ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 13, 2008

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (1)


หอคำนครลำปาง
ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร


ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (1)
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 187 วันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2551 หน้า 7

มีความลับของตระกูล ณ ลำปาง ซ่อนอยู่ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของครูบุญปั๋น โชติกะกุล (พ.ศ.2453-2537) ครูอาวุโสคนหนึ่งของลำปาง ซึ่งผมได้บังเอิญพบเข้าและเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันโดยตรงกับ “พ่อเจ้า” เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย

หนังสือเล่มนี้เสนอเรื่องราวของเจ้านายลำปางซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากนัก โดยเริ่มต้นเล่าถึง มารดาของครูบุญปั๋น โชติกะกุล ผู้วายชนม์ ซึ่งมีนามว่า “บุญหลง” เธอเป็นเด็กสาวที่ได้ติดตามมารดาของตนชื่อ “แม่เฒ่าขันคำ” เข้ามาอยู่ในคุ้มหลวงนครลำปางตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี

แม่เฒ่าขันคำ เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการออกแบบผ้าซิ่นตีนจก สามารถใช้ไหมทองและไหมเงินทอเป็นผ้าซิ่นได้อย่างงดงาม จึงมีหน้าที่เป็นผู้สอนการทอผ้าให้แก่ช่างทอประจำโรงทอผ้าของคุ้มหลวง

ส่วน “บุญหลง” บุตรสาวของแม่เฒ่า เป็นเด็กสาวสวยหน้าตาดีมีรูปร่างสูงเพรียวงดงาม ซึ่งในเวลาต่อมาเธอได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปฝึกเล่นละครในโรงละครแห่งคุ้มหลวง ที่นั่นมีเด็กสาวหน้าตาดีเข้าไปฝึกเล่นละครเป็นจำนวนมาก

โรงละครภายในคุ้มหลวงเป็นสถานที่ซึ่ง “พ่อเจ้า” เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตและเจ้านายบุตรหลานมักมาชมการแสดงเป็นประจำ ละครที่แสดงเป็นทั้งละครร้องและละครรำเป็นแบบที่นำมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในสังคมลำปางขณะนั้น ผู้มาเข้าชมส่วนมากเป็นเจ้านายหรือข้าราชการเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปแทบไม่มีสิทธิเข้ามาชมการแสดง

“บุญหลง” ธิดาของแม่เฒ่าขันคำ มีโอกาสได้เป็นตัวเอกของเรื่องอยู่หลายคราว ทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างดีของเจ้านายบุตรหลานโดยทั่วไป

เมื่อภายหลังแม่เจ้าเมืองชื่น ณ ลำปาง ชายาของพ่อเจ้าถึงแก่กรรมไปไม่นาน ขณะนั้นบุญหลงอายุ 15 ปี ก็ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในหม่อมของพ่อเจ้าและได้รับชื่อใหม่ว่า “หม่อมวาทย์”

หนึ่งปีภายหลังการปรนนิบัติรับใช้พ่อเจ้า ในปี พ.ศ.2444 หม่อมวาทย์ได้ให้กำเนิด “เจ้าหญิงบุษบา ณ ลำปาง” ธิดาคนแรกในคุ้มหลวงนครลำปาง สร้างความดีใจให้แก่พ่อเจ้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้พ่อเจ้ามอบบ้านและที่ดินรวมทั้งเงินทองจำนวนหนึ่งให้แก่แม่เฒ่าขันคำ มารดาของหม่อมวาทย์ ซึ่งบ้านที่มอบให้นั้นเป็นบ้านหลังที่ได้พักอาศัยต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นของผู้วายชนม์

หม่อมวาทย์ได้ทำงานรับใช้พ่อเจ้าและเลี้ยงดูเจ้าหญิงบุษบา จนกระทั่งเติบใหญ่ ภายหลังเมื่อเจ้าหญิงอายุได้ 16 ปีได้สมรสกับเจ้าดรุณดารา ณ ลำพูน และย้ายไปอาศัยอยู่กับสามีที่เมืองลำพูน

ในหนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึง การที่พ่อเจ้าได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้แก่หม่อมวาทย์ช่วยเหลือในการส่งกำลังบำรุงทหารคือ การจัดเตรียมเสบียงอาหารและยาไปให้ทหารที่หออะม๊อก (ป้อมปราการ) กำแพงเมืองลำปาง ในคราวที่เกิดกบฏเงี้ยวปล้นหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งได้บุกมาถึงนครลำปาง

จนเมื่อกบฏเงี้ยวยุติลง พ่อเจ้าได้ตอบแทนน้ำใจของหม่อมวาทย์ด้วยการมอบที่นาจำนวน 200 ไร่ที่ตำบลทุ่งห้วยหาญ (ทุ่งฝาย) และกล่าวต่อหน้าผู้คนทั้งปวงว่า “เพื่อหม่อมวาทย์จะได้ปลูกข้าวไว้เลี้ยงคน” ข้อความในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่พ่อเจ้ามีต่อหม่อมวาทย์อย่างมาก

ต่อมาที่บริเวณแห่งนี้เรียกกันภายหลังว่า “ห้างโต้งฝาย” ใช้เป็นที่พักผ่อนชั่วคราวของหม่อมวาทย์และมักมีเจ้านายบุตรหลานแวะเวียนมา “กิ๋นข้าวงาย” กันเป็นประจำ

นอกจากนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงทหารในคราวเกิดกบฏเงี้ยวครั้งนั้นว่า มีแพทย์ทหารนายหนึ่งจากกรุงเทพฯเกิดหลงรักในตัว เจ้าหญิงอ้ม ณ ลำปาง ธิดาของพ่อเจ้าที่ทรงความงดงาม ซึ่งกำเนิดกับแม่เจ้าเมืองชื่นและมีความสนิทสนมกับหม่อมวาทย์ จึงได้ส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอกับพ่อเจ้าแต่ถูกปฏิเสธ เพราะพ่อเจ้าตั้งใจจะนำเจ้าหญิงไปถวายตัวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหม่อมวาทย์ด้วย หนังสือข้างต้นอ้างว่า มีผู้ยุแหย่กับพ่อเจ้าว่า หม่อมวาทย์เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการที่แพทย์ทหารนายนั้นมาสู่ขอเจ้าหญิงอ้ม เข้าใจว่าเรื่องนี้ทำให้พ่อเจ้าเกิดความขุ่นเคืองมาก

เรื่องราวกำลังเข้มข้นและยังมีปริศนาสำคัญของตระกูล ณ ลำปาง ที่หนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มนี้ต้องการจะเปิดเผยรออยู่ ส่วนเรื่องจะเป็นอะไรนั้น โปรดติดตาม “ปริศนาแห่งคุ้มหลวง” ในตอนต่อไป

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51

No comments: