ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, December 13, 2008

บทความจากอาจารย์ไพโรจน์ : ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (2)


เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายแห่งนครลำปาง
ที่มาภาพ : หนังสืออนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย, 2541

ปริศนาแห่งคุ้มหลวง (2)
ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 189 วันที่ 9-15 มิถุนายน 2551 หน้า 7

เรื่องราวของหม่อมวาทย์ในเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย ที่ผมอ่านพบในหนังสืออนุสรณ์งานศพของครูบุญปั๋น โชติกะกุล ได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้ว

หนังสือดังกล่าวเล่าต่อไปว่า เมื่อราวปลายปี พ.ศ.2452 แม่เฒ่าขันคำ มารดาของหม่อมวาทย์ได้ป่วยหนัก หม่อมจึงขออนุญาตจากพ่อเจ้าออกจากคุ้มหลวงนครลำปาง ไปอยู่ที่บ้านของมารดาเพื่อดูแลปรนนิบัติรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างใกล้ชิด

ประจวบกับในช่วงเวลานั้น พ่อเจ้าบุญวาทย์ฯต้องเดินทางไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร และการเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-นครลำปางในสมัยนั้นใช้เวลานับแรมเดือนเพราะรถไฟสายเหนือยังมาไม่ถึงนครลำปาง

ขณะนั้นเองมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น คือ หม่อมวาทย์ได้ให้กำเนิดธิดาคนที่สอง ณ บ้านของแม่เฒ่าขันคำ ผู้เป็นมารดา โดยหนังสือข้างต้นอ้างว่า หม่อมไม่ทราบมาก่อนว่ามีลูกติดท้องมาด้วย จึงให้กำเนิดธิดาในระหว่างที่พ่อเจ้าไม่อยู่ที่นครลำปาง

จนกระทั่งเมื่อพ่อเจ้ากลับมาถึงนครลำปาง หนังสือเล่าว่าได้มีผู้ยุแหย่ว่า“ลูกที่เกิดไม่ใช่ลูกของพ่อเจ้า” กอปรกับการเดินทางที่ยากลำบากระหว่างกรุงเทพฯ-นครลำปาง ส่งผลให้สุขภาพร่างกายของพ่อเจ้าเสื่อมโทรม อีกทั้งหม่อมวาทย์ถูกกีดกันไม่ให้เข้าพบ

หนังสือยังอ้างอีกว่า ด้วยเหตุที่พ่อเจ้ามีสุขภาพที่ทรุดโทรมลงไปตามลำดับและต้องเดินทางไปรักษาตัวในกรุงเทพฯเป็นเวลานานและบ่อยครั้งขึ้น ในที่สุดพ่อเจ้าได้แนะนำให้หม่อมวาทย์ซึ่งขณะนั้นอายุยังน้อย แต่งงานใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีผู้ดูแลคุ้มครองและขจัดปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้น

หม่อมวาทย์จึงได้สมรสใหม่กับนายศรีอู๊ด โชติกะกุล บุตรชายพ่อเลี้ยงหม่องโพขิ่น คหบดีผู้ได้รับสิทธิ์การตั้งบริษัทไฟฟ้าในนครลำปาง ซึ่งมีความสนิทสนมในทางธุรกิจกับพ่อเจ้า ภายหลังหม่อมได้ให้กำเนิดบุตรและธิดาเพิ่มอีก 3 คน ชื่อ บุญหยด บุญดำรง และ อำไพพรรณ

เรื่องราวใหญ่โตดูเหมือนจบอย่างเรียบร้อย ซึ่งคงเป็นปกติของหนังสืออนุสรณ์งานศพที่มักจะเลือกนำเสนอแต่เฉพาะแง่มุมในเชิงบวกต่อผู้วายชนม์หรือผู้เกี่ยวข้องเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณประกอบในการอ่าน

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง ชีวิตของธิดาคนที่สองของหม่อมวาทย์ ซึ่งก็คือ “ครูบุญปั๋น” ผู้วายชนม์ ได้ระบุว่า เป็นบุตรีลำดับที่ 7 ของพ่อเจ้าบุญวาทย์ฯ เมื่ออายุได้ 8 ขวบเข้าศึกษาที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำปางหรือโรงเรียนลำปางกัลยาณีในปัจจุบัน ขณะนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปงสนุก

ต่อมาเมื่ออายุได้ 11 ปี หม่อมวาทย์ได้ส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย กรุงเทพมหานคร ในแผนกการเรือน มีนายศรีอู๊ด ผู้เป็นสามีพาธิดาคนนี้ไปมอบตัวและได้ลงทะเบียนว่า “นางสาวบุญปั๋น โชติกะกุล” เป็นธิดาของนายศรีอู๊ดด้วย

ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษา บุญปั๋นได้กลับมาทำงานเป็นครูที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472-2489 ต่อมาลาออกจากราชการ แต่ยังคงรักการสอนจึงมาเป็นครูที่โรงเรียนพินิจวิทยา จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ.2502

ภายหลังเข้าปฏิบัติธรรมเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระสงฆ์รูปสำคัญที่ชาวลำปางให้ความเคารพนับถือผู้มีเชื้อสายของเจ้านายในตระกูล ณ ลำปาง โดยหลวงพ่อเกษม เป็นบุตรของเจ้าแม่จ้อน ณ ลำปาง ซึ่งมีความสนิทสนมรักใคร่เป็นอย่างดีกับหม่อมวาทย์ มารดาของครูบุญปั๋น

ในชีวิตของผู้วายชนม์คงได้รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ถึงชาติกำเนิดของตน ดังพบข้อความหนึ่งว่า “เรื่องที่มีผู้ไม่หวังดีชอบกล่าวว่า ใครเป็นบิดาอย่างแท้จริงของครูบุญปั๋นนี้ หลวงพ่อเกษม ผู้สำเร็จอภิญญา มีอตังตีสญาณ ล่วงรู้ถึงอดีตได้ออกประกาศแก่ลูกศิษย์ของท่านว่าให้ทุกคนเรียก ครูบุญปั๋น ว่า “เจ้าบุษบาร” ตามนิมิตที่พ่อเจ้าบุญวาทย์ฯมาปรากฏนี้”

เมื่ออ่านหนังสือโดยตลอดย่อมเข้าใจถึง น้ำเสียงที่ต้องการยืนยันอย่างหนักแน่นในฐานะ “ความเป็นเจ้า” ให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งมิใช่เป็นเพียงเจ้านายธรรมดาแต่มีฐานะ “เจ้าหญิง” เป็นหนึ่งในธิดาของเจ้าผู้ครองนครลำปางคนสุดท้าย

เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป แต่ในหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ได้ให้ชื่อแก่ผู้วายชนม์อีกชื่อหนึ่งที่แทบไม่มีใครเรียกขานกันว่า “เจ้าบุษบาร ณ ลำปาง” เพื่อให้เกียรติถึงความเป็น “เจ้า” ในฉากสุดท้ายแห่งชีวิตของผู้วายชนม์

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น
lakorforum@yahoo.com
.............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง


เสาร์ 13
ธันวา 51

No comments: