ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวจีนในลำปาง (4)



อาคารเยี่ยนซีไท้ลีกี สร้างประมาณ พ.ศ.2461 บริเวณกาดกองต้า เดิมเป็นของตระกูลทิวารี


ธุรกิจการลงทุนและตระกูลจีนที่มีชื่อเสียงในลำปาง
ชาวจีนนั้นขึ้นชื่อมาแต่ไหนแต่ไรเรื่องการค้าขาย ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเมืองที่ควบคู่ไปกับพลังทางการเมือง สังคม และวิถีชีวิตวัฒนธรรม ดังนั้นครานี้จะอธิบายถึงธุรกิจ และกลุ่มตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในเมืองลำปาง โดยพิจารณาประกอบกับการอพยพเข้ามาของชาวจีนในลำปาง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองระลอกใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่

ระลอกแรก ถือเป็นกลุ่มจีนเก่า สะสมทุนด้วยการค้าขาย อันมีรากฐานมาจากการขนส่งทางน้ำ โดยเรือแม่ปะ(เรือหางแมงป่อง) อาศัยการค้าขาย โดยการนำเข้าสินค้าพวกของใช้จำเป็น และสินค้าสำเร็จรูป อุปกรณ์เครื่องจักรมาจากต่างประเทศ ได้แก่ น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ เกลือ สบู่ เครื่องเหล็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้าย ปลาแห้ง และสินค้าบริโภค อุปโภคต่างๆ สำหรับชาวตะวันตก รวมถึงผลไม้ต่างประเทศ[1] ซึ่งสินค้าส่วนมากจะเป็นผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษ กิจการดังกล่าวมีทำเลที่ตั้งบนทำเลถนนตลาดจีน(ที่ในอดีตก็มีพ่อค้าอื่นๆเช่น พม่า ไทใหญ่ อินเดียฯลฯ แต่พ่อค้าชาวจีนกลับมีบทบาทมากที่สุดในภายหลัง) ซึ่งทำหน้าที่ทั้งท่าเรือ ร้านค้า และบ้านพักอาศัยอยู่ในตัว ขณะที่บางรายมีความดีความชอบได้รับการแต่งตั้งมียศถาบรรดาศักดิ์ ตัวอย่างตระกูลใหญ่มีดังนี้

ตระกูลฟองอาภา[2] จีนฟอง เป็นพ่อค้าที่ฐานะมั่งคั่งเนื่องจากได้รับสัมปทานป่าไม้ เป็นเจ้าภาษีนายอากรฝิ่น และสุรา ภายหลังสร้างอาคารฟองหลี ทั้งยังมีความสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถึงกับได้ตั้งนามสกุลให้ว่า ฟองอาภา เจ้าสัวฟองยังได้สร้างอาคารฟองหลี ราวพ.ศ.2434-2444 นโยบายของรัฐเปลี่ยนระบบการเก็บภาษี ให้ส่วนกลางลงมาควบคุมแทน ทำให้ฐานะไม่มั่งคั่งดังเก่า ทำให้อาคารดังกล่าวเปลี่ยนเจ้าของเรื่อยมา

ตระกูลสินานนท์, ทิพยมณฑล[3] หลวงวานิชกำจร (นามเดิมคือ นายกิมเฉียน แซ่อึ้ง) ทำมาค้าขายเปิดกิจการชื่อ ห้างกิมฮง มีความดีความชอบหลายประการ ได้แก่ มีส่วนร่วมในการปราบเงี้ยว ทั้งยังเป็นผู้บริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณะประโยชน์ ทั้งยังเป็นผู้สร้างวัดเกาะวาลุการาม[4]ด้วย ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หลวงวานิชกำจร ทั้งยังได้รับพระราชทานนามสกุล สินานนท์ และทิพยมณฑลด้วย ต่อมาได้ทำการสร้างบ้านสินานนท์ เมื่อพ.ศ.2462 โดยช่างกวางตุ้ง




บ้านสินานนท์ สร้างเมื่อพ.ศ.2462 โดย หลวงวานิชกำจร


ตระกูลพานิชพันธ์[5] แม่แดง พานิชพันธ์ ร่วมกับสามีคือ นายเกากี่ พานิชพันธ์(แซ่ฮ้อ) ประกอบธุรกิจค้าขายเสื้อผ้าและข้าวของเบ็ดเตล็ด ซึ่งนายเกากี่สะสมทุนมาจากการทำงานสร้างทางรถไฟกับนายช่างเยอรมัน จนสามารถเปิดร้านสรรพสินค้าดังกล่าว มีการบันทึกถึงการล่องเรือซื้อ-ขายสินค้าจากกับปากน้ำโพ กรุงเทพฯ ด้วยตัวเองของแม่แดงอย่างพิสดาร ทั้งยังถือว่าเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญของคุ้มหลวงเจ้านายลำปาง มีทรัพย์สินมากมายรวมถึงที่ดินบ้านกาดเมฆกว่า 60 ไร่

ตระกูลพานิชพัฒน์[6] คุณพ่อคำ พานิชพัฒน์ และภรรยาคือ แม่ไหม แซ่ภู่ (บุตรคือ ศาสตราจารย์ ดุสิต พานิชพัฒน์) เดิมค้าขายอยู่บริเวณตลาดจีน ประเภทขนมหวานต่างๆ และขยายการค้ามาเป็นการค้าแบบสรรพสินค้า รวมเครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการค้าขายทางเรือและสินค้าวัวต่าง

ตระกูลทิวารี[7] เจ้าของในอดีตได้สร้างอาคารเยี่ยนซีไท้ลีกี เมื่อพ.ศ.2461 เพื่อใช้เป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งคาดกันว่าเป็นห้างใหญ่แห่งแรกของลำปาง

ตระกูลบุปผาเจริญ[8] นายเฮินซุน แซ่แห่ว(บุปผาเจริญ) แม่เลี้ยงบุญนาค เคยมีถิ่นฐานอยู่บริเวณตลาดจีน ถือเป็นรุ่นบุกเบิกพ่อค้าผ้า ต่อมาขยายกิจการค้าผ้าเมืองมากขึ้น ก่อนจะขยายตัว จนสามารถเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจอย่างสูง ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังมีตระกูลอื่นๆอีกที่ยังไม่มีรายละเอียดนัก ที่ยังต้องสืบและค้นคว้ากันเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ตระกูลโรจนศักดิ์ ตระกูลคมสัน ตระกูลเสาจินดารัตน์ ตระกูลเพ็ชรสุวรรณ ฯลฯ จากเนื้อหาเบื้องต้นน่าสังเกตว่า อาคารหลายหลัง สร้างขึ้นหลังการมาถึงของรถไฟแล้ว(รถไฟมาถึงลำปาง พ.ศ.2459) ซึ่งน่าสนใจศึกษาต่อไปว่าพัฒนาการของพื้นที่สบตุ๋ย-รถไฟเข้ามามีบทบาทแทนตลาดจีนอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อใดกันแน่

คงถึงเวลาแล้วที่ท่านผู้รู้ ผู้อาวุโส และชาวลำปางจะช่วยกันค้น สืบเสาะ ต่อจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ที่สุดในเงื่อนไขของห้วงกาลเวลานี้.


*เรียบเรียงจาก
ทัศนีย์ ขัดสืบ,ชาวจีนลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม

จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548.
ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541.
ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,ย้อนอดีตตลาดจีนลำปาง ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544.
ทนงศักดิ์ วิกุล.การศึกษาการรับรู้ของชุมชนต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมือง : กรณีศึกษา เขตเทศบาลนครลำปาง
วิทยานิพนธ์ ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม
บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง,2547.

เชิงอรรถ
[1] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512 ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541,หน้า 37
[2] ทนงศักดิ์ วิกุล,อ้างแล้ว หน้า 145
[3] ทนงศักดิ์ วิกุล.การศึกษาการรับรู้ของชุมชนต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมในเขตเมือง : กรณีศึกษา เขตเทศบาลนครลำปาง วิทยานิพนธ์ ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง,2547,หน้า 150
[4] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,ย้อนอดีตตลาดจีนลำปาง ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544,หน้า 56
[5] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาการเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512,อ้างแล้ว หน้า 38
[6] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,ย้อนอดีตตลาดจีนลำปาง ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ,อ้างแล้ว หน้า 54
[7] อ้างแล้ว หน้า 53
[8] อ้างแล้ว หน้า 55

No comments: