ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวพม่าในลำปาง (2)



ภาพการทำป่าไม้ของชาวอังกฤษและยุโรปส่วนหนึ่ง ที่จ้างกลุ่มชนพม่าในการทำไม้อีกต่อหนึ่ง
[ที่มา : คุณสุวภรณ์ ชูโต]



อังกฤษและผลประโยชน์การทำไม้สัก

มีหลักฐานระบุว่าการเข้ามาชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวอังกฤษแสดงบทบาทในฉากบ้ านเมืองล้านนา เมื่อราวพ.ศ.2372 ตอนที่เข้ามาซื้อช้าง วัว ควายจากหัวเมืองล้านนาจากราษฎร ในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เนื่องจากเมืองพม่าประสบเหตุโรคระบาด[1] ขณะที่สภาพสังคมช่วงดังกล่าว สยามประเทศถูกอำนาจจากชาติตะวันตกบีบคั้น จากอังกฤษทางทิศตะวันตก จากฝรั่งเศสทางทิศตะวันออก

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในบริบทดังกล่าวก็คือ การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของรัฐสยาม(โดยเฉพาะจากการที่รัชกาลที่5 ทรงศึกษาดูงานจากการบริหารประเทศในอาณานิคม ในการเสด็จประพาสอินเดีย ปีนัง ฯลฯ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั่วภูมิภาคของอาณาเขตสยาม ที่เคยอยู่กับอย่างหลวมๆ

อังกฤษเองนอกจากจะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการค้าจักรวรรดินิยมในพม่า ที่สามารถเข้าไปยึดครองได้แล้ว ยังแลเห็นความอุดมสมบูรณ์ของไม้สักในพื้นที่ทางเหนือของสยาม(เช่นเดียวกับรัฐบาลสยามเห็นความมั่งคั่งดังกล่าว)จึงกดดันให้สยามทำการเปิดป่า

หากเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” จะเห็นได้ว่าหัวเมืองทางใต้ มีพ่อค้าเจ้าสัวที่ร่ำรวยมาจากทำเหมืองแร่ดีบุก(ที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนหลังสงครามโลก) ทางหัวเมืองทางเหนือก็เติบโตมาพร้อมๆกับทรัพยากรธรรมชาติในนามป่าไม้สักเช่นกัน เดิมนั้นการค้าป่าไม้เป็นกิจการที่เจ้าผู้ครองนครเมืองต่างๆเป็นเจ้าของ[2] อังกฤษจึงเข้ามาในรูปแบบของบริษัท ที่ใช้แรงงานจากประเทศอาณานิคม ในระยะต่อมาเมื่อพื้นที่สัมปทานกว้างขวางขึ้น เจ้านายได้ทำสัญญาซ้ำซ้อนกับผู้สัมปทานมากกว่ารายเดียว จึงต้องทำการสังคายนาใหม่ โดยรัฐบาลสยาม[3](การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดกบฏเงี้ยว?)

การดำเนินกิจการดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบ วิธีการและเทคโนโลยีการจัดการที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงต้องมีนำเข้า(อิมปอร์ต) องค์ความรู้ในการทำป่าไม้ ซึ่งชาวอังกฤษเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในพม่าอยู่แล้ว รัฐสยามจึงยืมตัว และว่าจ้าง นาย เอช. สเลด เข้ามาจัดระบบดังกล่าว เมื่อพ.ศ.2439 จนได้เป็นถึงเจ้ากรมป่าไม้ ขณะที่กลุ่มชนพม่า(นับรวมทั้งพม่า มอญ ไทใหญ่ ตองสู้ด้วย) มีความชำนาญในการร่วมทำกิจการป่าไม้มาแล้ว ก็ได้รับการติดต่อจาก นาย เอช. เสลด เข้ามาประกอบอาชีพการทำป่าไม้ในสยาม[4]



บ้านเสานัก ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์

การเข้ามาของกลุ่มชนพม่าในลำปาง
มีการระบุไว้ว่าว่า ชาวพม่าได้เข้ามาสู่ลำปางได้สองเส้นทางดังนี้ เส้นทางแรก คือ โดยสารรถไฟจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปทางเมืองร่างกุ้ง ใช้เส้นทางรถยนต์มาถึงเมืองมะละแหม่ง (ซึ่ง อ.วิถี พานิชพันธ์ ได้กรุณาให้ความเห็นไว้ว่า เมืองมะละแหม่ง กับ กาดกองต้าบ้านเรา มีบรรยากาศ กลิ่นไอ คล้ายๆกัน โดยเฉพาะในรูปแบบของตึกแถว เชิงช่างฝีมือต่างๆที่ปรากฏ) จากมะละแหม่งแล้วข้ามแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด และจากตากก็มาถึงเมือลำปาง เส้นทางที่สอง คือ จากเมืองมัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้าสู่แม่ฮ่องสอน และเดินทางมายังเมืองลำปาง[5]

บริเวณที่ทำการป่าไม้เขต-สำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดลำปาง เดิมเป็นย่านที่ตั้งของบริษัททำไม้ คือ บริษัทหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์(ลูกชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ เจ้าของบทประพันธ์ผู้อื้อฉาว) ทั้งยังใกล้กับที่ตั้งของกงสุลอังกฤษประจำนครลำปาง(ปัจจุบันคือ กองบังคับบัญชาการตำรวจ จ.ลำปาง)

ฉะนั้นการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนพม่าส่วนหนึ่งจึงมีหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้ โดยเฉพาะย่านท่ามะโอ ท่านางลอย มีการกล่าวว่า พื้นที่ติดแม่น้ำวังเหล่านี้เพื่อความสะดวกในการชักลากไม้ที่ตัดจากป่าในเขตบ้านแม่แจ้ฟ้า บ้านแจ้ห่ม บ้านเมืองวัง ซึ่งอยู่ในเขต อ.แจ้ห่ม ปัจจุบัน และจะถูกชักลากลงแม่น้ำวังแล้วปล่อยให้ไหลมาจนถึงบริเวณนี้ ก็จะทำการชักลากข้นฝั่งบริเวณด้านหลังวัดพระแก้วดอนเต้า[6] ดังปรากฏรูปแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบลูกครึ่ง ผสมตะวันตกและพื้นถิ่น หรือแม้กระทั่งบ้านเสานัก ของตระกูลจันทรวิโรจน์ ที่มีลักษณะเป็นเรือนพื้นถิ่นแต่มีองค์ประกอบแบบพม่าบางส่วนผสมผสาน

ด้วยข้อได้เปรียบของกลุ่มชนพม่าที่มีความมั่งคั่งมาจากกิจการทำไม้ ไม่ต้องเสียภาษี(เนื่องจากเป็นบุคคลในบังคับของอังกฤษ)ได้รับเงินเดือนมากกว่าคนไทย เพราะคิดอัตราค่าจ้างตามเงินอังกฤษ[7] จึงสามารถสะสมทุนได้จำนวนมาก จนนำทุนดังกล่าวมาลงทุนตั้งถิ่นฐานบริเวณกาดกองต้าเพื่อทำการค้าขาย ดังปรากฏการสร้างอาคารหลายหลังในศิลปะรูปแบบพม่า-อิทธิพลตะวันตก เช่น อาคารหม่องหง่วยสิ่น อาคารกาญจนวงศ์ ฯลฯ



วัดท่ามะโอ

ขณะที่ศาสนสถาน คือ วัดของกลุ่มชนพม่ากลับปรากฏในบริเวณดังกล่าวเพียงวัดเดียวคือ วัดท่ามะโอ และอีกส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณบ้านป่าขาม ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง เหตุไฉนถึงตั้งวัดอยู่บริเวณป่าขามเป็นจำนวนมากจึงเป็นประเด็นข้อสงสัยที่น่าติดตามค้นคว้ายิ่ง.

*เรียบเรียงจาก
กิตติคุณ ศิริญานันท์,ชาวพม่าลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2544.
2. ชัยวัฒน์ ศุกดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541.
3. ชาญคณิต อาวรณ์, แบบแผนทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมเจดีย์ทรงพม่าเมืองลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546.
4. พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2484 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร,2530.
5. สงบ ฉิมพลีย์.อิทธิพลศิลปพม่าที่มีต่อโบราณสถาน ในจังหวัดลำปาง ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,2529.

เชิงอรรถ
[1] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2544,หน้า 332
[2] ชัยวัฒน์ ศุกดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541,หน้า 28
[3] ชาญคณิต อาวรณ์, แบบแผนทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมเจดีย์ทรงพม่าเมืองลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2546,หน้า 31 อ้างใน พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2484 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร,2530,หน้า 30
[4] สงบ ฉิมพลีย์.อิทธิพลศิลปพม่าที่มีต่อโบราณสถาน ในจังหวัดลำปาง ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,2529,หน้า 133
[5] อ้างแล้ว หน้า 135
[6] ชาญคณิตอาวรณ์.อ้างแล้ว,หน้า 30
[7] สงบ ฉิมพลีย์,อ้างแล้ว หน้า 133

No comments: