ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวมุสลิมในลำปาง (1)


ภาพหมู่ถ่ายหน้ามัสยิดอัลฟลาฮ ไม่ทราบปีที่ถ่าย
[ที่มา : มัสยิดอัลฟลาฮฺ]

อิสลาม มีรากศัพท์ คือ สิลมฺ และ สลาม ซึ่งหมายถึง สันติภาพ[1] ขณะที่มุสลิม แปลว่าผู้ที่ยอมจำนวนต่อพระอัลลอฮ์ ว่ากันว่าศาสนาอิสลามและวิถีปฏิบัติของมุสลิมนั้นแทบจะแยกจากกันไม่ออก ฉะนั้นการที่จะทำความรู้ความเข้าใจพี่น้องมุสลิมลำปางก็คงต้องไม่ละเลยความละเอียดอ่อนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แม้ ศาสนาอิสลาม จะถือกำเนิดในบริเวณตะวันออกกลาง โดยมีท่านนบีมุฮัมมัด เป็นพระศาสดา แต่ก็มีมุสลิมที่รับความเชื่อดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วโลก

ขณะที่พุทธศาสนานับปฏิทิน เริ่มต้นพุทธศักราชที่ 1 เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่ศาสนาอิสลามนับตั้งแต่ การอพยพ(ฮิจญ์เราะห์)จาก มักกะฮ์ เมื่อ พ.ศ.1165[2] ศาสนาอิสลาม เคยเป็นแหล่งความรู้อันยิ่งใหญ่สาขาหนึ่งของโลก(ที่ได้รับการสืบทอดจากอารยธรรมเก่าแก่ของโลกและประยุกต์มาเป็นของตนเอง)

ตัวอย่างสำคัญก็คือ เลขอารบิค วิชาคณิตศาสตร์ วิชาดาราศาสตร์ วิชาคำนวณต่างๆ วิชาสถาปัตยกรรม(ล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาร์คโค้งในงานสถาปัตยกรรมไทยนั้น น่าจะได้เทคโนโลยีจากมุสลิมที่มีบทบาทในราชสำนักอยุธยา มากกว่าจะมาจากฝรั่งเศสด้วยซ้ำ) ทำให้ศาสนาอิสลามมีระบบความคิด ความเชื่อเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แต่ในปัจจุบันศาสนาอิสลามถูกมองด้วยอคติหลายๆชั้น จนอาจกลายเป็นกำแพงสร้างความเข้าใจผิดระหว่างกันได้

หากไม่นับอาณาจักรปัตตานีแล้ว ชาวมุสลิมได้เข้ามาสยามประเทศตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการค้นพบหลักฐานติดต่อจาก พระเจ้าไซนูล อาบีดีน แห่งประเทศแคชมีร์[3] แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงการเข้ามาของมุสลิมกับล้านนาประเทศ(แน่นอนว่าการติดต่อกับวัฒนธรรมอิสลามก็นำความเปลี่ยนทางศิลปะและเทคโนโลยีสำคัญให้แก่กรุงศรีอยุธยาด้วย ซึ่งความมั่งคั่งรุ่มรวยนี้เองอาจเป็นสิ่งที่ล้านนาประเทศขาดไป)



มัสยิดอัลฟลาฮฺ หน้าวัดศรีชุม ต.หัวเวียง อ.เมือง ลำปาง


วิถีชีวิตมุสลิม
การจะทำความรู้จักในเชิงลึกต้องใช้เวลา ในที่นี้จึงขอปูพื้นฐานให้ทราบถึงหลัก ก่อนจะเข้าถึงโลกมุสลิมในแง่มุมอื่นๆ
หลักอิสลาม 5 ประการ[4] คือ
1)การปฏิญานตนว่า ข้าขอปฏิญาณตนว่า จะไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และนบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์
2)การละหมาด วันละ 5 เวลา อันถือเป็นเสาหลักของศาสนา
3)การถือศีลอด ถือเป็นการเว้นการกิน ดื่ม มีเพศสัมพันธ์ เว้นกระทำสิ่งต้องห้าม และไร้สาระ ตั้งแต่อรุณรุ่งจนตะวันลับขอบฟ้า
4)การจ่ายซะกาต การบริจาคเงินภาคบังคับ 2.5%ของเงินออม
5)การไปทำฮัจญ์ ที่มักกะฮ์(เมกกะ)ประเทศซาอุดิอาระเบีย

หลักศรัทธา 6 ประการ[5] คือ
1)ศรัทธาว่าอัลลอฮ์ เป็นพระเจ้า
2)ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์(ทูตของพระองค์)
3)ศรัทธาในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอ่าน
4)ศรัทธาในบรรดารอซูล(ผู้รับสารผู้รับคำสั่ง)
5)ศรัทธาในวันสิ้นโลก(อาคิเราะฮ์)
6)ศรัทธาในกฏการกำหนดสภาวการณ์

การแต่งกาย[6] มีมาตรฐาน สำหรับฮิญาบ คือ
1)เอาเราะฮ หรือขอบเขตของร่ายกาย(เฉพาะผู้หญิงข้อแรก หลังจากนี้รวมไปถึงทั้งหญิงและชาย)
2)ชุดที่สวมใส่ต้องหลวมและต้องไม่เปิดเผยให้เห็นรูปร่าง
3)ชุดที่สวมใส่ต้องไม่บางเบาจนมองทะลุผ่านได้
4)ชุดที่สวมใส่ต้องไม่งามหรือมีเสน่ห์จนเป็นที่ดึงดูดใจเพศตรงข้าม
5)ชุดที่สวมใส่ต้องไม่คล้ายคลึงกับเพศตรงข้าม
6)ชุดที่สวมใส่ต้องไม่คล้ายคลึงกับของผู้ปฏิเสธ พวกเขาจะต้องไม่สวมชุดเอกลักษณ์เฉพาะ หรือสัญลักษณ์ในศาสนาของบรรดาผู้ปฏิเสธ(ศาสนาอิสลาม-ผู้เรียบเรียง)

อาหารการกิน[7] มีสิ่งต้องห้ามหลายประการ ได้แก่
1)สิ่งมึนเมา หรือสิ่งที่ทำให้ขาดสติทุกชนิด
2)เนื้อหมู
3)เลือด
4)เนื้อของสัตว์ที่ตายเองโดยธรรมชาติ
5)เนื้อของสัตว์ที่ถูกทุบตาย ถูกรัดคอ หรือตกจากที่สูงตาย
6)เนื้อของสัตว์ที่ใช้กรงเล็บหรือเขี้ยวจับสัตว์กินเป็นอาหาร
7)เนื้อของสัตว์ที่ถูกสัตว์แทะ หรือฉีกกิน
8)เนื้อสัตว์หรืออาหารที่ใช้บูชาผีสาง หรือเทพเจ้าอื่นๆ
9)เนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดโดยมิได้กล่าวนามของอัลลอฮ์ ดังนั้นอาหารฮาลาล ที่มีความหมายว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอนุมัติ ตามบัญญัติตามศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ จึงถือเป็นความสะดวกหนึ่งของพี่น้องมุสลิมที่จะเลือกบริโภคได้ด้วยความสบายใจ

ระบบธนาคารอิสลาม[8] ที่เกี่ยวเนื่องกับวิธีปฏิบัติของชาวมุสิลม ซึ่งมีหลักการดังนี้
1)ดอกเบี้ยจะกีดกันไม่ให้ได้รับความจำเริญจากอัลลอฮ
2)ประณามดอกเบี้ยว่า เป็นสิ่งที่พรากเอาไปจากทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างไม่ถูกต้อง
3)ให้มุสลิมอยู่ห่างจากดอกเบี้ยเพื่อประโยชน์แห่งความดีของตัวเอง
4)ให้ความหมายที่บ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยและการค้า
5)สนับสนุนให้มุสลิมเอาเฉพาะเงินต้นคืน อีกทั้งให้ยกหนี้หากลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เนตเสียมาก ฉะนั้นความรู้เบื้องต้นดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงข้อมูลตั้งต้น กราบขออภัยพี่น้องชาวมุสลิม หากมีการคลาดเคลื่อนโดยสาระ ในครั้งหน้า จะเน้นไปที่การอธิบายถึงความเป็นมา และชีวิตมุสลิมในลำปางต่อไป เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของพวกเราชาวลำปาง.

*เรียบเรียงจาก
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์,ชาวมุสลิมลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

อ้างอิงจาก
1. เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com
2. อ้างอิงจาก อาจารย์บรรจง บินกาซัน เว็บไซต์ http://www.thaimuslimshop.com

เชิงอรรถ
[1] 3 ประเด็นพื้นฐานที่ต้องรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[2] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[3] ความเป็นมาของอิสลามในประเทศไทย ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[4] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[5] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[6] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[7] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549
[8] ใน เว็บไซต์ http://www.muslimthai.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549

1 comment:

Unknown said...

http://www.ziddu.com/download/507322/U_VDO_stoning_video_100kbps.zip.html
http://www.ziddu.com/download/3066610/VDO_hand.zip.html