ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวมุสลิมในลำปาง (2)




ภาพหมู่ถ่ายหน้าสถานอบรมศีลธรรม เยาวชนมุสลิมลำปาง ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย
[ที่มา : มัสยิดอัลฟลาฮฺ]

การเคลื่อนย้ายเข้าสู่นครลำปาง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีชาวมุสลิมกระจายอยู่ทั่วโลก การเข้ามาของมุสลิมในลำปางจึงไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว ทั้งยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเท่าใดนัก แต่จากบทสัมภาษณ์อาจกล่าวเบื้องต้นได้ว่า ชาวมุสลิมในลำปางรุ่นแรกๆนั้นน่าจะสืบเนื่องมาจาก ปัญหาการเมืองในกลุ่มประเทศอินเดียที่มีการแยกเป็น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ(และจะมีผลต่อการอพยพมาของชาวอินเดียซิกข์-ฮินดูด้วย)

มีการระบุว่า เคยมียามรักษาความปลอดภัยให้แก่คุ้มหลวงเจ้าผู้ครองนครลำปางด้วย(อาจจะมากับฝรั่งอังกฤษที่เป็นทั้งเจ้าอาณานิคมที่อินเดีย และพ่อค้าไม้เจ้าสำคัญในลำปาง) ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับคำบอกเล่าที่ว่า สารถีรถม้ากลุ่มแรกๆนั้นเป็นแขกปาทาน(มุสลิมที่มาจากปากีสถาน-แต่อย่างไรก็ตามมุสลิมหลายท่านเห็นว่า คำว่า แขก นั้นไม่เหมาะสมจะใช้เรียกแทนชาวมุสลิม)

มัสยิดหลังแรกก็สร้างบริเวณประตูหัวเวียง ใกล้วัดหัวเวียง(คือวัดเชตวันในปัจจุบัน) ปัจจุบันได้สร้างตึกแถวให้เช่า (เพื่อนำรายได้สมทบกับมัสยิดอัลฟลาฮ)อยู่ใกล้ๆกับร้านกล้วยปิ้งนภา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ใกล้กับคุ้มหลวงนั่นเอง ขณะที่ชาวมุสลิมประกอบอาชีพเป็นสารถีรถม้าโดยสาร พื้นที่บริเวณบ้านดอนปาน(บริเวณตรงข้ามโรงเรียนอรุโณทัย ปั๊มร้างปัจจุบัน)ก็เป็นอู่รถม้าสำคัญแห่งหนึ่ง[1] แต่ในเวลาต่อมาอาชีพดังกล่าวก็ตกเป็นของคนพื้นเมืองไปในที่สุด

นอกจากนั้นยังมี ชาวมุสลิมจากบังกลาเทศ(เรียกว่า บังกาดี) มุสลิมมลายูจากอยุธยา มุสลิมจากจีน(ที่เรียกกันว่า จีนฮ่อ)[2] แน่นอนว่าแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดชีวิตที่ต่างกันไปอีก ซึ่งไม่สามารถจะเหมารวมได้ว่า มุสลิมลำปางเป็นอย่างได้อย่างตายตัว


ห้องเรียนศาสนา บริเวณมัสยิดอัลฟลาฮฺ

ตำแหน่งแห่งหนของพี่น้องมุสลิมลำปาง

มัสยิด คือ สถานที่ที่มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน เช่น การละหมาด ซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า สถานที่ก้มกราบต่อพระเจ้าในอิสลาม นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ประชุม เพื่อกิจกรรมทางศาสนาการศึกษาและสังคม ในลำปางก็ได้แก่ มัสยิดอัลฟลาฮ ตรงข้ามกับวัดศรีชุม ต.หัวเวียง และแห่งที่สอง คือ สุเหร่าแดง บริเวณหลังวัดพระเจ้าทันใจ ต.บ่อแฮ้ว บริเวณสุสานมุสลิม ที่เรียกกันว่า กุโบร์ ตั้งอยู่บริเวณข้างสำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ลำปาง ตรงข้ามวัดป่ารวก

ย่านที่อยู่อาศัยของมุสลิมลำปาง มักจะสอดคล้องกับอาชีพการเลี้ยงสัตว์อันได้แก่ วัว แพะ ที่ต้องอาศัยบริเวณพอสมควร ดังปรากฏพื้นที่ใหญ่ได้แก่บริเวณ ปงแขก บ้านวังหม้อ ต.ต้นธงชัย ริมแม่น้ำวังที่มีการเลี้ยงวัวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้ยังมีบริเวณหมู่บ้านสุขสวัสดิ์ ต.พระบาท บริเวณแยกเพ็ญทรัพย์ ต.สบตุ๋ย บริเวณทางขึ้นวัดม่อนพระยาแช่

ย่านอาหารการกินของมุสลิมลำปาง ผู้เรียบเรียงเคยรู้จักกับน้องนักศึกษาชาวมุสลิมท่านหนึ่ง ได้พาไปทาน ข้าวซอยอิสลาม ตีนสะพานรัษฎาภิเศก ฝั่งตำบลเวียงเหนือ ซึ่งข้าวซอยนับเป็นอาหารของชาวจีนฮ่อ(ซึ่งมีทั้งที่เป็นจีนมุสลิมและไม่ใช่จีนมุสลิม) ที่เข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตคนพื้นเมือง จนกลายเป็นความเข้าใจผิดไปว่า เป็นอาหารพื้นเมืองของคนเหนือไปเสี เอาเข้าจริงแล้ววัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้น เกิดจากการแลกเปลี่ยนถ่ายเทดังกล่าวนั่นเอง

นอกจากร้านข้าวซอยอิสลามแล้ว ร้านอาหารอิสลามในลำปาง ที่ได้รับการแนะนำในเว็บไซต์ http://www.halalthailand.com/ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับมัสยิดอัลฟลาฮ ได้แก่ 1)ร้านอิรฟาน เมนูแนะนำคือ ก๋วยเตี๋ยว 2)จ๋ารีย๊ะ(ปักษ์ใต้) เมนูแนะนำคือ ข้าวหมกไก่และอาหารจานเดียว 3)ร้านอาหารมุสลิม เมนูแนะนำคือ ส้มตำ น้ำตก นอกจากนั้นยังมีร้านอื่นๆอีกได้แก่ ร้านข้าวหมกไก่อิสลาม บริเวณสี่แยกโรงฆ่าสัตว์ หรือโรตีที่หาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าเซเว่นอีเลเว่น สาขาตลาดอัศวิน


กุโบร์ ข้างสำนักงานประปาภูมิภาค ต.หัวเวียง


การปะติดปะต่อข้อมูลดังกล่าวทำขึ้นด้วยระยะเวลาอันจำกัด ซึ่งยังไม่ครบเครื่องและไม่รอบด้านเท่าที่ควร แต่ผู้เรียบเรียงเชื่อว่าน่าจะเป็นก้าวสั้นๆที่ชวนให้ชาวลำปาง พี่น้องชาวมุสลิมร่วมกันระบุความเป็นมาของตนเองร่วมกันในวันข้างหน้า ข้าพเจ้าหวังเช่นนั้น.

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวมุสลิมลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.


อ้างอิงจาก
สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา ชาวมุสลิมลำปาง วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ มัสยิดอัลฟลาฮ ศรีชุม ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง
เว็บไซต์
www.halalthailand.com

เชิงอรรถ
[1] สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา ชาวมุสลิมลำปาง วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ณ มัสยิดอัลฟลาฮ ศรีชุม ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง
[2] สัมภาษณ์ ไพฑูรย์ ยอมาดา,อ้างแล้ว

No comments: