ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวจีนในลำปาง (3)




ศาลเจ้าแม่ทับทิม


ภาวะคุกคามจากนโยบายระดับประเทศ

สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประชากรชาวจีนในสยามได้ขยายตัวเป็นจำนวนมาก มีบทบาทสูงทางเศรษฐกิจ บางส่วนยังเหตุความวุ่นวายจากการผละงาน การจลาจลจนถึงต้องปราบปรามกันอย่างหนัก ทำให้แม้รัชกาลที่6 เอง ก็ทรงมองอย่างดูแคลน มีอคติและเรียกชาวจีนว่าเป็น “ยิวแห่งบูรพาทิศ” [1] (ซึ่งพระองค์ทรงได้รับอิทธิพลความหวาดกลัวที่ชาวตะวันตกมองจีนอีกทีหนึ่ง) ขณะที่สมัยจอมพล แปลกเองก็สืบทอดความคิดดังกล่าวมาไม่น้อยไปกว่ากัน เริ่มจากการแทรกแซงทางการค้าด้วยการตั้งบริษัทในนามของรัฐบาล จนถึงออกกฎหมายกีดกันคนต่างด้าว(โดยเฉพาะชาวจีน) ถึงกับประกาศเขตหวงห้าม มิให้ชาวต่างด้าวเข้าหลังการประกาศ และเริ่มใช้กับภาคเหนือ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2486 ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด อันได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ ชาวจีนนับพันต้องอพยพเคลื่อนย้ายภายในเดือนเมษายน[2]

ความเป็นปึกแผ่นของสถาบันต่างๆในนามชาวจีน
ดังที่กล่าวมาแล้วชาวจีนเข้ามามีบทบาทในเมืองนครลำปาง ระลอกแรก คือบริเวณกาดกองต้า(หรือตลาดจีน) ในระลอกที่สองก็เป็นผลมาจากเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่พ.ศ.2459 ขณะที่ชาวจีนมีบทบาทอย่างสูงทางเศรษฐกิจ ก็มีแรงกดดันมิใช่น้อย ฉะนั้นจึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และสร้างสวัสดิการร่วมกันภายในกลุ่ม (ขณะที่ก็ยังมีการแบ่งแยกในกลุ่มภาษาอีก โดยเฉพาะที่โดดเด่นก็คือ ชาวจีนไหหลำ) ดังปรากฏเป็นโครงสร้างและสถาบันต่างๆดังนี้
ศาลเจ้า หรือศาสนสถานของชาวจีน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ซึ่งก่อตั้งขึ้นประจำกลุ่มภาษา ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ถ.ทิพย์ช้าง ของชาวไหหลำ สร้างราวๆหลังสงครามโลกครั้งที่2(หลังพ.ศ.2488) ศาลปุงเถ้ากง ของชาวแต้จิ๋วและจีนแคะ(มีบริเวณตลาดจีน ถ.ทิพย์ช้าง สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2436[3] และบริเวณสบตุ๋ย ถ.ประสานไมตรี สร้างราวหลังสงครามโลกครั้งที่2 เช่นกัน)

โรงเรียนจีน
กล่าวกันว่าในระยะแรก ลูกคนจีนในลำปางเรียนภาษาจีนที่ จือป้อเสีย ที่บริษัทจังหวัดลำปางก่อนจะมีโรงเรียน ในพ.ศ.2466 ที่พ่อค้าชาวจีนไหหลำซื้อที่ดินและบริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนจีนแห่งแรกในลำปาง เรียกว่า โรงเรียนยกส่าย(ปัจจุบันคือ โรงเรียนมัธยมวิทยา)บริเวณถนนฉัตรไชย อีก 3 ปีต่อมา ชาวจีนแคะ แต้จิ๋ว และกวางตุ้งก็รวมตัวกันตั้งโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งชื่อ โรงเรียนฮั้วเคี้ยว (แปลว่าจีนโพ้นทะเล) หรือ หนานปางกงสิหวาเฉียว หรือ หวาเฉียว หรือ กงลิยิหวา (ปัจจุบันก็คือ โรงเรียนประชาวิทย์) เมื่อพ.ศ.2469 ไม่น้อยหน้ากัน ซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจาก ประธานชมรมชาวจีนโพ้นทะเลในลำปางขณะนั้น[4]
อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามจะรวมทั้งสองโรงเรียนเข้าด้วยกันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในที่สุดโรงเรียนทั้งสองก็ถูกสั่งปิดในช่วงสงคราม และโรงเรียนยกส่ายถูกยึดเป็นฐานที่พักพิง[5] จนถึงพ.ศ.2489 พ่อค้าจีนก็ขอเปิดโรงเรียนทั้งสอง โดยรวมเป็นโรงเรียนเดียวกันในนาม โรงเรียนยกฮั้ว หรือโรงเรียนประชาวิทย์(หรือกงลิยิหวา) เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ขณะที่ใช้โรงเรียนยกส่ายเป็นที่ตั้งสโมสรชาวจีน(หวาเฉียวจี้เลาะปู้)ชื่อ สโมสรสหมิตร ในพ.ศ.2495 จึงขอใช้พื้นที่โรงเรียนยกส่าย เป็นที่ตั้งโรงเรียน จึงได้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมวิทยา[6]

จนในที่สุด ความพยายามดังกล่าวก็ปรากฏเป็นเครือข่ายในนาม มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาวิทย์-มัธยมวิทยา เมื่อพ.ศ.2519 องค์กรอื่นๆ



โรงเรียนยกส่าย หรือมัธยมวิทยาในปัจจุบัน

มูลนิธิลำปางสงเคราะห์ เดิมก่อตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2503 บริเวณตรงข้ามโรงแรมร่มศรีทองในปัจจุบัน แต่ได้ย้ายไปตั้งบริเวณถนนสุเรนทร์ เมื่อ พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นมูลนิธิกลางของชาวจีนลำปางในทุกกลุ่มภาษา คือ จีนแคะ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ไหหลำ ซึ่งมีหน้าที่ด้านสาธารณกุศล เช่น ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลศพหรือบริจาคโลงศพให้คนอนาถา บริจาคสิ่งของสงเคราะห์คนยากไร้ คนไร้ที่พึ่ง[7]

นอกจากนั้นยังมีสมาคม และชมรมอื่นๆอีก(ยังต้องค้นคว้ารวบรวมเพิ่มเติมอีก) เช่น ชมรมฮงสุน ฯลฯ

สุสานจีน ในลำปางมีอยู่ 3 แห่ง
แห่งแรก คือ สุสานพระบาท มีอายุมากกว่า 100 ปี สันนิษฐานว่าเป็นเขตป่าสงวน ชาวจีนจึงได้นำศพมาฝัง ขณะที่รัฐบาล บ้านเมืองก็ไม่ได้เห็นปัญหา แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวจีนอพยพเข้ามามาก จึงขยายพื้นที่ออกไปอย่างมาก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวไม่มีโฉนด(ได้รับการบอกเล่าว่า กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการขอโฉนดที่ดินอยู่ เมื่อพ.ศ.2548)



สุสานพระบาทของชาวจีน


แห่งที่สอง คือ สุสานจี้หนาน อยู่บริเวณใกล้กับสุสานพระบาท สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2510 เป็นพื้นที่ที่มีใบโฉนดเรียบร้อยแล้ว

ส่วนแห่งที่สาม คือ สุสานจีน ถ.ลำปาง-เด่นชัย สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2517 เป็นพื้นที่ที่มีโฉนดเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

*เรียบเรียงจาก
ทัศนีย์ ขัดสืบ,ชาวจีนลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม
จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548.
ทัศนีย์ ขัดสืบ,”ชาวจีนลำปาง” ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.
สมโชติ อ๋องสกุล.”โรงเรียนจีนในลำปาง : ยกส่าย(มัธยมวิทยา)และกงลิยิหวา(ประชาวิทย์) ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.
ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544.

เชิงอรรถ
[1] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548 หน้า 166
[2] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 278
[3] ทัศนีย์ ขัดสืบ,”ชาวจีนลำปาง” ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548,หน้า 2.3.3
[4] สมโชติ อ๋องสกุล.”โรงเรียนจีนในลำปาง : ยกส่าย(มัธยมวิทยา)และกงลิยิหวา(ประชาวิทย์) ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544 หน้า 146-147
[5] สมโชติ อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 148
[6] สมโชติ อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 148-149
[7] ทัศนีย์ ขัดสืบ,อ้างแล้ว หน้า 2.3.3

2 comments:

gib said...

ไม่คิดว่าอาจารย์จะเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมชาวจีนที่จังหวัดหนูด้วยนะคะ ขนาดคนลำปางเองยังไม่สนใจศึกษาเลยคะ

ขอบคุณมากนะคะที่ช่วยศึกษาประวัติศาสตรืในบ้านหนู

boonsong said...

ครับผมก็ลูกคนจีนในลำปางสนใจมานานเพราะเป็นศิษย์เก่าที้งประชาวิทย์และมัธยมวิทยาอยากให้อนุชาติรุ่นหลังได้ทราบความเป็นมาของบรรพบุรุษครับ