ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 9, 2006

ชาวจีนในลำปาง (2)





ประเทศไทยตอนกลาง แสดงภาพทางรถไฟ แม่น้ำและเมืองสำคัญๆ
[ที่มา : จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2548,หน้า 84]

ชาวจีนในลำปางไม่ได้อพยพมาในคราวเดียว แต่ทยอยเข้ามาในเงื่อนไขที่ต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากทางทิศใต้อีกทอดหนึ่ง แทบมิได้อพยพจากเมืองจีนมาในคราวเดียว ดังที่กล่าวไปตอนที่แล้วคือ ส่วนใหญ่จะลงเรือมาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะขยายตัวไปตั้งหลักแหล่งในบริเวณต่างๆ

เมื่อราวต้นรัตนโกสินทร์ ประชากรจีนในสยามมักอยู่บริเวณเขตชายฝั่งทะเลและบริเวณที่ลุ่มแถบแม่น้ำสายใหญ่ๆ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน มาจนถึงปากน้ำโพ เป็นไปได้ว่า พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลบางรายได้เข้ามาอยู่ในภาคเหนือแล้ว โดยการค้าแบบกองเกวียนระหว่างเมืองถึงเมือง[1]

เมื่อทางรถไฟมาถึงปากน้ำโพ(นครสวรรค์) พ.ศ.2448 ปากน้ำโพกลายเป็นชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะอพยพขึ้นเหนือ ในกรณีของลำปางนั้น ใช้การเดินทางมาตามลำน้ำวัง ผ่านเมืองระแหง แล้วขึ้นมาถึงลำปาง และเข้ามารับจ้างเป็นกุลี รับจ้างส่งของ[2] และด้วยความที่ชาวจีนไม่ได้อยู่ในระบบไพร่ ทั้งยังมีสิทธิค้าขายได้ เหมือนกับกษัตริย์ ขุนนาง เจ้าเมือง ยังได้รับการสนับสนุน สิทธิพิเศษทางการค้าจากราชสำนักมาเป็นเวลานาน บ้างก็ว่า เนื่องมาจากรู้จักระเบียบและมารยาทที่ถูกต้องในการเข้าหาเจ้านาย หรือความชำนาญในการต่อรองสินค้า และการเข้าถึงรสนิยมและความต้องการสินค้า ที่สำคัญก็คือ เจ้านายฝ่ายเหนือได้ส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจชาวจีน โดยการให้สิทธิในการผูกขาดภาษีอากรบ่อนเบี้ย[3]

มีการระบุว่า การค้าทางเรือของลำปาง ก่อนรถไฟจะเข้ามามีท่าเรืออยู่ 2 แห่ง คือ ที่ตลาดจีนและลำปางกลาง แต่การค้าขายทางเรือก็มิได้ราบรื่นเนื่องจากว่าต้องฝ่าอุปสรรคมากมาย ได้แก่ ในช่วงฤดูฝนการเดินทางนั้นอันตรายมาก(เพราะน้ำเชี่ยวและมีเกาะแก่ง)ต้องพายเรือให้ใกล้กับต้นไม้ ส่วนในฤดูแล้งแม่น้ำมักจะตื้นเขินและทำให้เดินทางลำบาก หรือแม้แต่ในบางกรณีต้องขี่ม้าเพื่อหลบหลีกโจรที่ปล้นตามแม่น้ำ ถึงขนาดต้องพกปืนกันเลยทีเดียว[4] แม่น้ำวังนั้นในช่วงฤดูน้ำหลากหลังจากฝนตก พ่อค้าสามารถเดินทางไปกรุงเทพฯถึง 2 เที่ยว แต่ในฤดูอื่นๆแม่น้ำวังจะตื้นเขินจนต้องมีการขุดช่องทางให้น้ำไหลในแม่น้ำ เพื่อที่จะนำเรือบรรทุกสินค้าผ่านไปได้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงสูงมาก (ดังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ระยะนั้นสินค้ายุโรปที่ขายที่ลำปางแพงกว่าที่เชียงใหม่)[5]



เรือหางแมงป่อง หรือเรือแม่ปะที่เป็นพาหนะสำคัญในการค้าขายทางน้ำ
[ที่มา : คุณสุวภรณ์ ชูโต]

เส้นทางการค้าผ่านแม่น้ำวังนั้น เป็นเส้นเชื่อมต่อบรรจบแม่น้ำปิงที่ ระแหง(ตากในปัจจุบัน) จากระแหงนั้น พอเรือเข้ามาในลำปางก็ต้องพายถ่อเพราะลำน้ำตื้นเขิน เรือโยงไม่สามารถลากจูงได้[6] สินค้าส่งออกจากลำปางส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาถูก ได้แก่ หนังสัตว์ ครั่ง ของป่า เมื่อเทียบกับสินค้าเข้าจากกรุงเทพฯ ที่จะเป็นของใช้จำเป็น สินค้าสำเร็จรูป อุปกรณ์เครื่องจักรจากต่างประเทศ แม้กระทั่งสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างผลไม้ต่างประเทศ[7] โดยมีลูกค้าคือ ฝ่ายเจ้านาย ชาวยุโรป คหบดีทั้งหลายในลำปาง[8]

ก่อนหน้านี้ การติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองต่างๆจะอาศัยเส้นทางบก ผ่านทางพ่อค้าวัวต่าง หรือกองเกวียน ชาวไทใหญ่(หรือเรียกกันอย่างดูถูกว่า เงี้ยว) ชาวจีนฮ่อ โดยมีเส้นทางการค้าขายที่เชื่อมโยงตั้งแต่ทางใต้ คือ เมืองมะละแหม่ง(พม่า) ไปถึงทางเหนือ คือ ยูนนาน(จีน) หรือแม้กระทั่งทางตะวันตก คือ หลวงพระบาง(ลาว) อย่างไรก็ตาม ในสมัยต่อมาการค้าขายทางเรือ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนบนความเสี่ยงมิใช่น้อย (แต่แน่นอนว่าก็มีการบันทึกเช่นกันว่า มีแม่ค้าชาวพื้นเมืองลำปาง ที่ทำการค้าขายทางเรือ) เชื่อกันว่า ความคึกคัก รุ่งเรืองของตลาดจีนก็เกิดขึ้นมารองรับความเติบโตใหม่ๆทางน้ำเหล่านี้นี่เอง (อาคารร้านค้าริมน้ำต่างๆ ก็ทำหน้าที่เป็นท่าเรือส่งสินค้าไปในตัว)

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญหนึ่งในยุคต่อมา คือ การเข้ามาของรถไฟ ซึ่งก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจได้อย่างสำคัญ [9]ได้แก่ ประการแรก เปลี่ยนเส้นทางการค้าจากเศรษฐกิจที่เน้นลำปางกับพม่า มาเป็นลำปางกับกรุงเทพฯ และยังลดบทบาทการค้าทางเรือ และพ่อค้าวัวต่างล้อเกวียน ประการที่สอง ช่วยเสริมบทบาทพ่อค้าจีน ในการถ่ายเทชาวจีนมากับขบวนรถไฟอีกมาก ประการที่สาม การขนส่งที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้ผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวทั้งปริมาณและชนิดผลผลิต ประการที่สี่ ทุนเงินกู้ในลำปางขยายตัวพร้อมการค้า ผู้มีทุนเริ่มสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไร ประการที่ห้า มีผลให้เกิดกิจการอุตสาหกรรมในลำปางและจังหวัดใกล้เคียง

มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชาวจีนที่มากับรถไฟจะเป็นพวกแต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้งแต่ไม่ใช่พวกไหหลำเนื่องจาก ชาวไหหลำไม่นิยมเป็นกรรมกร ดังนั้นชาวไหหลำจึงทิ้งงานสร้างทางรถไฟเพื่อไปตั้งหลักแหล่งตามเมืองสำคัญใหม่ๆ ดังที่มีคำกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “พวกแต้จิ๋วมีความเฉลียวฉลาดในทางการค้ามากกว่า แต่พวกไหหลำเป็นนักเผชิญโชคมากกว่า”[10]



ภาพการสร้างทางรถไฟ ขุนตาน

[ที่มา : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ]

เมื่อคิดดูแล้วปรากฏว่า ใช้เวลาเกือบ 5 ปีหลังจากที่รถไฟมาถึงลำปาง จะสามารถเดินทางลำปางได้ถึงเชียงใหม่ ในพ.ศ.2464[11]ฉะนั้นห้วงเวลาดังกล่าวจึงมีความสำคัญที่ทำให้ลำปางพัฒนาตัวเองศูนย์กลางการค้าสำคัญในระยะหนึ่ง เชื่อว่าในเวลาดังกล่าวจะดึงชาวจีนขึ้นมาด้วยจำนวนไม่น้อย ในการรับจ้างเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟ สร้างทางรถยนต์ไปเชียงราย[12](ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดว่ามีชาวจีนร่วมอยู่ด้วยแต่ก็กล่าวว่ามีแรงงานจาก แพร่ น่าน อีสาน หรือคนกรุงเทพฯ ส่วนจากกรุงเทพฯนี้เองน่าจะเป็นกรรมกรชาวจีนที่เข้ามารับจ้าง) ที่ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก ซึ่งในที่สุดก็มีความสามารถในการสะสมทุน และตั้งกิจการร้านค้า ตลอดจนธุรกิจต่างๆขึ้น ปรากฏขึ้นเป็นย่านการค้าสบตุ๋ย-รถไฟ(แม้บางส่วนจะมีพ่อค้าที่อพยพมาจากลำปางกลางมาสมทบด้วยก็ตามที) ที่ต่อมากลายเป็นย่านการค้าหลัก และบดบังรัศมีของย่านตลาดจีนไปในที่สุด

*เรียบเรียงจาก
ทัศนีย์ ขัดสืบ,ชาวจีนลำปาง ใน ฮู้คิง…ฮู้คนลำปาง,ลำปาง : บรรณกิจการพิมพ์.2548.

บรรณานุกรม
จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548.
ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512,ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541.
มาร์โก วี.พาเทล(แปลโดย เครือมาศ วุฒิกรณ์).ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ.
ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และวิวรรณ แสงจันทร์,แหล่งโบราณคดียุคดึกดำบรรพ์ที่ประตูผา จังหวัดลำปาง ภาพเขียนสี พิธีกรรม 3,000
ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์.กรุงเทพฯ : มติชน,2545.
สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ : อมรินทร์,2544.

เชิงอรรถ
[1] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์.สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์,กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์,2548,หน้า 80
[2] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์.พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลำปาง พ.ศ.2459-2512,ภาคนิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2541,หน้า 33-34
[3] มาร์โก วี.พาเทล(แปลโดย เครือมาศ วุฒิกรณ์).ประวัติและพัฒนาการของการค้าขายในลำปาง ใน ลำปางเมื่อห้วงหนึ่ง.ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์,2544,หน้า 36-37
[4] มาร์โก วี.พาเทล,อ้างแล้ว หน้า 25-26
[5] มาร์โก วี.พาเทล,อ้างแล้ว หน้า 27
[6] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,อ้างแล้ว หน้า 36
[7] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,อ้างแล้ว หน้า 37
[8] มาร์โก วี.พาเทล,อ้างแล้ว หน้า 38
[9] ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์,อ้างแล้ว หน้า 39-40
[10] จี. วิลเลี่ยม สกินเนอร์,อ้างแล้ว หน้า 88
[11] สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา,กรุงเทพฯ : อมรินทร์,หน้า 474
[12] วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และวิวรรณ แสงจันทร์,แหล่งโบราณคดียุคดึกดำบรรพ์ที่ประตูผา จังหวัดลำปาง ภาพเขียนสี พิธีกรรม 3,000 ปี ที่ผาศักดิ์สิทธิ์.กรุงเทพฯ : มติชน,2545,หน้า 15

No comments: