ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวจีนในลำปาง (1)





จิตรกรรมอิทธิพลศิลปะจีน ในถ้ำวัดอุโมงค์ เชียงใหม่

ชนชาติจีน มีต้นกำเนิดที่ยาวนานและยิ่งใหญ่ ถึงกับเคยเป็นมหาอำนาจของโลกอยู่ช่วงหนึ่ง(ก่อนที่เหล่าประเทศตะวันตกจะพัฒนาความรู้ความสามารถกลับมายึดจีนได้สำเร็จในเวลาต่อมา) ด้วยความใกล้ชิดจากการติดต่อค้าขาย และการอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ สยามประเทศ คนจีน”โพ้นทะเล”(หรือเรียกกันว่า หัวเฉียว ที่ผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อ โรงพยาบาลหัวเฉียว และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ) จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของสังคมไทย[1] นับแต่หลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 (แน่นอนว่าขณะนั้นหัวเมืองล้านนาก็ไม่อยู่ในสภาพเป็นเมืองที่เป็นปึกแผ่นเข้มแข็งเท่าใดนักเช่นกัน) แต่ก็มิใช่ว่าวัฒนธรรมจีนมิได้มีบทบาทกับสยามประเทศมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้ปรากฏในเทคโนโลยีการผลิตเครื่องสังคโลกในรัฐสุโขทัย หรือแม้แต่อิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาที่คลี่คลายมาจากศิลปะแบบจีน[2]

ในที่นี้ผู้เขียนขอเสียเวลาแวะเล่าเรื่องชาวจีนคร่าวๆก่อน

การเคลื่อนย้ายอพยพของชาวจีน
แม้ว่าชาวจีนจะมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพ่อค้า รับราชการ หรือแม้กระทั่งเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช(ที่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วอยู่ด้วย)[3] แต่อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ใคร่นำเสนอภาพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก



แผนที่ประเทศจีนบริเวณมณฑลกวางตุ้งและฟูเกี้ยน
[ที่มา : จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์, 2548,หน้า 34]

การอพยพเข้ามาในสยามของชาวจีน เกิดขึ้นจากการค้าและเป็นชาวพื้นเมืองจากมณฑลฟูเกี้ยน และกวางตุ้ง (ทางตอนใต้ของจีนที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก)ที่มีความชำนาญในการเดินทะเล ขณะที่เมื่อมองจากปัจจัยภายในของจีนเองก็มีปัญหาการติดต่อขนส่งภายในจีนเอง ทั้งทางบกที่ติดภูเขา และทางน้ำก็ลำบาก จึงบังคับให้ต้องมีการพัฒนาการเดินเรือไปตามชายฝั่งทางภาคใต้ ทำให้การค้าสำเภากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสิ่งที่ตามมา[4] ขณะที่ปัญหาสำคัญของจีนที่หนีไม่พ้นก็คือ ปัญหาทางการเมือง เช่น กบฏไถ้ผิง พ.ศ.2381-2408[5] และภัยธรรมชาติ(ทำให้พืชผลล้มตายผู้คนอดอยาก) ยิ่งเร่งให้เกิดการอพยพมาทำมาหากินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่สยามประเทศค่อนข้างสงบสุข และมีโอกาสในการค้าขายจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง การขยายตัวดังกล่าวมีความต้องการแรงงานอย่างมาก ในขณะนั้นแรงงานชาวสยามเองก็ไม่นิยมทำงานประเภทอื่นนอกจากปลูกข้าว แรงงานทำเหมืองดีบุกทางใต้ โรงสีข้าว โรงเลื่อยไม้ที่กำลังขยายตัว การท่าเรือ การขุดคลอง สร้างทางรถไฟ ซึ่งชาวจีนจะเป็นผู้ให้แรงงานอย่างนี้ได้อย่างดียิ่ง ซึ่งรวมไปถึงการเลี้ยงหมูและปลูกผัก ช่างฝีมือและช่างทำงานอื่นๆ ซึ่งดึงดูดให้ผู้คนอพยพจากจีนตอนใต้เป็นจำนวนมาก[6]

จีนและกลุ่มภาษาพูดต่างๆ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า แม้จะชื่อว่าจีนเหมือนกัน แต่สำเนียง ภาษาพูดในท้องถิ่นต่างๆย่อมไม่เหมือนกัน(แม้จะใช้ระบบการเขียนเดียวกันก็ตาม) กลุ่มภาษาพูดที่มีบทบาทสำคัญในเมืองไทยมี5 กลุ่มภาษาพูด มีดังนี้ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ(ฮากกา) ไหหลำ

กล่าวกันว่าชาวจีนในสยามมากกว่าร้อยละ 95 มาจากมณฑลกวางตุ้งและฟูเกี้ยนทางใต้ของจีน[7]
มีข้อสังเกตบางประการของกลุ่มภาษาพูดต่างๆดังนี้[8]
1.ชาวกวางตุ้ง เป็นกลุ่มภาษาพูดที่ใหญ่ที่สุดในจีนตอนใต้ และอาจถือได้ว่าภาษากวางตุ้งเป็น “แบบที่รักษาคุณสมบัติที่สำคัญของจีนโบราณไว้ได้อย่างดีที่สุด”
2.ชาวฮกเกี้ยน อยู่ในบริเวณมณฑลฟูเกี้ยน คำว่า ฮกเกี้ยน เป็นเพียงชื่อเรียกภาษาท้องถิ่นตามชื่อของมณฑล
3.ชาวแต้จิ๋ว ออกเสียงในภาษาท้องถิ่นตามชื่อเรียกของ อำเภอ
4.ชาวจีนแคะ เป็นพวกที่ชอบอพยพเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว กระจายตัวอยู่ทั่วไปในจีนตอนใต้ คำว่า แคะ เป็นภาษากวางตุ้ง สำหรับคำว่า เค่อ-เจีย ซึ่งแปลว่า อาคันตุกะ

จากจีนเข้าสู่สยามประเทศอย่างไร
แรงจูงใจที่สำคัญอีกประการคือ การเดินทางไปมาที่สะดวกขึ้น ความสะดวกของเรือกลไฟ ที่มีกำหนดการอย่างสม่ำเสมอ หลังจากที่อังกฤษสามารถครอบครองและสถาปนาเกาะฮ่องกงได้ภายในปีพ.ศ.2385[9] ทำให้ความสำคัญเดิมของเมืองท่าบริเวณกวางตุ้งลดบทบาทลง



หนังสือ “สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์” โดย จี.วิลเลี่ยม สกินเนอร์ บทอ้างอิงสำคัญที่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องชาวจีนในไทยไม่ควรพลาด

การเดินทางด้วยเรือกลไฟเดินทางตามตารางเวลาระหว่างกรุงเทพฯ กับฮ่องกงเริ่มขึ้น ในพ.ศ.2416(สมัยรัชกาลที่5 พ.ศ.2411-2453)[10] จำนวนผู้อพยพเข้ามายังสยามส่วนใหญ่เป็นคนจนเคยเป็นเกษตรกรหรือชาวนาในเมืองจีนมาก่อน และมาสยามเพื่อที่จะทำงานเป็นกรรมกรธรรมดาในชั้นแรก และมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เป็นแรงกระตุ้นสำคัญสำหรับการอพยพออกมาจากเมืองจีนมายังสยาม[11] ติดตามอ่านตอนหน้า จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำมาหากินและการเคลื่อนย้ายของชาวจีนสู่ภูมิภาคต่างๆ

*เรียบเรียงจาก
ทัศนีย์ ขัดสืบ, ชาวจีนลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม
จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์,2548.

เชิงอรรถ
[1] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548,หน้า (18)
[2] อ้างอิงศิลปะจีนในล้านนาซะ
[3] กรุณาอ่าน บทที่1 ศตวรรษต้นๆ : ชาวจีนในสยามโบราณ ใน จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 1-24
[4] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 30
[5] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 32
[6] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 33
[7] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 67
[8] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 37-40
[9] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 47
[10] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 43
[11] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 67

No comments: