แผนที่ แสดงถิ่นฐานบ้านเมืองดินแดนโยนก-ล้านนายุคแรกๆ และชุมชนบนเส้นทางพระเจ้าพรหม
[ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. พระเจ้าพรหม วีรบุรุษในตำนานของ โยนก-ล้านนา, ลำปาง : มติชน, 2545, หน้า (53)]
ยวน โยน คนเมือง ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
แม้ว่าคนไทยวน คนเมืองจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในเขตภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังมิสามารถนับว่าเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของลำปางได้จริงจริง เพราะย้อนเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วยังมี ชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยง ชาวเม็ง(หรือมอญ)[1] ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ตามลำดับ บทบาทของชาวไทยวน(บ้างก็เรียกโยน) ปรากฏเด่นชัดเมื่อมีการรวบรวมแคว้นหริภุญไชยกับแคว้นโยนกและสถาปนาเป็นล้านนาประเทศ โดยพระยามังราย โลกทัศน์ความคิด ความเชื่อแบบโยนก(แห่งลุ่มน้ำกก-อิง)และหริภุญไชย(แห่งลุ่มน้ำปิง-วัง) ได้หล่อหลอมให้กำเนิดความเป็นล้านนา ฉะนั้นหลังจากการยุบ ควบรวมเขลางค์นครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร และสร้างเมืองใหม่ในพ.ศ.1845[2] วัฒนธรรมการใช้ชีวิตก็ค่อยๆได้รับการหลอมรวม จนสำนึกคนท้องถิ่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยวน บนฐานชีวิตวัฒนธรรมเดียวกัน แม้ว่าจะมีหลายกลุ่มชนดังที่กล่าวมาแล้ว(คล้ายกับว่าคนจีนในลำปางที่เข้ามาอยู่และมีปฏิสัมพันธ์กับคนเมือง จนพูดเมือง และรับเอาวิถีชีวิตบางประการมาปรับใช้)
บรรยากาศบ้านเมืองดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ไม่รุนแรงขนาดถอนรากถอนโคน นับ 200 ปี ราวพ.ศ.2101[3] ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ระบบการควบคุมกำลังคน ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไพร่พลคนท้องถิ่นต่างกระจัดกระจายไม่เป็นปึกแผ่น(ในบริบทดังกล่าวไพร่บ้านพลเมืองมีความสำคัญอย่างสูง เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและแรงงานสำคัญของเมืองและอาณาจักร ที่จะยังความมั่นคงและมั่งคั่งตอบสนองกับเมือง) บ้านเมืองกลับร้างผู้คน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามซ่องสุมกำลังเพื่อจะต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมจากขุนนางที่ได้รับจากการแต่งตั้งจากพม่า ดังที่มีการกล่าวถึงกลุ่มต่างๆเสมอ อันได้แก่ ตนบุญนายาง ลำปาง ไปจนถึงหนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน[4]
ในเวลาต่อมาอีกประมาณ 200 ปี ราวพุทธศตวรรษที่ 24(ประมาณพ.ศ.2300-2399) ร่วมสมัยกับยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้คนที่จะรักษาเมืองมีน้อยมาก(ดังที่บันทึกไว้ว่า พระยากาวิละขอกำลังจากลำปาง เพียง 300 คน เพื่อจะไปตั้งเมืองป่าซาง ที่เตรียมจะตีเมืองเชียงใหม่[5]) ในสมัยพระยากาวิละ จึงมีนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆในหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่ เมืองยอง เมืองฝาง เมืองนาย เมืองสาด เมืองเชียงตุง[6](ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง เขตประเทศจีน)โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่งคือ เมืองเชียงแสนที่นอกจากจะเป็นฐานที่มั่นของทัพพม่าแล้ว เชียงแสนยังเป็นเมืองที่มั่งคั่งและร่ำรวยอย่างยิ่ง มีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองท่าสำคัญริมแม่น้ำโขง
ภาพถ่ายทางอากาศชุมชนโบราณ เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย
[ที่มา : ศรีศักร วัลลิโภดม. ประวัติศาสตร์โบราณคดี ของ ล้านนาประเทศ, กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, หน้า 201]
หลังจากการตีเมืองเชียงแสนแตก ในพ.ศ.2347 พลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นไทยวน อันได้แก่ พระสงฆ์ นักปราชญ์ ช่างฝีมือ ไพร่พลเมือง งานศิลปกรรมต่างๆ ก็ถูกกวาดต้อนกลับมายังเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่ และลำปางด้วย ดังปรากฏหลักฐานสำคัญคือ วิหารแบบเชียงแสนที่วัดหัวข่วงและวัดสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง ทั้งยังเกี่ยวพันกับตำรา พับสา ตำนานต่างๆที่แต่งขึ้นจำนวนมากในขนบแบบเชียงแสนในสมัยนี้ด้วย ซึ่งชาวยวนเชียงแสนจะกระจายอยู่บริเวณทางเหนือ ในเขตเมืองเก่า(วัดสุชาดาราม วัดหัวข่วง วัดปงสนุก) ส่วนเมืองใหม่ที่ย้ายฟากมาทางทิศใต้จะเป็นของชนชั้นปกครอง และห้อมล้อมด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จากเมืองต่างๆ(ที่ไม่ใช่เชียงแสน) เชื่อว่าจากนโยบายครั้งนั้นทำให้สัดส่วนชาวไทยวนเชียงแสนเพิ่มขึ้น และปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกับคนในเมืองลำปางเดิมเป็นอย่างมาก
ครั้นมาถึงยุคสยามประเทศที่พยายามรวมศูนย์กลาง และสถาปนาอำนาจรัฐไปสู่ท้องถิ่น คนไทยวนได้รับการดูถูกเหยียดหยามต่างๆนานา ไม่เว้นแม้แต่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ถูกฝ่ายใน ค่อนขอดว่า เป็น ลาว หรือแม้แต่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสในรัชกาลที่5 และเจ้าหญิงทิพเกสร จากเชียงใหม่ และเป็นดุษฎีบัณฑิต(จบดอกเตอร์)คนแรกของสยาม ยังถูกพระราชบิดาและเจ้านายในราชสำนักเรียกว่า ลูกลาว เช่นกัน[7] คนไทยวนจึงพยายามเรียกตัวเองใหม่ว่าเป็น คนเมือง ที่ไม่ใช่คนป่า ไม่ใช่ผี เป็นผู้มีวัฒนธรรม คำนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคัดค้านการเข้ามาปกครองโดยตรงของสยามด้วยซ้ำ[8]
จากนั้นมาจนถึงปัจจุบันที่ สำนึกตัวตนของความเป็นคนเมือง คนเหนือ ผ่านการรับรู้อย่างชัดเจน จนคำ ไทยวน คนยวน พร่าเลือนและจางหายไป แต่กลับไปปรากฏอัตลักษณ์นี้ในต่างพื้นที่ เช่น ชาวไทยวนที่เสาไห้ จ.สระบุรี แต่อย่างไรก็ตามสำนึกคนเมือง อาจบางทีมิได้คำนึงถึงการสืบสายเลือดเชื้อตระกูลเพียงอย่างเดียว การผสมผสานกับกลุ่มคนต่างๆที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในลำปาง เช่น ชาวพม่า ชาวจีน บางตระกูลก็กลายเป็นคนเมืองไป แต่บางคนก็ยังรักษารากเหง้าของตนไว้อย่างเหนียวแน่น
ความเชื่อและศาสนา
แต่เดิมก่อนที่ภูมิภาคนี้จะรับพุทธศาสนานั้น ก็ยังมีการบูชาผีบรรพบุรุษ ผีที่ปกปักรักษาธรรมชาติ ครั้นเมื่อการเข้ามาถึงของอารยธรรมอินเดีย(ก็คือศาสนาพุทธและพราหมณ์) ก็เกิดปฏิสัมพันธ์และการปรับตัว ดังที่เห็นได้จากตำนานพระธาตุต่างๆที่มีเหตุการณ์ให้พระพุทธเจ้าเทศนาโปรดผู้คนท้องถิ่น อันได้แก่ ลัวะอ้ายกอน ในตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวง หรือกระทั่งการแสดงอิทธิฤทธิ์ปราบยักษ์ ในตำนานเมืองเถิน[9] ซึ่งยักษ์ก็คือสัญลักษณ์ผู้คนในท้องถิ่นนั่นเอง(ซึ่งอาจจะหมายถึง ชาวลัวะ ก่อนที่รับพุทธศาสนาและก่อนที่จะรับการปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมหริภุญไชย หรือล้านนาก็เป็นได้)
อย่างไรก็ดี พุทธศาสนาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้านนาอย่างมาก บางท่านให้ความเห็นว่า ชนชั้นนำในสมัยนั้นใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างเอกภาพ และความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองเป็นกษัตริย์ เจ้าเมือง เสียด้วยซ้ำไป
*บทความนี้ ปรับปรุงจาก
ยุรีวรรณ นนทวาสี. ชาวไทยวน(คนเมือง) คนหมู่มากในลำปาง, ฮู้คิง…ฮู้คนลำปางฯ. 2548
บรรณานุกรม
ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง, เชียงใหม่, 2544
รัตนปัญญาเถระ. พระภิกษุ ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544
สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรต. ประชุมตำนานลำปาง, 2548
เชิงอรรถ
[1]สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544,หน้า 71
[2] รัตนปัญญาเถระ,พระภิกษุ ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม
2515,หน้า 105
[3] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 208
[4] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 250
[5] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 264
[6] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 266-267
[7] ธเนศวร์ เจริญเมือง,คนเมือง,เชียงใหม่.2544,หน้า 25
[8] ธเนศวร์ เจริญเมือง,อ้างแล้ว หน้า 26
[9] สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรต. ประชุมตำนานลำปาง, 2548.
ยวน โยน คนเมือง ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
แม้ว่าคนไทยวน คนเมืองจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในเขตภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังมิสามารถนับว่าเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของลำปางได้จริงจริง เพราะย้อนเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วยังมี ชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยง ชาวเม็ง(หรือมอญ)[1] ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ตามลำดับ บทบาทของชาวไทยวน(บ้างก็เรียกโยน) ปรากฏเด่นชัดเมื่อมีการรวบรวมแคว้นหริภุญไชยกับแคว้นโยนกและสถาปนาเป็นล้านนาประเทศ โดยพระยามังราย โลกทัศน์ความคิด ความเชื่อแบบโยนก(แห่งลุ่มน้ำกก-อิง)และหริภุญไชย(แห่งลุ่มน้ำปิง-วัง) ได้หล่อหลอมให้กำเนิดความเป็นล้านนา ฉะนั้นหลังจากการยุบ ควบรวมเขลางค์นครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร และสร้างเมืองใหม่ในพ.ศ.1845[2] วัฒนธรรมการใช้ชีวิตก็ค่อยๆได้รับการหลอมรวม จนสำนึกคนท้องถิ่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทยวน บนฐานชีวิตวัฒนธรรมเดียวกัน แม้ว่าจะมีหลายกลุ่มชนดังที่กล่าวมาแล้ว(คล้ายกับว่าคนจีนในลำปางที่เข้ามาอยู่และมีปฏิสัมพันธ์กับคนเมือง จนพูดเมือง และรับเอาวิถีชีวิตบางประการมาปรับใช้)
บรรยากาศบ้านเมืองดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ไม่รุนแรงขนาดถอนรากถอนโคน นับ 200 ปี ราวพ.ศ.2101[3] ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ระบบการควบคุมกำลังคน ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไพร่พลคนท้องถิ่นต่างกระจัดกระจายไม่เป็นปึกแผ่น(ในบริบทดังกล่าวไพร่บ้านพลเมืองมีความสำคัญอย่างสูง เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและแรงงานสำคัญของเมืองและอาณาจักร ที่จะยังความมั่นคงและมั่งคั่งตอบสนองกับเมือง) บ้านเมืองกลับร้างผู้คน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามซ่องสุมกำลังเพื่อจะต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมจากขุนนางที่ได้รับจากการแต่งตั้งจากพม่า ดังที่มีการกล่าวถึงกลุ่มต่างๆเสมอ อันได้แก่ ตนบุญนายาง ลำปาง ไปจนถึงหนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน[4]
ในเวลาต่อมาอีกประมาณ 200 ปี ราวพุทธศตวรรษที่ 24(ประมาณพ.ศ.2300-2399) ร่วมสมัยกับยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้คนที่จะรักษาเมืองมีน้อยมาก(ดังที่บันทึกไว้ว่า พระยากาวิละขอกำลังจากลำปาง เพียง 300 คน เพื่อจะไปตั้งเมืองป่าซาง ที่เตรียมจะตีเมืองเชียงใหม่[5]) ในสมัยพระยากาวิละ จึงมีนโยบาย เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆในหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่ เมืองยอง เมืองฝาง เมืองนาย เมืองสาด เมืองเชียงตุง[6](ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง เขตประเทศจีน)โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่งคือ เมืองเชียงแสนที่นอกจากจะเป็นฐานที่มั่นของทัพพม่าแล้ว เชียงแสนยังเป็นเมืองที่มั่งคั่งและร่ำรวยอย่างยิ่ง มีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองท่าสำคัญริมแม่น้ำโขง
ภาพถ่ายทางอากาศชุมชนโบราณ เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย
[ที่มา : ศรีศักร วัลลิโภดม. ประวัติศาสตร์โบราณคดี ของ ล้านนาประเทศ, กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, หน้า 201]
หลังจากการตีเมืองเชียงแสนแตก ในพ.ศ.2347 พลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นไทยวน อันได้แก่ พระสงฆ์ นักปราชญ์ ช่างฝีมือ ไพร่พลเมือง งานศิลปกรรมต่างๆ ก็ถูกกวาดต้อนกลับมายังเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่ และลำปางด้วย ดังปรากฏหลักฐานสำคัญคือ วิหารแบบเชียงแสนที่วัดหัวข่วงและวัดสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง ทั้งยังเกี่ยวพันกับตำรา พับสา ตำนานต่างๆที่แต่งขึ้นจำนวนมากในขนบแบบเชียงแสนในสมัยนี้ด้วย ซึ่งชาวยวนเชียงแสนจะกระจายอยู่บริเวณทางเหนือ ในเขตเมืองเก่า(วัดสุชาดาราม วัดหัวข่วง วัดปงสนุก) ส่วนเมืองใหม่ที่ย้ายฟากมาทางทิศใต้จะเป็นของชนชั้นปกครอง และห้อมล้อมด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จากเมืองต่างๆ(ที่ไม่ใช่เชียงแสน) เชื่อว่าจากนโยบายครั้งนั้นทำให้สัดส่วนชาวไทยวนเชียงแสนเพิ่มขึ้น และปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกับคนในเมืองลำปางเดิมเป็นอย่างมาก
ครั้นมาถึงยุคสยามประเทศที่พยายามรวมศูนย์กลาง และสถาปนาอำนาจรัฐไปสู่ท้องถิ่น คนไทยวนได้รับการดูถูกเหยียดหยามต่างๆนานา ไม่เว้นแม้แต่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ถูกฝ่ายใน ค่อนขอดว่า เป็น ลาว หรือแม้แต่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสในรัชกาลที่5 และเจ้าหญิงทิพเกสร จากเชียงใหม่ และเป็นดุษฎีบัณฑิต(จบดอกเตอร์)คนแรกของสยาม ยังถูกพระราชบิดาและเจ้านายในราชสำนักเรียกว่า ลูกลาว เช่นกัน[7] คนไทยวนจึงพยายามเรียกตัวเองใหม่ว่าเป็น คนเมือง ที่ไม่ใช่คนป่า ไม่ใช่ผี เป็นผู้มีวัฒนธรรม คำนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคัดค้านการเข้ามาปกครองโดยตรงของสยามด้วยซ้ำ[8]
จากนั้นมาจนถึงปัจจุบันที่ สำนึกตัวตนของความเป็นคนเมือง คนเหนือ ผ่านการรับรู้อย่างชัดเจน จนคำ ไทยวน คนยวน พร่าเลือนและจางหายไป แต่กลับไปปรากฏอัตลักษณ์นี้ในต่างพื้นที่ เช่น ชาวไทยวนที่เสาไห้ จ.สระบุรี แต่อย่างไรก็ตามสำนึกคนเมือง อาจบางทีมิได้คำนึงถึงการสืบสายเลือดเชื้อตระกูลเพียงอย่างเดียว การผสมผสานกับกลุ่มคนต่างๆที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในลำปาง เช่น ชาวพม่า ชาวจีน บางตระกูลก็กลายเป็นคนเมืองไป แต่บางคนก็ยังรักษารากเหง้าของตนไว้อย่างเหนียวแน่น
ความเชื่อและศาสนา
แต่เดิมก่อนที่ภูมิภาคนี้จะรับพุทธศาสนานั้น ก็ยังมีการบูชาผีบรรพบุรุษ ผีที่ปกปักรักษาธรรมชาติ ครั้นเมื่อการเข้ามาถึงของอารยธรรมอินเดีย(ก็คือศาสนาพุทธและพราหมณ์) ก็เกิดปฏิสัมพันธ์และการปรับตัว ดังที่เห็นได้จากตำนานพระธาตุต่างๆที่มีเหตุการณ์ให้พระพุทธเจ้าเทศนาโปรดผู้คนท้องถิ่น อันได้แก่ ลัวะอ้ายกอน ในตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวง หรือกระทั่งการแสดงอิทธิฤทธิ์ปราบยักษ์ ในตำนานเมืองเถิน[9] ซึ่งยักษ์ก็คือสัญลักษณ์ผู้คนในท้องถิ่นนั่นเอง(ซึ่งอาจจะหมายถึง ชาวลัวะ ก่อนที่รับพุทธศาสนาและก่อนที่จะรับการปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมหริภุญไชย หรือล้านนาก็เป็นได้)
อย่างไรก็ดี พุทธศาสนาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้านนาอย่างมาก บางท่านให้ความเห็นว่า ชนชั้นนำในสมัยนั้นใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างเอกภาพ และความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองเป็นกษัตริย์ เจ้าเมือง เสียด้วยซ้ำไป
*บทความนี้ ปรับปรุงจาก
ยุรีวรรณ นนทวาสี. ชาวไทยวน(คนเมือง) คนหมู่มากในลำปาง, ฮู้คิง…ฮู้คนลำปางฯ. 2548
บรรณานุกรม
ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง, เชียงใหม่, 2544
รัตนปัญญาเถระ. พระภิกษุ ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม 2515
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544
สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรต. ประชุมตำนานลำปาง, 2548
เชิงอรรถ
[1]สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544,หน้า 71
[2] รัตนปัญญาเถระ,พระภิกษุ ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร แปล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล 17 มกราคม
2515,หน้า 105
[3] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 208
[4] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 250
[5] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 264
[6] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 266-267
[7] ธเนศวร์ เจริญเมือง,คนเมือง,เชียงใหม่.2544,หน้า 25
[8] ธเนศวร์ เจริญเมือง,อ้างแล้ว หน้า 26
[9] สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรต. ประชุมตำนานลำปาง, 2548.
No comments:
Post a Comment