ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวไทยวน(คนเมือง)ในลำปาง (4)



ปกวารสาร อาลัมพางค์ เล่มที่4 ย้อนรอยอดีตของขบวนแห่จุมพระเจ้าองค์หลวงสู่ปัจจุบันของงานหลวงเวียงละกอนครั้งที่4 พ.ศ.2531


การแสดงประกอบแสง และเสียง เรื่อง เจ้าเจ็ดตนผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา เมื่อ 5-6 กุมภาพันธ์ 2531
[ที่มา : สูจิบัตร งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 4 การแสดงประกอบแสงและเสียง เจ้าเจ็ดตน ผู้ฟื้นแผ่นน้ำหนังดินล้านนา, ลำปาง : ภัณฑ์เพ็ญ, 2531]

ผมขอชวนกลับมามองที่ลำปางบ้าง กระแสท้องถิ่นนิยมลำปางในนามวัฒนธรรมของคนเมือง มีความตื่นตัวคึกคักอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 2520-2530(ประมาณพ.ศ.2520-2540) ทั้งงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนงานสร้างสรรค์ต่างๆเกิดขึ้นในนามวัฒนธรรมคนเมืองเป็นกระแสหลักสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามจะสร้างอัตลักษณ์ ตัวตนของคนลำปาง ในหลายๆแนวปฏิบัติ รวมไปจนถึง การท่องเที่ยวที่อาจถือได้ว่าประสบความสำเร็จในภาพกว้าง และในที่สุดก็กลายเป็นความคิดที่ครอบงำพื้นที่อื่นไปจนสนิทใจ ดังปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง ที่จะพัฒนาให้เป็น “เมืองน่าอยู่ เมืองท่องเที่ยว เมืองเซรามิก”[1]

รัฐกับแนวคิดศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว
หากเริ่มนับตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยแล้ว รัฐนิยมแบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2482-2485)ดูจะโดดเด่นที่สุด แต่กลับเป็นเรื่องตลกร้าย เมื่อเป็นการมุ่งเน้นการใช้อำนาจครอบงำวัฒนธรรมทั้งยังทำลายพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นลง[2](ขอให้ดูบรรยากาศในหนังเรื่อง โหมโรง) แต่พอเปลี่ยนผ่านสู่ยุคมุ่งพัฒนาประเทศ กลับเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ได้มีการนำประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นใช้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อสร้างรายได้ ดังปรากฏการส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511[3] ที่ปรากฏชัดเจนก็คือ ในปีต่อมาเชียงใหม่จัดงานลอยกระทง(แบบกรุงเทพฯ)อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการจัดขบวนแห่กระทงใหญ่และเล็ก การประกวดนางนพมาศ การประกวดโคมไฟ และการเฉลิมฉลองบริเวณประตูท่าแพ[4]

หลายจังหวัดทุกภูมิภาคล้วนพยายามจะสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ จังหวัดลำปางเองก็ริเริ่มในปี พ.ศ.2525 ในงานประเพณีแห่ครัวตานและสลากภัตร(แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) พ.ศ.2527 งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่1 (ที่ค่อนข้างได้ผล แต่อย่างไรก็ตามจัดมาจนถึงพ.ศ.2538 จึงยุติ)[5] งานแห่สลุงหลวง โดย ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร(บทบาทของชมรมมีอยู่ในช่วง พ.ศ.2530-2547) ในเทศกาลสงกรานต์ ที่ได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมของคนลำปางด้วยการรับบริจาคเงินในการสร้างสลุงหลวง และสลักชื่อไว้ด้วย



งานแห่สลุงหลวง จาก นิตยสาร อสท.เดือนตุลาคม พ.ศ.2537



งานแห่สลุงหลวง จาก นิตยสาร อสท.เดือนตุลาคม พ.ศ.2537

ต่อมารัฐบาลประกาศให้ปีพ.ศ.2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย รัฐมีนโยบายให้จังหวัดตั้งคำขวัญเพื่อสอดคล้องกับวิธีคิดดังกล่าว จังหวัดลำปางจึงสนองนโยบายด้วยคำขวัญที่ว่า “ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก”[6] ฉะนั้นจะเห็นว่ามุมมองฟากรัฐเห็นประโยชน์ที่ได้จากศิลปวัฒนธรรมจากฐานของ รายได้และเม็ดเงินเป็นหลัก(พ.ศ.2508-2516 การท่องเที่ยวเพิ่มรายรับเงินตราต่างประเทศจาก 506 ล้านบาท เป็น 3,457 ล้านบาทต่อปี[7])

ความคึกคักของวิถีคนเมือง ช่วงทศวรรษที่ 2520-2530
อย่างไรก็ตามควบคู่ไปงานประเพณีต่างๆเพื่อการท่องเที่ยว ยังมีผลงานในด้านวิชาการที่ทำงานอยู่ด้วย เมื่อสำรวจคร่าวๆ จะเห็นการบุกเบิก และเปิดพรมแดนความรู้ความเข้าใจตนเองอย่างกว้างขวางอันได้แก่ งานศึกษาค้นคว้า ของ อ.ศักดิ์ รัตนชัย ที่เน้นทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของลำปาง(และงานทางด้านอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่ริเริ่มมาก่อนทศวรรษนี้ด้วยซ้ำ) ทั้งยังเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับนักวิชาการระดับชาติ เช่น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ผลงานบางชิ้นได้รับการตีพิมพ์ใน นิตยสารเมืองโบราณ ฉบับเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2522 ซึ่งส่งอิทธิพลต่องานนักคิด นักวิชาการรุ่นหลัง เช่น รศ.ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น ที่เน้นไปทางศิลปสถาปัตยกรรม ผลงานที่เด่นก็คือ ร้อยเรื่องเมืองลำปาง : รวมบทความนำลงคอลัมน์ “ศิลปวัฒนธรรม” หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ลำปาง พ.ศ.2530-2536 ในปีพ.ศ.2537 และ เทคนิควิทยาพื้นบ้านภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ตอนที่ 2 งานช่างสถาปัตยกรรม ในปีพ.ศ.2545

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกิจกรรมต่างๆที่สร้างความคึกคักและหลากหลายในช่วงนั้น ได้แก่ งานสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครลำปาง พ.ศ.2534 โดย ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง และศูนย์วัฒนธรรมลำปาง งานมหกรรมวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ณ สวนสาธารณะเขลางค์นคร ขณะที่ พ.ศ.2538 ก็ได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปางขึ้น[8] ทั้งนี้รวมไปถึงการแต่งตำราเรียนของสถาบันการศึกษาท้องถิ่น เช่น จังหวัดลำปาง(พ.ศ.2525) โดย อ.ชมนัส เทียนวิบูลย์ และคณะ โรงเรียนลำปางกัลยาณี จุลสาร ปั๊บข่าวฮีตฮอยคัวบ่าเก่า(พ.ศ.2534) โดย ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนลำปางกัลยาณี หรือ เอกสารประกอบการสอน รายวิชาท้องถิ่นของเรา(พ.ศ.2537) โดย อ.สุรีย์ วานิกร โรงเรียนลำปางกัลยาณี เป็นต้น

ท้องถิ่นกับการนิยามตัวตน จาก “ล่องสะเพาชาวเวียงละกอน” สู่ กาดกองต้า2548
การศึกษา “ล่องสะเปา ชาวเวียงละกอน :วาทกรรมของการท่องเที่ยว” ของ อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง ที่ยก งานล่องสะเปาจาวเวียงละกอน เป็นกรณีศึกษา ที่ชี้ให้เห็นว่า งานดังกล่าวไม่เพียงเป็นการตอบสนองแนวคิดการท่องเที่ยว แต่ยังแสดงพลังอำนาจการต่อรอง และบ่งบอกฐานะความสำคัญของเมืองลำปาง ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ ความไม่เหมือนใครของลำปาง

ซึ่งอาจเป็นเพราะเพื่อตอบโต้กับบทบาทของลำปางที่ลดลง จากการเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของภาคเหนือตอนบน กลายเป็นเมืองผ่านไปสู่เชียงใหม่หรือเชียงรายเท่านั้น(ตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 ศูนย์ราชการระดับภาคถูกย้ายไปเชียงใหม่เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของภาค)[9]

ดังปรากฏความพยายามต่างกรรมต่างวาระมากขึ้นทุกที เช่น การก่อสร้างรถบุษบกเพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกต ชื่อ แก้วสะหรีเขลางค์ พ.ศ.2540[10] งานวันที่ระลึกประวัติศาสตร์รถไฟรถม้า เริ่มพ.ศ.2543[11] งานมหกรรมก๋องปู่จา โดย สมาคมชาวเหนือ และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เริ่มพ.ศ.2545[12] งานฮอมแฮง…แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) โดย คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง เริ่ม พ.ศ.2546 หรือแม้กระทั่ง ถนนคนเดินกาดกองต้า ที่เริ่มครั้งแรก ใน พ.ศ.2541[13] แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และกลับมาจัดอีกครั้งในปัจจุบัน ที่ประเมินเบื้องต้นจากปริมาณคนและความคึกคักอย่างไม่ปรากฏมาก่อน สะท้อนให้เห็นความหิวของคนลำปาง ในสำนึกของตัวตน วัฒนธรรม รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ(ถนนคนเดิน) ที่เปิดโอกาสการสังสรรค์ผ่านการค้าขาย งานศิลปวัฒนธรรม ร่วมกัน


แผ่นพับ พิพิธภัณฑสถาน ตลาดจีน ปีพ.ศ.2541 ส่วนหนึ่งของถนนคนเดินในอดีต


อย่างไรก็ตาม การพยายามสร้างสำนึก ตัวตน ความเป็นลำปาง ยังเน้นผ่านวัฒนธรรมความเป็นคนเมืองเป็นหลัก ขณะเดียวกันโดยมิได้ตั้งใจก็เบียดขับวัฒนธรรมย่อยๆอื่น ออกไปเช่น พม่า ไทใหญ่ ตองสู้ อิสลาม อินเดีย จีน ฯลฯ แม้จะมีผลงาน งานวิจัยการศึกษาหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง พ.ศ.2535 ของ
อ.ประชัน รักพงษ์ ก็เป็นความพยายามนอกกระแสหลัก ที่ยังไม่ส่งผลสะเทือนต่อจิตสำนึกร่วมของคนลำปาง

ในคราวหน้า เชิญพบกับเรื่องราวของผู้คนลำปางในลำดับต่อมา ที่ไม่ถูกนับว่าเป็นคนเมืองบ้างครับ แต่จะเป็นกลุ่มคนไหนนั้น ผมได้บอกใบ้ไว้บ้างแล้ว…


บรรณานุกรม
กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล,แผ่นพับประชาสัมพันธ์ พิพิธภัณฑสถานจีน,ลำปาง : สหกิจการพิมพ์.2541?
ทิวาลักษณ์ กาญจนมยูร และคณะ,กลองบูชา : วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมแห่งหมู่บ้านล้านนา ใน การศึกษาการจัดการทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง,วิทยาลัยสห

วิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง,2546.
บทบรรณาธิการ ใน หนังสือพิมพ์ ฅนเมืองเหนือ ฉบับวันที่ 21-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2548
ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,”ล่องสะเพา ชาวเวียงละกอน” : วาทกรรมของการท่องเที่ยว ใน ลำปางในหนึ่งห้วงศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง.2544.
เว็บไซต์ จังหวัดลำปาง
www.lampang.go.th

เชิงอรรถ
[1] ดูรายละเอียดยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง ในเว็บไซต์จังหวัดลำปาง
www.lampang.go.th
[2] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,”ล่องสะเพา ชาวเวียงละกอน” : วาทกรรมของการท่องเที่ยว ใน ลำปางในหนึ่งห้วงศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง.2544,หน้า 156-157
[3] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 159
[4] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 159
[5] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 159-160
[6] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 162
[7] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 159
[8] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 163
[9] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 175
[10] บทบรรณาธิการ ใน หนังสือพิมพ์ ฅนเมืองเหนือ ฉบับวันที่ 21-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2548,หน้า 3
[11] ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น,อ้างแล้ว หน้า 163
[12] ทิวาลักษณ์ กาญจนมยูร และคณะ,กลองบูชา : วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมแห่งหมู่บ้านล้านนา ใน การศึกษาการจัดการทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง,วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง,2546 หน้า 249
[13] กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล,แผ่นพับประชาสัมพั นธ์ พิพิธภัณฑสถานจีน,ลำปาง : สหกิจการพิมพ์.2541?

No comments: