ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Sunday, September 6, 2009

ฟองหลี...อาคารพื้นถิ่น "ตลาดจีน" ลำปาง : บทความเก่าในปี 2543

ฟองหลี...อาคารพื้นถิ่น "ตลาดจีน" ลำปาง
โดย กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล

จากหนังสือ อาษา ฉบับที่ 10:43 ตุลาคม พศ.2543
จัดทำเมื่อ 1 มีนาคม พศ.2544
นำมาจากเว็บบอร์ด
เรือนพื้นถิ่นของจังหวัดลำปาง ในย่านการค้าเก่าริมฝั่งแม่น้ำวังที่เรียกว่า "ตลาดจีน"นั้นมีลักษณะพิเศษ อันเป็นเอกลัษณ์ นับเป็นกลุ่มอาคารที่มีทั้งศิลปะและประโยชน์ใช้สอยรวมอยู่ด้วยเรือนพื้นถิ่นกลุ่มดังกล่าว ก่อสร้างขึ้นในยุคของจังหวัดลำปางที่มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชในนาม "นครลำปาง" โดยมีเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองและมีอำนาจเต็มในการปกครองโดยที่รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 5ไม่ได้มากำกับการบริหารและการปกครอง เพียงแต่ต้องมีพันธะทางการเมือง ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะประเทศราชกล่าวคือ

1. ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นขุนนาง จะต้องเข้าเฝ้ากราบบังคมทูล
และรับการแต่งตั้งที่กรุงเทพฯ
2. เจ้าเมืองต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ อันได้แก่ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และสิ่งของอื่น ๆ ตามกำหนด 3
ปีต่อครั้ง
3. ต้องส่งกองทัพมาช่วยรบเมื่อเกิดศึกสงคราม

สภาพทั่วไปในเมืองนครลำปาง ในยุคเป็นประเทศราช การคมนาคมอาศัยทางน้ำคือแม่น้ำวังเป็นหลัก
โดยทิศเหนือสามารถถ่อเรือขึ้นไปถือเมืองแจ้ห่ม และเมืองวังเหนือ ส่วนทางทิศใต้ก็สามารถล่องเรือถึงเมืองระแหง แล้วเดินทางบกอีกประมาณ 7 วันก็ถึงเมืองมะละแหม่ง รวมถึงการล่องเรือไปยังกรุงเทพด้วย แต่ใช้เวลาเดินทางระยะเวลานานเนื่องจากมีเกาะแก่งในแม่น้ำมาก ผู้คนใช้แม่น้ำแทนถนน ในการเดินทางและทำมาค้าขาย ส่วนการเดินทางโดยทางบก มักเป็นการเดินทางในช่วงสั้น ๆใช้ม้า ช้าง และเกวียนเป็นพาหนะ

เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองในเมืองนครลำปางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448พระองค์ก็ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานไปยัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ 14/70 ลงวันที่ 4
กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 ความว่า

"….ออกจากแพร่เดินลัดไปนครลำปาง ตามทางเป็นป่าดงโดยมาก มีบ้านผู้คนห่าง ๆ แต่มีป่าไม้อยู่มาก
บริบูรณ์ด้วยไม้สัก ไม้ตะเคียน ครั้นใกล้เมืองนครลำปางเองแล้ว จึงมีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น
บ้างตามเหล่านี้ไร่นาไม่ใคร่มี เพราะฉะนั้นที่นครลำปางอยู่ข้างขัดสน ตัวเมืองนครลำปางเองก็ติดแน่นหนา
อยู่ภายในกำแพง ด้านใต้แห่งลำน้ำ (วัง) ด้านเหนือมีบ้านเรือนมากก็จริง แต่ยังมีเป็นป่า ๆ ปนอยู่
ด้านใต้นั้นดูดี ด้วยมีห้างแลร้านอยู่มาก คณะเงี้ยวที่นี่ใหญ่และทำการค้าขาย มีร้านเล็ก ๆ
ขายผ้าผ่อนแพรพันสั่งจากมะระเมงโดยมาก (มะละแหม่ง, ผู้เขียน) ที่เป็นห้างใหญ่ ๆ มีห้างพม่า
จีนบ้าง…"

สถานการณ์ภายหลังจากที่อังกฤษยึดพม่าทั้งประเทศได้อย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2428 อังกฤษได้ดำเนินกิจการป่าไม้ขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นล่ำเป็นสันในพม่า ในระยะต่อมาภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่งพ่อค้าอังกฤษและคนในบังคับจึงเกิดความสนใจที่จะเดินทางเข้ามาในดินแดนหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือ
ทำได้โดยง่ายและสะดวกยิ่งกว่าการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือ

นอกจากนี้ยังสามารถขออนุญาตทำป่าไม้ได้โดยตรงกับเจ้าผู้ครองนครโดยไม่ต้องผ่านทางกรุงเทพฯ ส่วนเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าก็ใช้เงิน"รูเปีย" ของอังกฤษที่นำมาใช้ในอินเดียและพม่า โดยที่รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา การขาดแคลนปริมาณเงินปลีก โดยเฉพาะเงินหนึ่งสตางค์ และเหรียญเงินบาทได้จึงทำให้ประชาชนคุ้นเคยและยอมรับใช้เงินรูเปียในการชำระหนี้กันกว้างขวางมากทำให้มีเงินรูเปียในการชำระหนี้กันกว้างขวางมากทำให้มีเงินรูเปียเข้ามาหมุนเวียนในระบบ
เศรษฐกิจหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือเป็นจำนวนมาก

บริษัทของอังกฤษที่เข้ามาทำป่าไม้ในเมืองนครลำปางในสมัยนั้น ได้แก่
1. BOMBAY BURMAH TRADING CORPORATION LIMTED โดยเข้ามาตั้งสาขาที่เมืองนครลำปาง ตั่งแต่ พ.ศ. 2434
2. BRITISH BORNEA COMPANY LTD.
3. SIAM FOREST COMPANY LTD.
4. L.T.LEAONOWENS COMPANY LTD.
5. EAST ASIATIC COMPANY LTD.

เมื่อบริษัทอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ ได้นำเอาคนในบังคับ ซึ่งได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อันได้แก่ ชาวพม่า ชาวมอญ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) ชาวขมุ เข้ามาร่วมทำงานป่าไม้ด้วยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในขณะนั้น ราษฎรในเมืองนครลำปาง ยังต้องสังกัดมูลนายในระบบไพร่ ระบบทาส และไม่มีความชำนาญในการทำป่าไม้ ส่วนชาวพม่าที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ และมีการศึกษาดี จะได้รับจ้างเป็นผู้ควบคุมงาน การใช้แรงงานในป่าจะเป็นพวกไทยใหญ่และขมุ การทำป่าไม้ของชาวอังกฤษจึงเป็นแรง ผลักดันให้ชาวพม่ามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยชาวพม่าได้เริ่มทำการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการนำเข้ามาจากเมืองมะละแหม่ง และรับซื้อสินค้าจากพ่อค้าเร่ที่เดินทางมาจากยูนานรวมทั้งสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ ขึ้นในย่าน "ตลาดจีน"

ในระหว่างช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2434- พ.ศ. 2450) นครลำปางจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยรวมทั้งมีการทำป่าไม้เพื่อการส่งออก และการค้าขายจึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ในฐานะเมืองท่าพาณิชย์ที่ติดต่อค้าขายทางไกลข้ามประเทศระหว่าง พม่า และยูนาน ซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนและยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการล่องไม้ซุงสัก และการค้าขายทางเรือระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯและประเทศตะวันตก โดยมี "ตลาดจีน" ริมฝั่งแม่น้ำวังเป็นผ่านการค้าที่คึกคักและสำคัญที่สุดในขณะนั้น

เมื่อกลุ่มบริษัทอังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ในนครลำปางได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักโดยนำศิลปวิทยาการทางตะวันตกเข้ามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและก่อสร้าง ส่วนใหญ่อยู่ที่ท่ามะโอซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำวัง นอกจากนี้ชาวพม่าที่เข้ามาค้าขายและสามารถสะสมทุนจนมีฐานะมั่นคั่งได้ก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นที่พักและเป็นที่ค้าขายและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่กลุ่มพ่อค้าชาวพม่า ดังนั้นในย่าน "ตลาดจีน" จึงมีพ่อค้าพม่า จีน ไทยใหญ่ และอินเดีย โดยมีพ่อค้าชาวพม่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดแต่กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและพึ่งพากัน เช่น อาคารของพ่อค้าจีนบางหลัง ก็มีส่วนของสถาปัตยกรรมพม่าตกแต่งผสม สันนิษฐานว่าคงใช้ช่างและแรงงานฝีมือของชาวพม่าในการก่อสร้าง


ลักษณะสถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารตลาดจีนและอาคารที่ทำการซึ่งสร้างขึ้นโดยคนต่างชาตินี้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเรือนพื้นถิ่นของชาวนครลำปางในขณะนั้น โดยส่วนของชนชั้นมูลนายซึ่งเป็นเจ้าเมืองและเครือญาติ รวมทั้งผู้มีฐานะดีในเมืองจะนิยมปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วยไม้สัก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคนี้ ลักษณะบ้านจะเป็นเรือนใต้ถุนสูง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา มีชานแล่นระหว่างเรือน บริเวณบ้านก็จะกว้างขวางร่มรื่น
มีการปลูกต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ส่วนใหญ่ใช้บริโภคได้ ส่วนอาคารร้านค้าที่ตลาดจีนนั้น มีการนำอิฐมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งในขณะนั้น ชาวเมืองนครลำปาง จะใช้อิฐในการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น วัด และกำแพงเมืองไม่นิยมเอาอิฐมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนโดยทั่วไปยกเว้นอาคารศาลาเค้าสนามหลวง เป็นต้น

ส่วนชนชั้นไพร่และทาส ที่เป็นราษฎรทั่วไป ก็จะปลูกสร้างบ้านในลักษณะเรือนเครื่องผูกใต้ถุนสูง มุงด้วยหญ้าคา มีไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบโครงสร้างหลัก การที่นำอิฐมาใช้ในการก่อสร้างอาคารตลาดจีนนี้ ทำให้อาคารมีความแข็งแรง ทนทาน และหลาย ๆ หลังที่ยังไม่ถูกรื้อถอน สามารถคงสภาพส่วนใหญ่ไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน

โดยที่ตลาดจีนตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง จึงได้รับอุทกภัยในฤดูน้ำหลากทุก ๆ ปี จนกระทั่งมีการก่อสร้างเขื่อนกิ่วลมในปี พ.ศ. 2508 อุทกภัยจึงเบาบางลง อาคารในย่านตลาดจีนส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ บ้านไม้ มีการรื้อถอนเปลี่ยนสภาพก่อสร้างใหม่ตามประโยชน์ใช้สอยเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าการพาณิชย์ยังปรากฎเรือนไม้ทรงหลังคาปั้นหยาและเรือนไม้ทรงหลังคามะนิลาเพื่อการพักอาศัยโดยเฉพาะอยู่หลาย ๆ หลัง

เมื่อทางรถไฟสายเหนือมาถึงนครลำปาง ในปีพ.ศ. 2458 การคมนาคมทางน้ำค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไป
"ตลาดจีน" จึงค่อย ๆ ลดบทบาทในด้านศูนย์กลางการค้าขาย มาเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยในที่สุด "ตลาดจีน" จึงกลายเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยในที่สุด "ตลาดจีน" จึงกลายเป็นตำนานเล่าขานเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลาและประวัติศาสตร์ความเป็นไปของนครลำปางในช่วงอันรุ่งโรจน์ที่สุดช่วงหนึ่ง ส่วนอาคารเก่าแก่ส่วนที่สร้างด้วยอิฐและปูนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ามาแต่อดีตนั้น ยังคงยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น อาคารฟองหลี อาคารคมสัน อาคารหมองหง่วยสิ่น อาคารตึกแดง อาคารบ้านบริบูรณ์ อาคารบ้านสินานนท์ เป็นต้น อาคารเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นอาคารพื้นถิ่นประวัติศาสตร์ที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างให้สภาพแวดล้อมของเมืองนครลำปางมีคุณค่า มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น นับเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สวยงาม แปลกตา มีคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอาคารพื้นถิ่นย่านการค้า "ตลาดจีน" เก่าดังกล่าว ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะอาคาร"ฟองหลี" ก่อนเท่านั้น ส่วนอาคารอันทรงคุณค่าหลังอื่น ๆ จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป


อาคาร "ฟองหลี" นี้ ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในหนังสือแบบ แผนบ้านเรือนไทยในสยามของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดย น.ณ ปากน้ำ ในหน้าที่ 98 ได้บรรยายว่าอาคารสองชั้นเป็นตึก ประดับลวดลายแบบขนมปังขิง ชั้นล่างของอาคารประดับศิลปะลายฉลุ แบบขนมปังขิงฝีมือประณีตมาก เช่น ลายท้าวแขนตรงมุมหัวเสา และลายช่องลมโค้งประตู ซึ่งแปลกไปกว่าที่อื่น

ต่อมาอาคาร "ฟองหลี" ได้ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "อิสรภาพ" ฉบับวันที่ 21-31 สิงหาคม 2537 ด้วยสาเหตุ หน้าจั่วอาคารด้านทิศตะวันตกได้พังทลายลงมา โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านใกล้เคียงที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้ร้องเรียนต่อทางเทศบาลและทางจังหวัด ถึงอันตรายที่ส่วนอื่นของอาคารจะถล่มลงมาอีก หน่วยงานเทศบาลนครลำปางและจังหวัดจึงได้มีหนังสือเตือนให้ทำการซ่อมแซมถึง 2 ครั้ง ต่อมาหนังสือจากจังหวัดฉบับสุดท้ายได้สั่งให้รื้อถอนภายใน 7 วัน เจ้าของในขณะนั้นมีความคิดที่จะซ่อมแซมอาคาร "ฟองหลี" ไว้แต่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงได้มาปรึกษากับผู้เขียน ผู้เขียนได้ตระหนักถึงคุณค่าของอาคารดังกล่าว จึงตกลงรับที่จะอนุรักษ์ไว้ เพราะถ้าหากรื้อถอนอาคารหลังนี้ออกไป "ตลาดจีน" ก็จะขาดสายใยที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันไปอีกสิ่งหนึ่ง ดังเช่น อาคาร "จีนบุญ" ที่อยู่ติดกัน
ปัจจุบันเหลือเพียงภาพถ่าย และภาพสเก็ต ดังที่สแดงเท่านั้น

หลังจากการทำนิติกรรมเสร็จสิ้น ผู้เขียนตกลงรับซื้อโฉนด 3 คูหาจากจำนวนทั้งหมด 4 คูหา โดยเจ้าของขณะนั้นได้ร่วมอนุรักษ์ไว้ 1 คูหา

ประวัติอาคาร

เมื่อเริ่มทำการบูรณะ ผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านตลาดจีนหลาย ๆ ท่านได้มาดูและสนทนาเล่าเรื่องเก่า ๆให้ฟัง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาค้นคว้าประวัติอาคาร ผู้เขียนจึงได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของอาคารว่า ผู้สร้างอาคารหลังนี้คือ "จีนฟอง" หรือเจ้าสัวฟอง ซึ่งได้รับสัมปทานป่าไม้ ป่าห้วยเพียน
ห้วยหลวงและป่าแม่อิฐ นอกจากนี้ยังได้เป็นเจ้าภาษี นายอากร ฝิ่นและสุรา ของเมืองนครลำปางอีกด้วย
เจ้าสัวฟอง จึงมีฐานะดีมากที่สุดในบรรดาชาวจีนในเมืองนครลำปาง

ในขณะนั้นปรากฏหลังฐานในใบบอกบัญชีรายชื่อเจ้านายข้าราชการและราษฎร พ่อค้าที่บริจาคทรัพย์
เพื่อซื้อข้าวสารแจกจ่ายราษฎรที่อดอยาก ในปี พ.ศ. 2444 ให้แก่ราษฎรในตำบลห้วยฮี ทุ่งฝาย หนองยาง น้ำนองนาก่วม ลำปางหลวง เมืองเมาะ พิไชย บรรดาภาคเอกชนในสมัยนั้น โดยมีชื่อยู่ในลำดับแรก ได้บริจาคเป็นเงิน 50 รูเปีย เท่ากับเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง โดยมีผู้บริจาคเป็นเจ้านายและข้าราชการ 23 ราย เป็นพ่อค้าชาวจีน ชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ ชาวต้องสู้ รวม 111 ราย รวมเป็นเงินบริจาค 638 รูเปีย 16 อัฐ (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการที่ 122/6574 ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2444)

เป็นที่สังเกตว่าภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคเงินนั้นล้วนแต่เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าที่เป็นคนในบังคับ (subject) ของอังกฤษทั้งสิ้น ไม่มีคนพื้นเมืองในท้องถิ่นที่ทำการค้าเลย

ระหว่างการบูรณะอาคารผู้เขียนได้พบตราของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า บนหัวเสาไม้ของอาคารซึ่งบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเข้ามาตั้งสาขาในเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2434 จึงสันนิษฐานว่า อาคาร"ฟองหลี" น่าจะสร้างช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2434- พ.ศ. 2444 อายุครบถ้านับถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่าหนึ่งศตวรรษ


เจ้าสัวฟอง มีความสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (พ.ศ. 2400- พ.ศ. 2465) ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย (พ.ศ. 2440- พ.ศ. 2465) เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้ตั้งนามสกุลให้กับเจ้าสัวฟองว่า "ฟองอาภา" หลังจากเจ้าสัวฟองถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. 2463 ได้มีการนำศพบรรทุกเรือสำเภากลับไปฝังยังประเทศจีน ทายาทได้ตั้งให้ขุนจำนงจินารักษ์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ตำแหน่งกรรมการพิเศษ เมืองนครลำปาง เป็นผู้จัดการมรดกจีนฟองเพื่อดำเนินธุรกิจสัมปทานป่าไม้ อากรฝิ่น อากรสุราต่อไป ในนาม "คณะผู้รับมรดกจีนฟอง"ซึ่งเป็นนิติบุคคลในนาม "บริษัทฟองหลี" ขึ้น

ต่อมากิจการป่าไม้ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้ประกอบกับ รัฐบาลได้ปฏิรูปการปกครองโดยยกเลิกระบบเจ้าภาษี นายอากรและได้จัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทน ทำให้ฐานะของบริษัทฟองหลีไม่มั่นคง อาคาร"ฟองหลี" จึงถูกเปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของรองอำมาตย์โท ลีเสน เกาสิทธิ์ ต่อมารองอำมาตย์โท ลีเสน เกาสิทธิ์ได้ขายต่อให้พระยาอาณาจักรบริบาลในปี พ.ศ. 2484 และพระยาอาณาจักรบริบาลได้ขายต่อให้ นางคำใส เฮวอินปี ในปีพ.ศ. 2486 ครั้งนางคำใส เฮวอินปีถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2510 อาคารฟองหลีจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทของนางคำใส ซึ่งได้นำอาคารนี้ให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัยหลายปีต่อมา

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 เทศบาลเมืองลำปาง ได้ก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรด้านข้างอาคารฝั่งทิศตะวันตก และมีการนำรถบดอัดชนิดสั่นสะเทือนมาใช้ในการปฏิบัติงาน จากผลดังกล่าวทำให้ผนังอาคารเกิดการทรุดตัว แยกออกเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ และผนังอาคารด้านทิศตะวันตกได้พังทลายลง เมื่อวันที่ 24 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ฝนกำลังตกหนัก

ลักษณะของอาคาร

อาคาร "ฟองหลี" เป็นอาคารขนมปังขิง 1 ใน 4 หลังของอาคารแบบขนมปังขิงที่เหลืออยู่ในจังหวัดลำปางในปัจจุบัน ลักษณะเป็นอาคารแถวขนานไปกับถนน สูง 2 ชั้น ยกพื้นสูงจากถนนประมาณ 1 เมตร มีความกว้าง 16 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตร หลังคาจั่วตัดขวางแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องนอน มีระเบียงด้านหน้า
มีเสาไม้รับระเบียงเรียงรายอยู่ที่ทางเดินด้านล่างเป็นลักษณะอาคารแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลเข้ามาในสมัยนั้


บานประตูชั้นบนและชั้นล่างเป็นบานพับเฟี้ยมลูกฟักไม้สักแบบจีน มีการประดับตกแต่งทางเข้าด้านหน้าเป็นอย่างมาก เหนือช่องประตูเป็นช่องระบายอากาศ ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษา สวยงามแปลกตารูปครึ่งวงกลมค้ำยันระหว่างพื้นชั้นสองและเสารายระเบียงด้านหน้า ทำค้ำยันฉลุประดับตกแต่งเสาเม็ดเล็ก ๆ ทแยงมุมนอกจากนั้นยังตกแต่งด้วยไม้สักฉลุลวดลายโปร่ง บริเวณราวระเบียงด้านบนและชายคาด้านหน้า
ทำให้อาคารมีเสน่ห์สวยงามยิ่งนัก

ผนังอาคารเป็นแบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก (wall bearing) มีความหนาประมาณ 40 ซม. มีการเสริมบัวหงายแบบฝรั่ง คาดระหว่างชั้นบนและชั้นล่างของภายนอกอาคาร ขอบหน้าต่างมีการทำคิ้วก่อบัวเป็นลายปูนปั้นแบบตะวันตก ไว้เหนือหน้าต่างกันน้ำฝนย้อย หน้าต่างมีบานเกล็ดเพื่อให้ลมเข้า และสามารถเปิดกระทุ้ง หรือเปิดทั้งหมดได้ตลอดแนวเหมือนบานประตู มีการใช้บานพับ กลอน และเหล็กเส้นกับประตูหน้าต่าง อันเป็นวัสดุที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนการยึดไม้ใช้ระบบเดือยและสลัก มีการนำตะปูจีนมาใช้กับอาคารด้วย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไม้ ลักษณะที่เด่นที่สุดประการหนึ่งคือ ในส่วนของงานไม้ประดับตกแต่งทั้งหมด ไม่มีการทาสี บ่งบอกความเก่าของอาคารในยุคแรกของการก่อสร้างอาคารอิฐผสมกับไม้

การอนุรักษ์และบูรณะอาคาร "ฟองหลี"

หลังจากเก็บข้อมูลทางกายภาพของอาคารตามสภาพที่ปรากฎอยู่จริงในขณะนั้น พร้อมทั้งทำการคัดลอกแบบรายละเอียด (measure work) และเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเสร็จแล้ว ผู้เขียนจึงได้ประสานงานสถาปนิก คุณเมธี รัศมีวิจิตรไพศาล (สถ.1427 ส.) จากบริษัท Composition A เข้ามาเป็นสถาปนิกอำนวยการก่อสร้าง และ สถาปนิก จิรัฐกา จิตติรัตนากร มาเป็นคณะทำงานซึ่งในการบูรณะครั้งนี้สถาปนิก คุณเมธี ได้เสนอหลายแนวทาง แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปกับการออกแบบ (ภาพที่ 6) ซึ่งมีจุดเด่นที่มีการคงรูปแบบอาคารเก่าในด้านหน้าแลด้านข้างทั้งหมด อีกทั้งรูปทรงคุณค่าและอาคารที่ต่อเติมใหม่เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอย

การบูรณะใช้เวลา 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 จนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม
พ.ศ. 2540 อาคารที่บูรณะแล้วเสร็จ มีความสวยงามตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

รายละเอียดการบูรณะไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้เพราะมีรายละเอียดและขั้นตอนมากมาย ผู้เขียนได้บันทึกรายละเอียดและขั้นการบูรณะอาคาร "ฟองหลี" นี้ไปเป็นกรณีศึกษา บรรยายให้กับนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ "การใช้เทคนิคทางวิศวกรรมโยธาในการอนุรักษ์อาคาร" และหัวข้อ "การอนุรักษ์ศิลปกรรมในการซ่อมแซมอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตย์" ให้กับนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับนำชมสถานที่จริงประกอบการศึกษา

การใช้สอยประโยชน์ของอาคารหลังจากที่อาคารซ่อมเสร็จ ผู้เขียนได้จัดพื้นที่ของอาคาร 2 คูหาทำเป็น
"พิพิธภัณฑ์ตลาดจีน" รวบรวมเรื่องราวสิ่งของเครื่องใช้ โดยขอความอนุเคราะห์ยืมจากครอบครัวเก่าแก่ในละแวกตลาดจีนรุ่งเรือง อาทิเช่น ป้ายไม้ชื่อร้านที่มีการใช้ภาษาแสดงในป้ายถึง 4 ภาษา มีอายุกว่า 100 ปี
ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของชนชาติในยุค 100 ปีเศษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายโบราณของชุมชนตลาดจีน และของใช้สมัยโบราณต่าง ๆ อาทิปิ่นโตโบราณ
ใบแสดงสัญชาติคนในบังคับอังกฤษ ตะเกียงแก้วโบราณ หนังสือจีน โบราณเล่มใหญ่หลายเล่ม รวมทั้ง
รถม้าของจริงแบบดั้งเดิมที่มีประทุนเปิดปิดได้ และมีวงล้อเป็นซี่ไม้สักสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ดีเหมือนเดิม ไม้คัดท้ายหางเรือขนาดใหญ่ ฯลฯ

ส่วนอีกคูหาหนึ่งนั้นได้จัดเก็บ The Old Down Town Gallery จัดแสดง ศิลปกรรมหมุนเวียน ให้เหล่าศิลปินกลุ่มต่าง ๆ หมุนเวียนนำผลงานมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมซึ่งทั้งสองกิจกรรมไม่มีการเก็บมูลค่าเข้าชมแต่อย่างใด ได้รับการตอบรับจากประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนเป็นอย่างดี

ตลาดจีนในวันนี้ ผ่านความรุ่งเรืองและการเปลี่ยนแปลง ตามวัฎจักรของสรรพสิ่งทั้งหลาย คนรุ่นก่อนได้สร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันมีคุณค่า ที่ช่วยเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมของเมืองลำปางในปัจจุบันเราชนรุ่นปัจจุบันควรที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้าง เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้มีความภาคภูมิใจ และเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต.
..................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

อาทิตย์ 6
กันยา 52