ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวไทยวน(คนเมือง)ในลำปาง (3)



ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิงนุ่งซิ่น สวมเสื้อ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ถ่ายเมื่อพ.ศ.2527 โดย อ.วิถี พานิชพันธ์
[ที่มา : วิถี พานิชพันธ์. ผ้าและสิ่งถักทอไท, กรุงเทพฯ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, 2547, หน้า 40 ]

ก : อื่นๆอีกมากมาย
อันที่จริงเรื่อง วิถีความเป็นอยู่, การแต่งกาย, อาหารการกิน, เอกสาร ตำนาน จารึก รายละเอียดต่างๆเหล่านี้ ยังมีรู้ที่อธิบายได้ดีและชัดเจนกว่าบทความนี้มาก แต่ในองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีภาพความสัมพันธ์กันอยู่มิใช่เฉพาะคนเมือง คนไทยวนเท่านั้น แต่ผู้คนอื่นๆที่อยู่ในบ้านเมือง หรือละแวกใกล้เคียง ต่างก็มีการถ่ายทอด รับแลกเปลี่ยนกันตลอดผ่านการค้า และการเมืองอยู่เสมอ

ดังที่เห็นได้จากการแต่งกายจากเดิมที่ไม่นิยมใส่เสื้อโดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งจะสวมเฉพาะช่วงงานประเพณีหรือเทศกาลเท่านั้น สำหรับผู้หญิงอาจมีเพียงผ้าแถบพันอกหรือคล้องบ่าให้ย้อยมาปิดออก ต่อมาหลังคริสต์ศตวรรรษที่ 17 (ค.ศ.1600-1699 หรือประมาณ พ.ศ.2343-2442 ยุครอยต่อของความพยายามรวบรวมอำนาจของสยามประเทศ) ค่านิยมเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงนิยม เสื้ออก เสื้อบ่าห้อย เสื้อปั๊ด[1] ขณะที่ชาย ในชนชั้นสูงเป็นเสื้อที่รับอิทธิพลจากเสื้อราชปะแตน หรือกระทั่งอิทธิพลจากชาวไทใหญ่ หรือเสื้อม่อฮ่อมที่พัฒนามาจากเสื้อชายไทลื้อ(น่าจะเป็นแบบเสื้อพื้นเมืองที่พวกเราประยุกต์ใส่กันทุกวันศุกร์) ที่สวมคู่กับกางเกงที่เรียกว่า เตี่ยวสะดอ[2] (ผู้เขียนสันนิษฐานว่า น่าจะเป็น กางเกงของไทใหญ่ หรือเงี้ยวมากกว่า)
หรือแม้แต่ข้าวซอยที่เป็น ก๋วยเตี๋ยวของจีนฮ่อ(จีนมุสลิม ถ้าผู้อ่านว่างลองหาโอกาสไปที่ร้านข้าวซอยอิสลาม บริเวณตีนสะพานรัษฎาภิเศก แถวๆสี่แยกหมอพิเชษฐ์ดูเถิด) ก็มีการแลกเปลี่ยนและยอมรับกันว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของท้องถิ่นไปในที่สุด

ข : การสยบยอมอำนาจรัฐและยุคเสื่อม
หลังจากที่สยามประเทศเผชิญกับปัญหาที่เสี่ยงต่อการเสียดินแดน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25(พ.ศ.2400-2499) จึงเปลี่ยนนโยบายเดิมที่ให้อิสระกับหัวเมืองประเทศราช โดยการพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อกระชับการปกครองให้มั่นคงขึ้น ช่วงดังกล่าวก็เกิดปฏิกิริยาต่างๆเพื่อตอบโต้การเปลี่ยนแปลงขึ้นทั่วแดนสยาม อันได้แก่ กบฏพญาผาบที่เชียงใหม่(พ.ศ.2432)[3] กบฏเงี้ยวที่แพร่(พ.ศ.2445)[4] กบฏผีบุญทางอีสาน[5] กบฎ 7 หัวเมืองทางใต้บริเวณรัฐปัตตานีเดิม(พ.ศ.2374-2375)[6]

รัฐสยามตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงพยายามสำนึกความรู้สึกร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยเปลี่ยนนโยบายจากเดิม ที่แข็งกร้าวและเน้นการเมืองการปกครอง การคลังและการเก็บภาษี มาเป็นการควบคุมสังคมผ่าน การปฏิรูปการศึกษา ศาสนา ทำนุบำรุงบ้านเมือง ทั้งการคมนาคมและสาธารณสุข ผลดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งต่อมา ส่งผลให้เอกลักษณ์วัฒนธรรมของล้านนาค่อยๆถูกทำลายลงเป็นลำดับ5(กรณีนี้คงเกิดกับหลายๆภูมิภาคเช่นเดียวกัน)

ในกรณีของลำปางสังเกตเห็นได้ชัดจาก ความนิยมวัฒนธรรมและรูปลักษณ์ทางศิลปะแบบทางเหนือ ที่ลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับการมาแทนที่ด้วยคติของภาคกลาง โดยเฉพาะในศาสนสถาน ดังตัวอย่าง คือ วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีลักษณะเครื่องหลังคาเป็นแบบภาคกลาง(ลักษณะแบบทางเหนือโปรดดูเทียบเคียงกับวิหารน้ำแต้ม) ที่บูรณะจากโครงสร้างเดิม เมื่อพ.ศ.2466[7] ตลอดจนการซ่อมแซมบูรณะอาคารอื่นๆที่ลักษณะผิดแปลกไปจากเดิม เช่น ขณะที่หลายแห่งก็ทำการรื้อวิหาร อุโบสถ และเสนาสนะต่างๆแล้วสร้างในรูปแบบไทยภาคกลางมากขึ้นเรื่อยๆ



หน้าบันวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง บูรณะเมื่อ พ.ศ.2466

ค : จุดแข็งของวัฒนธรรมคนเมือง และการรวมศูนย์วัฒนธรรมล้านนาอยู่ที่เชียงใหม่ กับกระแสจรัล มโนเพ็ชร์ สู่ ลานนา คัมมินส์
แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมของคนเมืองคนไทยวน ก็กลับมาและถูกขับเน้นให้ชัดเจนภายในชื่อ ล้านนา หรือลานนา(ขณะเดียวกันก็ทำให้เราลืมเลือนเพื่อนในวัฒนธรรมอื่นที่ร่วมอยู่ในสังคมไปด้วย) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ จนปัจจุบัน แปลงร่างออกมาในรูปของเทรนด์ล้านนา
หากมองในความเปลี่ยนแปลงด้านอุดมการณ์นั้น สังเกตในบทบาทของหนังสือพิมพ์”คนเมือง”ของพ่อค้าในกลุ่มนิมมานเหมินทร์ ที่สร้างภาพของเมืองทางเหนือให้มีลักษณะเมืองในฝัน และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความคิดเรื่องเมืองเหนือ คือเมืองแห่งสาวงามและดอกไม้(ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนพ.ศ.2500)[8]

เชียงใหม่จึงมีบทบาทสำคัญเป็นหัวหอกในการสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครขึ้นในเมืองเหนือ ด้วยมุมมองของคนชั้นกลาง รวมไปถึงปัจจัยเอื้อต่างๆเช่น การตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2507 ตลอดจนการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ทำให้การค้าและการบริการขยายตัวขึ้นอย่างมาก[9] ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองการปกครองในที่สุด


จรัล มโนเพ็ชร(พ.ศ.2494-2544) ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย
[ที่มา : http://www.jaranmanophet.com]

จรัล มโนเพ็ชร์(พ.ศ.2494-2544)[10] เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ถูกสร้างขึ้นมาในวัฒนธรรมดังกล่าว รวมถึงยังเป็นผู้บุกเบิก สร้างสรรค์พื้นที่ทางวัฒนธรรมแบบล้านนา ต่อสังคมสาธารณะ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ดังคำแนะนำหนังสือ “จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย” จัดพิมพ์เนื่องในวาระ 2 ปีการจากไปของ จรัล โดย อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่กล่าวไว้ว่า จรัล มีบทบาทสำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น[11] น่าเสียดายที่จรัล อายุสั้น ไม่ทันได้อยู่เห็นความสำเร็จ(?)ของศิลปินเลือดล้านนา ลูกสาวของนักร้องคู่ขวัญ สุนทรี เวชานนท์ ที่แจ้งเกิดในนาม ลานนา คัมมินส์ จรัลยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่พ้นไปจากพรมแดนล้านนา-เชียงใหม่ด้วย กล่าวคือ อุ๊ยบุญมา ไชยมะโน(พ.ศ.2465-2548) ศิลปินพิณเปี๊ยะลำปาง ก็ได้รับการสนับสนุนและเผยแพร่ผลงานจาก จรัลด้วยเช่นเดียวกับ ศิลปินอื่นๆ

*บทความนี้ ปรับปรุงจาก
ยุรีวรรณ นนทวาสี, ชาวไทยวน(คนเมือง) คนหมู่มากในลำปาง , ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง.2548

บรรณานุกรม
หนังสือ
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์,วิหารล้านนา,กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.2544
วิถี พานิชพันธ์,ผ้าและสิ่งถักทอไท,กรุงเพทฯ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์.2547
สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544
สุเทพ สุนทรเภสัช,ปาฐกนำเรื่อง สำนึกทางชาติพันธุ์(Ethnicity) ศูนย์มานุษยวิทยา(องค์การมหาชน)
ที่มา
www.sac.or.th/projects/New_Feb44/ethbicity/main2.htm
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและพัฒนาการทางการเมืองในภาคเหนือของไทยหลังสงครามโลก
ครั้งที่2,ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2534

เว็บไซต์
จรัล มโนเพ็ชร
http://www.jaranmanophet.com

เชิงอรรถ
[1]อ่านละเอียดใน วิถี พานิชพันธ์,ผ้าและสิ่งถักทอไท,กรุงเพทฯ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์.2547 หน้า 41
[2] วิถี พานิชพันธ์,อ้างแล้ว หน้า 42
[3] สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544,หน้า 378
[4] สรัสวดี อ๋องสกุล,อ้างแล้ว หน้า 399
[5] สุเทพ สุนทรเภสัช,ปาฐกนำเรื่อง สำนึกทางชาติพันธุ์(Ethnicity) ศูนย์มานุษยวิทยา(องค์การมหาชน)
จาก www.sac.or.th/projects/New_Feb44/ethbicity/main2.htm
[6] สุจิตต์ วงษ์เทศ,รัฐปัตตานี ใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์,กรุงเทพฯ : มติชน,2547,หน้า
[7] อ่านรายละเอียด ใน วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์,วิหารล้านนา,กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.2544,หน้า 82
[8] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและพัฒนาการทางการเมืองในภาคเหนือของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่2,ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2534,หน้า 16
[9] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,อ้างแล้ว หน้า 23
[10] จากเว็บไซต์ http://www.jaranmanophet.com/PAGE002.htm
[11] จากเว็บไซต์ http://www.jaranmanophet.com/PAGE005.htm

No comments: