ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวไทยวน(คนเมือง)ในลำปาง (2)


"แม่ค้าขายของหน้าวัดพระสิงห์ ในอดีตบริเวณหน้าวัดพระสิงห์ หรือวัดลีเชียงพระ" ให้เห็นบรรยากาศการค้าขายสมัยก่อน
[ที่มา : สรัวสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539, หน้า 179]

ระบบสังคม เศรษฐกิจ และการทำมาหากิน
โดยทั่วไป เรามักจะมองภาพของชีวิตคนเมืองอย่างโรแมนติกว่า บ้านเมืองสมัยก่อนมีความดีงาม ผู้คนอยู่อย่างสงบสบาย แต่การมองอย่างนั้นก็มิได้ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้เข้าใจบ้านเมืองลำปางมากขึ้นเลย ฉะนั้นบทความนี้จึงอยากจะนำเสนอภาพของระบบโครงสร้างบางอย่างที่อธิบาย เรื่องราวชีวิตของคนเมือง

อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า[1] รัฐล้านนาเป็นรัฐระบบส่วยและตลาด การแสวงหาโภคทรัพย์จึงขึ้นอยู่กับการแปรส่วยที่ได้เข้ามาสู่ตลาด ดังนั้นจึงต้องสร้างความคึกคักของการค้าด้วย นั่นหมายถึงต้องสร้างความไหลลื่น มีกฎระเบียบที่ทำให้ความแตกต่างของท้องถิ่นลดลง และแน่นอนว่าระบบการค้าของคนไทยวนจำเป็นต้องสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆดัวยเช่น พ่อค้าวัวต่าง ม่าน เงี้ยว(ไทใหญ่) ฮ่อ(ฉะนั้นการดึง คนเมืองมาคิดวิเคราะห์เดี่ยวๆแล้วจะได้มิติที่ไม่ลึกเท่าใดนัก ในกรณีบทความนี้จึงเป็นความพยายามที่จะจำแนกแจกแจง ให้เห็นภาพชัด ก่อนที่จะดึงเข้าไปผนวกให้เห็นชัดภายหลัง)

ระบบศักดินา และชนชั้นที่พัฒนามาอย่างเต็มที่ในสมัยล้านนา อันแบ่งเป็น ชนชั้นมูลนาย อันได้แก่ กษัตริย์ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ เจ้าเมือง ขุนนางตามลำดับชั้น เรื่อยลงมาจนถึงแก่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) และชนชั้นที่ไม่ใช่มูลนายที่ประกอบด้วยไพร่ ทาส ภิกษุ หรือข้าพระ[2] (ซึ่งจะดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อรัฐมีความเข้มแข็งพอที่จะควบคุมคนได้เท่านั้น กล่าวคือ ในช่วงที่ล้านนาไม่เป็นปึกแผ่น ระส่ำระสาย ระบบดังกล่าวก็พิการไม่สามารถรวมคน หรือคุมคนจำนวนมากได้ จะมีเพียงกลุ่มสมาชิกจำนวนไม่มากที่ซ่องสุมกำลังกันขึ้นมา เช่น กลุ่มของตนบุญนายาง หรือกลุ่มพระภิกษุวัดชมพูกับหนานทิพย์ช้าง) สภาพดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ก็คือ ความพยายามรวมศูนย์ของสยามที่มีผลโดยตรงต่อระบบส่วยและไพร่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความตึงเครียด(ระหว่างรัฐสยามและเจ้านายทางเหนือ)ในยุคสมัยนั้น จนคลี่คลายมาสู่การเปลี่ยนเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลและทำให้กลายเป็นจังหวัดภายใต้สยามประเทศไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่นที่สมควรพิจารณาไว้ด้วยกัน การดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ และวัฒนธรรมข้าว(ที่ต่อมาเน้นเพื่อการขายและส่งออก และเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก ในยุคการปฏิวัติเขียว ที่เพิ่มปริมาณการปลูกข้าว เพิ่มพืชพันธุ์อื่นๆ ที่ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก อันได้แก่ ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง อันจะกลายเป็นหนี้สินติดตัว และมลภาวะติดผืนดินไปอีกนาน) ซึ่งเป็นทั้งชีวิตและต้นตอของวัฒนธรรม ที่ได้ร่วมกันสร้างให้เกิดปฏิทินชีวิตของชุมชนขึ้นมา ที่ยังเชื่อมโยงกับความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนาอีกด้วย ดังสังเกตได้จากประเพณีทั้ง 12 เดือนของชาวเหนือ[3] เช่น ประเพณีตานข้าวใหม่ เดือนสี่เหนือ(ประมาณมกราคม) รวมไปถึงการตระเวนเที่ยวไปตามประเพณีการขึ้นพระธาตุในแต่ละพื้นที่ นอกจากจะเป็นการบูชาพระธาตุตามความเชื่อแล้ว ยังเป็นเครือข่ายไร้พรมแดน หนีไม่พ้นวัฒนธรรมดังกล่าวไปได้เลย อันเป็นแนวคิดที่อยู่ที่การสร้างสำนึกร่วมกันของชุมชน ที่ปรากฏในนามของพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญได้แก่ หอผีฝาย หอผีเสื้อบ้าน ป่าช้า บ่อน้ำ ป่าต้นน้ำ รวมไปถึงการจัดการท้องถิ่นในเรื่อง เหมืองฝาย แก่ฝาย[4] ที่เป็นระบบชลประทานยุคแรกๆที่ดำเนินการจัดการโดยท้องถิ่น(ก่อนที่จะเปลี่ยนรูป เปลี่ยนปรัชญาการจัดการน้ำไปเป็นโลกสมัยใหม่เสียหมด)

นอกจากการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ และติดตลาดในท้องถิ่นแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคด้วย คือ พ่อค้าวัวต่าง[5] ที่เป็นการค้าขายสำคัญระหว่างภูมิภาคและยังเป็นผู้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่เมืองมะลแหม่ง ประเทศพม่า ไปจนถึงยูนนาน ประเทศจีน มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ จนเมื่อได้รับผลกระทบจากเส้นทางรถไฟ ที่เปลี่ยนรูปการขนส่งไปโดยสิ้นเชิง ที่มีผลกระทบกับพ่อค้าวัวต่าง และการค้าทางเรือ ซึ่งได้เปรียบทั้งในแง่เวลาอันสั้น ตลอดจนจำนวนที่ขนได้ปริมาณมากในแต่ละครั้ง [6]



แผนภาพแสดงคติจักรวาลกับพระธาตุประจำปีเกิด


ของแถม

การไหว้พระธาตุประจำปีเกิด[7] มีความเชื่อกันว่า หากผู้ใดได้มีโอกาสไปสักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิดของตนจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันได้แก่
ปีใจ้(ชวด) พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
ปีเป้า(ฉลู) พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
ปียี(ขาล) พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ปีเม้า(เถาะ) พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ปีสี(มะโรง) พระธาตุวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
ปีใส้(มะเส็ง) เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย
ปีสะง้า(มะเมีย) พระธาตุตะโก้ง(เจดีย์ชวาเดกอง) ประเทศพม่า
ปีเม็ด(มะแม) พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ปีสัน(วอก) พระธาตุพนม จ.นครพนม
ปีเล้า(ระกา) พระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน
ปีเส็ด(จอ) พระธาตุเจดีย์เกตุแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ปีไก้(กุน) พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

*บทความนี้ ปรับปรุงจาก
ยุรีวรรณ นนทวาสี,ชาวไทยวน(คนเมือง) คนหมู่มากในลำปาง,ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง.2548

บรรณานุกรม
เธียรชาย อักษรดิษฐ์,ล้านนา : จักรวาล ตัวตน อำนาจ,กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.2545
พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2448 วิทยานิพนธ์
ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2530
มณี พยอมยงค์,ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย,เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.2529
สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,ระบอบทรัพย์สินในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย ใน ประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมชน.
กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์,2548

เชิงอรรถ
[1] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,ระบอบทรัพย์สินในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย ใน ประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมชน.กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์,2548,หน้า 126-127
[2] ดูเชิงอรรถลำดับที่ 147 ใน สรัสวดี อ๋องสกุล,ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์.2544,หน้า 216
[3] มณี พยอมยงค์,ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย,เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.2529
[4] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,อ้างแล้ว หน้า 130
[5]อ่านรายละเอียดใน ชูสิทธิ์ ชูชาติ,พ่อค้าวัวต่าง : ผู้บุกเบิกการค้าขายในหมู่บ้านภาคเหนือของประเทศไทย (พ.ศ.2398-2503),เชียงใหม่.2545
[6] พูนพร พูลทาจักร,การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2464-2448 วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหา
บัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2530
[7] เธียรชาย อักษรดิษฐ์,ล้านนา : จักรวาล ตัวตน อำนาจ,กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.2545

No comments: