัดพระบาท



วัดศรีรองเมือง ศิลปสถาปัตยกรรมรูปแบบไทใหญ่
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ]

วิถีชีวิตที่ถูกกลืนหาย
แม้จะปรากฏบันทึก ตระกูลต่างๆที่สืบเนื่องมาในสมัยการค้าไม้รุ่งเรือง เช่น ตระกูลจันทรวิโรจน์, บริบูรณ์, มณีนันท์ ฯลฯ แต่วิถีชีวิต ความเป็นอยู่กลับถูกกลืนหายไปในนามคนลำปางไปแล้ว อาจปรากฏในรูปแบบอาหาร เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวกั้นจิ๊น(ข้าวเงี้ยว) จากไทใหญ่ น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล จากพม่า ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผ่านการคัดสรร-แลกเปลี่ยนมาแล้ว.

*เรียบเรียงจาก
กิตติคุณ ศิริญานันท์,ชาวพม่าลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์.การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับป่าไม้ในภาคเหนือของประเทศไทย วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2522.
2. ชาญคณิต อาวรณ์.ลวดลายประดับศาสนสถานแบบพม่าในเมืองลำปาง รายงานการศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546.
3. สุรชัย จงจิตงาม.การศึกษารูปแบบศิลปกรรมจิตรกรรมฝาผนัง วัดม่อนปู่ยักษ์ จ.ลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2540.

เชิงอรรถ
[1] ชาญคณิต อาวรณ์.ลวดลายประดับศาสนสถานแบบพม่าในเมืองลำปาง รายงานการศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546,หน้า 32 อ้างใน ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์.การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับป่าไม้ในภาคเหนือของประเทศไทย วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2522,หน้า 7
[2] อ้างแล้ว หน้า 37
[3] อ้างแล้ว หน้า 32
[4] อ้างแล้ว หน้า 40
[5] สุรชัย จงจิตงาม.การศึกษารูปแบบศิลปกรรมจิตรกรรมฝาผนัง วัดม่อนปู่ยักษ์ จ.ลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2540,หน้า 33
[6] อ้างแล้ว หน้า 35

ชาวพม่าในลำปาง (2)



ภาพการทำป่าไม้ของชาวอังกฤษและยุโรปส่วนหนึ่ง ที่จ้างกลุ่มชนพม่าในการทำไม้อีกต่อหนึ่ง
[ที่มา : คุณสุวภรณ์ ชูโต]



อังกฤษและผลประโยชน์การทำไม้สัก

มีหลักฐานระบุว่าการเข้ามาชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวอังกฤษแสดงบทบาทในฉากบ้ านเมืองล้านนา เมื่อราวพ.ศ.2372 ตอนที่เข้ามาซื้อช้าง วัว ควายจากหัวเมืองล้านนาจากราษฎร ในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เนื่องจากเมืองพม่าประสบเหตุโรคระบาด[1] ขณะที่สภาพสังคมช่วงดังกล่าว สยามประเทศถูกอำนาจจากชาติตะวันตกบีบคั้น จากอังกฤษทางทิศตะวันตก จากฝรั่งเศสทางทิศตะวันออก

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในบริบทดังกล่าวก็คือ การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของรัฐสยาม(โดยเฉพาะจากการที่รัชกาลที่5 ทรงศึกษาดูงานจากการบริหารประเทศในอาณานิคม ในการเสด็จประพาสอินเดีย ปีนัง ฯลฯ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั่วภูมิภาคของอาณาเขตสยาม ที่เคยอยู่กับอย่างหลวมๆ

อังกฤษเองนอกจากจะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการค้าจักรวรรดินิยมในพม่า ที่สามารถเข้าไปยึดครองได้แล้ว ยังแลเห็นความอุดมสมบูรณ์ของไม้สักในพื้นที่ทางเหนือของสยาม(เช่นเดียวกับรัฐบาลสยามเห็นความมั่งคั่งดังกล่าว)จึงกดดันให้สยามทำการเปิดป่า

หากเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” จะเห็นได้ว่าหัวเมืองทางใต้ มีพ่อค้าเจ้าสัวที่ร่ำรวยมาจากทำเหมืองแร่ดีบุก(ที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนหลังสงครามโลก) ทางหัวเมืองทางเหนือก็เติบโตมาพร้อมๆกับทรัพยากรธรรมชาติในนามป่าไม้สักเช่นกัน เดิมนั้นการค้าป่าไม้เป็นกิจการที่เจ้าผู้ครองนครเมืองต่างๆเป็นเจ้าของ[2] อังกฤษจึงเข้ามาในรูปแบบของบริษัท ที่ใช้แรงงานจากประเทศอาณานิคม ในระยะต่อมาเมื่อพื้นที่สัมปทานกว้างขวางขึ้น เจ้านายได้ทำสัญญาซ้ำซ้อนกับผู้สัมปทานมากกว่ารายเดียว จึงต้องทำการสังคายนาใหม่ โดยรัฐบาลสยาม[3](การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดกบฏเงี้ยว?)

การดำเนินกิจการดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบ วิธีการและเทคโนโลยีการจัดการที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงต้องมีนำเข้า(อิมปอร์ต) องค์ความรู้ในการทำป่าไม้ ซึ่งชาวอังกฤษเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในพม่าอยู่แล้ว รัฐสยามจึงยืมตัว และว่าจ้าง นาย เอช. สเลด เข้ามาจัดระบบดังกล่าว เมื่อพ.ศ.2439 จนได้เป็นถึงเจ้ากรมป่าไม้ ขณะที่กลุ่มชนพม่า(นับรวมทั้งพม่า มอญ ไทใหญ่ ตองสู้ด้วย) มีความชำนาญในการร่วมทำกิจการป่าไม้มาแล้ว ก็ได้รับการติดต่อจาก นาย เอช. เสลด เข้ามาประกอบอาชีพการทำป่าไม้ในสยาม[4]



บ้านเสานัก ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์

การเข้ามาของกลุ่มชนพม่าในลำปาง
มีการระบุไว้ว่าว่า ชาวพม่าได้เข้ามาสู่ลำปางได้สองเส้นทางดังนี้ เส้นทางแรก คือ โดยสารรถไฟจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปทางเมืองร่างกุ้ง ใช้เส้นทางรถยนต์มาถึงเมืองมะละแหม่ง (ซึ่ง อ.วิถี พานิชพันธ์ ได้กรุณาให้ความเห็นไว้ว่า เมืองมะละแหม่ง กับ กาดกองต้าบ้านเรา มีบรรยากาศ กลิ่นไอ คล้ายๆกัน โดยเฉพาะในรูปแบบของตึกแถว เชิงช่างฝีมือต่างๆที่ปรากฏ) จากมะละแหม่งแล้วข้ามแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด และจากตากก็มาถึงเมือลำปาง เส้นทางที่สอง คือ จากเมืองมัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้าสู่แม่ฮ่องสอน และเดินทางมายังเมืองลำปาง[5]

บริเวณที่ทำการป่าไม้เขต-สำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดลำปาง เดิมเป็นย่านที่ตั้งของบริษัททำไม้ คือ บริษัทหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์(ลูกชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ เจ้าของบทประพันธ์ผู้อื้อฉาว) ทั้งยังใกล้กับที่ตั้งของกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง(ปัจจุบันคือ กองบังคับบัญชาการตำรวจ จ.ลำปาง)

ฉะนั้นการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนพม่าส่วนหนึ่งจึงมีหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้ โดยเฉพาะย่านท่ามะโอ ท่านางลอย มีการกล่าวว่า พื้นที่ติดแม่น้ำวังเหล่านี้เพื่อความสะดวกในการชักลากไม้ที่ตัดจากป่าในเขตบ้านแม่แจ้ฟ้า บ้านแจ้ห่ม บ้านเมืองวัง ซึ่งอยู่ในเขต อ.แจ้ห่ม ปัจจุบัน และจะถูกชักลากลงแม่น้ำวังแล้วปล่อยให้ไหลมาจนถึงบริเวณนี้ ก็จะทำการชักลากข้นฝั่งบริเวณด้านหลังวัดพระแก้วดอนเต้า[6] ดังปรากฏรูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบลูกครึ่ง ผสมตะวันตกและพื้นถิ่น หรือแม้กระทั่งบ้านเสานัก ของตระกูลจันทรวิโรจน์ ที่มีลักษณะเป็นเรือนพื้นถิ่นแต่มีองค์ประกอบแบบพม่าบางส่วนผสมผสาน

ด้วยข้อได้เปรียบของกลุ่มชนพม่าที่มีความมั่งคั่งมาจากกิจการทำไม้ ไม่ต้องเสียภาษี(เนื่องจากเป็นบุคคลในบังคับของอังกฤษ)ได้รับเงินเดือนมากกว่าคนไทย เพราะคิดอัตราค่าจ้างตามเงินอังกฤษ[7] จึงสามารถสะสมทุนได้จำนวนมาก จนนำทุนดังกล่าวมาลงทุนตั้งถิ่นฐานบริเวณกาดกองต้าเพื่อทำการค้าขาย ดังปรากฏการสร้างอาคารหลายหลังในศิลปะรูปแบบพม่า-อิทธิพลตะวันตก เช่น อาคารหม่องหง่วยสิ่น อาคารกาญจนวงศ์ ฯลฯ



วัดท่ามะโอ

ขณะที่ศาสนสถาน คือ วัดของกลุ่มชนพม่ากลับปรากฏในบริเวณดังกล่าวเพียงวัดเดียวคือ วัดท่ามะโอ และอีกส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณบ้านป่าขาม ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง เหตุไฉนถึงตั้งวัดอยู่บริเวณป่าขามเป็นจำนวนมากจึงเป็นประเด็นข้อสงสัยที่น่าติดตามค้นคว้ายิ่ง.

*เรียบเรียงจาก
กิตติคุณ ศิริญานันท์,ชาวพม่าลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2544.
2. ชัยวัฒน์ ศุกดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541.
3. ชาญคณิต อาวรณ์, แบบแผนทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมเจดีย์ทรงพม่าเมืองลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546.
4. พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2484 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร,2530.
5. สงบ ฉิมพลีย์.อิทธิพลศิลปพม่าที่มีต่อโบราณสถาน ในจังหวัดลำปาง ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,2529.

เชิงอรรถ
[1] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2544,หน้า 332
[2] ชัยวัฒน์ ศุกดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541,หน้า 28
[3] ชาญคณิต อาวรณ์, แบบแผนทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมเจดีย์ทรงพม่าเมืองลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546,หน้า 31 อ้างใน พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2484 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร,2530,หน้า 30
[4] สงบ ฉิมพลีย์.อิทธิพลศิลปพม่าที่มีต่อโบราณสถาน ในจังหวัดลำปาง ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,2529,หน้า 133
[5] อ้างแล้ว หน้า 135
[6] ชาญคณิตอาวรณ์.อ้างแล้ว,หน้า 30
[7] สงบ ฉิมพลีย์,อ้างแล้ว หน้า 133

ชาวพม่าในลำปาง (1)



ภาพแสดงความหลากหลายชาติพันธุ์ในพม่า
[ที่มา : ธิดา สาระยา. มัณฑะเล : นครราชธานี ศูนย์กลางแห่งจักรวาล, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538, หน้า 66]

รู้จักพม่ากันก่อน
พม่านับเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการและความสืบเนื่องกันมายาวนานนับหลายพันปี เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง หากเราจะลด ละวางอคติที่มีกับดินแดนนี้(ที่กระทรวงศึกษาธิการพร่ำสอนว่าความย่อยยับอัปราของไทย ล้วนเนื่องมาแต่พม่าทั้งสิ้น)ไว้เสียก่อน แล้วมาทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านที่น่าเคารพผู้นี้กัน

การเป็นบ้านเมืองของพม่าก็เฉกเช่นเดียวกันกับบ้านเมืองอื่นๆที่ไม่ได้ลอยลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า หากแต่มีเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ อันได้แก่ การเมือง-เศรษฐกิจ-ศาสนา ความเชื่อ เป็นอาทิ ประวัติศาสตร์ของพม่าตั้งต้นมาแต่ 128ปี ก่อนคริสตกาล(ประมาณพ.ศ.415) ในนามอาณาจักรตะโก้ง ของพวก ปยุ(ชนเผ่าทิเบต-พม่า)[1]

ด้วยความที่สภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย รวมถึงผู้คนและชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนทำให้ บ้านเมืองของพม่าเติบโตขึ้นมา และร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรม ระบบความเชื่อเช่นนั้นๆ เช่นว่า ในบางสมัย ชาวไทใหญ่(หรือเงี้ยว)สามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจการเมืองการปกครอง และศิลปกรรมหลายอย่างของพม่าก็รับเอาแบบอย่างจากไทใหญ่ไป เป็นต้น

พม่าผ่านความขัดแย้งอันหลากหลายทั้งภายในและนอก นับนิ้วถึงช่วง 200 ปีที่ผ่านมา พม่าถูกกระทำทั้งจากอาณานิคมอังกฤษ จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงคิวของรัฐบาลทหารเผด็จการ

ความสัมพันธ์พม่าและล้านนาประเทศ
คราใดที่พม่าเติบโตขึ้น จนสามารถรวบรวมหัวเมืองในดินแดนใกล้เคียงให้อยู่ในอำนาจ เมื่อนั้นรัฐบาลกลางในนามของกษัตริย์พม่าก็ทำการยาตราทัพเพื่อทำสงครามชิงบ้านเมืองเพื่อแสดงความเป็นจักรพรรดิราช(ขณะที่ไพร่ ชาวบ้านก็ถูกเกณฑ์ ถูกกวาดต้อนสนองตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น) ปรากฏการแผ่อำนาจลงมาทางใต้ ดังปรากฏการศึกกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งหลายครา ในที่สุดก็เสียกรุง ในพ.ศ.2112 และ พ.ศ.2310 แน่นอนว่าดินแดนล้านนาเป็นรัฐที่อยู่ระหว่าง 2 มหาอำนาจ ฉะนั้นจึงไม่รอดพ้นจากการศึกสงคราม ทั้งหลาย บางคราอยู่ฝ่ายพม่า บางคราอยู่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา


แผนผังพระธาตุประจำปีเกิดทั่วล้านนาและดินแดนใกล้เคียง

กระนั้นหากมองเลยพรมแดนของชาติในปัจจุบันจะเห็นว่า ในดินแดนล้านนา-พม่านี้ มีผู้คนหลากหลายมากมาย เช่น ไทใหญ่, ไทเขิน, ไทลื้อ, พม่า, มอญ, ตองสู้,ฯลฯ ซึ่งบ้างก็เป็นเครือญาติ เครือข่ายทางวัฒนธรรมต่อกัน ดังสะท้อนให้เห็นจากการบูชาพระธาตุประจำปีเกิด ที่มีพระธาตุในล้านนาเป็นหลัก แต่ก็เชื่อมโยงไปถึง ชเวดากอง ในพม่า หรือแม้แต่ในตำนานที่เล่าถึงบทบาทพระครูบามหาป่า วัดไหล่หินหลวง ที่ได้ธุดงค์ไปถึงเชียงตุง

หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเครือข่ายทางการค้าขาย ดังปรากฏเส้นทางการค้าทางบก ระหว่างดินแดนล้านนาและพม่า คือ 1) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่เชียงราย ผ่านแม่สรวย ถึงเมืองเชียงใหม่ 2) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่เชียงราย เมืองพะเยา เมืองแพร่ เลยไปถึงอุตรดิตถ์ 3) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่ล้านนา ผ่านแม่สอด หรือท่าสองยาง สู่ดินแดนพม่าตอนใต้ ถึงเมืองเมาะละแหม่ง[2]

อย่างไรก็ตาม พม่าในลำปางนั้นเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลำปาง และกลายเป็นชาวลำปาง นับย้อนได้เพียงร้อยปี และในเงื่อนไขอื่นด้วย



แผนที่พม่า ชายแดนอินเดีย และไทย
[ที่มา : โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547, หน้า 21]

การเสียเอกราชให้แก่อาณานิคมอังกฤษ
ด้วยเหตุทางการเมือง ที่แยกไม่ออกจากเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จาก อังกฤษพยายามหาเส้นทางการค้าทางบกระหว่างดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน(แข่งกันกับฝรั่งเศสที่ยึดดินแดน ลาว เขมร เวียดนาม ไปแล้ว)[3] ภาวะดังกล่าวทำให้พม่าต้องถอยร่น ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์

บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า อันเป็นของอังกฤษก็ได้มีบทบาทสำคัญ ในการทำไม้สัก(ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในเมืองลำปางด้วยเช่นกัน) ซึ่งอังกฤษได้สร้างเมืองมะละแหม่ง(ต่อมาสร้างเมืองย่างกุ้งเพิ่มเติม)เพื่อเป็นศูนย์กลางของอังกฤษ เมืองมะละแหม่งได้รับการวางให้เป็นเมืองศูนย์กลางการต่อเรือและการเชื่อมโยงการค้ากับภายนอก[4]

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าในขณะนั้นถือว่า เป็นเพียงพลเมืองชั้นสาม ที่มีฐานะต่ำกว่าชาวอังกฤษ และชาวอินเดีย ที่ชาวอังกฤษส่งประเทศในอาณานิคมมาปกครองกันเองอีกทีหนึ่ง

*เรียบเรียงจาก
กิตติคุณ ศิริญานันท์,ชาวพม่าลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547.
2. ปริเชต ศุขปราการ.”ลำปาง จากหัวเมืองประเทศราชสู่จังหวัดในภาคเหนือ” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2544.
3. หม่องทินอ่อง.ประวัติศาสตร์พม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2548.

เชิงอรรถ
[1] หม่องทินอ่อง.ประวัติศาสตร์พม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2548,หน้า 6
[2] ปริเชต ศุขปราการ.”ลำปาง จากหัวเมืองประเทศราชสู่จังหวัดในภาคเหนือ” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2544,หน้า 74
[3] โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547,หน้า 38
[4] โชติมา จตุรวงค์,อ้างแล้ว

ชาวอินเดียในลำปาง (2)






เทวสถานพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ถ.จามเทวี ใกล้สวนอิ่มใจ

ชาวอินเดียฮินดู
เดิมชาวฮินดูอินเดียยุคแรกอยู่บริเวณตลาดราชวงศ์(บริเวณร้านธีระสุข) ในช่วงหลัง ราวพ.ศ.2491 คุณโมฮัน โซนี่เดินทางจากอินเดียโดยเครื่องบิน มาถึงลำปางและมาอาศัยอยู่กับญาติบริเวณตลาดราชวงศ์นั่นเอง[1] อย่างไรก็ตามชาวอินเดียฮินดูมิได้แสดงอัตลักษณ์ที่เด่นชัดเท่าใด เมื่อเทียบกับชาวอินเดียซิกข์ แม้จะมีศาสนสถานของชาวฮินดู คือ เทวสถ านพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี แต่ก็เป็นการริเริ่มสร้างโดย คนไทยที่นับถือฮินดู ที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2534 บริเวณสวนอิ่มใจ ถ.จามเทวี ภายในประดิษฐานเทพเจ้าต่างๆ เช่น พระศิวะ เจ้าแม่อุมาเทวี เจ้าแม่ลักษณมีเทวี หนุมาน และพระพิฆเนศ แต่ในที่สุดการจัดการดูแลก็ตกมาเป็นของชาว
อินเดียฮินดูในลำปาง

อย่างไรก็ตาม แม้จะต่างศาสนากัน ชาวซิกข์และฮินดูก็มักจะมีกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะในทุกวันอาทิตย์ จะมีการพบปะกันที่วัดซิกข์ลำปาง

บทบาททางเศรษฐกิจ และตัวอย่างกิจการ
เมื่อท่านได้มีโอกาสผ่านไปบริเวณถ.ทิพย์ช้าง อ.เมือง จ.ลำปาง จะรู้สึกได้ว่าย่านดังกล่าวจะเต็มไปด้วยร้านขายผ้า ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจการของชาวอินเดียที่มีความถนัดในทางนี้ทั้งสิ้น แต่กระนั้นการสะสมทุนจากการค้าขายดังกล่าว นำไปสู่การลงทุนในกิจการอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม หอพัก ฯลฯ ต่อไปนี้จะเป็นการจำแนกให้เห็นตัวอย่างกิจการชาวอินเดียลำปางตามเครือญาติ ได้ดังนี้[2]


ย่านร้านขายผ้า ถนนทิพย์ช้าง

เครือญาติทางอินเดียซิกข์
มาจากสายตระกูลจาวะลา ได้แก่ ร้านยากัตซิงห์ ร้านมงคล ร้านใจกว้าง โรงแรมเอ็ม อาร์ พาเลซ

เครือญาติทางอินเดียฮินดู
มาจากสายตระกูลโซนี่ ได้แก่ ร้านวันชัย ร้านรัศมี ร้านนินช็อป ร้านลำปางใจดี ร้านอมร ร้านโซนี่ ร้านกระดุม ร้านเดอะเบสท์ คลินิกหมอราวิน คลินิกหมอรายิน

เครือญาติทางอินเดียลำปางอื่นๆ
มาจากสายตระกูลสินธุเขียว ได้แก่ ร้านจันทร์เจริญ ร้านโชคเจริญ ร้านแพรทอง


ภาพชาวอินเดียลำปางทั้งซิกข์และฮินดูมีกิจกรรมร่วมกัน
[ที่มา : คุณโมฮัน โซนี่และครอบครัว]

บทบาททางศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตประเพณี
ส่วนใหญ่บทบาททางนี้ไม่เด่นชัดเท่าใดนัก อาจจะมีความผูกพันและความทรงจำเดิมจากประเทศแม่ ซึ่งกลุ่มคนในรุ่นหลังพอจะจำได้ดังนี้
อินเดียซิกข์ลำปาง[3]
วันสำคัญต่างๆ มีดังนี้
1) วันคล้ายวันประสูติและสิ้นชีพของพระศาสดาทั้ง 10 พระองค์
2) วันคล้ายวันสถาปนาพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์ซาฮิบ
3) วันคล้ายวันสถาปนาของ คาลซา โดยพระศาสดาคุรุโควินทร์สิงห์ ซึ่งโดยทั่วไปจะตรงกับวันที่ 13 หรือ 14 เมษายนของทุกปี (วันวิสาฆี)
4) วันคล้ายวันพลีชีพของเหล่าวีรชนชาวซิกข์ ผู้ซึ่งสละชีพเพื่อป้องกันศาสนาและผู้ถูกกดขี่ ตรงกับวันที่ 14 มกราคม(มาห์กี Maghi)

อินเดียฮินดูลำปาง
วันสำคัญต่างๆมีดังนี้
1) วันเนาวราตรี ปีละ 2 ครั้ง (ตรงกับเทศกาลกินเจของจีน) ช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่กินเนื้อสัตว์ หอม กระเทียม
2) วันเกิดพระศิวะ พระกฤษณะ
3) วันดิวาลี เป็นวันที่พระรามเสด็จกลับกรุงอโยธยา เหมือนลอยกระทง มีการเล่นดอกไม้ไฟ
4) วันดีแชร่า


ภาพเด็กๆ ชาวอินเดียลำปาง
[ที่มา : คุณโมฮัน โซนี่และครอบครัว]

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวอินเดียลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
สัมภาษณ์คุณโมฮัน โซนี่ ร้านวันชัย ถ.ทิพย์ช้าง 12 พฤษภาคม 2548
สัมภาษณ์คุณสันติ จาวะลา ร้านยากัตซิงห์ ถ.ทิพย์ช้าง 12 พฤษภาคม 2548

เชิงอรรถ
[1] สัมภาษณ์คุณโมฮัน โซนี่ ร้านวันชัย ถ.ทิพย์ช้าง 12 พฤษภาคม 2548
[2] อ้างแล้ว
[3] สัมภาษณ์คุณสันติ จาวะลา ร้านยากัตซิงห์ ถ.ทิพย์ช้าง 12 พฤษภาคม 2548

ชาวอินเดียในลำปาง (1)











แผนที่ประเทศอินเดีย


เมื่อเทียบสัดส่วนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในลำปางแล้ว ชาวอินเดียอาจนับได้ว่า มีจำนวนน้อยที่สุด แต่กลับมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างสูง

แม้จากการสัมภาษณ์จะไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า คนอินเดียเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานในลำปางตั้งแต่เมื่อใด แต่มีการระบุว่า เคยมีชาวอินเดียอาศัยอยู่บริเวณกาดกองต้าในช่วงราวปลายคริสตวรรษที่ 19(ราวพ.ศ.2343-2442)[1]

อย่างไรก็ตาม ประเทศอินเดียถือเป็นดินแดนที่แสนกว้างใหญ่ เป็นอนุทวีปทีเดียว ซึ่งภายในประกอบด้วยรัฐต่างๆ เหตุการณ์สำคัญที่กระทบกับการตัดสินใจอพยพของชาวอินเดีย ก็คือ ปัญหาการเมืองภายในอินเดีย ช่วงอาณานิคมอังกฤษปกครอง ตั้งแต่สิ้นราชวงศ์โมกุล สมัยจักรพรรดิบาดูห์ ชาห์ที่2 ในพ.ศ.2400 อังกฤษได้ใช้วิธีคิดการแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแตกแยกกันเอง เช่น ชาวฮินดู และชาวมุสลิม ซึ่งแต่ก่อนมาเคยอยู่ร่วมกันในดินแดนเดียวกัน

แม้ประเทศอินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่ในปีเดียวกัน ก็เกิดความขัดแย้งในระหว่างพรรคคองเกรสและพรรคสันนิบาตมุสลิม จนต้องการขอแยกประเทศไปเป็นประเทศปากีสถานตะวันตก และตะวันออก(คือ ประเทศบังกลาเทศนั่นเอง) ความสัมพันธ์อันตึงเครียดกลับเลวร้ายลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างกันในปัญหารัฐกัศมีร์ หรือแคชเมียร์(Kashmire)

ความวุ่นวายและปัญหาดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยตัดสินใจที่ทำให้ชาวอินเดียอพยพมาทำการตั้งถิ่นฐานอยู่ประเทศไทยก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในลำปางนั้น อาจจำแนกเป็นชาวอินเดียซิกข์ และชาวอินเดียฮินดู

ชาวอินเดียซิกข์
มีการกล่าวถึงประวัติวัดซิกข์ลำปางที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2476 เพื่อให้เป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม และที่พักสำหรับนักเดินทางชาวอินเดีย โดยนายห้างวารียาม ซิงห์ ซึ่งได้สร้างถวาย พร้อมที่ดินส่วนตัว ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่งซีเมนต์ ครึ่งไม้ ในพิธีการทางศาสนา ในวันเปิดนั้นได้มีชาวอินเดียเดินทางมาจากเชียงใหม่มาทางรถไฟมาร่วมเป็นจำนวนมาก


วัดซิกข์หลัง เก่า ถนนบุญวาทย์
[ที่มา : คุณสันติ จาวะลา]

ชาวอินเดียซิกข์ นั้นเดินทางมาจากรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย ด้วยปัจจัยทางการเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว ในกรณีของนายห้างวารียาม ซิงห์ ได้เดินทางมาสยาม ช่วง พ.ศ.2452 ทำการค้า โดยการเปิดร้านขายผ้าชื่อ วีระไทย[2]



ภาพชาวอินเดียลำปาง
[ที่มา : คุณโมฮัน โซนี่และครอบครัว]

ส่วนร้านยากัตซิงห์นั้น ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2478 โดยการเช่าตึกของแม่นาค บุปผาเจริญ ถ.ทิพย์ช้าง โดย นายยากัตซิงห์ จาวะลา ที่เดิมย้ายจากอินเดียมาอยู่ที่นครราชสีมา และมามีครอบครัวที่ลำปาง โดยที่พ่อตาเป็นชาวอินเดีย แม่ยายคือ แม่ตุ่นแก้ว มีเชื้อสายทางเจ้าฝ่ายเหนือ ทำการค้าขายส่งผ้าไปที่ต่างๆ ทั้งพะเยา เชียงราย แม่สาย ขณะเดียวกันก็หากำไรจากการสะสมทุนจากการรับแลกเปลี่ยนเงินรูปี(ในกลุ่มพ่อค้าเมืองลำปาง และกลุ่มที่จะใช้เงินรูปีไปซื้อฝิ่นจากยูนนาน)[3]

ชาวอินเดียซิกข์ดูจะกระตือรือร้นที่จะแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในสำนึกเรื่องการพบปะ ช่วยเหลือกันผ่านทาง วัดซิกข์(ซึ่งรวมไปถึงการพบปะกับชาวฮินดูอินเดียด้วย) หรือการแต่งกายตามธรรมเนียมชาวซิกข์ หรือภาษาพูดก็นิยมใช้ภาษาปัญจาบี อันเนื่องมาจากรัฐปัญจาบที่ได้ทำการอพยพมา

ส่วนที่สำคัญอีกอย่างก็คือ กฎ 5 ประการของชาวซิกข์ อันได้แก่
1) เกศา หมายถึง ให้ชาวซิกข์ไว้ผมยาวโดยไม่ต้องตัด
2) กังฆะ หมายถึง ให้พกหวีติดตัว
3) กิรปาน หมายถึง ดาบ
4) กัจฉะ หมายถึง กางเกงขาสั้นชั้นใน
5) กรา หมายถึง กำไลเหล็ก


วัดซิกข์หลังปัจจุบัน ถนนบุญวาทย์
ปีพ.ศ.2538 ก็ได้มีการก่อสร้างวัดซิกข์ลำปางใหม่บนพื้นที่เดิม

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวอินเดียลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
มาร์โก วี.พาเทล.”ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์.2544,หน้า 21

เชิงอรรถ
[1]มาร์โก วี.พาเทล.”ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์.2544,หน้า 21
[2] เอกสารอัดสำเนา ประวัติและที่กำเนิดของวัดซิกข์ จังหวัดลำปาง ไม่ทราบปีที่พิมพ์ โดย คุณสันติ จาวะลา
[3] สัมภาษณ์ คุณสันติ จาวะลา 12 พฤษภาคม 2548

ชาวมุสลิมในลำปาง (2)




ภาพหมู่ถ่ายหน้าสถานอบรมศีลธรรม เยาวชนมุสลิมลำปาง ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย
[ที่มา : มัสยิดอัลฟลาฮฺ]

การเคลื่อนย้ายเข้าสู่นครลำปาง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีชาวมุสลิมกระจายอยู่ทั่วโลก การเข้ามาของมุสลิมในลำปางจึงไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว ทั้งยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเท่าใดนัก แต่จากบทสัมภาษณ์อาจกล่าวเบื้องต้นได้ว่า ชาวมุสลิมในลำปางรุ่นแรกๆนั้นน่าจะสืบเนื่องมาจาก ปัญหาการเมืองในกลุ่มประเทศอินเดียที่มีการแยกเป็น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ(และจะมีผลต่อการอพยพมาของชาวอินเดียซิกข์-ฮินดูด้วย)

มีการระบุว่า เคยมียามรักษาความปลอดภัยให้แก่คุ้มหลวงเจ้าผู้ครองนครลำปางด้วย(อาจจะมากับฝรั่งอังกฤษที่เป็นทั้งเจ้าอาณานิคมที่อินเดีย และพ่อค้าไม้เจ้าสำคัญในลำปาง) ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับคำบอกเล่าที่ว่า สารถีรถม้ากลุ่มแรกๆนั้นเป็นแขกปาทาน(มุสลิมที่มาจากปากีสถาน-แต่อย่างไรก็ตามมุสลิมหลายท่านเห็นว่า คำว่า แขก นั้นไม่เหมาะสมจะใช้เรียกแทนชาวมุสลิม)

มัสยิดหลังแรกก็สร้างบริเวณประตูหัวเวียง ใกล้วัดหัวเวียง(คือวัดเชตวันในปัจจุบัน) ปัจจุบันได้สร้างตึกแถวให้เช่า (เพื่อนำรายได้สมทบกับมัสยิดอัลฟลาฮ)อยู่ใกล้ๆกับร้านกล้วยปิ้งนภา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ใกล้กับคุ้มหลวงนั่นเอง ขณะที่ชาวมุสลิมประกอบอาชีพเป็นสารถีรถม้าโดยสาร พื้นที่บริเวณบ้านดอนปาน(บริเวณตรงข้ามโรงเรียนอรุโณทัย ปั๊มร้างปัจจุบัน)ก็เป็นอู่รถม้าสำคัญแห่งหนึ่ง[1] แต่ในเวลาต่อมาอาชีพดังกล่าวก็ตกเป็นของคนพื้นเมืองไปในที่สุด

นอกจากนั้นยังมี ชาวมุสลิมจากบังกลาเทศ(เรียกว่า บังกาดี) มุสลิมมลายูจากอยุธยา มุสลิมจากจีน(ที่เรียกกันว่า จีนฮ่อ)[2] แน่นอนว่าแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดชีวิตที่ต่างกันไปอีก ซึ่งไม่สามารถจะเหมารวมได้ว่า มุสลิมลำปางเป็นอย่างได้อย่างตายตัว


ห้องเรียนศาสนา บริเวณมัสยิดอัลฟลาฮฺ

ตำแหน่งแห่งหนของพี่น้องมุสลิมลำปาง

มัสยิด คือ สถานที่ที่มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน เช่น การละหมาด ซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า สถานที่ก้มกราบต่อพระเจ้าในอิสลาม นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ประชุม เพื่อกิจกรรมทางศาสนาการศึกษาและสังคม ในลำปางก็ได้แก่ มัสยิดอัลฟลาฮ ตรงข้ามกับวัดศรีชุม ต.หัวเวียง และแห่งที่สอง คือ สุเหร่าแดง บริเวณหลังวัดพระเจ้าทันใจ ต.บ่อแฮ้ว บริเวณสุสานมุสลิม ที่เรียกกันว่า กุโบร์ ตั้งอยู่บริเวณข้างสำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ลำปาง ตรงข้ามวัดป่ารวก

ย่านที่อยู่อาศัยของมุสลิมลำปาง มักจะสอดคล้องกับอาชีพการเลี้ยงสัตว์อันได้แก่ วัว แพะ ที่ต้องอาศัยบริเวณพอสมควร ดังปรากฏพื้นที่ใหญ่ได้แก่บริเวณ ปงแขก บ้านวังหม้อ ต.ต้นธงชัย ริมแม่น้ำวังที่มีการเลี้ยงวัวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้ยังมีบริเวณหมู่บ้านสุขสวัสดิ์ ต.พระบาท บริเวณแยกเพ็ญทรัพย์ ต.สบตุ๋ย บริเวณทางขึ้นวัดม่อนพระยาแช่

ย่านอาหารการกินของมุสลิมลำปาง ผู้เรียบเรียงเคยรู้จักกับน้องนักศึกษาชาวมุสลิมท่านหนึ่ง ได้พาไปทาน ข้าวซอยอิสลาม ตีนสะพานรัษฎาภิเศก ฝั่งตำบลเวียงเหนือ ซึ่งข้าวซอยนับเป็นอาหารของชาวจีนฮ่อ(ซึ่งมีทั้งที่เป็นจีนมุสลิมและไม่ใช่จีนมุสลิม) ที่เข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตคนพื้นเมือง จนกลายเป็นความเข้าใจผิดไปว่า เป็นอาหารพื้นเมืองของคนเหนือไปเสี เอาเข้าจริงแล้ววัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้น เกิดจากการแลกเปลี่ยนถ่ายเทดังกล่าวนั่นเอง

นอกจากร้านข้าวซอยอิสลามแล้ว ร้านอาหารอิสลามในลำปาง ที่ได้รับการแนะนำในเว็บไซต์ http://www.halalthailand.com/ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับมัสยิดอัลฟลาฮ ได้แก่ 1)ร้านอิรฟาน เมนูแนะนำคือ ก๋วยเตี๋ยว 2)จ๋ารีย๊ะ(ปักษ์ใต้) เมนูแนะนำคือ ข้าวหมกไก่และอาหารจานเดียว 3)ร้านอาหารมุสลิม เมนูแนะนำคือ ส้มตำ น้ำตก นอกจากนั้นยังมีร้านอื่นๆอีกได้แก่ ร้านข้าวหมกไก่อิสลาม บริเวณสี่แยกโรงฆ่าสัตว์ หรือโรตีที่หาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าเซเว่นอีเลเว่น สาขาตลาดอัศวิน


กุโบร์ ข้างสำนักงานประปาภูมิภาค ต.หัวเวียง


การปะติดปะต่อข้อมูลดังกล่าวทำขึ้นด้วยระยะเวลาอันจำกัด ซึ่งยังไม่ครบเครื่องและไม่รอบด้านเท่าที่ควร แต่ผู้เรียบเรียงเชื่อว่าน่าจะเป็นก้าวสั้นๆที่ชวนให้ชาวลำปาง พี่น้องชาวมุสลิมร่วมกันระบุความเป็นมาของตนเองร่วมกันในวันข้างหน้า ข้าพเจ้าหวังเช่นนั้น.

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวมุสลิมลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.


อ้างอิงจาก
สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา ชาวมุสลิมลำปาง วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ มัสยิดอัลฟลาฮ ศรีชุม ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง
เว็บไซต์
www.halalthailand.com

เชิงอรรถ
[1] สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา ชาวมุสลิมลำปาง วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ มัสยิดอัลฟลาฮ ศรีชุม ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง
[2] สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา,อ้างแล้ว