ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวคริสต์ในลำปาง (3)



โรงเรียนวิชชานารี
[ที่มา : คุณสุวภรณ์ ชูโต]

ศาสนาคริสต์กับพัฒนาการบ้านเมือง
คุณูปการด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลแบบตะวันตก ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิม(สมุนไพร รวมไปถึงการเป่า การนับถือผีต่างๆด้วย ซึ่งนับเป็นการท้าทายโลกทัศน์แบบเดิมด้วยความคิดแบบตะวันตกที่ใกล้ตัวมาก) มีบันทึกไว้ว่าเริ่มดำเนินการเมื่อพ.ศ.2428 จากเงินพระราชทานของรัชกาลที่ 5 โดยนายแพทย์ซามูเอล พีเพิลส์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก เดิมชื่อ โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น[1]

และได้เปลี่ยนชื่อเรื่อยมาจนปัจจุบันคือ โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด (มีความพยายามเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลอีกหลายครั้งเช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลประจำถิ่น โรงพยาบาลวิชิตสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2[2]) การรักษาพยาบาลยังมีการปฏิบัตินอกสถานที่ด้วย กล่าวคือ มีการจัดคลินิกในย่านชุมชนของคนจีน(ไม่ทราบว่าบริเวณตลาดจีน หรือสบตุ๋ย?)

ในส่วนของภารกิจสนับสนุนการศึกษา มีพื้นฐานเนื่องมาจากการทำงาน(ซึ่งเป็นค่านิยม-โลกทัศน์ของนิกายโปรเตสแตนท์) ทั้งแบบของเด็กหญิงและเด็กชาย ในกรณีเด็กหญิงนั้นมีการจัดชั้นเรียนพระคัมภีร์และสอนวิชาเย็บปักถักร้อย เรียกชื่อว่า โรงเรียนวันสะบาโต-Sabbath Schoolในที่สุดก็ได้พัฒนาจนสามารถจัดตั้งเป็นโรงเรียน เมื่อพ.ศ.2431 โดยได้รับบริจาคเงินจากมิตรสหาย และไม้สักจาก บริษัทบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์ม่าซึ่งเป็นบริษัททำไม้ มาสร้างอาคารเรียน[3] ในปีพ.ศ.2444

แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2447[4] ได้ชื่อว่า โรงเรียนสตรีละกอน(ละกอนเกิร์ลสกูล-Lakawn Girls school) แต่ในปีพ.ศ.2468 มีการใชื่อว่า สตรีอเมริกัน และครั้งหลังสุด คือ พ.ศ.2475 ใช้ชื่อว่า วิชชานารี บุคลากรสำคัญที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนี้ได้แก่ คุณครูทองฟัก เพ็ชรสุวรรณ คุณหญิงวลัย ลีลานุช คุณศรีวรรณ สิริวิสาล[5]ฯลฯ

ในส่วนของเด็กชายนั้น ได้กำเนิดในช่วงพ.ศ.2433 โดย นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์(ผู้ดูแลคริสจักรที่1 และโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นด้วย) ถือว่าเป็นโรงเรียนแบบอาชีวศึกษาดังปรากฏการสอนด้านการเกษตรและโรงฟอกหนัง(ซึ่งโรงเรียนผลิตเข็มขัดและรองเท้าขายให้กับกองทัพบกด้วย)ในพ.ศ.2454 หรือการเปิดแผนกปั่นด้าย ปั้นหม้อ พ.ศ.2462 ในระยะแรกโรงเรียนมีชื่อว่า ละกอนบอยสกูล-Lakawn boy’s school

ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี ท่ามกลางไฟสงคราม ทำให้โรงเรียนต้องย้ายที่ทำการไปหลายที่ เช่น พ.ศ.2489 ไปเปิดสอนในชื่อโรงเรียน ขวัญนคร บริเวณโรงเรียนเทศบาล4 พ.ศ.2490 ก็ได้เช่าสถานกงสุลอังกฤษ(กองบังคับการตำรวจภูธรปัจจุบัน) ใช้ชื่อ เคนเน็ตแมคเคนซีดังเดิม แล้วย้ายกลับไปที่แรกสร้าง เมื่อพ.ศ.2494[6] โรงเรียนแห่งนี้ยังผลิตบุคลากรคนสำคัญของบ้านเมืองอันได้แก่ ส.ส.บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.พินิจ จันทรสุรินทร์ นายบุญเรือง ชุ่มอินทรจักร์[7]ฯลฯ



หอละกอน โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี
[ที่มา : คุณอนิรุทธิ์ อินทิมา]

ฉากสำคัญ เมื่อครั้งรัชกาลที่7 เสด็จเยี่ยม จนถึง สงครามโลกครั้งที่2
แม้จะเป็นชุมชนชาวคริสต์จะมีไม่มากนัก แต่ก็มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของเจ้านายหลายครั้งหลายครา(หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นเพราะว่าชุมชนกลุ่มอื่นมิได้มีการบันทึกไว้) เช่นในพ.ศ.2469 คราวที่รัชกาลที่7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จประพาสลำปาง นักเรียนสตรีอเมริกันได้ตั้งแถวรับเสด็จ[8] เช่นเดียวกับโรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี[9]

พ.ศ.2472 สมเด็จพระศรีวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร และสมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เสด็จเยี่ยมโรงเรียนสตรีอเมริกัน[10] และร่วมฉลองคริสต์มาสที่โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี[11]

พ.ศ.2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานชื่อ วิชชานารี แทนชื่อ สตรีอเมริกัน[12] พ.ศ.2493 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่7 เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลแวนแซนวูร์ดเป็นการส่วนพระองค์[13] พ.ศ.2507 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด[14]

สมัยสงครามโลกครั้งที่2 รัฐบาลสยามรับรองการตั้งฐานทัพและยินยอมให้ญี่ปุ่นกรีธาทัพผ่าน อาคารสถานที่ของชาวตะวันตกที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร(ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา)ถูกยึด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล โบสถ์ ในส่วนของชาวอเมริกัน จึงประสบความยากลำบากในการดำเนินงาน บางแห่งต้องเปลี่ยนชื่อ บางแห่งต้องย้ายโรงเรียนหนี



ภาพวาดแสดงสภาพ โรงเรียนอรุโณทัยเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว
[ที่มา : สุวรรณสมโภชโรงเรียนอรุโณทัย, ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, 2545]

ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก
แม้จะเข้ามาทีหลัง คริสตชนกลุ่มนี้ ได้มาลงหลักปักฐานทำมาหากินอยู่บริเวณ บ้านดอนปาน ต.สบตุ๋ย อ.เมือง ลำปาง แต่ยังไม่มีพระสงฆ์(โรมันคาทอลิก) จนกระทั่งปีพ.ศ.2452 ถึงได้มีการส่งพระธรรมทูตขึ้นมาเผยแพร่ ดังปรากฏว่า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จนได้ก่อสร้างวัดขึ้นเมื่อพ.ศ.2494 ชื่อ วัดโรมันคาทอลิกลำปาง ณ บริเวณสวนผักเดิม[15]

แต่มีบทบาทโดดเด่นมากในด้านการศึกษา ได้แก่ การจัดตั้งโรงเรียนอรุโณทัย พ.ศ.2495 และโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง พ.ศ.2501 สถานศึกษาหลังนี้มีบุคคลสำคัญในบ้านเมืองจบการศึกษามาจำนวนมาก และมีความหลากหลายของวิชาชีพ อันได้แก่ ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรี ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล รองศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ [16] ฯลฯ

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวคริสต์ลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. ตวงธรรม สุริยคำ.”ชื่อของโรงพยาบาลนี้” ใน แวนแซนวูร์ดอนุสรณ์ ที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิด ตึกพยาบาลสองชั้นปีกซ้าย ตึกปรุงอาหารคมสัน 2496 และเรือนศพ.พงส์วรุตม์ : ลำปาง,2496.
2. วัดแม่พระประจักษ์แห่งลูร์ดลำปาง.เอกสารอัดสำเนา
3. วีรยุทธ จงสถาพรพงศ์.“ศิษย์เก่าก้าวหน้า” ใน หนังสืออนุสรณ์ เคนเน็ตแม็คเคนซี 100 ปี,2533.
4. หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี วิชชานารี ค.ศ.1889-1989.กิจเสรีการพิมพ์ : ลำปาง,2532.
5. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
6. อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543.
7. อเนก วงศ์ตระกูล และคณะ.บันทึกอัสสัมชัญลำปาง.พริ้นท์ แอนด์ คอนโทรล : กรุงเทพฯ,2545.

เชิงอรรถ
[1] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 37
[2] ตวงธรรม สุริยคำ.”ชื่อของโรงพยาบาลนี้” ใน แวนแซนวูร์ดอนุสรณ์ ที่ระลึก เนื่องในพิธีเปิด ตึกพยาบาลสองชั้นปีกซ้าย ตึกปรุงอาหารคมสัน 2496 และเรือนศพ.พงส์วรุตม์ : ลำปาง,2496,หน้า 31
[3] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”โบสถ์ฟลีสันแมมโมเรียล” ใน คริสตจักรที่ 1ลำปาง ค.ศ.1880-2000 120 ปี โมทนาพระคุณเจ้า.2543.จิตวัฒนาการพิมพ์ลำปาง : ลำปาง, 2543,หน้า 31
[4] อนิรุทธิ์ อินทิมา.”สถานีมิชชั่นลำปาง” อ้างแล้ว หน้า 39
[5] ดูใน หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี วิชชานารี ค.ศ.1889-1989.กิจเสรีการพิมพ์ : ลำปาง,2532.
[6] อ้างแล้ว หน้า 41-43
[7] วีรยุทธ จงสถาพรพงศ์.“ศิษย์เก่าก้าวหน้า” ใน หนังสืออนุสรณ์ เคนเน็ตแม็คเคนซี 100 ปี,2533.
[8] อ้างแล้ว หน้า 39
[9] อ้างแล้ว หน้า42
[10] อ้างแล้ว หน้า 40
[11] อ้างแล้ว หน้า 42
[12] อ้างแล้ว หน้า 40
[13] อ้างแล้ว หน้า 38
[14] อ้างแล้ว
[15] วัดแม่พระประจักษ์แห่งลูร์ดลำปาง.เอกสารอัดสำเนา
[16] อเนก วงศ์ตระกูล และคณะ.บันทึกอัสสัมชัญลำปาง.พริ้นท์ แอนด์ คอนโทรล : กรุงเทพฯ,2545

No comments: