ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 13, 2008

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : รถม้าคราหนึ่ง


รถม้าจอดบริเวณงานรถไฟรถม้าลำปาง ณ สถานีรถไฟนครลำปาง
ที่มาภาพ :
http://www.thainewsland.com/images/th/24244.jpg

รถม้าคราหนึ่ง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 197 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2551 หน้า 7

หากพูดถึงลำปาง คนทั่วไปมักจะนึกถึง “รถม้า” สัญลักษณ์อันโดดเด่น ซึ่งมีเหลืออยู่เพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีรถม้ารับจ้างวิ่งไปตามท้องถนนให้บริการแก่ผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

ใครจะรู้หรือไม่ว่ากว่ารถม้าจะอยู่ยืนยาวคู่ลำปางมาถึงทุกวันนี้ ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานหลายครั้งหลายคราจนเกือบจะมีการยกเลิกกิจการไปแล้ว

ผมได้พบบันทึกของขุนอุทานคดี(ประยูร ขันธรักษ์) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกสมาคมรถม้าลำปางคนแรกเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า เมื่อรถไฟมาถึงลำปาง พ.ศ.2459 แขกชาวปากีสถานได้เอารถม้าจากกรุงเทพฯมารับจ้างรับส่งผู้โดยสารซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

แต่พวกแขกเหล่านี้ชอบวิวาทและก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสารเป็นประจำ โดยอ้างตัวว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลมากในสมัยนั้นและมักเกิดเหตุยุ่งยากอยู่เป็นประจำสร้างภาระหนักให้แก่ตำรวจและอำเภอจนต้องมีการปราบปราม ในที่สุดพวกแขกเหล่านี้ต้องขายรถม้าให้คนลำปางเอาไปรับจ้างจนหมดราวปี พ.ศ.2478 ทำให้คนลำปางได้เป็นผู้ขับรถม้ากันอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตามในช่วง ปี พ.ศ.2480-2483 ขณะที่ขุนอุทานคดี ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองลำปาง ทางตำรวจมีแนวความคิดจะให้เลิกรถม้ารับจ้างโดยจะงดออกใบอนุญาตขับขี่ ตำรวจอ้างว่า ม้าขับถ่ายเรี่ยราด ทำให้ถนนสกปรกและคนขับรถม้ามีอิทธิพลสร้างความเกรงกลัวให้แก่คนขับสามล้อรับจ้าง
ทางราชการจึงต้องการสนับสนุนให้มีรถสามล้อขึ้นมาแทนเพื่อให้เห็นว่า ลำปางมีความทันสมัยมากขึ้นเพราะความคิดของตำรวจ เห็นว่ารถม้าดูล้าสมัยนั่นเอง
ขุนอุทานคดีในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองลำปางได้คัดค้านแนวความคิดนี้โดยเห็นว่า เรื่องการถ่ายมูลของสัตว์ไม่ใช่เฉพาะแต่ม้าแต่โคล้อก็ถ่ายเช่นกันและรถม้าก็ไม่ได้ซื้ออะไหล่มาจากต่างประเทศ ส่วนหน้าที่การรักษาความสะอาดตามท้องถนนเป็นของเทศบาลไม่ใช่เรื่องของตำรวจที่ต้องมาเดือดร้อน

อีกประการหนึ่งการเลิกกิจการรถม้าจะเป็นการตัดอาชีพของเจ้าของและคนรับจ้างขับรถม้าตลอดจนครอบครัวที่มีกว่าพันชีวิต รถม้าจะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ คนกลุ่มนี้ก็จะไม่มีงานทำและอาจจะออกไปประกอบอาชีพทางทุจริตซึ่งจะเป็นภาระหนักให้แก่ตำรวจ

การคัดค้านของขุนอุทานคดีส่งผลให้ในที่สุดตำรวจต้องยอมยุติความคิดดังกล่าว ต่อมาได้มีการตั้งสมาคมรถม้าลำปางขึ้น เพื่อสร้างความเป็นระเบียบให้แก่ผู้ขับรถม้ารับจ้าง

ขุนอุทานคดีได้เล่าอีกว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รถม้าเป็นประโยชน์แก่คนลำปางเป็นอันมาก ขณะนั้นน้ำมันหายากและเครื่องอะไหล่รถยนต์แพงมาก รถยนต์และรถสามล้อจึงไม่เป็นที่นิยมใช้ จึงทำให้คนขับรถม้ามีรายได้งาม ถึงขั้นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นขอให้ขุนอุทานคดีช่วยติดต่อซื้อรถม้าจากลำปางไปให้ทางกรุงเทพฯ แต่ไม่มีคนลำปางรายใดยอมขายให้

เมื่อสงครามโลกสงบราวปีพ.ศ.2485 รถม้าได้กลับมาเป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงเริงใจให้แก่คนลำปาง ที่มักชอบนั่งรถม้าชมเมืองหรือใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน เพราะมีราคาไม่แพงนัก เช่น จากสบตุ๋ยไปถึงในตัวเมืองค่าโดยสาร 1 สตางค์ ใครอยากรู้ว่าเงิน 1 สตางค์มีมูลค่าเท่าไหร่ ในสมัยนั้น 1 สตางค์ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 1 ชาม อาจจะเท่ากับ 20-25 บาทในปัจจุบันนี้

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2510 ทางราชการมีการกวดขันรถม้าและมีความพยายามจะยกเลิกอีกครั้งเพราะเห็นว่ารถม้าล้าสมัย ทำให้คนขับรถม้าต้องร้องทุกข์ไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้สั่งระงับการบีบบังคับ บางครั้งพวกคนขับรถม้ารับจ้างซึ่งกำลังจะถูกตัดอาชีพก็แสดงปฏิกิริยาออกอย่างรุนแรง เช่น พากันก่อกวนให้รถยนต์ชนเพื่อเอาค่าเสียหายให้พอกับค่ารถม้า เป็นต้น

ขุนอุทานคดีได้เล่าทิ้งท้ายในเรื่องนี้ว่า บัดนี้รถม้ากลับเป็นสิ่งที่เชิดชูเกียรติให้แก่ลำปาง แม้กระทั่งคนต่างจังหวัดและชาวต่างประเทศก็อยากเห็นและขึ้นรถม้า ในประเทศไทยมีรถม้าเหลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เชื่อว่า ในต่างประเทศก็คงหาได้ยากเช่นกัน

จากที่ขุนอุทานคดีเล่ามาทำให้ผมคิดว่า ในสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงสุดขีดขณะนี้ บางทีรถม้าหรือม้าอาจช่วยเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับคนลำปางอีกทางหนึ่ง เสียอย่างเดียวที่บัดนี้รถม้าได้กลายเป็นเพียงสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวที่มิใช่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะดังเช่นอดีตอีกแล้ว

จริงๆแล้วเชื่อว่าคนลำปางจำนวนไม่น้อยคงอยากจะขึ้นรถม้ากัน แต่คงสู้ราคาไม่ไหว ก็ได้แต่ภาวนาว่า ... เมื่อไหร่หนอ “รถม้า” จะกลับมาเป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวันของคนลำปางอีกครา

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
เรื่องรถม้าลำปาง มีอยู่หลายสำนวนการเขียน สามารถอ่านเรื่องรถม้าเพิ่มเติมได้อีกที่
1. ภาพจากอดีต : รถม้าลำปาง
และเรื่องเล่ารถม้าลำปาง "เก็บตกจาก วารสารคนเมือง พ.ศ.2498"
(ข้อมูลมาจากวารสาร “ คนเมือง ” ฉบับพิเศษรายเดือนปีที่ 2 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.2498)
(ข้อมูลจากเว็บ รอบรู้เมืองลำปาง โดยผู้ใช้อีเมล์ว่า JHK113@hotmail.com)
3. "รถม้า"เสน่ห์เมืองลำปางที่ยังมีลมหายใจ
(ข้อมูลจากเว็บล้านนาคอร์เนอร์ ซึ่ง อ้างอิงว่านำมาจากเว็บผู้จัดการอีกทีหนึ่ง )
4. ประวัติรถม้าลำปาง โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
(ข้อมูลจาก นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2550[คนละสำนวนกับข้อ 3])
(ข้อมูลจาก บทความของ สันติ บางอ้อ อธิการบดีมหาวิทยาลัยโยนก พฤศจิกายน 2550 )
6. รถม้าลำปาง

(ข้อมูลจาก เว็บ ไอเดียล้านนา )
7. ชมเมืองบนรถม้า แนะนำข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยวด้วยรถม้าลำปาง
(ข้อมูลจาก เว็บเที่ยวเมืองไทย)

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : วันพ่อเจ้าทิพย์ช้าง


อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ติดถนนไฮเวย์ลำปาง-เชียงราย จ.ลำปาง เปิดอนุสาวรีย์ปี 2524
ที่มาภาพ : http://olphistory.blogspot.com/

วันพ่อเจ้าทิพย์ช้าง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 195 วันที่ 21-27 กรกฎาคม 2551 หน้า 7

วีรกรรมของหนานทิพย์ช้าง พรานป่าผู้เก่งกล้าใช้ปืนยิงท้าวมหายศ แม่ทัพพม่า ถึงแก่ความตายที่วัดพระธาตุลำปางหลวงและนำกำลังขับไล่จนกองทัพพม่าที่มาบุกเมืองนครลำปางต้องแตกพ่ายไป ถือเป็นฉากสำคัญอันยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การต่อสู้ศึกพม่าของชาวลำปาง

ต่อมาประชาชนพร้อมใจกันยกให้เป็น“เจ้าทิพย์ช้าง”ปกครองเมืองนครลำปางและถือเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน คนลำปางได้รับรู้เรื่องราวของพ่อเจ้าทิพย์ช้างเป็นตำนานเล่าขานมาเนิ่นนาน จนกระทั่งในสมัยของนายชูวงศ์ ฉายะบุตร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ร่วมมือกับพ่อค้าประชาชนทุกหมู่เหล่าดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของพ่อเจ้าขึ้นบนพื้นที่ 5 ไร่ซึ่งเป็นสวนสาธารณะพ่อเจ้าทิพย์ช้างในปัจจุบัน

โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวลำปางเป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่าเรื่องราวของพ่อเจ้าทิพย์ช้างจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แต่ งาน“วันป๋าเวณีพ่อเจ้าทิพย์ช้าง”ที่กลุ่มลูกหลานสืบสานเชื้อสายเจ้าเจ็ดตน ทั้ง ณ ลำปาง, ณ ลำพูน, ณ เชียงใหม่ และสายตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนืออื่นที่เกี่ยวข้อง

ได้จัดงานป๋าเวณีขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม ของทุกปี ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง อันถือเป็นวัดของต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน ยังเป็นกิจกรรมที่สังคมลำปางไม่ได้รับรู้กันอย่างกว้างขวางมากนัก จึงขอเล่าที่มาของงานวันดังกล่าว ดังนี้

งานวันป๋าเวณีพ่อเจ้าทิพย์ช้างเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 แล้ว

เมื่อครั้ง พระเพ็ชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของตระกูล ณ ลำปางหรือที่คนลำปางเรียกท่านว่า “เจ้าพ่อพระเพ็ชรฯ” ยังมีชีวิตอยู่

ท่านได้ทราบเรื่องราวอัศจรรย์ตามนิมิตของอาจารย์ไสว ธรรมโรจนานนท์ ผู้ทรงญาณพิเศษ ว่า มีชายคนหนึ่งแต่งกายแบบนักรบสะพายดาบคู่ไขว้หลังได้ขอให้ไปบอกลูกหลานตระกูล ณ ลำปางว่า ได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พระพุทธรูปองค์นี้ถูกเก็บไว้บนเตียงในที่แคบและสั้น จนพระบาทและพระเศียรเกยเตียงมีสภาพชำรุดหน้าอกแตก

เจ้าพ่อพระเพ็ชรฯ พร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานตระกูล ณ ลำปาง จึงเดินทางไปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จนได้พบพระพุทธไม้แก่นจันทน์ปางไสยยาสน์ อยู่ในสภาพเก่าชำรุดพระอุระร้าว ตามที่ผู้ทรงญาณพิเศษบอกไว้ และทราบจากเจ้าอาวาส อีกว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประจำวันเกิดของพ่อเจ้าทิพย์ช้าง

เมื่อทราบเช่นนั้น เจ้านายบุตรหลานต่างมีความยินดีที่จะบูรณะให้สมบูรณ์และได้ทำพิธีสมโภชแบบล้านนาขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2507 การทำพิธีดังกล่าวในช่วงกลางคืนของวันที่ 17 กรกฎาคมได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นโดยดวงพระธาตุเจ้าลอยมาในท้องฟ้าและเสด็จกลับประมาณเวลาตีสอง

นอกจากนี้ในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 18 กรกฎาคม ขณะที่พระสงฆ์สวดเบิกวาระสุดท้ายอันเสร็จสิ้นพิธีพุทธาภิเษก ก็บังเกิด“ฉพรรณรังษี” คือพระธาตุเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีเป็นปรายพวยพุ่ง วนเวียนรอบๆพระเจดีย์ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่ง

ในโอกาสนี้เจ้านายฝ่ายเหนือชั้นผู้ใหญ่นำโดย เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปางและเจ้านายบุตรหลาน พร้อมใจกันฟ้อนถวายด้วยลีลาถวายหัตถ์เป็นพุทธบูชา

การที่ “พระธาตุเจ้าได้เสด็จออก” ซึ่งโดยปกติมักจะเกิดขึ้นเฉพาะคืนวันเพ็ญหรือวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ เจ้าพ่อพระเพ็ชรฯจึงได้แจ้งแก่เจ้านายบุตรหลานในสายตระกูลให้ถือเอาวันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันป๋าเวณีพ่อเจ้าทิพย์ช้าง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยให้วันดังกล่าวมีพิธีแสดงความกตัญญูกตเวทีและอุทิศส่วนกุศลแด่พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน

แม้ว่างานวันป๋าเวณีดังกล่าวจะมีที่มาจากความเชื่อและปรากฏการณ์แบบปาฏิหาริย์ แต่ก็ได้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติมากว่า 40 ปีแล้ว และถือเป็นวันรวมกลุ่มของเจ้านายบุตรหลานที่สืบเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนให้มาพบปะพร้อมหน้ากัน

ที่สำคัญควรเป็นวันที่คนลำปางจะได้พร้อมใจกันรำลึกถึงพ่อเจ้าทิพย์ช้าง ผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อชาวลำปางทั้งมวลอีกด้วย

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพ่อเจ้าทิพย์ช้าง
1. อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ริมถนนไฮเวย์ลำปาง-เชียงราย
(ข้อมูลจาก เทศบาลนครลำปาง)
2. ต้นตระกูลเชื้อเจ็ดตน
(ข้อมูลจากเว็บบอร์ด มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย)
3. ป๋าเวณี (ประเพณี) บวงสรวงพ่อเจ้าทิพย์ช้าง
(ข้อมูลจากเว็บลำปางซีอีโอ)
4. ป้อเจ้าหนานติ๊บจ๊าง ผู้กู้บ้านแป๋งเมืองนครลำปาง (การ์ตู๋นงาม ๆ จากอาทมาตครีเอชั่น..)
(ข้อมูลจากเว็บบล็อกโอเคเนชั่น เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2550)
5.
"หนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร" การ์ตูนที่เอามาฝาก
(ข้อมูลจาก on Lampang โพสต์เมื่อ 27 ธันวาคม 2550)
6.
หนาน ทิพย์ช้าง
(ข้อมูลจากเว็บบอร์ด http://www.212cafe.com/boardvip/view.php?user=cm99&id=1292)

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (2)


เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายแห่งนครลำปาง
ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย, 2541

ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (2)
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 189 วันที่ 9-15 มิถุนายน 2551 หน้า 7

เรื่องราวของหม่อมวาทย์ในเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย ที่ผมอ่านพบในหนังสืออนุสรณ์งานศพของครูบุญปั๋น โชติกะกุล ได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้ว

หนังสือดังกล่าวเล่าต่อไปว่า เมื่อราวปลายปี พ.ศ.2452 แม่เฒ่าขันคำ มารดาของหม่อมวาทย์ได้ป่วยหนัก หม่อมจึงขออนุญาตจากพ่อเจ้าออกจากคุ้มหลวงนครลำปาง ไปอยู่ที่บ้านของมารดาเพื่อดูแลปรนนิบัติรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างใกล้ชิด

ประจวบกับในช่วงเวลานั้น พ่อเจ้าบุญวาทย์ฯต้องเดินทางไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร และการเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-นครลำปางในสมัยนั้นใช้เวลานับแรมเดือนเพราะรถไฟสายเหนือยังมาไม่ถึงนครลำปาง

ขณะนั้นเองมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น คือ หม่อมวาทย์ได้ให้กำเนิดธิดาคนที่สอง ณ บ้านของแม่เฒ่าขันคำ ผู้เป็นมารดา โดยหนังสือข้างต้นอ้างว่า หม่อมไม่ทราบมาก่อนว่ามีลูกติดท้องมาด้วย จึงให้กำเนิดธิดาในระหว่างที่พ่อเจ้าไม่อยู่ที่นครลำปาง

จนกระทั่งเมื่อพ่อเจ้ากลับมาถึงนครลำปาง หนังสือเล่าว่าได้มีผู้ยุแหย่ว่า“ลูกที่เกิดไม่ใช่ลูกของพ่อเจ้า” กอปรกับการเดินทางที่ยากลำบากระหว่างกรุงเทพฯ-นครลำปาง ส่งผลให้สุขภาพร่างกายของพ่อเจ้าเสื่อมโทรม อีกทั้งหม่อมวาทย์ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบ

หนังสือยังอ้างอีกว่า ด้วยเหตุที่พ่อเจ้ามีสุขภาพที่ทรุดโทรมลงไปตามลำดับและต้องเดินทางไปรักษาตัวในกรุงเทพฯเป็นเวลานานและบ่อยครั้งขึ้น ในที่สุดพ่อเจ้าได้แนะนำให้หม่อมวาทย์ซึ่งขณะนั้นอายุยังน้อย แต่งงานใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีผู้ดูแลคุ้มครองและขจัดปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้น

หม่อมวาทย์จึงได้สมรสใหม่กับนายศรีอู๊ด โชติกะกุล บุตรชายพ่อเลี้ยงหม่องโพขิ่น คหบดีผู้ได้รับสิทธิ์การตั้งบริษัทไฟฟ้าในนครลำปาง ซึ่งมีความสนิทสนมในทางธุรกิจกับพ่อเจ้า ภายหลังหม่อมได้ให้กำเนิดบุตรและธิดาเพิ่มอีก 3 คน ชื่อ บุญหยด บุญดำรง และ อำไพพรรณ

เรื่องราวใหญ่โตดูเหมือนจบอย่างเรียบร้อย ซึ่งคงเป็นปกติของหนังสืออนุสรณ์งานศพที่มักจะเลือกนำเสนอแต่เฉพาะแง่มุมในเชิงบวกต่อผู้วายชนม์หรือผู้เกี่ยวข้องเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณประกอบในการอ่าน

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง ชีวิตของธิดาคนที่สองของหม่อมวาทย์ ซึ่งก็คือ “ครูบุญปั๋น” ผู้วายชนม์ ได้ระบุว่า เป็นบุตรีลำดับที่ 7 ของพ่อเจ้าบุญวาทย์ฯ เมื่ออายุได้ 8 ขวบเข้าศึกษาที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำปางหรือโรงเรียนลำปางกัลยาณีในปัจจุบัน ขณะนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปงสนุก

ต่อมาเมื่ออายุได้ 11 ปี หม่อมวาทย์ได้ส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพมหานคร ในแผนกการเรือน มีนายศรีอู๊ด ผู้เป็นสามีพาธิดาคนนี้ไปมอบตัวและได้ลงทะเบียนว่า “นางสาวบุญปั๋น โชติกะกุล” เป็นธิดาของนายศรีอู๊ดด้วย

ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษา บุญปั๋นได้กลับมาทำงานเป็นครูที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472-2489 ต่อมาลาออกจากราชการ แต่ยังคงรักการสอนจึงมาเป็นครูที่โรงเรียนพินิจวิทยา จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ.2502

ภายหลังเข้าปฏิบัติธรรมเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระสงฆ์รูปสำคัญที่ชาวลำปางให้ความเคารพนับถือผู้มีเชื้อสายของเจ้านายในตระกูล ณ ลำปาง โดยหลวงพ่อเกษม เป็นบุตรของเจ้าแม่จ้อน ณ ลำปาง ซึ่งมีความสนิทสนมรักใคร่เป็นอย่างดีกับหม่อมวาทย์ มารดาของครูบุญปั๋น

ในชีวิตของผู้วายชนม์คงได้รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ถึงชาติกำเนิดของตน ดังพบข้อความหนึ่งว่า “เรื่องที่มีผู้ไม่หวังดีชอบกล่าวว่า ใครเป็นบิดาอย่างแท้จริงของครูบุญปั๋นนี้ หลวงพ่อเกษม ผู้สำเร็จอภิญญา มีอตังตีสญาณ ล่วงรู้ถึงอดีตได้ออกประกาศแก่ลูกศิษย์ของท่านว่าให้ทุกคนเรียก ครูบุญปั๋น ว่า “เจ้าบุษบาร” ตามนิมิตที่พ่อเจ้าบุญวาทย์ฯมาปรากฏนี้”

เมื่ออ่านหนังสือโดยตลอดย่อมเข้าใจถึง น้ำเสียงที่ต้องการยืนยันอย่างหนักแน่นในฐานะ “ความเป็นเจ้า” ให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งมิใช่เป็นเพียงเจ้านายธรรมดาแต่มีฐานะ “เจ้าหญิง” เป็นหนึ่งในธิดาของเจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย

เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป แต่ในหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ได้ให้ชื่อแก่ผู้วายชนม์อีกชื่อหนึ่งที่แทบไม่มีใครเรียกขานกันว่า “เจ้าบุษบาร ณ ลำปาง” เพื่อให้เกียรติถึงความเป็น “เจ้า” ในฉากสุดท้ายแห่งชีวิตของผู้วายชนม์

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (1)


หอคำนครลำปาง
ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร


ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (1)
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 187 วันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2551 หน้า 7

มีความลับของตระกูล ณ ลำปาง ซ่อนอยู่ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของครูบุญปั๋น โชติกะกุล (พ.ศ.2453-2537) ครูอาวุโสคนหนึ่งของลำปาง ซึ่งผมได้บังเอิญพบเข้าและเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันโดยตรงกับ “พ่อเจ้า” เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย

หนังสือเล่มนี้เสนอเรื่องราวของเจ้านายลำปางซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากนัก โดยเริ่มต้นเล่าถึง มารดาของครูบุญปั๋น โชติกะกุล ผู้วายชนม์ ซึ่งมีนามว่า “บุญหลง” เธอเป็นเด็กสาวที่ได้ติดตามมารดาของตนชื่อ “แม่เฒ่าขันคำ” เข้ามาอยู่ในคุ้มหลวงนครลำปางตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี

แม่เฒ่าขันคำ เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการออกแบบผ้าซิ่นตีนจก สามารถใช้ไหมทองและไหมเงินทอเป็นผ้าซิ่นได้อย่างงดงาม จึงมีหน้าที่เป็นผู้สอนการทอผ้าให้แก่ช่างทอประจำโรงทอผ้าของคุ้มหลวง

ส่วน “บุญหลง” บุตรสาวของแม่เฒ่า เป็นเด็กสาวสวยหน้าตาดีมีรูปร่างสูงเพรียวงดงาม ซึ่งในเวลาต่อมาเธอได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปฝึกเล่นละครในโรงละครแห่งคุ้มหลวง ที่นั่นมีเด็กสาวหน้าตาดีเข้าไปฝึกเล่นละครเป็นจำนวนมาก

โรงละครภายในคุ้มหลวงเป็นสถานที่ซึ่ง “พ่อเจ้า” เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตและเจ้านายบุตรหลานมักมาชมการแสดงเป็นประจำ ละครที่แสดงเป็นทั้งละครร้องและละครรำเป็นแบบที่นำมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในสังคมลำปางขณะนั้น ผู้มาเข้าชมส่วนมากเป็นเจ้านายหรือข้าราชการเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปแทบไม่มีสิทธิเข้ามาชมการแสดง

“บุญหลง” ธิดาของแม่เฒ่าขันคำ มีโอกาสได้เป็นตัวเอกของเรื่องอยู่หลายคราว ทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างดีของเจ้านายบุตรหลานโดยทั่วไป

เมื่อภายหลังแม่เจ้าเมืองชื่น ณ ลำปาง ชายาของพ่อเจ้าถึงแก่กรรมไปไม่นาน ขณะนั้นบุญหลงอายุ 15 ปี ก็ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในหม่อมของพ่อเจ้าและได้รับชื่อใหม่ว่า “หม่อมวาทย์”

หนึ่งปีภายหลังการปรนนิบัติรับใช้พ่อเจ้า ในปี พ.ศ.2444 หม่อมวาทย์ได้ให้กำเนิด “เจ้าหญิงบุษบา ณ ลำปาง” ธิดาคนแรกในคุ้มหลวงนครลำปาง สร้างความดีใจให้แก่พ่อเจ้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้พ่อเจ้ามอบบ้านและที่ดินรวมทั้งเงินทองจำนวนหนึ่งให้แก่แม่เฒ่าขันคำ มารดาของหม่อมวาทย์ ซึ่งบ้านที่มอบให้นั้นเป็นบ้านหลังที่ได้พักอาศัยต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นของผู้วายชนม์

หม่อมวาทย์ได้ทำงานรับใช้พ่อเจ้าและเลี้ยงดูเจ้าหญิงบุษบา จนกระทั่งเติบใหญ่ ภายหลังเมื่อเจ้าหญิงอายุได้ 16 ปีได้สมรสกับเจ้าดรุณดารา ณ ลำพูน และย้ายไปอาศัยอยู่กับสามีที่เมืองลำพูน

ในหนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึง การที่พ่อเจ้าได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้แก่หม่อมวาทย์ช่วยเหลือในการส่งกำลังบำรุงทหารคือ การจัดเตรียมเสบียงอาหารและยาไปให้ทหารที่หออะม๊อก (ป้อมปราการ) กำแพงเมืองลำปาง ในคราวที่เกิดกบฏเงี้ยวปล้นหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งได้บุกมาถึงนครลำปาง

จนเมื่อกบฏเงี้ยวยุติลง พ่อเจ้าได้ตอบแทนน้ำใจของหม่อมวาทย์ด้วยการมอบที่นาจำนวน 200 ไร่ที่ตำบลทุ่งห้วยหาญ (ทุ่งฝาย) และกล่าวต่อหน้าผู้คนทั้งปวงว่า “เพื่อหม่อมวาทย์จะได้ปลูกข้าวไว้เลี้ยงคน” ข้อความในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่พ่อเจ้ามีต่อหม่อมวาทย์อย่างมาก

ต่อมาที่บริเวณแห่งนี้เรียกกันภายหลังว่า “ห้างโต้งฝาย” ใช้เป็นที่พักผ่อนชั่วคราวของหม่อมวาทย์และมักมีเจ้านายบุตรหลานแวะเวียนมา “กิ๋นข้าวงาย” กันเป็นประจำ

นอกจากนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงทหารในคราวเกิดกบฏเงี้ยวครั้งนั้นว่า มีแพทย์ทหารนายหนึ่งจากกรุงเทพฯเกิดหลงรักในตัว เจ้าหญิงอ้ม ณ ลำปาง ธิดาของพ่อเจ้าที่ทรงความงดงาม ซึ่งกำเนิดกับแม่เจ้าเมืองชื่นและมีความสนิทสนมกับหม่อมวาทย์ จึงได้ส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอกับพ่อเจ้าแต่ถูกปฏิเสธ เพราะพ่อเจ้าตั้งใจจะนำเจ้าหญิงไปถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหม่อมวาทย์ด้วย หนังสือข้างต้นอ้างว่า มีผู้ยุแหย่กับพ่อเจ้าว่า หม่อมวาทย์เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการที่แพทย์ทหารนายนั้นมาสู่ขอเจ้าหญิงอ้ม เข้าใจว่าเรื่องนี้ทำให้พ่อเจ้าเกิดความขุ่นเคืองมาก

เรื่องราวกำลังเข้มข้นและยังมีปริศนาสำคัญของตระกูล ณ ลำปาง ที่หนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มนี้ต้องการจะเปิดเผยรออยู่ ส่วนเรื่องจะเป็นอะไรนั้น โปรดติดตาม “ปริศนาแห่งคุ้มหลวง” ในตอนต่อไป

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : “บุญเท่ง” ปู่สภา


นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปางหลายสมัย
ที่มาภาพ : http://www.minister.moi.go.th/photominister.html


“บุญเท่ง” ปู่สภา
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 203 วันที่ 11-17 กันยายน 2551 หน้า 7

เมืองไทยยุคชดใช้กรรม มองไปทางไหนได้แต่ถอนหายใจเฮือกใหญ่ แม้ใครบางคนจะโกอินเตอร์ไปแล้วแต่เงาทะมึนยังคงอยู่ ไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะไปทางไหนหรือไปฝาผีฝากไข้กับใครดี เห็นบรรดานักเลือกตั้งแล้ว ไม่ต้องบอกว่าพัดลมยังส่ายหน้าเลย

ผมได้แต่นึกถึงนักการเมืองรุ่นเก่าของลำปางคนหนึ่งที่น่าจะมีเกียรติพอจะมาบอกเล่าให้คนลำปางรู้ว่าท่านเป็นนักการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
นักการเมืองระดับชาติของบ้านเฮาในความเห็นของผมไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับ “นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์” (พ.ศ.2455-2544) หรือบางคนเรียก “ปู่เท่ง” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดลำปางนานถึง 18 สมัย ได้สมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ.2480 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต กลายเป็น “ปู่สภา” ในยุคนั้น

ปู่เท่งเป็นคนอำเภอเถิน หลังจากจบธรรมศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยนั้นได้ทำหน้าที่เป็นอัยการอยู่ 2 เดือน จึงเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองโดยสมัครเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปีพ.ศ.2480 ขณะที่อายุ 24 ปี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงครามยุติได้มาสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่จังหวัดลำปางในปี พ.ศ.2489 เรื่อยมาทุกสมัยไม่เคยสอบตก

ปู่เท่งเป็นนักการเมืองที่ผ่านงานการเมืองมาอย่างโชกโชนทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้แก่ รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติคือ “ประธานสภาผู้แทนราษฏร”

แม้ว่าปู่เท่งจะดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมากมาย แต่เกียรติของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนประชาชน มิได้อยู่เพียงได้ชื่อว่าดำรงตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ หากแต่อยู่ที่คุณค่าของผู้ทำหน้าที่นั้นมากกว่า พูดให้เข้าใจง่ายว่า “เป็นอะไรไม่สำคัญ เท่ากับว่าทำอะไรมากกว่า”

จริงๆแล้วขณะที่ปู่เท่งเป็นนักการเมืองในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผมยังเรียนชั้นประถมอยู่เลยก็ได้แต่ทราบเรื่องราวของท่านผู้นี้จากผู้อาวุโสเล่าให้ฟัง ถ้าถามว่า ปู่เท่งเป็นแบบฉบับของนักการเมืองอย่างไร ผมคิดว่าว่า เราจะได้นักการเมืองที่ดีเลิศไปเสียทั้งหมดคงเป็นไปได้ยากและน่าจะฝันกลางวันมากกว่า แม้ว่าปู่เท่งอาจไม่ใช่หนึ่งในจำนวนนักการเมืองที่ดีเลิศอะไร แต่การทำหน้าที่ของปู่เท่ง ก็พอจะสะท้อนถึงความเป็นผู้แทนของคนลำปางได้

ผมขอถามเล่นๆว่า เราเคยเห็นนักการเมืองของภาคเหนือคนไหนพูดในสภาบ้าง เอาว่าพูดแบบพอมีสาระหรือมีคุณภาพนะครับ ก็ไม่อยากบอกว่าอาจมีแต่นึกไม่ออก แต่ในยุคสมัยของปู่เท่ง ท่านที่เป็นผู้อาวุโสอาจจำได้ว่า ปู่เท่งเป็นดาวสภาคนหนึ่งที่กล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็น แม้จะไม่หวือหวา มีลีลามากเหมือนที่เราเห็นหน้าจอทีวีก็ตาม

ปู่เท่ง เป็น ส.ส. ตามแบบของผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติที่ทำงานการเมืองในสภา ไม่ใช่ส.ส.แบบนักสังคมสงเคราะห์ประเภทเจ้าบุญทุ่มที่เราพบเห็นกันบ่อยๆในช่วงก่อนหรือฤดูเลือกตั้ง

ผมคิดว่าการเป็นส.ส.หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ เช่น ออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาล เราต้องขีดเส้นให้ออกมาว่าบทบาทของส.ส. กับฝ่ายบริหารนั้นแตกต่างกัน แต่แน่นอนว่า ส.ส.หลายคนที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องทำงานในทางบริหารพร้อมกันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณูปการของปู่เท่งที่มีต่อการเมืองไทย นั่นก็คือ การเป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องประชาชน เมื่อรับรู้ปัญหาต่างๆ แล้วนำไปเสนอหรือพูดคุยกันในสภาเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยระบบของสภา แม้ว่าบางคราวต้องไปทำงานในฝ่ายบริหาร แต่ก็ไม่พบว่า ปู่เท่งได้พยายามใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางบริหารมาเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองหรือการพัฒนาในพื้นที่ เหมือนกับ ส.ส.บางจังหวัดที่อาจใช้ชื่อ ส.ส.เป็นชื่อของจังหวัดนั้นได้เลย

การเป็น ส.ส. ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์เพราะเป็นงานอาสาเข้าไป ไม่มีใครบังคับให้เป็นและไม่ใช่เป็นเพื่อใช้เป็นทางผ่านไปสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเดียว ส.ส.ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ไม่ทำตัวเป็นลูกน้องรัฐบาล เหมือนกับ ส.ส.ของสภาบางยุคสมัยที่เข้าไปแล้ว แทบไม่เคยทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งไม่มีกฎหมายผ่านสภาเลยแม้แต่ฉบับเดียว เอาแต่กระเหื้ยนกระหือรือคิดจะแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อให้ใครบางคนพ้นคุกตารางเท่านั้น

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ประวัติโดยย่อ
นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2455
ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2542

อดีตผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ โดยการเอา พรรคก้าวหน้า นายควง อภัยวงศ์
มารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ขึ้น
เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยาวนานที่สุดในโลก
ได้รับฉายาจากนักสื่อมวลชนว่า เท่งเที่ยงถึง
ที่มา : วิกิพีเดีย

สามารถอ่านเรื่องเกี่ยวกับ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เพิ่มเติมได้ที่
1. บุญเท่ง ทองสวัสดิ์
(ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)
2. กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ โดย ธวัช คำธิตา
(วิทยานิพนธ์ [รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง)] – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541)
3. หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์, 2542

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : เจ้าสัวแห่งลำปาง


สะพานรัษฎาภิเศกเริ่มสร้างเมื่อปี 2458 ที่โกตา มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร


เจ้าสัวแห่งลำปาง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 185 วันที่ 12-18 พฤษภาคม 2551 หน้า 7

ผมตระเวนไปตามห้องสมุดของวัดสำคัญในลำปางเพื่อค้นหาเอกสารท้องถิ่นได้พบหนังสือดีๆหลายเล่ม หนึ่งในนั้นมีหนังสืออนุสรณ์งานศพของขุนอภิพัฒน์ภักดี (ตา เจริญยิ่ง, พ.ศ.2423-2506) หรือ “โกตา” บางคนเรียก “นายห้างตา” คหบดีใหญ่ของลำปางเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว มีเรื่องราวน่าสนใจ ขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ในช่วงราวปี พ.ศ.2438 เมืองลำปางอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้สักและเป็นแหล่งสัมปทานป่าไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีบริษัททำป่าไม้ของอังกฤษ คนในบังคับอังกฤษ คนจีนและคนพื้นเมืองเข้าทำงานเกี่ยวข้องกับป่าไม้กันอย่างแพร่หลาย

โกตาเป็นลูกคนจีนเกิดที่ย่านตลาดจีนหรือ “กาดกองต้า” ที่รู้จักกัน เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นลูกจ้างของเถ้าแก่พัดย่วน ผู้รับสัมปทานทำป่าไม้ มีหน้าที่เก็บไม้ซุงที่กระจัดกระจายอยู่ตามลำน้ำวังอันเป็นเส้นทางการขนส่งไม้ไปยังภาคกลางในสมัยนั้น มีผู้กล่าวว่า มีไม้ซุงถึงกว่าหมื่นท่อนลอยล่องอยู่เต็มลำน้ำวังอันกว้างใหญ่

การเก็บไม้ซุงของโกตาจะใช้เรือสะล่ากาบแป้น ซึ่งเป็นเรือชนิดเล็กแล่นได้เร็ว เป็นพาหนะและมีช้างช่วยลำเลียงและคัดไม้ซุงไปรวมผูกกันเป็นแพใหญ่ เมื่อทำการผูกไม้ซุงรวมกันเป็นแพแล้ว ก็จะล่องลงไปตามลำน้ำวังจนถึงปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ อันเป็นตลาดใหญ่ซื้อขายไม้ซุง

โกตา ทำหน้าที่คุมแพไม้ซุงลงไปที่ปากน้ำโพอยู่เป็นประจำ เมื่อเถ้าแก่พัดย่วนขายไม้ได้แล้ว ก่อนกลับลำปางได้จ่ายเงินค่าจ้างให้ และโกตาได้นำเงินเหล่านั้นไปซื้อเสื้อผ้าและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆจากตลาดบริเวณปากน้ำโพขึ้นเรือกลับมาขายที่ลำปางเพื่อให้ได้กำไรและไม่ให้เรือเสียเที่ยว ได้ทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำนานวันเข้า สามารถรวบรวมเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง ด้วยความขยันและรู้จักเก็บออมจึงค่อยๆสร้างฐานะขึ้นมา

ภายหลังการสัมปทานป่าไม้ของเถ้าแก่พัดย่วนสิ้นสุดอายุลง โกตาก็ยังคงขึ้นล่องขายสินค้าทางเรือระหว่างปากน้ำโพกับลำปาง จนสามารถตั้งตัวมีกิจการเป็นของตนเองชื่อ “บริษัทบุญเจริญ จำกัด” ได้พัฒนากิจการขึ้นมาทำการค้าส่งไม้โดยได้รับอนุญาตจากรัฐให้ทำการแปรรูปไม้กระยาเลย

ในปี พ.ศ.2458 เริ่มมีการสร้างสะพานรัษฎาภิเศก ทางราชการได้ซื้อไม้เต็งรังทุบเปลือกเพื่อมาทำเสาเข็มและตอหม้อ และไม้เต็งรังขนาดต่างๆเพื่อทำปั้นจั่นตอกเสาเข็ม รวมถึงไม้เบญจพรรณมาทำเสานั่งร้านและไม้รองพื้นรับคอนกรีตจากบริษัทของโกตา จนกิจการเจริญขึ้นก็หันไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอีกทางหนึ่ง

ปีเดียวกันนั้น กรมรถไฟหลวงแผ่นดินได้สร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงสถานีรถไฟผาคอ จังหวัดแพร่ นายช่างใหญ่ชาวเยอรมันได้มีหนังสือถึงเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ขอความช่วยเหลือในการหาบุคคลที่มีความสามารถมารับเหมาทำงานก่อสร้างทางรถไฟ

โกตาซึ่งมีความใกล้ชิดกับเจ้าผู้ครองนครลำปางจึงได้รับการสนับสนุนให้ไปติดต่องานดังกล่าว ปรากฏว่า ได้งานถมดิน งานขนหิน งานจัดหาไม้หมอนรถไฟ ตั้งแต่สถานีรถไฟผาคอไปจนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่

และต่อมาได้งานรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อีก เช่น งานสร้างสถานีรถไฟนครลำปาง บ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟ โรงเก็บรถจักร งานรับหากรรมการขุดเจาะถ้ำขุนตาล งานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำทาที่ลำพูน งานสร้างสถานีรถไฟเชียงใหม่ และร่วมลงทุนกับคหบดีในเชียงใหม่รับเหมาก่อสร้างสะพานนวรัฐ เป็นต้น

ในระหว่างที่ทำงานให้กับกรมรถไฟหลวงแผ่นดินเป็นเวลาหลายปี โกตามีโอกาสถวายตัวเป็นมหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ขณะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินหลวง ได้ตามเสด็จไปตรวจราชการก่อสร้างทางรถไฟในที่ต่างๆทั่วภาคเหนือ จนเป็นที่โปรดปรานพอพระราชหฤทัย

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2465 มีการขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่โกตาเป็น “ขุนอภิพัฒน์ภักดี” สังกัดกรมการพิเศษ มณฑลมหาราษฏร์ เมื่อมีพระราชบัญญัติให้ใช้นามสกุลขึ้นแล้วก็ได้นามสกุลพระราชทานว่า “เจริญยิ่ง” โกตาจึงเป็นต้นสกุลเจริญยิ่ง

จากงานรับเหมาก่อสร้างในกรมรถไฟหลวงแผ่นดิน ต่อมายังเข้ามาทำงานกับกรมทางหลวงแผ่นดินได้รับเหมางานก่อสร้างทางสายลำปาง-เชียงราย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงราว พ.ศ.2488 ได้เข้ารับงานกับบริษัททำป่าไม้ของอังกฤษซึ่งได้กลับมาลำปางอีกครั้งหนึ่งหลังจากหนีภัยสงคราม เช่น บริษัทบอมเบย์เบอม่าได้ว่าจ้างให้โกตาทำการลากขนไม้สักโดยรถยนต์ ขณะนั้นรถยนต์ลากขนไม้หายาก แต่ก็สามารถหารถยนต์เก่ามาประติดประต่อลากขนไม้ให้จนเป็นผลสำเร็จ

โกตาเป็นผู้ไม่ยอมหยุดนิ่ง แม้เข้าสู่วัยชราล่วงเลยมาถึงอายุ 60 ปี ยังทำงานเก็บรวบรวมไม้ซุงในลำน้ำแม่ปิง แถบป่าแม่หาด จังหวัดลำพูน เพื่อลำเลียงส่งไปยังปากน้ำโพเหมือนชีวิตสมัยเป็นลูกจ้างเมื่อครั้งเป็นหนุ่ม ชีวิตของลูกคนจีนผู้ทระนง สร้างตัวขึ้นมาจนมั่งคั่งและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท่านขุน” สิ้นสุดลงเมื่ออายุ 83 ปี แต่ผลงานสิ่งก่อสร้างหลายแห่งยังคงปรากฏเป็นอนุสรณ์ฝากชื่อ “โกตา” หรือ “ขุนอภิพัฒน์ภักดี” เจ้าสัวแห่งลำปาง ไว้ตราบนานเท่านาน

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : “คึกฤทธิ์” เล่าชีวิตฝรั่ง


ภาพม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บนยอดดอยขุนตาล
ที่มา :
http://www.tuneingarden.com/work/ph2-08.shtml


หลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Cunnis Leonowens 1856-1919) ผู้ตั้งบริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ ดำเนินธุรกิจค้าไม้ มีสำนักงานอยู่ที่นครลำปางด้วย (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณบ้านพักออป.ลำปาง)
ที่มาภาพ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2547/12/21/
ที่มาข้อมูลหลุยส์ : http://en.wikipedia.org/wiki/Louis_T._Leonowens



อาคารสำนักงานหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ ? บริเวณบ้านพักออป.ลำปาง

“คึกฤทธิ์” เล่าชีวิตฝรั่ง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 193 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2551 หน้า 7

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับได้ชื่อว่าเป็น “เขยลำปาง” ทั้งที่ท่านก็มิได้มีภริยาเป็นคนลำปางแต่อย่างใด

เหตุที่ชาวลำปางให้เกียรติแก่ท่านเป็น “คนลำปางกิตติมศักดิ์” เช่นนี้ เพราะเคยมาพำนักอยู่ที่เมืองลำปางถึง 8 ปีขณะที่เป็น ผู้จัดการบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)สาขาลำปาง ซึ่งยังคงมีอาคารสำนักงานเก่าในสมัยนั้นที่งามสง่าหลงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้เราได้ชื่นชมอยู่

คุณชายคึกฤทธิ์รู้จักเมืองลำปางและมีสายสัมพันธ์อันดีกับบุคคลสำคัญของลำปางในยุคนั้นหลายคน ท่านได้บอกเล่าเรื่องราวของเมืองลำปางในช่วงปีพ.ศ.2478-2485 เอาไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์ ผมได้อ่านพบขอนำมาเล่าสู่กันฟังโดยเฉพาะเรื่องนายห้างฝรั่งทำไม้ ดังนี้

เมืองลำปางในสมัยนั้นมีป่าไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์การทำป่าไม้ของบริษัทต่างประเทศหรือ “ห้าง” มาตั้งสำนักงานอยู่ที่นี่ เช่น ห้างบอมเบย์เบอร์ม่า ห้างบอร์เนียว ห้างแองโกลไทย ห้างมิสหลุยหรือหลุยส์ ที. เลโอโนเวนส์ และห้างอีสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก ทุกห้างจะมีนายห้างฝรั่งเป็นผู้จัดการและมีฝรั่งหนุ่มๆมาเป็นผู้ช่วยประมาณสี่ห้าคน มีคนไทยหรือพม่า ซึ่งได้รับโอนสัญชาติเป็นไทยมาทำหน้าที่เป็นลูกช่วงรับทำไม้

ห้างป่าไม้เหล่านี้เป็นบริษัทที่ใหญ่โต มีเงินทุน มีเครื่องมือทำไม้ ช้างและกุลีทำไม้เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีอิทธิพลทางการเมืองสูง ห้างป่าไม้จะมีสำนักงานและบ้านพักของนายห้างและผู้ช่วย ปลูกไว้ใหญ่โตในบริเวณพื้นที่ของห้างอันกว้างใหญ่

บ้านพักของฝรั่งปลูกเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ใต้ถุนสูง บางแห่งกั้นใต้ถุนเป็นสำนักงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย มีเครื่องเรือนแบบฝรั่งนั้นทำด้วยหวายหรือไม้สักอย่างดี มีภาพติดผนังที่นายห้างเอามาจากต่างประเทศ มีการตกแต่งปักแจกันดอกไม้ตามที่ต่างๆภายในบ้าน ซึ่งเป็นผีมือของเด็กรับใช้ชาวขมุ

การใช้ชีวิตของนายห้างฝรั่งจะรับประทานอาหารฝรั่งล้วน ปรุงโดยพ่อครัวชาวกำมุ หรือที่คนลำปางเรียกว่า “ขมุ” อาหารเช้าจะมีน้ำชา ไข่ดาว หมูแฮมหรือหมูเบคอนหรืออาหารอย่างอื่น เช่น เค็ดเจอรี่ ซึ่งเป็นปลาผสมกับข้าวสุก ขนมปังปิ้ง เนย แยมส้มที่เรียกว่า มาร์มะเลด มีกาแฟหรือน้ำชาใส่นมแบบอังกฤษ

ส่วนอาหารกลางวันเป็นอาหารพวกข้าวผัด มีของหวานแบบฝรั่งที่เรียกว่า พุดดิ้ง ตกบ่ายมีน้ำชา มีแซนด์วิช ขนมหวาน ผลไม้ ส่วนอาหารเย็นนั้นเต็มรูปแบบเริ่มต้นตั้งแต่ซุป ปลา เนื้อหรือไก่ กินของหวานแล้วกลับไปถึงของเค็มที่เรียกว่า เซเวอรี่ อีกครั้งหนึ่ง มีการดื่มเหล้าในช่วงบ่ายที่สโมสรหลังจากเล่นกีฬาเสร็จแล้ว

คุณชายยังเล่าอีกว่า ชีวิตครอบครัวของนายห้างฝรั่งมักจะมีภรรยามาจากต่างประเทศหรืออาจเป็นคนไทยทั้งโดยเปิดเผยหรือบิดบังไว้ ส่วนผู้ช่วยนายห้างที่เป็นฝรั่งหนุ่มมีข้อห้ามมิให้มีภรรยา แต่อันที่จริงแล้วมักมีเพื่อนนอนเป็นหญิงไทยแทบทุกคน

โดยมีวิธีการคือ เมื่อมีฝรั่งผู้ช่วยนายห้างมาจากต่างประเทศได้ประมาณ 2 วัน คนรับใช้ประจำตัวจะนำหญิงสูงอายุคนหนึ่งมาพบ โดยทำทีว่ามาขายเครื่องเงินหรือของที่ระลึก มีของเหล่านั้นใส่มาในกระจาดจริงๆ แต่ในระหว่างที่ฝรั่งนายห้างหรือผู้ช่วยนายห้างกำลังเลือกของอยู่นั้น หญิงสูงอายุจะเอาภาพผู้หญิงสาวๆสวยๆหลายคนออกมาให้นายห้างฝรั่งดู หากชอบคนไหนหญิงสูงอายุก็จะไปตกลงกับคนรับใช้ประจำตัวนายห้างอีกที

ต่อจากนั้นเมื่อนายห้างหรือผู้ช่วยฝรั่งเข้านอนก็จะมีคนไปนอนด้วย ไม่ว่านายห้างจะอยู่ในเมืองหรือออกไปนอนไพรเมื่อไปตรวจป่า พอรุ่งเช้าเมื่อนายห้างตื่นขึ้นก็จะนอนอยู่คนเดียวและด้วยเหตุผลนี้จึงถือว่า นายห้างฝรั่งเป็นคนโสด (แต่ไม่สด)

คุณชายเล่าด้วยความแปลกใจอีกว่า เมื่อมาอยู่ลำปางคืนแรก พอรุ่งเช้าโผล่หน้าต่างออกไปดูภูมิทัศน์ เห็นหญิงฝรั่งหน้าตาสวยเป็นสาวเต็มตัว แต่งกายแบบพื้นเมืองถีบจักรยาน เห็นแล้วทำให้เคลิบเคลิ้มนึกไปว่าตนอยู่ในประเทศอังกฤษได้ไต่ถามดูภายหลังทราบว่าหญิงสาวฝรั่งที่เห็นเมื่อตอนเช้านั้นเธอชื่อ “บัวก๋าย”

เท่าที่คุณชายคึกฤทธิ์เล่ามาทำให้เราทราบว่าครั้งหนึ่งลำปางบ้านเฮาก็เป็น “เมืองนานาชาติ” ดูอินเตอร์กับเขาเหมือนกันและผลจากการทำกิจกรรมอดิเรกของนายห้างฝรั่งหนุ่มข้างต้นได้ทำให้คนลำปางมีหน้าตาเป็นฝรั่งไปหลายคน !??!

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13

ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : คนเมือง บ่อู้กำเมือง

คนเมือง บ่อู้กำเมือง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 181 วันที่ 14-20 เมษายน 2551 หน้า 7

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนผู้ดีแห่งหนึ่ง จำได้ว่า ผมถูกครูบิดพุงอยู่หลายครั้ง เพราะเผลอไป “อู้กำเมือง” กับเพื่อนๆในห้อง ทำให้ครูต้องย้ำเสมอว่า อยู่ที่โรงเรียนต้องใช้ “ภาษาไทยกลาง” ห้ามพูดคำเมืองโดยเด็ดขาด ขณะนั้นก็ได้แต่ทำตามคำเตือน เพราะไม่ใช่เด็กฉลาด “แอ็บแบ๊ว” ระดับไอน์สไตน์หรือเซี่ยงเมี่ยง จึงไม่กล้าตั้งคำถามโต้แย้งกับคุณครู

แต่ความเป็นคนเมือง เมื่อกลับถึงบ้านก็พูดคำเมืองกับครอบครัวและญาติทุกระดับ ไม่เคยต้องใช้ภาษาไทยกลางกับญาติสนิทคนไหน ถ้าหากทำเช่นนั้นคงต้องเพี้ยนไปเป็นแน่ ผมรู้สึกว่า เมื่ออู้กำเมือง มันพูดได้คล่อง สื่อสารได้ตรงใจ “คิง...ฮา...บ่าเฮ้ย” ได้เลย ไม่ต้องเสแสร้งหรือใช้สำบัดสำนวนมากเหมือนกับภาษาไทยกลาง แต่ตอนเป็นเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อยู่โรงเรียนผู้ดีก็ต้องใช้ภาษาไทยกลางแบบผู้ดีที่เขาพูดกัน เมื่อปิ๊กมาบ้านก่อย “อู้กำเมือง” หื้อแล๋วแลดไปเลย !!!

เมื่อได้ไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่เชียงใหม่ อาจด้วยความเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นหัวใจของล้านนา ผมรู้สึกว่า เชียงใหม่ในขณะนั้นมี “จิตวิญญาณล้านนา” อยู่รายรอบ แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ถูกกระแสของทุนนิยมโหมพัดกระหน่ำ แต่เชียงใหม่ก็มีความเคลื่อนไหวทางสังคมในเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ผมมีโอกาสพบปะผู้คนที่ทำงานภาคสังคม ได้ฟังเพลงของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร กับปี้สุนทรี เวชานนท์ ศิลปินคนเมือง อ่านหนังสือของอ้ายมาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์ จึงรู้สึกสัมผัสถึง ไออุ่นแห่งวัฒนธรรมล้านนาซึ่งมีภาษาที่มีอรรถรสและวัฒนธรรมอันงดงามทรงคุณค่า ทำให้ชอบภาษาเชียงใหม่ที่ฟังดูเย็นๆช้าๆ แต่ก็ไพเราะจับใจ แม้ภาษาลำปางอาจดูห้วนๆทื่อๆไปนิดแต่ก็ดูจริงใจดี

อยู่เชียงใหม่หลายปีเลยเผลอรักเมืองเชียงใหม่เข้าให้ ผมชอบดอยสุเทพ แม่ปิง วัดวาอารามเก่าๆ และรับประทานอาหารพื้นเมืองได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น...น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ไส้อั่ว แก๋งฮังเล ลาบแย้ แก๋งแคแลน... ซัดหมดครับ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแทบไม่ค่อยจะแตะเลย และกิ๋นข้าวนึ้งได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ต้องก้มหน้าก้มตากิน เพราะรู้สึกอายใครว่า “เฮาเป๋นคนเมือง”

เมื่อปิ๊กมาลำปางหนาบ้านเฮา รู้สึกว่ามีอะไรดูขัดหูขัดตาหลายอย่าง เจอเพื่อนบ้านหลายคนเป็นคนเมือง(คนภาคเหนือ) บางครอบครัวเป็นคนเมืองทั้งสามีและภรรยา บางบ้านสามีเป็นคนเมือง ภรรยาเป็นคนไทย (คนภาคกลางหรืออื่นๆ) บางบ้านภรรยาเป็นคนเมือง สามีเป็นคนไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน จะพบว่า บรรดาลูกๆของเพื่อนบ้านเหล่านั้น ทั้งที่เป็นลูกคนเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์หรือลูกครึ่งคนเมือง ผมยังไม่เคยเจอเด็กรุ่นใหม่อายุราว 7-20 ปีคนใด “อู้กำเมือง” แม้แต่คนเดียว !??!

มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ได้แต่นึกสงสัยว่า “ป้อก่อเมือง แม่ก่อเมือง จะใดลูกบ่อู้กำเมือง” และที่น่าพะอืดพะอดเป็นที่สุดคือ ผมต้องฝืนรักษามารยาทความเป็นผู้ดี โดยพูด “ภาษาไทยกลาง” กับเด็กๆเหล่านั้นเพราะเกรงใจพ่อแม่ของเขา ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็ลูกคนเมืองหรือไม่ก็ลูกครึ่งคนเมืองทั้งนั้น เด็กหลายคนหน้าตาดูเมียงๆ...ไม่ต้องบอกก็รู้ยี่ห้อ

เคยถามเพื่อนบ้านหลายคนว่า “ทำไมไม่ให้ลูกอู้กำเมือง” เขาก็ตอบในทำนองเลี่ยงบาลีว่า “กลัวจะพูดภาษาไทยกลางไม่ชัด” ซึ่งก็มีส่วนถูกแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะแท้ที่จริงแล้วภาษาเป็นเรื่องของความสนใจที่จะฝึกฝนเรียนรู้ด้วย ผมพบคนเมืองจำนวนไม่น้อยก็พูด “ภาษาไทยกลาง” ได้ชัดเจน ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นคนเมือง แต่บางคนที่จะไม่สนใจเรื่องการใช้ภาษา แม้ว่าจะเป็นลูกที่พ่อแม่คนเมือง สอนให้พูดภาษาไทยกลางมาแต่กำเนิด หลายคนก็ไม่ได้พูดด้วยถ้อยคำหรือสำเนียงที่ชัดเจนแบบคนไทยแท้ มักพูดไทยปนเมือง...เห็นแล้วรู้สึกอ่อนใจ

กรณีนี้ต่างกับในต่างประเทศ เด็กฝรั่งที่เป็นลูกครึ่ง เช่น เยอรมันกับอังกฤษ พ่อแม่ก็จะให้ลูกได้เรียนรู้ทั้งสองภาษา มีผลการวิจัยยืนยันในเรื่องนี้ด้วยว่า การที่เด็กได้เรียนรู้หลายภาษาทำให้สมองได้พัฒนามากขึ้นยิ่งช่วยให้มีความเฉลียวฉลาดปราญ์เปรื่อง

ดูเหมือนลำปางจะถูกกระแสความเปลี่ยนแปลงพาไปมาก มีข้อสังเกตคือ ศัพท์แสง “กำเมือง” ที่มีเสน่ห์หลายๆคำ คนลำปางไม่ค่อยจะนิยมพูดหรืออาจใช้ไม่เป็นก็ไม่แน่ใจ ตัวอย่างเช่น คำพูดลงท้ายว่า “เจ้า” ก็พูดเป็น “ค่ะ/คะ” แทน หรือคำว่า “ยินดี” ซึ่งแปลว่า ขอบคุณ ก็มักใช้ว่า “ขอบคุณ” หรือ คำว่าพี่ชาย แทนที่จะพูดว่า “อ้าย” ก็พูดว่า “ปี้” ซึ่งน่าจะใช้กับผู้หญิงมากกว่า แต่คนลำปางก็ใช้ คำว่า “ปี้” กับทั้งพี่สาวและพี่ชายเหมือนๆกัน

ที่ร้ายไปกว่านั้น ผมฟังแล้วแทบปวดใจคือ คำเรียกปู่ย่า ตายายของเรา แทนที่จะเรียกท่านว่า “พ่ออุ้ย แม่อุ้ย” หรือ “พ่อหลวง แม่หลวง” หรือ “พ่อเฒ่า แม่เฒ่า” ที่คนลำปางในเขตเมืองเคยพูดกันแต่ก่อน ก็เห็นจะเรียกว่า “ปู่ย่า ตายาย” เหมือนคนไทยภาคกลางยังไงยังงั้น

เอาเข้าจริงๆ ผมกลับเชื่อว่าที่หลายคนไม่ให้ลูกหลาน “อู้กำเมือง” น่าจะเป็นเพราะความรู้สึกว่า “กำเมือง” เป็นภาษาของผู้ด้อยกว่าหรือดูไม่เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม
รวมทั้งคงไม่รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองเท่าไหร่ เรื่องนี้พูดมากไปก็จะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกอนุรักษ์นิยม “บ้าของเก่า เล่าความหลัง” แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า “ถ้าลืมโคตรเหง้า...ก็เผาแผ่นดิน” !!!

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
mailto:ไชยเมืองชื่นlakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง


ลูกชิ้นจุดขายสำคัญของร้าน "นิยมโอชา"ที่ระบือไปทั่วประเทศ


ภายในร้าน "นิยมโอชา" หน้าวัดเมืองสาด(เมืองศาสน์) หรือก๋วยเตี๋ยวปู่โย่งอันเลื่องชื่อ


ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อสดในชามกระเบื้องสีเขียว

ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 201 วันที่ 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2551 หน้า 7

ถ้าพูดถึงร้านก๋วยเตี๋ยวที่ติดหูติดปากของผู้คนมากที่สุดในลำปาง คงจะหนีไม่พ้น “ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง” ทั้งๆที่ร้านนี้ก็ไม่ได้มีป้ายเชลล์ชวนชิมเอาไว้เป็นนางกวักอะไรกับเขา แต่มีลูกค้ามากหน้าหลายตาเข้าออกร้านกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ผมแวะไปรับประทานคราใดก็มักจะสั่งก๋วยเตี๋ยวเส้นเปียกแบบแห้งที่ใส่น้ำมันกระเทียมเจียว เติมถั่วลิสงคั่วบดและน้ำตาลคลุกเคล้าให้เข้ากัน กินกับลูกชิ้นเม็ดใหญ่สูตรเด็ดอันแสนอร่อย ทำให้นึกย้อนไปถึงก๋วยเตี๋ยวแห้งที่พ่ออุ้ยแม่อุ้ยซื้อใส่ห่อใบตองมาให้กินสมัยตอนเป็นเด็กในวัยกำลังหิวโหย ช่างได้รสชาติของก๋วยเตี๋ยวแบบฉบับเก่าๆของลำปางบ้านเฮาแต้ๆหนา

ร้านก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง หน้าวัดเมืองศาสน์แห่งนี้ มีป้ายชื่อหน้าร้านว่า “นิยมโอชา” เชื่อว่าคงไม่ใครรู้จัก แต่รู้จักกันในชื่อ “ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง” ซึ่งเนื่องมาจากชื่อของคุณพ่อของเจ้าของร้าน ซึ่งคนทั่วไปเรียก “โกโย่ง”

จริงๆแล้วคำว่า“โย่ง” เองก็ไม่ใช่ชื่อเล่นหรือชื่อเดิมอะไรแต่มาจากบุคลิกที่สูงใหญ่ของคุณพ่อผู้บุกเบิกกิจการแห่งนี้ ชื่อจริงของท่านคือ “นายโต้ยเตียง แซ่จึง” ปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่ในวัย 88 ปี คนที่รู้จักมักเรียก “โกโย่ง” บ้างหรือ “ปู่โย่ง” บ้าง

ส่วนคำว่า “ปู่” ในที่นี้ก็มิได้หมายถึง “พ่อของพ่อ” เหมือนอย่างที่คนทั่วไปใช้เรียกกัน ในความเห็นของผม คำว่า “ปู่” ในภาษาเหนือ เป็นคำที่ใช้ในทางเหยียดหยามผู้อื่นสักหน่อย ออกจะเป็นคำที่ไม่สุภาพนัก ขออภัยที่ต้องยกตัวอย่างว่า น่าจะคล้ายกับคำว่า “บ่า” หรือ “อี่” ซึ่งหมายถึง เขาหรือเธอ นั่นเอง

“ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง” อันโด่งดังของลำปาง ถือกำเนิดมาพร้อมกับการเข้ามาของนายโต้ยเตียง แซ่จึง ที่อพยพมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเสื่อผืนหมอนใบเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว เมื่อเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกยังไม่ได้มาอยู่ที่ลำปาง ก็ทำงานรับจ้างสารพัดไปทั่ว

กระทั่งย้ายมาอยู่ที่ลำปางก็ทำการค้าเล็กๆน้อยๆ จนได้ลองมาทำก๋วยเตี๋ยวขายเมื่อราวปี พ.ศ.2499 เริ่มขายครั้งแรกได้เช่าร้านเล็กๆบริเวณถนนบุญวาทย์ มีตู้ไม้ใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวแบบเป็นลิ้นชัก

สิ่งที่พิเศษของร้านก๋วยเตี๋ยวของนายโต้ยเตียง ก็คือ เขาเลือกที่จะทำลูกชิ้นด้วยตัวเองและจุดนี้ได้ทำให้ก๋วยเตี๋ยวของเขาขายดิบขายดี เป็นที่ชื่นชอบถูกปากของคนลำปาง ด้วยความสดอร่อยของลูกชิ้นที่ทำเอง

ต่อมาได้ย้ายร้านมาตั้งอยู่หน้าวัดเมืองศาสน์ในปัจจุบัน ความโด่งดังสุดขีดของร้านแห่งนี้ ทำให้เมื่อราว 30 ปีมาแล้วได้มีข่าวลือหนาหูว่า น้ำซุปก๋วยเตี๋ยวมีส่วนผสมสุดพิเศษโดยใช้ “แมว” มาต้มเป็นน้ำซุป บ้างก็ว่าพบซากหัวแมวที่หลังร้าน หรือขนแมวในชามก๋วยเตี๋ยว ถือเป็นการปล่อยข่าวเพื่อทำลายชื่อเสียงของก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง

ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้สงสัยต้องโดน “ชิมไป ด่าไป” รายสัปดาห์ โทษฐานนำเอาของรักของหวงของท่านผู้นำไปทำน้ำซุปเป็นแน่
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยฝีมือและรสชาติความอร่อยโดยเฉพาะลูกชิ้นทำเอง เป็นเครื่องการันตีให้ร้านนี้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้จนกระทั่งถึงปัจจุบันกว่ากึ่งศตวรรษแล้ว

ไม่ว่าจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าใหม่จากไหนต่อไหนมาอยู่ที่ลำปาง ก็ไม่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่งต้องหวั่นไหวเพราะยังคงมีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรเนืองแน่นเป็นประจำทุกวัน ปัจจุบันมีคุณดรุณ ศิลปพงษ์พาณิชย์ เป็นเจ้าของกิจการรุ่นลูก ได้สืบสานเจตนารมณ์ของ “โกโย่ง”

ผมสังเกตว่า “ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่ง” ว่าไปแล้วแทบไม่ได้พัฒนาอะไรมากนัก เป็นก๋วยเตี๋ยวสูตรดั้งเดิมไม่มีอะไรปรับปรุง รวมถึงรูปแบบของร้านก็เป็นกระต๊อบไม้เก่าๆข้างวัด มีปฏิทินติดตามผนังให้บรรยากาศคลาสสิกแบบเก่าๆ รสชาติก็ไม่มีสูตรมะนาวต้มยำหรือตุ๋นโน่นตุ๋นนี่อะไร ภาชนะที่ใส่ก็เป็นชามเขียวๆแสนธรรมดา ไม่อินเทรนด์เป็นตราไก่ หม้อดิน อะไรกับเขาเลย

ตรงนี้นับเป็นความองอาจที่ก๋วยเตี๋ยวปู่โย่งเมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงใช้ลูกชิ้นทำเองด้วยสูตรเฉพาะและน้ำซุปก็มาจากน้ำต้มลูกชิ้น เพียงแต่ได้เพิ่มกระดูกหมูเคี้ยวกันตั้งแต่ตีห้าจนถึงเวลาขายเกือบสิบโมง เอากันให้เข็มข้นกันเลย ถือเป็นจุดขายสำคัญอย่างเดียวของร้านนี้
ที่สำคัญร้านนี้ไม่ง้อป้ายเชลล์ชวนชิมหรือเปิบพิสดารอะไรมาติดให้รกร้าน และไม่มัวแต่สนใจว่าคุณชายหรือนางรำที่ไหนจะมาชิมให้เสียเวลา สมกับเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่และทรงชื่อเสียงแห่งลำปาง...ที่ข้าน้อยต้องขอคารวะ

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : 80 ปีสักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย


"คู่แท้" ถ่ายคู่กับภรรยา สมัยยังหนุ่มสาว
ทีมาภาพและคำบรรยาย : http://saksern.page.tl/Gallery/pic-8.htm


80 ปีสักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 177 วันที่ 17-23 มีนาคม 2551 หน้า 7

ชื่อ “สักเสริญ รัตนชัย” คงไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับคนลำปาง แต่ถ้าเอ่ยชื่อ “ศักดิ์ รัตนชัย” แล้วล่ะก็ ไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณ แม้ผมจะไม่ทราบสาเหตุที่อาจารย์ศักดิ์ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สักเสริญ” และมาเปลี่ยนเอาตอนเฒ่าเสียด้วย ใครๆก็เรียกกันติดปากว่า “อาจารย์ศักดิ์” มานานแล้ว จึงเอาเป็นว่าขอพบกันครึ่งทาง ในข้อเขียนนี้ขอเรียกชื่อท่านว่า “อาจารย์สัก” ก็แล้วกันครับ

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปาง ก็มักจะต้องกล่าวอ้างถึงอาจารย์สัก ปรมาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธ์อยู่เสมอ อาจารย์จึงเป็นเสมือนสารานุกรมเคลื่อนที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชีวิตให้แก่คนลำปาง ขณะนี้ท่านได้เดินทางมาถึงถนนสายที่ 80 แล้วและมีอายุครบ 80 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศกนี้

ผมไม่ได้เป็นศิษย์สายตรงหรือสายเอียงของท่านและไม่ได้ยึดถือเชิดชู “ลัทธิมหาบุรษ” แต่ด้วยความเป็นคนลำปางและนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจด้านล้านนาคดี จึงพอจะทราบถึงคุณูปการของอาจารย์สักที่มีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางมาบ้าง ในวาระ 80 ปีของอาจารย์ ขอใช้ข้อเขียนนี้กล่าวถึงผลงานและความดีบางส่วนของท่านเพื่อเป็นเกียรติในวาระอันสำคัญนี้

ถ้าจะว่าไปจริงๆแล้ว อาจารย์สัก ก็ไม่ได้เป็น “ครู” หรือ “อาจารย์” สังกัดสถาบันการศึกษาไหน (เพิ่งได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโยนกไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก ภายหลังตอนบั้นปลายชีวิต) แต่ที่คนลำปางเรียกท่านว่า “อาจารย์” อย่างสนิทใจมานาน น่าจะเป็นเพราะความเป็นผู้รู้หรือ “ปราชญ์ท้องถิ่น” ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปาง ดังนั้นอาจารย์สัก ก็คือ “ครูของสังคมลำปาง” นั่นเอง

อาจารย์สักเริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันท่านได้ทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าและลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง สร้างผลงานวิชาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางต่อเนื่องมากว่า 50 ปี มีผลงานทั้งประเภทหนังสือ บทความ รายงานสำรวจและงานปริวรรตเอกสารพื้นเมือง มากกว่า 30 รายการ

การที่อาจารย์มีผลงานวิชาการมากมายมิได้มาจากการเป็นผู้มีการศึกษาสูงตามระบบการศึกษาปกติ เข้าใจว่า แต่เดิมท่านก็มิได้สำเร็จการศึกษาระดับสูงมากนัก แต่ค่อยพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง อย่างไรก็ตามแท้ที่จริงแล้วการศึกษาของมนุษย์ก็มิได้วัดกันที่ปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรใดๆ หากมาจากความเป็นผู้ใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักคิดวิเคราะห์และมุ่งมั่นค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ ตลอดจนนำความรู้เหล่านั้นไปเป็นประโยชน์ต่อสังคม นั่นจึงจะบ่งบอกถึงความเป็น “ผู้มีการศึกษาสูง” อย่างแท้จริง ซึ่งอาจารย์ก็ถึงพร้อมด้วยประการทั้งปวง

ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักในภาคสังคมของลำปางและภาคเหนือ รวมถึงสายสัมพันธ์ทั้งในวงการสื่อมวลชนและภาครัฐในพื้นที่อย่างยาวนาน ท่านจึงได้รับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษาและทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆมากมายของจังหวัดลำปาง จนบ่มเพาะตัวเองขึ้นมาเป็นผู้รู้ของท้องถิ่นที่เปรียบประดุจคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางอันยากจะหาผู้ใดเทียบได้

อาจารย์สักไม่เพียงแต่เป็น “ปราชญ์ท้องถิ่น” แต่ยังเป็นปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานภาคสังคมไปพร้อมกัน เป็นผู้พยายามริเริ่มทำงานและเสนอความเห็นด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆมากมายในเมืองลำปางตามที่ตนเองได้ศึกษาค้นคว้ามา ทั้งยังเป็นนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องและอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น แม้ว่าหลายครั้งจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มก็ตาม

แต่ด้วยจิตสำนึกที่รักและหวงแหนในคุณค่ามรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยมและ กล้าเสนอความคิดเห็นโดยมีข้อเท็จจริงและคำอธิบายรองรับ ทำให้ความเห็นของอาจารย์มีน้ำหนักและได้รับการพิจารณาในวงวิชาการด้านล้านนาคดีศึกษา

อย่างไรก็ตามการเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและพูดจาตรงไปตรงมาซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ทำให้อาจารย์มีทั้งคนที่รักและไม่ชอบใจในขณะเดียวกัน
เราก็คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีมนุษย์คนใดที่สมบูรณ์พร้อมไปทุกอย่าง ดังนั้น ควรเลือกที่จะมองในส่วนดีของเขาเหล่านั้นที่ยังประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกมากกว่า

ความเป็น “อาจารย์สัก” ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะถึงบั้นปลายของชีวิตแล้วก็ตาม ถ้าหากเป็นผู้อาวุโสส่วนใหญ่ก็ถึงเวลาได้พักผ่อน แต่อาจารย์สักยังคงมุ่งมั่นเรียนรู้และทำงานด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ท่านรักและชื่นชอบต่อไปไม่หยุดนิ่ง สมกับความเป็นผู้ใฝ่รู้ที่ดำรงตนมาอย่างยาวนาน

ในวาระ 80 ปีของอาจารย์ ผมขอแสดงความเคารพและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เมืองลำปางของเรา มี “อาจารย์สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย” เป็นศักดิ์ศรีและสง่างามในฐานะ “ปัญญาชนนครลำปาง” ที่จะเป็นแบบอย่างทางวิชาการและงานด้านวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามสืบไป

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน
80 ปี สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัยฯ
เว็บไซต์ข้อมูล อ.สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย

หมายเหตุ : ด้วยความอนุเคราะห์จากอาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์ลำปาง เว็บบล็อกนี้จึงได้บทความที่เคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปาง มาเผยแพร่อีกครั้ง ตราบใดที่ระบบการสืบค้นข้อมูลความรู้เรื่องเกี่ยวกับยังมีปัญหา และจำกัดอยู่ในวงแคบ เราคิดว่าหน้าที่ในเว็บนี้จะพยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดต่อไป และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราๆท่านๆที่มีบทความเกี่ยวกับลำปางที่น่าสนใจก็สามารถส่งมาแบ่งปันความรู้กันได้ ณ ที่แห่งนี้

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51