ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, June 20, 2009

บทความเพื่อสาธารณะ2 : "ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก"

ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เีสียงประชาชน ราวๆปี 2548

ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่ หากนับไปอีกหนึ่งเดือนก็จะเข้าสู่ปีจอ พ.ศ.2549 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบวาระสำคัญหลายๆประการในแผ่นดินผืนหนังนครลำปางนี้ เช่น ครบรอบ 90 ปีการมาถึงลำปางของรถไฟสายเหนือ, 120 ปีของการก่อสร้างวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ และแน่นอน ครบรอบ 160 ปีชาตกาลของปราชญ์ ครูเมืองละกอน ครูบาอาโนฯ(ขอเรียกสั้นๆว่า ครูบาโนฯ) ผู้มีคุณูปการต่อเมืองนครลำปางและยังนับเป็นปัญญาชนในอดีต ที่คนลำปางไม่ค่อยรู้จัก ผู้เขียนจึงใคร่นำเรื่องราวของครูบาอาโนฯมาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

1.บรรยากาศบ้านเมืองสมัยนั้น
ในยุคที่นครลำปางกำลังเปลี่ยนแปลง เริ่มสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในอีกฟากฝั่งหนึ่งของน้ำแม่วัง โดยที่ พระยาคำโสม(เจ้าหลวงองค์ที่2 พ.ศ.2329-2337) ทำการสร้างวัดกลางเวียงหรือวัดบุญวาทย์ ต่อมาในสมัย พระเจ้าหอคำดวงทิพย์(เจ้าหลวงองค์ที่3 พ.ศ.2337-2368) ได้ฤกษ์ที่จะสร้างเมืองใหม่ ในเดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ (เหนือ ซึ่งนับเร็วกว่าภาคกลาง2เดือน) พ.ศ.2361 [พระครูพุทธิธรรมโสภิต:9] สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นปีที่เริ่มสร้างกำแพงเมือง คูเมือง ประตูเมืองและหอรบ ในการขยายเมืองซึ่งแน่นอนว่า สัมพันธ์กับไพร่ฟ้าประชากรที่เป็นกำลังสำคัญในด้านแรงงานการผลิตและก่อสร้าง ดังกรณีกรุงเทพฯ ใช้แรงงานจามขุดคูเมือง ลาวสร้างกำแพงเมือง [สุจิตต์ วงษ์เทศ : 115-117]

2.กำเนิดจากเชื้อสายจีน
พ่อจ๋อย(จีนไหหลำ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชาวจีนแรกๆที่ปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์ลำปาง คำถามก็คือว่า มาจากไหน มาทำอะไรที่ลำปาง) และแม่อุตส่าห์ (ที่น่าจะเป็นคนพื้นเมือง)ได้ให้กำเนิดทารกน้อย ณ บ้านปงสนุก นครลำปาง (หรือบ้านพะยาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาคที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ทั้งยังสามารถดำรงสำนึกตัวตนท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน) เมื่อพ.ศ.2369 ร่วมสมัยกับรัชกาลที่2 และพระยาไชยวงศ์(เจ้าหลวงองค์ที่4 พ.ศ.2368-2380) แห่งนครลำปาง ขณะที่พระยาพรหมโวหาร กวีคนสำคัญของภูมิภาค เกิดเมื่อพ.ศ.2345 ณ บ้านสิงห์ชัย

3.เข้าบวชเรียน
ท่านมีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทเมื่อครบ 20 ปีในปีพ.ศ.2389 ที่วัดปงสนุก โดยมีพระครูบาอินต๊ะจักร เป็นพระอุปัชฌาย์(ถือว่าเป็นศิษย์สายพระมหาเกสรปัญโญ หรือครูบามหาป่า แห่งวัดไหล่หิน เกาะคา และศิษย์สายต่างๆนี้เองเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและสำคัญ ดังปรากฏการไปมาหาสู่กันของพระภิกษุ และชาวพุทธในดินแดนแห่งนี้อยู่เสมอๆ ปรากฏอย่างชัดเจนในความเชื่อเรื่องการจาริกเพื่อไหว้พระธาตุตามเมืองต่างๆ

4.ใกล้ชิดเจ้าหลวง
ครูบาโนฯยังมีความใกล้ชิดกับเจ้าหลวงผู้ครองนครลำปาง ตั้งแต่สมัยเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม(เจ้าหลวงองค์ที่7 พ.ศ.2393-2416) ที่ร่วมกันฝังเสาหลักเมือง ณ วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400(ก่อนที่จะย้ายไปที่ศาลหลักเมืองปัจจุบัน) เจ้าสุริยะจางวาง(เจ้าหลวงองค์ที่9 พ.ศ.2425-2430)ที่ร่วมกันบูรณะวัดพระบาท และรอยพระบาท พ.ศ.2418 ด้วยบารมีดังกล่าว และการที่รู้จักผู้คนกว้างขวาง ก็คงจะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากบ้านเมืองจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปแรก

5.ภูมิศาสตร์ครูบาโนฯ เครือญาติอันกว้างขวาง
ครูบาโนฯยังมีการบันทึกถึงสภาพพื้นที่ต่างๆอีกด้วย ถ้านอกตัวเมืองนครลำปาง ก็มีดังนี้ เมืองแจ้ห่ม แจ้ซ้อน เมืองปาน งาว หางสัตว์(ห้างฉัตร) และยังรวมไปถึงพะยาว(พะเยา)ด้วย ส่วนในบริเวณเมืองนครลำปางและใกล้เคียงก็ปรากฏในบันทึกถึงย่านชุมชน และพื้นที่ต่างๆได้แก่ วัดเชียงราย วัดม่อนกระทิง วัดกู่ขาว วัดปันเจิง วันต้นโทง(ต้นธงชัย) วัดเสด็จ วัดพระบาท วัดกาดเมฆ วัดบ้านกล้วยแพะ บ้านแลง บ้านเอื้อม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการจาริกไปร่วมงานบุญและช่วยงานก่อสร้างเสนาสนะ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางไปมาหาสู่ และกลุ่มบ้านเมืองในสมัยก่อน ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันลึกซึ้ง มากกว่าที่เราคิด

6.ศิลปสถาปัตยกรรม น้ำมือครูบาโนฯ
แม้งานสร้างสรรค์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจะปรากฏอยู่ในบันทึกอย่างหลากหลาย(ได้แก่ การสร้าง, ซ่อมพระพุทธรูป, ฉัตรยอดเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วนครลำปาง) แต่ผลงานชิ้นเอกที่แสนจะโดดเด่นของท่านก็คือ วิหารพระเจ้าพันองค์ บนม่อนดอย วัดปงสนุกเหนือ ที่ลงมือ ในปีพ.ศ.2429 เมื่อครูบาโนฯอายุได้ 60 ปี พรรษา 40 นั่นเอง(คาดว่าน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว)

ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ควรจะตั้งเป็นคำถามอย่างยิ่งก็คือ นอกจากเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารวัดปงสนุกแล้วยังมีมิติอื่นๆอยู่ด้วยหรือเปล่า ในช่วงเวลาดังกล่าวถืออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ทั้งปัจจัยกดดันจากรัฐบาลสยามและปัจจัยภายนอก จากการเข้ามาของธุรกิจการทำไม้ รวมไปถึงฝรั่งและชาวพม่าบวกกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง(ถึงกับมีการก่อตั้งสถานกงสุลอังกฤษ นครลำปาง)และเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง ที่ต่อมาในช่วงตลอดทศวรรษ พ.ศ.2430-2440 ได้มีการก่อสร้างวัดพม่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน(ซึ่งใช้เงินมิใช่น้อย)

ยิ่งเมื่อพิจารณารายชื่อของผู้ร่วมบูรณะที่ประกอบด้วยฝ่ายเจ้านายลำปาง เจ้าสัวชาวจีน พ่อเลี้ยง ชาวลำปางพื้นเมือง ก็น่าจะตั้งเป็นข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง(ฝ่ายเจ้า) กลุ่มเศรษฐกิจ(เจ้าสัว-พ่อเลี้ยง) โดยเฉพาะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกจากรูปแบบทั่วๆไป ที่มีการนำเอาศิลปะแบบหัวเมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองปันนา มาใช้ น่าจะเป็นความพยายามแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตน ที่แตกต่าง ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่กดดันอยู่

วิหารดังกล่าว เป็นวิหารโถงทรงจัตรุมุขย่อมุม สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑป หลังคาซ้อน 3 ชั้นที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศ ตัวอาคารแสดงลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะล้านนา พม่า และจีน(หนักไปทางสิบสองปันนาด้วย) ชาวบ้านเอกันว่าวิหารนี้ สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง(เชียงเจิ๋ง)ในสิบสองปันนา ประเทศจีน

ครูบาอาโนชัยธรรมจินดา นำคติสัญลักษณ์ทางศาสนามาผสานกับงานศิลปกรรมได้อย่างวิจิตร แม้ว่าวิหารพระเจ้าพันองค์จะเป็นอาคารขนาดเล็ก แต่การจัดวางองค์ประกอบที่ย้ำถึงความสำคัญของตัวอาคาร ซึ่งเปรียบประดุจปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รอเพียงการมาของพระศรีอาริยเมตไตรย์ ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต วิหารหลังนี้ยังเน้นย้ำถึงจำนวนมากมายเป็นอเนกอนันต์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จมาเผยแพร่พระธรรมเพื่อให้มนุษย์ก้าวข้ามวัฏสงสาร ขณะเดียวกันก็ใช้งานศิลปกรรมแสดงสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาล รวมไปถึงการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้าที่เขียนเป็นภาพชาดกมาผสมผสานเป็นองค์ประกอบอย่างลงตัว จนศาสตราจาย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวงได้นำความงดงามไปเป็นต้นแบบของ หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง ในปีพ.ศ.2527

วิหารดังกล่าว น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมยุคท้ายๆที่มีพลัง ก่อนที่กระแสนิยมศิลปะแบบพม่า-วิคตอเรียน-อินเดีย และจีน ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง(และแบบมาตรฐานกรมศิลปากร) จะเข้ามามีบทบาทกว้างขวาง ความพยายามดังกล่าวจึงไม่ประสบผลเท่าใดนัก ความสำคัญของวิหารพระเจ้าพันองค์ มิได้ถูกยกย่อง หรือแม้แต่จะพัฒนารูปแบบดังกล่าวให้แตกยอดต่อไป (แม้ในแผนที่การท่องเที่ยว ในยุคกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ไม่ได้รับการระบุไว้)
7.บันทึกครูบาโนฯ พ.ศ.2358-2470
บันทึกดังกล่าวอยู่ในลักษณะบันทึกประจำปี สรุปสั้นๆบอกเหตุการณ์สำคัญต่างๆไว้ ในพ.ศ.2358-2453 เช่น ภัยธรรมชาติ การเดินทางไปบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ หรือกระทั่งเรื่องของเจ้านาย (ซึ่งในสมัยก่อน ตำรา บันทึกส่วนใหญ่เป็นตำรายา คัมภีร์ธรรมะ โหราศาสตร์ต่างๆ) ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับการปริวรรตออกมาสู่สาธารณะ โดย พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจ เมื่อ พ.ศ.2539 (ยังมีตำรา อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้สานต่อ และส่วนหนึ่งได้มีการสูญหายไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรแล้วหรือไม่ที่จะมีการจัดทำระบบการปริวรรตและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน)

ที่สำคัญก็คือ เป็นบันทึกอยู่ระหว่างเหตุการณ์สำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมลำปาง ตั้งแต่ยุคตั้งเมืองนครลำปาง และยุครวบอำนาจเข้าสู่สยามประเทศที่น่าสนใจ(ช่วงเวลานับแต่ก่อนยุคครูบาฯที่มีการคัดลอกต่อมา จนถึงหลังครูบาฯที่มีศิษย์เป็นผู้บันทึกต่อ)

8.ครูเมืองละกอน
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพหูสูต ในศาสตร์ต่างๆ อันได้แก่ การปกครองและเผยแพร่ งานศิลปสถาปัตยกรรม จิตรกรรม อักษรศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วรรณกรรม จนได้รับการขนานนามว่า ครูเมืองละกอน

ภายหลังทายาทได้อนุญาตต่อฝ่ายบ้านเมือง เพื่อใช้นามสกุลว่า “เครือจีนจ๋อย” อันเป็นการระลึกถึงต้นตระกูล (โยมพ่อของ ครูบาโนฯคือ จีนจ๋อยนั่นเอง)

คุณูปการของครูบาโนฯนั้นแม้จะประกาศในหน้ากระดาษ แต่ก็ได้น้อยกว่าน้อย ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องช่วยกันสืบสานต่อ และไม่ใช่กำลังของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงของพ่อแม่พี่น้องชาวลำปาง มิฉะนั้นแล้ว คงจะเหลือเพียงคำบ่น พร่ำเพ้อ ฟูมฟาย ซึ่งในที่สุดก็จะหายไปกับสายลม

อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
1. พระครูพุทธิธรรมโสภิต. ประวัติวัดปงสนุกเหนือและประวัติ,บันทึกครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี. ลำปาง : สหกิจการพิมพ์,2539.
2. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์.ไม่ปรากฏชื่อหนังสือ.2548
3. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯมาจากไหน?, กรุงเทพฯ : มติชน.2548
............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 20
มิถุนา 52

บทความเพื่อสาธารณะ1 :"ปัญญาชนสยาม...นามว่า ส.ธรรมยศ"

ปกนิตยสารโลกหนังสือ ฉบับ 26 ปี ของ ส.ธรรมยศ, เมษายน 2521
ภาพถ่ายแสน ธรรมยศ เมื่ออายุ 20 ปี ในปีค.ศ.1934/พ.ศ.2477 หลังจากสำเร็จการศึกษาจากเวียดนาม

ปัญญาชนสยาม...นามว่า ส.ธรรมยศ

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชน (ลำปาง) ราวๆปี 2548

1.
“...ขอให้เรามาร่วมกันวิเคราะห์ชีวิตของคนไทยผู้นั้น หรือชีวิตของ “พระเจ้ากรุงสยาม” อย่างเสรีตรงไปตรงมา ไม่ใช่อย่างนักการทูต ไม่ใช่อย่างนักพงศาวดารไม่ใช่อย่างพ่อค้า เร่ขายความฉลาด หากเปิดเผยทุกด้านทุกมุมอย่างนักค้นคว้าความเป็นจริงที่จริงที่สุดเท่าที่จะสามารถค้นคว้าได้ในยุคนี้...”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ใน Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม ผลงานชิ้นสุดท้ายของ ส.ธรรมยศ ที่คลอดมา ณ โรงพยาบาลวัณโรคกลาง เมืองนนท์ ที่ๆเดียวกับที่เขาใช้พักฟื้น เช่นเดียวกับที่ๆเขาลาโลกใบนี้ไปในพ.ศ.2495 ปีเดียวกับ ปีที่หนังสือพระเจ้ากรุงสยามปรากฏสู่บรรณพิภพ

แสน ธรรมยศ คือชื่อจริง(ต่อไปจะเรียกว่า แสน) ถือกำเนิด เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2457 ณ ตำบลปงพระเนตรช้าง จ.ลำปาง(ปัจจุบันยังปรากฏชื่อ ตรอกปงพระเนตรช้าง ที่เชื่อมระหว่างถนนทิพย์ช้าง กับ ถนนตลาดเก่า ใกล้กับสำนักงานไปรษณีย์ลำปาง) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พระนคร จนมีโอกาสไปเรียนมหาวิทยาลัยเอี๋ยง จั้ง ทั่น ที่ฮานอย เวียดนาม

แสน ผู้อายุสั้น(อายุเพียง 38ปี) เกิดในยุคที่ประเทศกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ จากยุคบุกเบิกของรถไฟ(สายเหนือมาถึงลำปางเมื่อ พ.ศ.2459) อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังมีประสบการณ์ได้ร่ำเรียนปรัชญาจาก เวียดนามอีกต่างหาก จึงมีหัวคิดที่ก้าวหน้า ชอบถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ มีความสามารถเป็นนักปรัชญา นักเขียน นักปาฐกถา แต่อย่างไรก็ตาม แสน ก็ถูกวิพากษ์กลับว่า เป็นประเภทเอาหลักไม่ได้ เป็นคนเจ้าอารมณ์ (โดย สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์) เป็นคนรีบร้อนเกินไป ไม่ได้ศึกษาให้กว้างขวางเสียก่อน (โดย วิทย์ ศิวะศริยานนท์ นักวรรณกรรม) ไม่ใช่คนเก่งประวัติศาสตร์...ไม่เรียนซ้ายขวามาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาข้อยุติที่ถูกต้อง(โดย ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนสารคดี)

แต่ด้วยความกล้าหาญ และสำนวนที่เป็นหนึ่งไม่เป็นสองของเขา จึงได้รับฉายาว่า ราชสีห์แห่งการเขียน ดั่งในหนังสือพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่4 อย่างตรงไปตรงมา ข้อความหลายหน้า อาจทำให้นักอ่านหัวอนุรักษ์สะดุ้ง แต่ถ้าอ่านด้วยใจเป็นธรรมแล้ว แสนมิได้มีเจตนาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด

มิเพียงเท่านั้น ความก้าวหน้าของแสน ยังปรากฏในข้อเสนอพัฒนาประเทศต่อรัฐบาลด้วย เช่น การเสนอให้เปิดการเรียนการสอนวิชาปรัชญาขึ้น ที่เป็นการศึกษาเพื่อยกระดับความคิดในการรับใช้และสร้างสรรค์สังคมด้วยซ้ำ ขณะที่วิชาดังกล่าวแม้ในปัจจุบันจะเปิดสอนกันเกร่อแต่ก็มิได้เปิดหูเปิดตาร่วมกับสังคมให้เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด บางที่เป็นเพียงวิชาพื้นฐานทั่วไป ปราศจากความสำคัญไปก็มี มีอ้างกันว่าเคยเสนอผู้ใหญ่ในรัฐบาลตั้งสภาการค้นคว้าแห่งชาติ(แสน ธรรมยศ,2547:310) เสนอให้สร้างชาติด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับที่อังกฤษและญี่ปุ่นได้ทำสำเร็จมาแล้ว(ซึ่งอาจจะล้มเหลวที่เมืองไทยก็ได้) เห็นว่าการนำเข้าความรู้เป็นเพียงแค่ชั้นสอง ไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาเองได้(แสน ธรรมยศ,2547:327)

สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดพิมพ์ครั้งที่2 เพื่อฉลอง วาระครบรอบ 2 ศตวรรษแห่งพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2547 แสนถึงได้เกิดใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

2.
แม้ร่างกายสังขารของแสนจะแตกสลาย แต่ก็หลงเหลือคมเขี้ยวของราชสีห์ที่ฝากไว้กับหนังสือ และตำราต่างๆจำนวนมาก (เมื่อเทียบกับอายุการทำงานของแสน) อาจเป็นไปได้ว่า ความคิดความเห็นของเขาจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคม ผลงานและชื่อเสียงก็หายเงียบไปกับกาลเวลา

ชื่อเสียงของแสนปรากฏอีกครั้งเมื่อบรรยากาศ 14 ตุลาคม 2516 แต่ก็อยู่ใต้เงาของศรีบูรพา และจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือพระเจ้ากรุงสยามกลายเป็นหนังสือหายาก จนมีคนเข้าใจผิดว่ากลายเป็นหนังสือต้องห้ามไป!!(แสน ธรรมยศ,2547:(9)) พอหลัง 6 ตุลาคม 2519 จึงเริ่มมีการรวบรวมกันอย่างไม่เป็นทางการโดยคนไทยในอเมริกา และไม่ได้แพร่หลายในเมืองไทย

ผลงานของแสน ได้รับการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ ปรัชญา ศิลปวรรณคดี งานวิจารณ์ เรื่องสั้น และประเภทอื่นๆจำนวน 30 ชิ้น(จากโลกหนังสือ) แต่จะมิกล่าวในรายละเอียดในที่นี้

งานของ แสน ถือเป็นเล่มแรกๆที่พยายามจะอธิบายงานทฤษฎีและวรรณคดีวิจารณ์ ซึ่งความใหม่ที่เป็นการนำเข้าความคิดจากนักวรรณกรรมทางตะวันตก ถือว่าเป็นเกียรติคุณอย่างปฏิเสธมิได้ แม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง จนถูกกล่าวว่า ไม่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนังสือวิชาการทีเดียว บางทีแสนอาจจะถ่ายทอดตัวตันทั้งหมดลงไปในข้อคิด งานเขียนอันหลากหลายของเขา ดังปรากฏในผลงานเรื่องสั้นที่มีลีลา และสำนวนอันโดดเด่น ขอยกตัวอย่างข้อความจากเรื่องสั้น เรื่อง วิญญาณที่ท่องเที่ยวไป ดังนี้

“…แต่เราแต่งงานกันไม่ได้หรอกนงราม มันผิดทฤษฎี ฉันต้องการแต่เพื่อนและความรัก ฉันกลัวที่สุดว่า ถ้าแต่งงานแล้ว ลูกของฉันจะโง่กว่าฉัน นี้ไม่เท่าไหร่ แต่เจ้าเด็กโง่นั้น จะไปเพิ่มจำนวนคนโง่แก่ฝูงมนุษย์ ฉันไม่ใช่คนฉลาดเท่าไหร่ก็จริง…แต่ลูกของเรา เธอเชื่อหรือว่ามันจะผ่าน 2 มหาวิทยาลัย เหมือนแม่มัน ขอให้เรารักกันอย่างนี้ อาณาจักรจุมพิต เป็นจักรวาลที่ฉันบูชา จุมพิตคือศาสนา ฉันรักเธอมากที่สุดเหมือนกัน…”

และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต แสนก็มิได้ลงหลักปักฐานกับใครจริงๆ ตายท่ามกลางความอ้างว้างของคนโสด

บุคลิกของแสนนั้น ถือว่าเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง หยิ่งในศักดิ์ศรี ปากจัด นิยมสนทนาวิสาสะกับผู้คน บางท่านให้ความเป็นว่าเป็นนักปาฐกถาฝีปากเอก เป็นผู้บุกเบิกในวงการขีดๆเขียนๆ นี่เป็นบุคลิกในเชิงยกย่อง แน่นอนดังที่กล่าวมาแล้วว่า ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็ย่อมจะมีผู้คนกล่าวไว้เช่นกัน ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ผ่านมา

หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ประทับแน่นด้วยชีวประวัติของคนๆหนึ่ง โดยเฉพาะหน้ากระดาษนี้มิได้หมายเพียงจะเล่าขานถึง ตัวตน และบุคคลที่เป็นปัจเจก ที่ขาดความสัมพันธ์กับใครในโลกเท่านั้น แต่หวังใจอย่างยิ่งที่ให้เห็นถึงบทบาทที่คนหนึ่งคนได้บุกเบิกถางทางให้คนรุ่นหลังอย่างเต็มกำลัง ซึ่งก็เป็นสิทธิของเราที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง และสังคม ว่า เราจะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีเพียงใด ไม่ทำแค่เพียงรอคอยให้ใครบางคน กระโจนเข้ามาพร้อมกับม้าขาวและกำชะตาของสังคม บงการชีวิตของพวกเราทั้งหมด โดยที่เราได้แต่มองตาปริบๆ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยแต่เพียงน้อย ก็ตาม

3.
แสน มิเป็นเพียงชาวลำปางทั่วๆไป แต่ยังถือว่าตัวเขาเกิดในราชตระกูล ณ ลำปาง อันเป็นเชื้อสายทางมารดาที่ชื่อ เกี๋ยงแก้ว บิดาชื่อ ปัญญา ได้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพ่อวงศ์ เจ้าแม่จันทร์เที่ยง คำฝั้นศิริ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แสนจบจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ที่เขาเล่าว่า เมื่ออายุ 10 ขวบได้เป็นบรรณารักษ์ของโรงเรียนบุญวาทย์ฯ!!! เขายังได้ร่ำเรียนที่โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซีที่เป็นโรงเรียนคริสเตียนในลำปาง อันนับว่าเป็นโรงเรียนแนวหน้าในสมัยนั้น

ความสัมพันธ์กับบ้านเกิดของเขา จังหวัดลำปาง ยังปรากฏอยู่ในจดหมายที่บรรยายได้ชัดเจนว่า “...ผมเป็นคนลำปางที่ชาวลำปางหลายร้อยคนกล่าวว่า ลืมลำปาง ซึ่งมีเค้า เพราะผมจากลำปางไปตั้งแต่เด็กๆ เป็นหนุ่มอยู่กรุงเทพฯกับเมืองนอก ทำงานในก.ท. 14 ปี เพิ่งมาอยู่ลำปาง 10 เดือน ก็เมื่อ 29 สิงหา คือตอนป่วยหนัก ปีกลายนี้ แต่ไม่เคยเนรคุณ สถานศึกษาเดิม...ถ้าตาย ก็เสียดายที่จะทำอะไรให้บ้านลำปางบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำ...”(แกะจากลายมือจดหมาย ในโลกหนังสือ)

ไม่เท่านั้นยังฝากฝังอยู่ในเรื่องสั้นและบทความด้วย ได้แก่ "รำพึงมาที่ลำปาง" (ลงใน บางกอก พ.ศ.2489) ประวัตินครลำปาง (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2492 เป็นบรรณาการในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาส์น) ในประวัติฯมิวายที่จะฝากบทวิจารณ์พอแสบๆคันๆ ที่มุ่งวิจารณ์บ้านเมืองไว้ว่า

“...วิเคราะห์ในฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ถนนหนทางในนครลำปางจัดว่าทราม ฝุ่นขิ้นคลุ้งเป็นเมฆหมอก ปอดเมืองหรือสวนสาธารณะแห่งเดียวไม่มี บ้านเรือนและอาคารจัดสร้างกันโดยไม่รู้จักความงาม สถานศึกษาชั้นสามัญเจริญขึ้นมาก แต่อาชีวะศึกษาซึ่งควรขยายอย่างกว้างขวางยังล้าหลัง โรงพยาบาลของรัฐแพ้ โรงพยาบาลคณะมิชชั่น(โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด-ผู้เขียน) สถาบรรณอื่นๆ อันดำเป็นสำหรับเมืองเอกยังขาดอีกมากมาย เช่น โรงงานผลิตน้ำประปา หอสมุด และหอปาฐกสาธารณะ วิทยาลัยอาชีวะชั้นสูง ฯลฯ...”

ชีวิตช่วงหนึ่งของแสน ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์ใสงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ดุสิต พานิชพัฒน์ ลูกลำปางท่านหนึ่ง กล่าวถึงแสนว่า “…นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคุณสงวน สุจริตจันทร์ ซึ่งเป็นญาติกัน เปิดสอนภาษาอังกฤษที่ถนนสายกลาง (ทิพย์ช้าง) ลำปาง และต่อมาก็ได้ร่วมกับคุณแสน ธรรมยศ และคุณบุญเรียบ ศรีอ่อน ตั้งโรงเรียน GRAMMAR SCHOOL เป็นโรงเรียนกลางคืนสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และคำนวณ…”(ระบุว่าอยู่ในช่วงปีพ.ศ.2476)

แม้ว่า สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปางจะเคยยกย่อง แสน ว่าเป็น ปัญญาชนนครลำปาง ในคราว 90 ปี ชาตกาลของเขา แต่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาไม่เพียงพอที่จำกัดอยู่แค่ลำปางเสียแล้ว ชีวิตและผลงานที่ไม่เป็นสองรองใคร รวมทั้งการที่สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ผลงานชิ้นสุดท้าย และชิ้นที่เขาภูมิใจที่สุด คือ Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม เป็นครั้งที่2 เมื่อปีที่แล้ว ควรจะเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า แสน ธรรมยศ คือ ปัญญาชนสยาม คนของประเทศ คนของแผ่นดินนี้ได้อย่างสมบูรณ์

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
"90 ปี ชาตกาล ปัญญาชนนครลำปาง ส.ธรรมยศ" ใน กาสะลอง จุลสารสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบัน
ราชภัฏลำปาง ปีที่3 ฉบับที่6 กันยายน-ธันวาคม 2546
โลกหนังสือ 7 (เมษายน 2521)
ส.ธรรมยศ. Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม,กรุงเทพฯ:มติชน.2547.
ส.ธรรมยศ. ประวัตินครลำปาง พิมพ์เป็นบรรณาการในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาส์น นครลำปาง 1-5 ธันวาคม 2492, ลำปาง?.2492.
ส.ธรรมยศ. เอแลน บาลอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว, กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า.2531.
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดุสิต พาณิชพัฒน์ ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว.
...................
อย่างไรก็ตาม พบว่า ได้มีการพิมพ์ Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม อีกครั้งในปี 2551 เ่ช่นเดียวกับ ชีวิตและผลงานของ ส.ธรรมยศ ที่เขียนโดย อสิธารา ก็ถูกมาตีพิมพ์ใหม่ในปีเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งกับปัญญาชนสยามผู้นี้

ผลงานของ ส.ธรรมยศ (ส่วนหนึ่ง)

ก.ปรัชญา
บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ (Introduction to Philosophy) ตีพิมพ์ พ.ศ. 2485
ประวัติศาสตร์ปรัชญา อภิปรัชญา ศาสตร์ปรัชญา ปรัชญาฝ่ายปฏิบัตินิยม

ข. ประวัติศาสตร์
REX SIAMEN SIUM หรือ พระเจ้ากรุงสยาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
ประวัตินครลำปาง
ลานนาไทยกับประวัติศาสตร์
ดร. ดิลกแห่งสยาม ดิลกนเทวราช

ค.ศิลปวรรณคดี
ศิลปแห่งวรรณคดี พิมพ์ครั้งแรก กันยายน พ.ศ. 2480
ปรัชญากับการกวี ตีพิมพ์ครั้งหลังในนิตยสารคุณหญิง เมษายน พ.ศ. 2516
เรื่องของวรรณคดี ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์

ง.งานวิจารณ์
ศิลปะแห่งการวิจารณ์ พิมพ์ลงในหนังสือ "แม่ยมรำลึก ที่จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2508
ปรัชญาของท่านเทียนวรรณ "ก.ศ.ร. กุหลาบ"
ชีวิตและงาน ชีวิตและงานศรีปราชญ์
ความปราชญ์ของสุนทรภู่
วิจารณ์งานของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วิจารณ์งานของหลวงวิจิตรวาทการ

จ. เรื่องสั้น
แมงดา พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารยุคทองรายเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หลงรูปสุดาพรรณ พิมพ์ครั้งแรกในเดลิเมล์วันจันทร์ พ.ศ. 2495
คำสาปวีนัส พิมพ์ครั้งแรกใน ปิยะมิตร พ.ศ. 2493 เสาชิงช้า (รวมเรื่องสั้น)
เอแลน บาลอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว, กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า.2531.

ฉ. ประเภทอื่น ๆ
วิถีแห่งสันติภาพถาวร
ตำราเรียนอังกฤษวิธีลัดใน 90 ชั่วโมง
เทนนิสโต๊ะ ตีพิมพ์ครั้งหลังในนิตยสารคุณหญิง เมษายน พ.ศ. 2509
คู่มือวัณโรค

อ่านเรื่องของ ส.ธรรมยศ เพิ่มเติมได้ที่

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 20
มิถุนา 52