ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 13, 2008

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : คนเมือง บ่อู้กำเมือง

คนเมือง บ่อู้กำเมือง
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 181 วันที่ 14-20 เมษายน 2551 หน้า 7

ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนผู้ดีแห่งหนึ่ง จำได้ว่า ผมถูกครูบิดพุงอยู่หลายครั้ง เพราะเผลอไป “อู้กำเมือง” กับเพื่อนๆในห้อง ทำให้ครูต้องย้ำเสมอว่า อยู่ที่โรงเรียนต้องใช้ “ภาษาไทยกลาง” ห้ามพูดคำเมืองโดยเด็ดขาด ขณะนั้นก็ได้แต่ทำตามคำเตือน เพราะไม่ใช่เด็กฉลาด “แอ็บแบ๊ว” ระดับไอน์สไตน์หรือเซี่ยงเมี่ยง จึงไม่กล้าตั้งคำถามโต้แย้งกับคุณครู

แต่ความเป็นคนเมือง เมื่อกลับถึงบ้านก็พูดคำเมืองกับครอบครัวและญาติทุกระดับ ไม่เคยต้องใช้ภาษาไทยกลางกับญาติสนิทคนไหน ถ้าหากทำเช่นนั้นคงต้องเพี้ยนไปเป็นแน่ ผมรู้สึกว่า เมื่ออู้กำเมือง มันพูดได้คล่อง สื่อสารได้ตรงใจ “คิง...ฮา...บ่าเฮ้ย” ได้เลย ไม่ต้องเสแสร้งหรือใช้สำบัดสำนวนมากเหมือนกับภาษาไทยกลาง แต่ตอนเป็นเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อยู่โรงเรียนผู้ดีก็ต้องใช้ภาษาไทยกลางแบบผู้ดีที่เขาพูดกัน เมื่อปิ๊กมาบ้านก่อย “อู้กำเมือง” หื้อแล๋วแลดไปเลย !!!

เมื่อได้ไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่เชียงใหม่ อาจด้วยความเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นหัวใจของล้านนา ผมรู้สึกว่า เชียงใหม่ในขณะนั้นมี “จิตวิญญาณล้านนา” อยู่รายรอบ แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่ถูกกระแสของทุนนิยมโหมพัดกระหน่ำ แต่เชียงใหม่ก็มีความเคลื่อนไหวทางสังคมในเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ผมมีโอกาสพบปะผู้คนที่ทำงานภาคสังคม ได้ฟังเพลงของอ้ายจรัล มโนเพ็ชร กับปี้สุนทรี เวชานนท์ ศิลปินคนเมือง อ่านหนังสือของอ้ายมาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์ จึงรู้สึกสัมผัสถึง ไออุ่นแห่งวัฒนธรรมล้านนาซึ่งมีภาษาที่มีอรรถรสและวัฒนธรรมอันงดงามทรงคุณค่า ทำให้ชอบภาษาเชียงใหม่ที่ฟังดูเย็นๆช้าๆ แต่ก็ไพเราะจับใจ แม้ภาษาลำปางอาจดูห้วนๆทื่อๆไปนิดแต่ก็ดูจริงใจดี

อยู่เชียงใหม่หลายปีเลยเผลอรักเมืองเชียงใหม่เข้าให้ ผมชอบดอยสุเทพ แม่ปิง วัดวาอารามเก่าๆ และรับประทานอาหารพื้นเมืองได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น...น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ไส้อั่ว แก๋งฮังเล ลาบแย้ แก๋งแคแลน... ซัดหมดครับ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแทบไม่ค่อยจะแตะเลย และกิ๋นข้าวนึ้งได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ต้องก้มหน้าก้มตากิน เพราะรู้สึกอายใครว่า “เฮาเป๋นคนเมือง”

เมื่อปิ๊กมาลำปางหนาบ้านเฮา รู้สึกว่ามีอะไรดูขัดหูขัดตาหลายอย่าง เจอเพื่อนบ้านหลายคนเป็นคนเมือง(คนภาคเหนือ) บางครอบครัวเป็นคนเมืองทั้งสามีและภรรยา บางบ้านสามีเป็นคนเมือง ภรรยาเป็นคนไทย (คนภาคกลางหรืออื่นๆ) บางบ้านภรรยาเป็นคนเมือง สามีเป็นคนไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน จะพบว่า บรรดาลูกๆของเพื่อนบ้านเหล่านั้น ทั้งที่เป็นลูกคนเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์หรือลูกครึ่งคนเมือง ผมยังไม่เคยเจอเด็กรุ่นใหม่อายุราว 7-20 ปีคนใด “อู้กำเมือง” แม้แต่คนเดียว !??!

มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ได้แต่นึกสงสัยว่า “ป้อก่อเมือง แม่ก่อเมือง จะใดลูกบ่อู้กำเมือง” และที่น่าพะอืดพะอดเป็นที่สุดคือ ผมต้องฝืนรักษามารยาทความเป็นผู้ดี โดยพูด “ภาษาไทยกลาง” กับเด็กๆเหล่านั้นเพราะเกรงใจพ่อแม่ของเขา ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็ลูกคนเมืองหรือไม่ก็ลูกครึ่งคนเมืองทั้งนั้น เด็กหลายคนหน้าตาดูเมียงๆ...ไม่ต้องบอกก็รู้ยี่ห้อ

เคยถามเพื่อนบ้านหลายคนว่า “ทำไมไม่ให้ลูกอู้กำเมือง” เขาก็ตอบในทำนองเลี่ยงบาลีว่า “กลัวจะพูดภาษาไทยกลางไม่ชัด” ซึ่งก็มีส่วนถูกแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะแท้ที่จริงแล้วภาษาเป็นเรื่องของความสนใจที่จะฝึกฝนเรียนรู้ด้วย ผมพบคนเมืองจำนวนไม่น้อยก็พูด “ภาษาไทยกลาง” ได้ชัดเจน ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นคนเมือง แต่บางคนที่จะไม่สนใจเรื่องการใช้ภาษา แม้ว่าจะเป็นลูกที่พ่อแม่คนเมือง สอนให้พูดภาษาไทยกลางมาแต่กำเนิด หลายคนก็ไม่ได้พูดด้วยถ้อยคำหรือสำเนียงที่ชัดเจนแบบคนไทยแท้ มักพูดไทยปนเมือง...เห็นแล้วรู้สึกอ่อนใจ

กรณีนี้ต่างกับในต่างประเทศ เด็กฝรั่งที่เป็นลูกครึ่ง เช่น เยอรมันกับอังกฤษ พ่อแม่ก็จะให้ลูกได้เรียนรู้ทั้งสองภาษา มีผลการวิจัยยืนยันในเรื่องนี้ด้วยว่า การที่เด็กได้เรียนรู้หลายภาษาทำให้สมองได้พัฒนามากขึ้นยิ่งช่วยให้มีความเฉลียวฉลาดปราญ์เปรื่อง

ดูเหมือนลำปางจะถูกกระแสความเปลี่ยนแปลงพาไปมาก มีข้อสังเกตคือ ศัพท์แสง “กำเมือง” ที่มีเสน่ห์หลายๆคำ คนลำปางไม่ค่อยจะนิยมพูดหรืออาจใช้ไม่เป็นก็ไม่แน่ใจ ตัวอย่างเช่น คำพูดลงท้ายว่า “เจ้า” ก็พูดเป็น “ค่ะ/คะ” แทน หรือคำว่า “ยินดี” ซึ่งแปลว่า ขอบคุณ ก็มักใช้ว่า “ขอบคุณ” หรือ คำว่าพี่ชาย แทนที่จะพูดว่า “อ้าย” ก็พูดว่า “ปี้” ซึ่งน่าจะใช้กับผู้หญิงมากกว่า แต่คนลำปางก็ใช้ คำว่า “ปี้” กับทั้งพี่สาวและพี่ชายเหมือนๆกัน

ที่ร้ายไปกว่านั้น ผมฟังแล้วแทบปวดใจคือ คำเรียกปู่ย่า ตายายของเรา แทนที่จะเรียกท่านว่า “พ่ออุ้ย แม่อุ้ย” หรือ “พ่อหลวง แม่หลวง” หรือ “พ่อเฒ่า แม่เฒ่า” ที่คนลำปางในเขตเมืองเคยพูดกันแต่ก่อน ก็เห็นจะเรียกว่า “ปู่ย่า ตายาย” เหมือนคนไทยภาคกลางยังไงยังงั้น

เอาเข้าจริงๆ ผมกลับเชื่อว่าที่หลายคนไม่ให้ลูกหลาน “อู้กำเมือง” น่าจะเป็นเพราะความรู้สึกว่า “กำเมือง” เป็นภาษาของผู้ด้อยกว่าหรือดูไม่เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม
รวมทั้งคงไม่รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองเท่าไหร่ เรื่องนี้พูดมากไปก็จะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกอนุรักษ์นิยม “บ้าของเก่า เล่าความหลัง” แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า “ถ้าลืมโคตรเหง้า...ก็เผาแผ่นดิน” !!!

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
mailto:ไชยเมืองชื่นlakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

No comments: