ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวพม่าในลำปาง (1)



ภาพแสดงความหลากหลายชาติพันธุ์ในพม่า
[ที่มา : ธิดา สาระยา. มัณฑะเล : นครราชธานี ศูนย์กลางแห่งจักรวาล, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538, หน้า 66]

รู้จักพม่ากันก่อน
พม่านับเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการและความสืบเนื่องกันมายาวนานนับหลายพันปี เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง หากเราจะลด ละวางอคติที่มีกับดินแดนนี้(ที่กระทรวงศึกษาธิการพร่ำสอนว่าความย่อยยับอัปราของไทย ล้วนเนื่องมาแต่พม่าทั้งสิ้น)ไว้เสียก่อน แล้วมาทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านที่น่าเคารพผู้นี้กัน

การเป็นบ้านเมืองของพม่าก็เฉกเช่นเดียวกันกับบ้านเมืองอื่นๆที่ไม่ได้ลอยลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า หากแต่มีเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ อันได้แก่ การเมือง-เศรษฐกิจ-ศาสนา ความเชื่อ เป็นอาทิ ประวัติศาสตร์ของพม่าตั้งต้นมาแต่ 128ปี ก่อนคริสตกาล(ประมาณพ.ศ.415) ในนามอาณาจักรตะโก้ง ของพวก ปยุ(ชนเผ่าทิเบต-พม่า)[1]

ด้วยความที่สภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย รวมถึงผู้คนและชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนทำให้ บ้านเมืองของพม่าเติบโตขึ้นมา และร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรม ระบบความเชื่อเช่นนั้นๆ เช่นว่า ในบางสมัย ชาวไทใหญ่(หรือเงี้ยว)สามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจการเมืองการปกครอง และศิลปกรรมหลายอย่างของพม่าก็รับเอาแบบอย่างจากไทใหญ่ไป เป็นต้น

พม่าผ่านความขัดแย้งอันหลากหลายทั้งภายในและนอก นับนิ้วถึงช่วง 200 ปีที่ผ่านมา พม่าถูกกระทำทั้งจากอาณานิคมอังกฤษ จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงคิวของรัฐบาลทหารเผด็จการ

ความสัมพันธ์พม่าและล้านนาประเทศ
คราใดที่พม่าเติบโตขึ้น จนสามารถรวบรวมหัวเมืองในดินแดนใกล้เคียงให้อยู่ในอำนาจ เมื่อนั้นรัฐบาลกลางในนามของกษัตริย์พม่าก็ทำการยาตราทัพเพื่อทำสงครามชิงบ้านเมืองเพื่อแสดงความเป็นจักรพรรดิราช(ขณะที่ไพร่ ชาวบ้านก็ถูกเกณฑ์ ถูกกวาดต้อนสนองตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น) ปรากฏการแผ่อำนาจลงมาทางใต้ ดังปรากฏการศึกกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งหลายครา ในที่สุดก็เสียกรุง ในพ.ศ.2112 และ พ.ศ.2310 แน่นอนว่าดินแดนล้านนาเป็นรัฐที่อยู่ระหว่าง 2 มหาอำนาจ ฉะนั้นจึงไม่รอดพ้นจากการศึกสงคราม ทั้งหลาย บางคราอยู่ฝ่ายพม่า บางคราอยู่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา


แผนผังพระธาตุประจำปีเกิดทั่วล้านนาและดินแดนใกล้เคียง

กระนั้นหากมองเลยพรมแดนของชาติในปัจจุบันจะเห็นว่า ในดินแดนล้านนา-พม่านี้ มีผู้คนหลากหลายมากมาย เช่น ไทใหญ่, ไทเขิน, ไทลื้อ, พม่า, มอญ, ตองสู้,ฯลฯ ซึ่งบ้างก็เป็นเครือญาติ เครือข่ายทางวัฒนธรรมต่อกัน ดังสะท้อนให้เห็นจากการบูชาพระธาตุประจำปีเกิด ที่มีพระธาตุในล้านนาเป็นหลัก แต่ก็เชื่อมโยงไปถึง ชเวดากอง ในพม่า หรือแม้แต่ในตำนานที่เล่าถึงบทบาทพระครูบามหาป่า วัดไหล่หินหลวง ที่ได้ธุดงค์ไปถึงเชียงตุง

หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเครือข่ายทางการค้าขาย ดังปรากฏเส้นทางการค้าทางบก ระหว่างดินแดนล้านนาและพม่า คือ 1) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่เชียงราย ผ่านแม่สรวย ถึงเมืองเชียงใหม่ 2) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่เชียงราย เมืองพะเยา เมืองแพร่ เลยไปถึงอุตรดิตถ์ 3) จากเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ผ่านเมืองเชียงตุง เข้าสู่ล้านนา ผ่านแม่สอด หรือท่าสองยาง สู่ดินแดนพม่าตอนใต้ ถึงเมืองเมาะละแหม่ง[2]

อย่างไรก็ตาม พม่าในลำปางนั้นเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลำปาง และกลายเป็นชาวลำปาง นับย้อนได้เพียงร้อยปี และในเงื่อนไขอื่นด้วย



แผนที่พม่า ชายแดนอินเดีย และไทย
[ที่มา : โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547, หน้า 21]

การเสียเอกราชให้แก่อาณานิคมอังกฤษ
ด้วยเหตุทางการเมือง ที่แยกไม่ออกจากเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จาก อังกฤษพยายามหาเส้นทางการค้าทางบกระหว่างดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน(แข่งกันกับฝรั่งเศสที่ยึดดินแดน ลาว เขมร เวียดนาม ไปแล้ว)[3] ภาวะดังกล่าวทำให้พม่าต้องถอยร่น ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์

บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า อันเป็นของอังกฤษก็ได้มีบทบาทสำคัญ ในการทำไม้สัก(ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในเมืองลำปางด้วยเช่นกัน) ซึ่งอังกฤษได้สร้างเมืองมะละแหม่ง(ต่อมาสร้างเมืองย่างกุ้งเพิ่มเติม)เพื่อเป็นศูนย์กลางของอังกฤษ เมืองมะละแหม่งได้รับการวางให้เป็นเมืองศูนย์กลางการต่อเรือและการเชื่อมโยงการค้ากับภายนอก[4]

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าในขณะนั้นถือว่า เป็นเพียงพลเมืองชั้นสาม ที่มีฐานะต่ำกว่าชาวอังกฤษ และชาวอินเดีย ที่ชาวอังกฤษส่งประเทศในอาณานิคมมาปกครองกันเองอีกทีหนึ่ง

*เรียบเรียงจาก
กิตติคุณ ศิริญานันท์,ชาวพม่าลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547.
2. ปริเชต ศุขปราการ.”ลำปาง จากหัวเมืองประเทศราชสู่จังหวัดในภาคเหนือ” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2544.
3. หม่องทินอ่อง.ประวัติศาสตร์พม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2548.

เชิงอรรถ
[1] หม่องทินอ่อง.ประวัติศาสตร์พม่า.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.2548,หน้า 6
[2] ปริเชต ศุขปราการ.”ลำปาง จากหัวเมืองประเทศราชสู่จังหวัดในภาคเหนือ” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2544,หน้า 74
[3] โชติมา จตุรวงค์.”ไม้สักและสถาปัตยกรรมเจาง์ของพม่า : ภาพสะท้อนการเมืองในสมัยพระเจ้ามินดงและพระเจ้าธีบอ” ใน วารสาร หน้าจั่ว ฉบับ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย มกราคม 2547,หน้า 38
[4] โชติมา จตุรวงค์,อ้างแล้ว

No comments: