ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวจีนในลำปาง (5)

ย่านการค้าสบตุ๋ย-รถไฟนครลำปาง
[ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ]

ธุรกิจการลงทุนและตระกูลจีนที่มีชื่อเสียงในลำปาง(2)

ระลอกสอง อาจนับได้ว่าเป็นกลุ่มจีนใหม่ ที่เติบโตมาจากการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และพืชผลจำนวนมาก รวมไปถึงเครื่องจักรต่างๆอีกด้วย ดังนั้นบริเวณสบตุ๋ย-รถไฟ จึงมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งที่ตั้งของกิจการภาคอุตสาหกรรม และศูนย์กลางการขนส่งรูปแบบใหม่ จนมีบทบาททางการค้าบดบังย่านตลาดจีนแต่เดิมไปเสีย แต่ในช่วงเวลานี้ไปกลับมีการคุกคามชาวจีนจากนโยบายภาครัฐอย่างเข้มข้น(เนื่องจากชาวจีนมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงอย่างยิ่งในระดับประเทศ) โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่2(พ.ศ.2484-2488) ที่ประกาศว่า ลำปาง เป็นหนึ่งในจังหวัดเขตหวงห้าม เป็นเขตปลอดชาวต่างด้าว(แต่อาจจะยกเว้นในกรณีที่ได้สัญชาติไทย) และชาวจีนนับพันต้องอพยพเคลื่อนย้าย ในพ.ศ.2486[1] แต่อย่างไรก็ตาม ชาวจีนทั้งหลายก็ได้ผสมกลมกลืน ถือว่าตัวเองเป็นชาวลำปางอย่างภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน โดยอาจจำแนกให้เห็นกลุ่มตระกูลกับชนิดของการลงทุนประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

1. กลุ่มทุนการค้าเบ็ดเตล็ด[2]
เป็นกิจการค้าที่มีความหลากหลายในร้านค้าเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ไม่ต้องไปหาซื้อ จากร้านอื่นๆ มีทั้งประเภทของกิน ของใช้ สินค้าเครื่องเหล็ก เครื่องยนต์ อะไหล่รถ ก็คือการขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่เรียกกันว่า กิจการค้าของโชวห่วยนั่นเอง

ตระกูลจิวะสันติการ นายถนัด และแม่โต้ย จิวะสันติการ จากฐานเดิมที่ลำปางกลาง ย้ายไปอยู่ที่อ.เถิน เนื่องจากความเป็นเมืองชุมทางกระจายสินค้า ก่อนที่จะกลับมาค้าขายที่เก๊าจาว ในชื่อร้าน จิวแซหลี พ.ศ.2489 หลังสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งทำธุรกิจจากการเปิดร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ซึ่งขยายไปถึงเมืองลอง แพร่ เกาะคา สบปราบ เถิน อ.แม่ลาว แม่จัน จ.เชียงราย

ตระกูลจิตราทร นายเอี๋ยว จิตาทร(แซ่เจ็ง) เป็นบุตรของคหบดีใหญ่แห่งปากน้ำโพ เปิดร้าน ซุนฮะไถ่ จำหน่ายของเบ็ดเตล็ดทั้งในและต่างประเทศ มีประสบการณ์การค้าขายทางเรือมาก่อนด้วย เมื่อกิจการที่ลำปางดีก็ขยายไปเชียงราย แม่สาย และเชียงตุง

ตระกูลเธียรปัญญา นายฮุ้นชอ แซ่เธีย(เธียรปัญญา) ถือเป็นเครือข่ายกับตระกูลจิตราทร ได้แยกตัวออกมาเปิดร้านเธียรปัญญาพาณิชย์ ที่ลำปางพ.ศ.2490
ฯลฯ

2. กลุ่มทุนการเงิน - กลุ่มทุนเงินกู้เอกชน[3]
แหล่งเงินกู้ภายหลังเกิดขึ้นสืบเนื่องจาก ทางรถไฟที่ทำให้การค้าการลงทุนขยายตัว จึงมีความต้องการเงินทุน การค้าจึงไม่ใช่เป็นหลักการสะสมทุนต่อไป กลับเป็นการปล่อยเงินกู้เพื่อหากำไรจากดอกเบี้ยจนทำให้บางกลุ่มเลิกกิจการค้า แล้วปล่อยเงินกู้เพียงอย่างเดียว ขณะทีธนาคารสยามกัมมาจล(ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด)ได้มาเปิดดำเนินการ พ.ศ.2473 รวมไปถึงธนาคารอื่นๆในเวลาต่อมา ซึ่งผู้จัดการสาขามักจะเป็นฝรั่ง ฉะนั้นจึงต้องอาศัยพ่อค้าท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็น คอมปราโดร์(ตัวแทนธนาคาร) แต่อย่างไรก็ตามในระยะแรกๆนั้นธุรกิจธนาคารยังไม่เป็นที่คุ้นเคยและนิยม แหล่งเงินกู้ในท้องถิ่นจึงเป็นหนทางสำคัญในการให้กู้

กลุ่มตระกูลบุปผาเจริญ-บุปผาเจริญสุข-ดวงรัตน์ มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง และสั่งสมทุนมานาน รวมไปถึงเครือข่ายตระกูลดวงรัตน์ ที่ทำกิจการโรงน้ำแข็งทองไพฑูรย์ ทั้งยังปล่อยเงินกู้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการค้าทั่วไป ภายหลังมีการให้กู้วงเงินสูง และยังมีการลงทุนซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินที่ดิน จนปัจจุบันมีฐานติดอันดับความมั่นคงที่สุดในท้องถิ่น

ตระกูลวงศ์ชูศรี นายเล็ก และนางฮุนเฮียง วงศ์ชูศรี เปิดร้านขายยาหน่ำแซตึ๊ง และทำโรงยาฝิ่นที่ถ.อุปราช ตลอดจนโรงงานน้ำอ้อย ที่อ.แม่ทะ และธุรกิจซื้อขายข้าวสาร และในที่สุดก็ปล่อยกู้ ในกิจการค้า หรือลงทุน ปัจจุบันขยายกิจการมาเปิด ร้านช.เภสัช บนถ.บุญวาทย์

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงตระกูลอื่นๆอีก เช่น ตระกูลศิรินาวิน ตระกูลซิวเหยี่ยน(ศรีสมิต) ฯลฯ

3. กิจการอื่นๆ[4]
จากความสะดวกของการขนส่งทางรถไฟ ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมืองลำปางที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะการขนส่งข้าวสารจากพะเยา น่าน เชียงราย และแม่จัน จึงมีการตั้งโรงสี และโกดังขึ้น ของนายฮั้งเส็ง แห่งตระกูลตันสุวรรณ ของกลุ่มห่านยุยเส็ง ของนายยกจิว แซ่ตัน จนหลังสงครามโลกครั้งที่2 กิจการดีขึ้นจึงมีการลงทุนเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่งมีลักษณะเป็นเครือข่าย ได้แก่ ตระกูลเหล่าธรรมทัศน์ ที่เชื่อมโยงกับพาน แม่จัน เชียงราย แม่เลี้ยงซิวเหยี่ยนที่เชียงราย กลุ่มคูสุวรรณที่พะเยา ฯลฯ

ในระลอกสองที่ส่วนมากเป็นจีนกลุ่มใหม่ ได้สร้างความมั่งคั่งจากรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ โดยเส้นทาง
รถไฟ ขณะที่การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก จนถึงเกิดธุรกิจเงินกู้ที่ใหญ่โตขึ้นในเวลาต่อมา ความเชี่ยวชาญทางการค้าดังกล่าวทำให้ชาวจีนในลำปางสามารถขึ้นมามีบทบาทเหนือพ่อค้าอื่นๆได้อย่างเบ็ดเสร็จ.

*เรียบเรียงจาก
ทัศนีย์ ขัดสืบ,ชาวจีนลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม
จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548.
ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541.
ทนงศักดิ์ วิกุล.การศึกษาการรับรู้ของชุมชนต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมือง : กรณีศึกษา เขตเทศบาลนครลำปาง
วิทยานิพนธ์ ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม
บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง,2547.

เชิงอรรถ
[1] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548,หน้า 278
[2] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541,หน้า 59-64
[3] อ้างแล้ว หน้า 65-72
[4] อ้างแล้ว หน้า 53-54

No comments: