ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 13, 2008

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : 80 ปีสักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย


"คู่แท้" ถ่ายคู่กับภรรยา สมัยยังหนุ่มสาว
ทีมาภาพและคำบรรยาย : http://saksern.page.tl/Gallery/pic-8.htm


80 ปีสักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 177 วันที่ 17-23 มีนาคม 2551 หน้า 7

ชื่อ “สักเสริญ รัตนชัย” คงไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับคนลำปาง แต่ถ้าเอ่ยชื่อ “ศักดิ์ รัตนชัย” แล้วล่ะก็ ไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณ แม้ผมจะไม่ทราบสาเหตุที่อาจารย์ศักดิ์ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สักเสริญ” และมาเปลี่ยนเอาตอนเฒ่าเสียด้วย ใครๆก็เรียกกันติดปากว่า “อาจารย์ศักดิ์” มานานแล้ว จึงเอาเป็นว่าขอพบกันครึ่งทาง ในข้อเขียนนี้ขอเรียกชื่อท่านว่า “อาจารย์สัก” ก็แล้วกันครับ

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปาง ก็มักจะต้องกล่าวอ้างถึงอาจารย์สัก ปรมาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธ์อยู่เสมอ อาจารย์จึงเป็นเสมือนสารานุกรมเคลื่อนที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชีวิตให้แก่คนลำปาง ขณะนี้ท่านได้เดินทางมาถึงถนนสายที่ 80 แล้วและมีอายุครบ 80 ปีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศกนี้

ผมไม่ได้เป็นศิษย์สายตรงหรือสายเอียงของท่านและไม่ได้ยึดถือเชิดชู “ลัทธิมหาบุรษ” แต่ด้วยความเป็นคนลำปางและนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจด้านล้านนาคดี จึงพอจะทราบถึงคุณูปการของอาจารย์สักที่มีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางมาบ้าง ในวาระ 80 ปีของอาจารย์ ขอใช้ข้อเขียนนี้กล่าวถึงผลงานและความดีบางส่วนของท่านเพื่อเป็นเกียรติในวาระอันสำคัญนี้

ถ้าจะว่าไปจริงๆแล้ว อาจารย์สัก ก็ไม่ได้เป็น “ครู” หรือ “อาจารย์” สังกัดสถาบันการศึกษาไหน (เพิ่งได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโยนกไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก ภายหลังตอนบั้นปลายชีวิต) แต่ที่คนลำปางเรียกท่านว่า “อาจารย์” อย่างสนิทใจมานาน น่าจะเป็นเพราะความเป็นผู้รู้หรือ “ปราชญ์ท้องถิ่น” ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปาง ดังนั้นอาจารย์สัก ก็คือ “ครูของสังคมลำปาง” นั่นเอง

อาจารย์สักเริ่มต้นชีวิตการทำงานจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันท่านได้ทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าและลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง สร้างผลงานวิชาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางต่อเนื่องมากว่า 50 ปี มีผลงานทั้งประเภทหนังสือ บทความ รายงานสำรวจและงานปริวรรตเอกสารพื้นเมือง มากกว่า 30 รายการ

การที่อาจารย์มีผลงานวิชาการมากมายมิได้มาจากการเป็นผู้มีการศึกษาสูงตามระบบการศึกษาปกติ เข้าใจว่า แต่เดิมท่านก็มิได้สำเร็จการศึกษาระดับสูงมากนัก แต่ค่อยพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง อย่างไรก็ตามแท้ที่จริงแล้วการศึกษาของมนุษย์ก็มิได้วัดกันที่ปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรใดๆ หากมาจากความเป็นผู้ใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักคิดวิเคราะห์และมุ่งมั่นค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ ตลอดจนนำความรู้เหล่านั้นไปเป็นประโยชน์ต่อสังคม นั่นจึงจะบ่งบอกถึงความเป็น “ผู้มีการศึกษาสูง” อย่างแท้จริง ซึ่งอาจารย์ก็ถึงพร้อมด้วยประการทั้งปวง

ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักในภาคสังคมของลำปางและภาคเหนือ รวมถึงสายสัมพันธ์ทั้งในวงการสื่อมวลชนและภาครัฐในพื้นที่อย่างยาวนาน ท่านจึงได้รับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษาและทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆมากมายของจังหวัดลำปาง จนบ่มเพาะตัวเองขึ้นมาเป็นผู้รู้ของท้องถิ่นที่เปรียบประดุจคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองลำปางอันยากจะหาผู้ใดเทียบได้

อาจารย์สักไม่เพียงแต่เป็น “ปราชญ์ท้องถิ่น” แต่ยังเป็นปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานภาคสังคมไปพร้อมกัน เป็นผู้พยายามริเริ่มทำงานและเสนอความเห็นด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆมากมายในเมืองลำปางตามที่ตนเองได้ศึกษาค้นคว้ามา ทั้งยังเป็นนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องและอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น แม้ว่าหลายครั้งจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มก็ตาม

แต่ด้วยจิตสำนึกที่รักและหวงแหนในคุณค่ามรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยมและ กล้าเสนอความคิดเห็นโดยมีข้อเท็จจริงและคำอธิบายรองรับ ทำให้ความเห็นของอาจารย์มีน้ำหนักและได้รับการพิจารณาในวงวิชาการด้านล้านนาคดีศึกษา

อย่างไรก็ตามการเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและพูดจาตรงไปตรงมาซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชน ทำให้อาจารย์มีทั้งคนที่รักและไม่ชอบใจในขณะเดียวกัน
เราก็คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีมนุษย์คนใดที่สมบูรณ์พร้อมไปทุกอย่าง ดังนั้น ควรเลือกที่จะมองในส่วนดีของเขาเหล่านั้นที่ยังประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกมากกว่า

ความเป็น “อาจารย์สัก” ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะถึงบั้นปลายของชีวิตแล้วก็ตาม ถ้าหากเป็นผู้อาวุโสส่วนใหญ่ก็ถึงเวลาได้พักผ่อน แต่อาจารย์สักยังคงมุ่งมั่นเรียนรู้และทำงานด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ท่านรักและชื่นชอบต่อไปไม่หยุดนิ่ง สมกับความเป็นผู้ใฝ่รู้ที่ดำรงตนมาอย่างยาวนาน

ในวาระ 80 ปีของอาจารย์ ผมขอแสดงความเคารพและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เมืองลำปางของเรา มี “อาจารย์สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย” เป็นศักดิ์ศรีและสง่างามในฐานะ “ปัญญาชนนครลำปาง” ที่จะเป็นแบบอย่างทางวิชาการและงานด้านวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามสืบไป

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน
80 ปี สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัยฯ
เว็บไซต์ข้อมูล อ.สักเสริญ(ศักดิ์) รัตนชัย

หมายเหตุ : ด้วยความอนุเคราะห์จากอาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์ลำปาง เว็บบล็อกนี้จึงได้บทความที่เคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปาง มาเผยแพร่อีกครั้ง ตราบใดที่ระบบการสืบค้นข้อมูลความรู้เรื่องเกี่ยวกับยังมีปัญหา และจำกัดอยู่ในวงแคบ เราคิดว่าหน้าที่ในเว็บนี้จะพยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดต่อไป และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราๆท่านๆที่มีบทความเกี่ยวกับลำปางที่น่าสนใจก็สามารถส่งมาแบ่งปันความรู้กันได้ ณ ที่แห่งนี้

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 13
ธันวา 51

No comments: