ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวคริสต์ในลำปาง (1)



มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ นครวาติกัน

ศาสนาคริสต์ในหลายบริบท คาทอลิก โปรเตสแตนท์ และอื่นๆ[1]
ดังที่ใครๆทราบมาแล้วว่า ศาสนาคริสต์ได้ถือกำเนิดเมื่อราว 2,006 ปีที่แล้ว (พ.ศ.543 นับเป็นคริสตศักราชที่1) พร้อมกับพระเยซูไครสต์ ที่ถือกำเนิด ณ ตำบลเบธเลเฮม ดินแดนในประเทศปาเลสไตน์ในปัจจุบัน เป็นบุตรของโยเซฟและนางมาเรีย แต่เดิมนั้นศาสนาคริต์ถูกบีบบังคับอย่างมาก ดังเหตุการณ์สำคัญที่เรียกกันว่า อาหารมื้อสุดท้าย (The last supper) ที่หลังจากนั้นก็ถูกทหารโรมันจับ จนถูกพิพากษาให้ตึงไม้กางเขน ในพ.ศ.575 เมื่อพระชนมายุได้ 32 พรรษาเท่านั้น ทั้งยังทรงกล่าวปัจฉิมพจน์ไว้ว่า “ขอทรงยกโทษให้เขา เพราะเขาได้ทำไปในสิ่งที่เขาไม่รู้” ซึ่งแสดงถึงความรักความเมตตาของมนุษยชาติอย่างสูง

อย่างไรก็ตามเมื่อยุคสมัย เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป จากศาสนิกชนที่ต้องหลบๆซ่อนๆในการนับถือ ศาสนาคริสต์ ในเวลาต่อมา กลับกลายมาเป็นศาสนาสำคัญของอาณาจักรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรโรมันตอนปลาย สมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ประกาศว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อต้นคริสตวรรษที่ 4(ค.ศ.300-399 ราว พ.ศ.843-942) ก่อตัวเรื่อยมา

จนคริสตจักรเรืองอำนาจในสมัยกลางของยุโรป ราวค.ศ.500-1300(พ.ศ.1043-1843) [2] ที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของศาสนาคือ การปฏิรูปโดย แบ่งแยก พวกปฏิรูป(โปรเตสแตนท์-Protestant ไทยเรียก คริสเตียนตามภาษาอังกฤษ) ออกมาโดยไม่ขึ้นกับคริสตจักรเดิม(ไทยเรียก คริสตัง ตามเสียงฝรั่งเศส)[3] ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ นครวาติกัน แรงผลักดันนั้นเองทำให้แนวความคิดของศาสนาคริสต์ มีความหลากหลายขึ้นกว่าเดิม รองรับความเชื่อ และชีวิตในยุคสมัยต่างๆกัน เช่น การกำเนิดของ นิกายออร์ธอดอกซ์ รวมไปถึงนิกายอิงลิชเชิร์ช ที่อังกฤษ[4]

คริสตศาสนาบนผืนดินสยามประเทศ
คนสยามมึโอกาสรู้จักศาสนาคริสต์มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะกล่าวถึง ชาวคริสต์ในดินแดนล้านนาประเทศในยุคร่วมสมัยเดียวกัน(ดังที่ปรากฏหลักฐานภาพวาดกรุงศรีอยุธยา ปัตตานี ในยุคดังกล่าว) ชาวคริสต์ในกรุงศรีอยุธยามาพร้อมกับบาทหลวง พ่อค้าและทหารรับจ้าง(เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญ ที่มีผลประโยชน์ในการค้าขายมหาศาล)

ดังปรากฏ ชุมชนคริสเตียน 3 โบสถ์ ในกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ คณะฟรานซิสกัน คณะโดมินิกัน และคณะเยซูอิต แต่ก็ล่มสลายพร้อมๆไปกับกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงครั้งที่2 ในพ.ศ.2310 แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยธนบุรี มีทหารอาสาชาวโปรตุเกส มาตั้งเป็นชุมชนใหม่เรียกว่า “ฝรั่งกุฎีจีน” มีศูนย์กลางอยู่ที่ โบสถ์วัดซางตาครู้ส ธนบุรี[5]

คริสต์ศาสนาที่เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาล้วน เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ที่แพร่หลายอยู่บริเวณตอนใต้ของยุโรป อันได้แก่ สเปน โปรตุเกส เป็นต้น พอล่วงมาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ คริสต์ศาสนาที่เข้ามาพร้อมกับมิชชันนารีนั้น ล้วนแต่เป็นนิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงไม่โปรดพวกมิชชันนารี และคนไทยที่เชื่อก็ถูกจองจำลงโทษ เพราะในยุคนั้นการล่าอาณานิคมของประเทศทางตะวันตกปรากฏให้เห็นชัด แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนนโยบายทางต่างประเทศ ที่พระองค์ทรงเมตตาต่อบรรดามิชชันนารี พระองค์ทรงเรียนรู้ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ จากผู้ประกาศกิตติคุณ[6]



นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์


การเผยแพร่ศาสนา ที่มาพร้อมกับ เทคโนโลยีการพิมพ์, การแพทย์, การศึกษา ฯลฯ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเรียนรู้เรื่องราวมากหลายจากมิชชันนารี หนึ่งในนั้นที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์(พ.ศ.2347-2416) หรือหมอบรัดเลย์ มีบทบาทสำคัญในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การเผยแพร่ศาสนา การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน(แบบตะวันตก) โดยริเริ่มให้มีการปลูกฝี การเขียนตำราผดุงครรภ์ ชื่อว่า ครรถ์ทรักษา

แม้กระทั่งการรักษาโดยการผ่าตัดเอง หมอบรัดเลย์ก็ฝากฝีมือไว้ และคุณูปการสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเรียนรู้คือ การริเริ่มเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือ เพื่อพิมพ์เผยแพร่ศาสนา รวมถึงตำราวิทยาการความรู้ต่างๆ เช่น คัมภีร์การปลูกฝี พ.ศ.2382 กฎหมายว่าด้วยการจอดเรือ พ.ศ.2402 พงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2407 สามก๊ก พ.ศ.2408

หรือแม้แต่ อักขราภิธานศรับท์ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพจนานุกรมภาษาไทยเล่มแรก เมื่อ พ.ศ.2416[7] เหล่านี้เองจะทำให้บรรยากาศความคึกคักของบ้านเมืองในระดับหนึ่ง ที่ได้รับเมื่อคราวที่มิชชันนารีเข้ามาในสยาม นอกจากนั้นคณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งเป็นสังกัดของหมอบรัดเลย์ ก็ยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เมื่อพ.ศ.2394[8] อีกด้วย

เป้าหมายที่เชียงใหม่
ในช่วงพ.ศ.2406 ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี(ลูกเขยหมอบรัดเลย์) และศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน(ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดตั้งสถานีมิชชั่นในนครลำปาง) ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจที่เชียงใหม่เป็นครั้งแรก ในช่วงดังกล่าวราชสำนักเชียงใหม่ ในสมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์(พ.ศ.2399-2413)[9] เองก็ต้องการความรู้และเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาเช่นเดียวกัน จึงเห็นชอบให้ตั้งสถานีมิชชั่นขึ้นในเชียงใหม่ ขณะที่เมืองนครลำปางยังไม่เป็นที่สนใจของมิชชันนารี แม้ว่าจะมีการเดินทางสำรวจไปถึงเชียงรายและหลวงพระบางแล้วก็ตาม[10]



ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี(ลูกเขยหมอบรัดเลย์)

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวคริสต์ลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
เว็บไซต์
1. กรมศาสนา,ศาสนาคริสต์,ประวัติศาสนา,
http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_1.asp
2. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, http://www.bcc.ac.th/web2005/index052.htm
เอกสาร
1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.อยุธยา : Discovering Ayutthaya,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ,2546.
2. ธเนศวร์ อาภรณ์สุวรรณ.”หมอบรัดเลย์กับ American Orientalism ในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547.
3. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544.
4. ไมเคิล ไรท์.ตะวันตกวิกฤต คริตส์ศาสนา ตีแผ่รากเหง้าชาวตะวันตก.มติชน : กรุงเทพฯ,2546.
5. สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,อมรินทร์ : กรุงเทพฯ,2544.
6. อุบลวรรณ มีชูธน.”หมอบรัดเลย์กับการประกาศศาสนาในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547.

เชิงอรรถ
[1] จากเว็บไซต์ กรมศาสนา ในหน้า ศาสนาคริสต์,ประวัติศาสนา, http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_1.asp วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2549
[2] ไมเคิล ไรท์.ตะวันตกวิกฤต คริตส์ศาสนา ตีแผ่รากเหง้าชาวตะวันตก.มติชน : กรุงเทพฯ,2546,หน้า 60
[3] ไมเคิล ไรท์,อ้างแล้ว หน้า 78
[4] จากเว็บไซต์ กรมศาสนา ในหน้า ศาสนาคริสต์,นิกาย, http://religion.m-culture.go.th/religion_christ/christ_2.asp วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2549
[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.อยุธยา : Discovering Ayutthaya,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ,2546,หน้า 166.
[6] อุบลวรรณ มีชูธน.”หมอบรัดเลย์กับการประกาศศาสนาในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547,หน้า 87
[7] ธเนศวร์ อาภรณ์สุวรรณ.”หมอบรัดเลย์กับ American Orientalism ในสยาม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547,หน้า 96-98
[8] จากเว็บไซต์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, http://www.bcc.ac.th/web2005/index052.htm วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2549
[9] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,อมรินทร์ : กรุงเทพฯ,2544,หน้า 277
[10] ประสิทธิ์ พงศ์อุดม.”คริสต์ศาสนากับการมีส่วนร่วมในพัฒนาการทางสังคมของลำปาง : ศึกษาบทบาทมิชชันนารีอเมริกันระหว่าง ค.ศ.1880-1940(พ.ศ.2423-2483)” ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.จิตวัฒนาการพิมพ์ : ลำปาง,2544,หน้า 63-66

No comments: