ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวไทลื้อในลำปาง (2)



แรงงานรับจ้างทำงานโยธา ชาวไทลื้อ รวมกลุ่มอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน ตั้งแต่หน้าโรงเรียนกัลยาณีไปทางสถานีขนส่งจังหวัดลำปาง






สังคมชุมชนไทลื้อ แต่ก่อนนั้นเป็นสังคมที่โดดเดี่ยวออกจาก ตัวเมืองลำปาง ทั้งปัจจัยของระยะทางและอื่นๆ ดังจะกล่าวต่อไป ชาวไทลื้อลำปาง เรียกคนเมืองว่า อิ้ว (ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่ใช่ลื้อ) บางทีก็เรียกว่า บ่าเจ้ากอน ที่หมายถึง คนเมืองลำปาง และจะไม่พอใจหากมีใครมาเรียกตนเองว่า ลื้อ หรือ บ่าลื้อ[1] (ผลวิจัยเมื่อราวพ.ศ.2535)



ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ ถ.ลำปาง-แม่ทะ ต.กล้วยแพะ

ความเข้าใจผิดและการปกปิดตัวเอง…
ด้วยความไม่รู้ และไม่พยายามจะเข้าใจกัน ทำให้ชาวไทลื้อถูกมองอย่างดูถูก โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าชาวไทลื้อเป็นพวก ขี้ตู้ด(โรคเรื้อน) จนถึงขนาดว่า ไม่ยอมซื้อผลิตผลทางการเกษตร จากชาวไทลื้อเลยก็มี[2] จากการสังเกตทั่วไป จะเห็นว่าชาวไทลื้อมักจะไม่เปิดเผยตัวต่อคนทั่วไปว่าตนเป็นใคร มักจะเลี่ยงตอบเมื่อมีคนถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ็บปวดที่ต้องปฏิเสธตัวตนของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันชาวไทลื้อมีสำนึกของตัวตนท้องถิ่นสูงมาก ที่เห็นได้ชัดก็คือ การรักษาวัฒนธรรมภาษาพูดในถิ่นของตน สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ด้วยแรงกดดันดังกล่าว นอกจากทำให้ชาวไทลื้อลำปางมีความรักและสามัคคีในหมู่พวกพ้องสูงแล้ว ชาวไทลื้อจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของตนให้เทียบเท่าหรือสูงกว่าคนทั่วไป เช่น ความสามารถในการพูดได้หลายภาษา ตั้งแต่ภาษาไทลื้อ คำเมือง ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ทั้งที่ความเป็นอยู่ของผู้คนล้วนมีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในตัว สังคมที่มีวุฒิภาวะและจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อสามารถดึงศักยภาพในความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรม ความคิด เข้ามาสังสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

วิถีชีวิต ชาวไทลื้อ

ศาสนา ความเชื่อของชาวไทลื้อก็ไม่ต่างไปจากคนเมืองทั่วไปนักที่นับถือผี และพุทธ(มีวัดประจำทุกหมู่บ้าน) โดยมีวัดกล้วยหลวงเป็นวัดแรกที่ก่อสร้าง[3] แต่วัดพระธาตุดอยม่วงคำ ถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมของการพบปะกัน โดยเฉพาะในช่วงงานประเพณี แต่ที่น่าสังเกตก็คือ การรับเชื่อ เป็นคริสเตียนของชาวไทลื้อ ถึงกับมีการสร้างโบสถ์ 1 แห่ง คือ คริสตจักร เกียรติการุณ ภาคที่3 ลำปาง ที่บ้านกล้วยหลวง และสุสานคริสเตียน ณ บ้านกล้วยหลวงเช่นกันแต่คนละบริเวณ มีการยืนยันอีกว่า ในสมัยที่คริสเตียนเข้ามาใหม่ๆ ชาวไทลื้อได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เช่น การเข้าเรียนโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี หรือ โรงเรียนวิชชานารี บางคนมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศอีกด้วย[4]

อาหารกิน ชาวไทลื้อลำปาง มีการกินอยู่อย่างง่ายๆ ไม่พิถีพิถัน กินอาหารที่หาได้จากธรรมชาติตามฤดูกาล เช่น หน่อไม้และผักต่างๆรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก แต่ละมื้อจะมีอาหารเพียงอย่างเดียว[5] แม้แต่การแต่งกายของชาวไทลื้อ ในปัจจุบันก็จะคล้ายกับชาวเหนือทั่วไป แต่เดิมนั้น ผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงินหรือดำ รัดรูป ผ่าอก เอวสั้น แขนกระบอก นุ่งซิ่นด้วยผ้าฝ้าย ส่วนทรงผมนิยมเกล้าผม ส่วนชายไทลื้อนิยมนุ่งเตี่ยวสะดอ เสื้อย้อมเมล็ดนิล หรือคราม ปล่อยชายเสื้อยาวถึงหัวเข่า ทรงผมตัดเกรียนที่ท้ายทอย เวลาไปทำงานนิยมสะพายย่ามที่เรียกว่า ถุงปื๋อ[6] แต่ปัจจุบันคงจะต้องไปหาดูในหนังสือหรือพิพิธภัณฑ์เสียแล้ว
การทำมาหากิน อาชีพที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ การรับจ้างทำงานโยธา ที่เรามักพบชายไทลื้อ จอดรถจักรยานพร้อมอุปกรณ์ครบมือ(จอบ ปุ้งกี๋ มีด บางทีก็พกขวานไปด้วย)[7] และนั่งรอการว่าจ้างอย่างสบายอารมณ์ บริเวณถ.พหลโยธิน ช่วงโรงเรียนลำปางกัลยาณี และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งที่อาชีพอื่นๆของชาวไทลื้อก็มีเช่น การค้าขาย เกษตรกรรม


เครื่องแต่งกายชาวไทลื้อ คาดว่าคงเป็นโอกาสพิเศษหรือผู้มีอันจะกิน

เล่าลือกันว่า ชาวไทลื้อเวลาต้องการซื้อรถใหม่ บางคนซื้อเงินสดด้วยซ้ำ หรือเวลาที่จะซื้อไม่จำเป็นต้องวางเงินดาวน์ เพราะว่าน้อยรายนักที่จะถูกยึดคืน จึงได้รับความเชื่อถือจากบริษัทขายรถยนต์(งานวิจัยเมื่อพ.ศ.2535)[8]

การนิยามตัวตนขึ้นใหม่…
กระนั้นเองตัวตนของกลุ่มคนต่างๆ มิได้ปรากฏอย่างตายตัว เหมือนที่ได้ระบุไว้อย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การแสดงตัว และการเลือกที่จะใช้ชีวิตยังอยู่กับความเชื่อ และโลกทัศน์ของสังคม ไปจนถึงคนๆหนึ่งด้วย จุดสำคัญหนึ่งก็คือ การที่ชาวไทลื้อลำปางสามารถจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อลำปาง และสามารถจัดงานเทศกาลประเพณีที่ยิ่งใหญ่เป็นหน้าเป็นตา คืองานล่องสะเปาชาวไทลื้อ[9] ซึ่งจัดช่วงก่อนงานยี่เป็งของคนเมืองลำปาง รวมไปถึงงานขึ้นพระธาตุดอยม่วงคำ เมื่อเดือนเก้า (เหนือ)ประมาณเดือน มิถุนายน[10]นอกจากจะเป็นการชูสัญลักษณ์ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมทางประเพณีแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจภายในถึงตัวตน อัตลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องปิดตัวเองเหมือนในอดีต


*เรียบเรียงจาก
ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ,ชาวไทลื้อลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม
ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ.การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง.ลำปาง : ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง,2535.
ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ,”ชาวไทลื้อลำปาง” ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์,2548.

เชิงอรรถ
[1] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ.การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อในจังหวัดลำปาง.ลำปาง : ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง,2535,หน้า 133
[2] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 133
[3] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 23
[4] อนิรุทธิ์ อินทิมา,สัมภาษณ์ 2548.
[5] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 26
[6] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 25-26
[7] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 131
[8] ประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ,อ้างแล้ว,หน้า 129
[9] ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ,ชาวไทลื้อลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548,หน้า
[10] ธิดารัตน์ ไชยยาสืบ,อ้างแล้ว,หน้า 2.2.7

1 comment:

การบริหารการศึกษา 53 No.18 said...

ด้วยวัฒนธรรมและความเป็นมาของชาวไทยลื้อถือเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง เพราะตัวข้าพเจ้าเองก็เป็นชาวแม่ทะ พอจะเห็นความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อบ้างโดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา ซึ่งมักใช้กันประจำเมื่ออยู่ในกลุ่มของคนบ้านกล้วย(ไทลื้อเอง) นอกจากนี้ก็ยังมี ประเพณีวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ได้มีโอกาสเห็นคืองานล่องสะเปาชาวไทลื้อ ซึ่งจัดช่วงก่อนงานยี่เป็งของคนเมืองลำปาง รวมไปถึงงานขึ้นพระธาตุดอยม่วงคำ ถือเป็นสิ่งที่ประทับใจในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสืบสานประเพณีของไทลื้อโดยแท้จริง
แต่เป็นที่น่าเสียดายอยู่จุดหนึ่งของชาวไทลื้อตามที่ข้าพเจ้าสนใจแล้วได้ไปสืบถามข้อมูลมา คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อที่สร้างไว้เป็นเพียงสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมสำคัญเท่านั้น ซึ่งน่าจะมีพิพิธภัณฑ์รวมอยู่ด้วยเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมที่งดงามของไทลื้อ
และจากบทความที่อ่านข้าพเจ้าได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องอาชีพและเหตุผลที่ชาวบ้านกล้วย(ไทลื้อ)ไม่ค่อยจะเปิดเผยตัวเองมากนักเพราะสมัยก่อนคนมองว่าเป็นขี้เรื้อนนั้น ที่ข้าพเจ้าได้ยินมาอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งหรือมีคนแอบอ้างไม่ทราบได้ว่า ชาวไทลื้อบ้านกล้วยเป็นคนขี้เหนียว และอาชีพอีกอย่างหนึ่งของไทลื้อบางกลุ่มคือการรับจ้างขุดส้วม ดังกลุ่มคนที่ในบทความยกตัวอย่างว่าคอยรับจ้างทำโยธา (ซึ่งขัดแย้งกับที่ข้าพเจ้าทราบมา) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนเมืองในสมัยก่อนไม่ค่อยจะมีคนยอมรับ คนกลุ่มนี้ทำให้ต้องปิดบังความเป็นไทลื้อของตนเองไว้
แสดงความคิดเห็นโดย
นางสาวนิตยา สายเครือติ๊บ
เลขที่ 18 รหัส 530232049
สาขาการบริหารการศึกษา 53