ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Sunday, September 6, 2009

ฟองหลี...อาคารพื้นถิ่น "ตลาดจีน" ลำปาง : บทความเก่าในปี 2543

ฟองหลี...อาคารพื้นถิ่น "ตลาดจีน" ลำปาง
โดย กิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล

จากหนังสือ อาษา ฉบับที่ 10:43 ตุลาคม พศ.2543
จัดทำเมื่อ 1 มีนาคม พศ.2544
นำมาจากเว็บบอร์ด
เรือนพื้นถิ่นของจังหวัดลำปาง ในย่านการค้าเก่าริมฝั่งแม่น้ำวังที่เรียกว่า "ตลาดจีน"นั้นมีลักษณะพิเศษ อันเป็นเอกลัษณ์ นับเป็นกลุ่มอาคารที่มีทั้งศิลปะและประโยชน์ใช้สอยรวมอยู่ด้วยเรือนพื้นถิ่นกลุ่มดังกล่าว ก่อสร้างขึ้นในยุคของจังหวัดลำปางที่มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชในนาม "นครลำปาง" โดยมีเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองและมีอำนาจเต็มในการปกครองโดยที่รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 5ไม่ได้มากำกับการบริหารและการปกครอง เพียงแต่ต้องมีพันธะทางการเมือง ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะประเทศราชกล่าวคือ

1. ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นขุนนาง จะต้องเข้าเฝ้ากราบบังคมทูล
และรับการแต่งตั้งที่กรุงเทพฯ
2. เจ้าเมืองต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ อันได้แก่ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และสิ่งของอื่น ๆ ตามกำหนด 3
ปีต่อครั้ง
3. ต้องส่งกองทัพมาช่วยรบเมื่อเกิดศึกสงคราม

สภาพทั่วไปในเมืองนครลำปาง ในยุคเป็นประเทศราช การคมนาคมอาศัยทางน้ำคือแม่น้ำวังเป็นหลัก
โดยทิศเหนือสามารถถ่อเรือขึ้นไปถือเมืองแจ้ห่ม และเมืองวังเหนือ ส่วนทางทิศใต้ก็สามารถล่องเรือถึงเมืองระแหง แล้วเดินทางบกอีกประมาณ 7 วันก็ถึงเมืองมะละแหม่ง รวมถึงการล่องเรือไปยังกรุงเทพด้วย แต่ใช้เวลาเดินทางระยะเวลานานเนื่องจากมีเกาะแก่งในแม่น้ำมาก ผู้คนใช้แม่น้ำแทนถนน ในการเดินทางและทำมาค้าขาย ส่วนการเดินทางโดยทางบก มักเป็นการเดินทางในช่วงสั้น ๆใช้ม้า ช้าง และเกวียนเป็นพาหนะ

เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองในเมืองนครลำปางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448พระองค์ก็ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานไปยัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ 14/70 ลงวันที่ 4
กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 ความว่า

"….ออกจากแพร่เดินลัดไปนครลำปาง ตามทางเป็นป่าดงโดยมาก มีบ้านผู้คนห่าง ๆ แต่มีป่าไม้อยู่มาก
บริบูรณ์ด้วยไม้สัก ไม้ตะเคียน ครั้นใกล้เมืองนครลำปางเองแล้ว จึงมีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น
บ้างตามเหล่านี้ไร่นาไม่ใคร่มี เพราะฉะนั้นที่นครลำปางอยู่ข้างขัดสน ตัวเมืองนครลำปางเองก็ติดแน่นหนา
อยู่ภายในกำแพง ด้านใต้แห่งลำน้ำ (วัง) ด้านเหนือมีบ้านเรือนมากก็จริง แต่ยังมีเป็นป่า ๆ ปนอยู่
ด้านใต้นั้นดูดี ด้วยมีห้างแลร้านอยู่มาก คณะเงี้ยวที่นี่ใหญ่และทำการค้าขาย มีร้านเล็ก ๆ
ขายผ้าผ่อนแพรพันสั่งจากมะระเมงโดยมาก (มะละแหม่ง, ผู้เขียน) ที่เป็นห้างใหญ่ ๆ มีห้างพม่า
จีนบ้าง…"

สถานการณ์ภายหลังจากที่อังกฤษยึดพม่าทั้งประเทศได้อย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2428 อังกฤษได้ดำเนินกิจการป่าไม้ขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นล่ำเป็นสันในพม่า ในระยะต่อมาภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่งพ่อค้าอังกฤษและคนในบังคับจึงเกิดความสนใจที่จะเดินทางเข้ามาในดินแดนหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือ
ทำได้โดยง่ายและสะดวกยิ่งกว่าการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯกับหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือ

นอกจากนี้ยังสามารถขออนุญาตทำป่าไม้ได้โดยตรงกับเจ้าผู้ครองนครโดยไม่ต้องผ่านทางกรุงเทพฯ ส่วนเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าก็ใช้เงิน"รูเปีย" ของอังกฤษที่นำมาใช้ในอินเดียและพม่า โดยที่รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา การขาดแคลนปริมาณเงินปลีก โดยเฉพาะเงินหนึ่งสตางค์ และเหรียญเงินบาทได้จึงทำให้ประชาชนคุ้นเคยและยอมรับใช้เงินรูเปียในการชำระหนี้กันกว้างขวางมากทำให้มีเงินรูเปียในการชำระหนี้กันกว้างขวางมากทำให้มีเงินรูเปียเข้ามาหมุนเวียนในระบบ
เศรษฐกิจหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือเป็นจำนวนมาก

บริษัทของอังกฤษที่เข้ามาทำป่าไม้ในเมืองนครลำปางในสมัยนั้น ได้แก่
1. BOMBAY BURMAH TRADING CORPORATION LIMTED โดยเข้ามาตั้งสาขาที่เมืองนครลำปาง ตั่งแต่ พ.ศ. 2434
2. BRITISH BORNEA COMPANY LTD.
3. SIAM FOREST COMPANY LTD.
4. L.T.LEAONOWENS COMPANY LTD.
5. EAST ASIATIC COMPANY LTD.

เมื่อบริษัทอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ ได้นำเอาคนในบังคับ ซึ่งได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อันได้แก่ ชาวพม่า ชาวมอญ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) ชาวขมุ เข้ามาร่วมทำงานป่าไม้ด้วยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในขณะนั้น ราษฎรในเมืองนครลำปาง ยังต้องสังกัดมูลนายในระบบไพร่ ระบบทาส และไม่มีความชำนาญในการทำป่าไม้ ส่วนชาวพม่าที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ และมีการศึกษาดี จะได้รับจ้างเป็นผู้ควบคุมงาน การใช้แรงงานในป่าจะเป็นพวกไทยใหญ่และขมุ การทำป่าไม้ของชาวอังกฤษจึงเป็นแรง ผลักดันให้ชาวพม่ามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยชาวพม่าได้เริ่มทำการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการนำเข้ามาจากเมืองมะละแหม่ง และรับซื้อสินค้าจากพ่อค้าเร่ที่เดินทางมาจากยูนานรวมทั้งสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ ขึ้นในย่าน "ตลาดจีน"

ในระหว่างช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2434- พ.ศ. 2450) นครลำปางจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยรวมทั้งมีการทำป่าไม้เพื่อการส่งออก และการค้าขายจึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ในฐานะเมืองท่าพาณิชย์ที่ติดต่อค้าขายทางไกลข้ามประเทศระหว่าง พม่า และยูนาน ซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนและยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการล่องไม้ซุงสัก และการค้าขายทางเรือระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯและประเทศตะวันตก โดยมี "ตลาดจีน" ริมฝั่งแม่น้ำวังเป็นผ่านการค้าที่คึกคักและสำคัญที่สุดในขณะนั้น

เมื่อกลุ่มบริษัทอังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ในนครลำปางได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักโดยนำศิลปวิทยาการทางตะวันตกเข้ามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและก่อสร้าง ส่วนใหญ่อยู่ที่ท่ามะโอซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำวัง นอกจากนี้ชาวพม่าที่เข้ามาค้าขายและสามารถสะสมทุนจนมีฐานะมั่นคั่งได้ก่อสร้างอาคารเพื่อเป็นที่พักและเป็นที่ค้าขายและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่กลุ่มพ่อค้าชาวพม่า ดังนั้นในย่าน "ตลาดจีน" จึงมีพ่อค้าพม่า จีน ไทยใหญ่ และอินเดีย โดยมีพ่อค้าชาวพม่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดแต่กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและพึ่งพากัน เช่น อาคารของพ่อค้าจีนบางหลัง ก็มีส่วนของสถาปัตยกรรมพม่าตกแต่งผสม สันนิษฐานว่าคงใช้ช่างและแรงงานฝีมือของชาวพม่าในการก่อสร้าง


ลักษณะสถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารตลาดจีนและอาคารที่ทำการซึ่งสร้างขึ้นโดยคนต่างชาตินี้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเรือนพื้นถิ่นของชาวนครลำปางในขณะนั้น โดยส่วนของชนชั้นมูลนายซึ่งเป็นเจ้าเมืองและเครือญาติ รวมทั้งผู้มีฐานะดีในเมืองจะนิยมปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วยไม้สัก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคนี้ ลักษณะบ้านจะเป็นเรือนใต้ถุนสูง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา มีชานแล่นระหว่างเรือน บริเวณบ้านก็จะกว้างขวางร่มรื่น
มีการปลูกต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ส่วนใหญ่ใช้บริโภคได้ ส่วนอาคารร้านค้าที่ตลาดจีนนั้น มีการนำอิฐมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งในขณะนั้น ชาวเมืองนครลำปาง จะใช้อิฐในการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น วัด และกำแพงเมืองไม่นิยมเอาอิฐมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนโดยทั่วไปยกเว้นอาคารศาลาเค้าสนามหลวง เป็นต้น

ส่วนชนชั้นไพร่และทาส ที่เป็นราษฎรทั่วไป ก็จะปลูกสร้างบ้านในลักษณะเรือนเครื่องผูกใต้ถุนสูง มุงด้วยหญ้าคา มีไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบโครงสร้างหลัก การที่นำอิฐมาใช้ในการก่อสร้างอาคารตลาดจีนนี้ ทำให้อาคารมีความแข็งแรง ทนทาน และหลาย ๆ หลังที่ยังไม่ถูกรื้อถอน สามารถคงสภาพส่วนใหญ่ไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน

โดยที่ตลาดจีนตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง จึงได้รับอุทกภัยในฤดูน้ำหลากทุก ๆ ปี จนกระทั่งมีการก่อสร้างเขื่อนกิ่วลมในปี พ.ศ. 2508 อุทกภัยจึงเบาบางลง อาคารในย่านตลาดจีนส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ บ้านไม้ มีการรื้อถอนเปลี่ยนสภาพก่อสร้างใหม่ตามประโยชน์ใช้สอยเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าการพาณิชย์ยังปรากฎเรือนไม้ทรงหลังคาปั้นหยาและเรือนไม้ทรงหลังคามะนิลาเพื่อการพักอาศัยโดยเฉพาะอยู่หลาย ๆ หลัง

เมื่อทางรถไฟสายเหนือมาถึงนครลำปาง ในปีพ.ศ. 2458 การคมนาคมทางน้ำค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไป
"ตลาดจีน" จึงค่อย ๆ ลดบทบาทในด้านศูนย์กลางการค้าขาย มาเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยในที่สุด "ตลาดจีน" จึงกลายเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยในที่สุด "ตลาดจีน" จึงกลายเป็นตำนานเล่าขานเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลาและประวัติศาสตร์ความเป็นไปของนครลำปางในช่วงอันรุ่งโรจน์ที่สุดช่วงหนึ่ง ส่วนอาคารเก่าแก่ส่วนที่สร้างด้วยอิฐและปูนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ามาแต่อดีตนั้น ยังคงยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น อาคารฟองหลี อาคารคมสัน อาคารหมองหง่วยสิ่น อาคารตึกแดง อาคารบ้านบริบูรณ์ อาคารบ้านสินานนท์ เป็นต้น อาคารเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นอาคารพื้นถิ่นประวัติศาสตร์ที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างให้สภาพแวดล้อมของเมืองนครลำปางมีคุณค่า มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น นับเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สวยงาม แปลกตา มีคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอาคารพื้นถิ่นย่านการค้า "ตลาดจีน" เก่าดังกล่าว ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะอาคาร"ฟองหลี" ก่อนเท่านั้น ส่วนอาคารอันทรงคุณค่าหลังอื่น ๆ จะได้กล่าวในโอกาสต่อไป


อาคาร "ฟองหลี" นี้ ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในหนังสือแบบ แผนบ้านเรือนไทยในสยามของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดย น.ณ ปากน้ำ ในหน้าที่ 98 ได้บรรยายว่าอาคารสองชั้นเป็นตึก ประดับลวดลายแบบขนมปังขิง ชั้นล่างของอาคารประดับศิลปะลายฉลุ แบบขนมปังขิงฝีมือประณีตมาก เช่น ลายท้าวแขนตรงมุมหัวเสา และลายช่องลมโค้งประตู ซึ่งแปลกไปกว่าที่อื่น

ต่อมาอาคาร "ฟองหลี" ได้ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "อิสรภาพ" ฉบับวันที่ 21-31 สิงหาคม 2537 ด้วยสาเหตุ หน้าจั่วอาคารด้านทิศตะวันตกได้พังทลายลงมา โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านใกล้เคียงที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้ร้องเรียนต่อทางเทศบาลและทางจังหวัด ถึงอันตรายที่ส่วนอื่นของอาคารจะถล่มลงมาอีก หน่วยงานเทศบาลนครลำปางและจังหวัดจึงได้มีหนังสือเตือนให้ทำการซ่อมแซมถึง 2 ครั้ง ต่อมาหนังสือจากจังหวัดฉบับสุดท้ายได้สั่งให้รื้อถอนภายใน 7 วัน เจ้าของในขณะนั้นมีความคิดที่จะซ่อมแซมอาคาร "ฟองหลี" ไว้แต่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงได้มาปรึกษากับผู้เขียน ผู้เขียนได้ตระหนักถึงคุณค่าของอาคารดังกล่าว จึงตกลงรับที่จะอนุรักษ์ไว้ เพราะถ้าหากรื้อถอนอาคารหลังนี้ออกไป "ตลาดจีน" ก็จะขาดสายใยที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันไปอีกสิ่งหนึ่ง ดังเช่น อาคาร "จีนบุญ" ที่อยู่ติดกัน
ปัจจุบันเหลือเพียงภาพถ่าย และภาพสเก็ต ดังที่สแดงเท่านั้น

หลังจากการทำนิติกรรมเสร็จสิ้น ผู้เขียนตกลงรับซื้อโฉนด 3 คูหาจากจำนวนทั้งหมด 4 คูหา โดยเจ้าของขณะนั้นได้ร่วมอนุรักษ์ไว้ 1 คูหา

ประวัติอาคาร

เมื่อเริ่มทำการบูรณะ ผู้เฒ่าผู้แก่ในย่านตลาดจีนหลาย ๆ ท่านได้มาดูและสนทนาเล่าเรื่องเก่า ๆให้ฟัง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาค้นคว้าประวัติอาคาร ผู้เขียนจึงได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของอาคารว่า ผู้สร้างอาคารหลังนี้คือ "จีนฟอง" หรือเจ้าสัวฟอง ซึ่งได้รับสัมปทานป่าไม้ ป่าห้วยเพียน
ห้วยหลวงและป่าแม่อิฐ นอกจากนี้ยังได้เป็นเจ้าภาษี นายอากร ฝิ่นและสุรา ของเมืองนครลำปางอีกด้วย
เจ้าสัวฟอง จึงมีฐานะดีมากที่สุดในบรรดาชาวจีนในเมืองนครลำปาง

ในขณะนั้นปรากฏหลังฐานในใบบอกบัญชีรายชื่อเจ้านายข้าราชการและราษฎร พ่อค้าที่บริจาคทรัพย์
เพื่อซื้อข้าวสารแจกจ่ายราษฎรที่อดอยาก ในปี พ.ศ. 2444 ให้แก่ราษฎรในตำบลห้วยฮี ทุ่งฝาย หนองยาง น้ำนองนาก่วม ลำปางหลวง เมืองเมาะ พิไชย บรรดาภาคเอกชนในสมัยนั้น โดยมีชื่อยู่ในลำดับแรก ได้บริจาคเป็นเงิน 50 รูเปีย เท่ากับเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง โดยมีผู้บริจาคเป็นเจ้านายและข้าราชการ 23 ราย เป็นพ่อค้าชาวจีน ชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ ชาวต้องสู้ รวม 111 ราย รวมเป็นเงินบริจาค 638 รูเปีย 16 อัฐ (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการที่ 122/6574 ลงวันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2444)

เป็นที่สังเกตว่าภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคเงินนั้นล้วนแต่เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนและพ่อค้าที่เป็นคนในบังคับ (subject) ของอังกฤษทั้งสิ้น ไม่มีคนพื้นเมืองในท้องถิ่นที่ทำการค้าเลย

ระหว่างการบูรณะอาคารผู้เขียนได้พบตราของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า บนหัวเสาไม้ของอาคารซึ่งบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเข้ามาตั้งสาขาในเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2434 จึงสันนิษฐานว่า อาคาร"ฟองหลี" น่าจะสร้างช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2434- พ.ศ. 2444 อายุครบถ้านับถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่าหนึ่งศตวรรษ


เจ้าสัวฟอง มีความสนิทสนมกับเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (พ.ศ. 2400- พ.ศ. 2465) ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย (พ.ศ. 2440- พ.ศ. 2465) เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้ตั้งนามสกุลให้กับเจ้าสัวฟองว่า "ฟองอาภา" หลังจากเจ้าสัวฟองถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. 2463 ได้มีการนำศพบรรทุกเรือสำเภากลับไปฝังยังประเทศจีน ทายาทได้ตั้งให้ขุนจำนงจินารักษ์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ตำแหน่งกรรมการพิเศษ เมืองนครลำปาง เป็นผู้จัดการมรดกจีนฟองเพื่อดำเนินธุรกิจสัมปทานป่าไม้ อากรฝิ่น อากรสุราต่อไป ในนาม "คณะผู้รับมรดกจีนฟอง"ซึ่งเป็นนิติบุคคลในนาม "บริษัทฟองหลี" ขึ้น

ต่อมากิจการป่าไม้ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้ประกอบกับ รัฐบาลได้ปฏิรูปการปกครองโดยยกเลิกระบบเจ้าภาษี นายอากรและได้จัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทน ทำให้ฐานะของบริษัทฟองหลีไม่มั่นคง อาคาร"ฟองหลี" จึงถูกเปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของรองอำมาตย์โท ลีเสน เกาสิทธิ์ ต่อมารองอำมาตย์โท ลีเสน เกาสิทธิ์ได้ขายต่อให้พระยาอาณาจักรบริบาลในปี พ.ศ. 2484 และพระยาอาณาจักรบริบาลได้ขายต่อให้ นางคำใส เฮวอินปี ในปีพ.ศ. 2486 ครั้งนางคำใส เฮวอินปีถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2510 อาคารฟองหลีจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทของนางคำใส ซึ่งได้นำอาคารนี้ให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัยหลายปีต่อมา

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 เทศบาลเมืองลำปาง ได้ก่อสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรด้านข้างอาคารฝั่งทิศตะวันตก และมีการนำรถบดอัดชนิดสั่นสะเทือนมาใช้ในการปฏิบัติงาน จากผลดังกล่าวทำให้ผนังอาคารเกิดการทรุดตัว แยกออกเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ และผนังอาคารด้านทิศตะวันตกได้พังทลายลง เมื่อวันที่ 24 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ฝนกำลังตกหนัก

ลักษณะของอาคาร

อาคาร "ฟองหลี" เป็นอาคารขนมปังขิง 1 ใน 4 หลังของอาคารแบบขนมปังขิงที่เหลืออยู่ในจังหวัดลำปางในปัจจุบัน ลักษณะเป็นอาคารแถวขนานไปกับถนน สูง 2 ชั้น ยกพื้นสูงจากถนนประมาณ 1 เมตร มีความกว้าง 16 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตร หลังคาจั่วตัดขวางแบบจีน ชั้นบนเป็นห้องนอน มีระเบียงด้านหน้า
มีเสาไม้รับระเบียงเรียงรายอยู่ที่ทางเดินด้านล่างเป็นลักษณะอาคารแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลเข้ามาในสมัยนั้


บานประตูชั้นบนและชั้นล่างเป็นบานพับเฟี้ยมลูกฟักไม้สักแบบจีน มีการประดับตกแต่งทางเข้าด้านหน้าเป็นอย่างมาก เหนือช่องประตูเป็นช่องระบายอากาศ ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษา สวยงามแปลกตารูปครึ่งวงกลมค้ำยันระหว่างพื้นชั้นสองและเสารายระเบียงด้านหน้า ทำค้ำยันฉลุประดับตกแต่งเสาเม็ดเล็ก ๆ ทแยงมุมนอกจากนั้นยังตกแต่งด้วยไม้สักฉลุลวดลายโปร่ง บริเวณราวระเบียงด้านบนและชายคาด้านหน้า
ทำให้อาคารมีเสน่ห์สวยงามยิ่งนัก

ผนังอาคารเป็นแบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก (wall bearing) มีความหนาประมาณ 40 ซม. มีการเสริมบัวหงายแบบฝรั่ง คาดระหว่างชั้นบนและชั้นล่างของภายนอกอาคาร ขอบหน้าต่างมีการทำคิ้วก่อบัวเป็นลายปูนปั้นแบบตะวันตก ไว้เหนือหน้าต่างกันน้ำฝนย้อย หน้าต่างมีบานเกล็ดเพื่อให้ลมเข้า และสามารถเปิดกระทุ้ง หรือเปิดทั้งหมดได้ตลอดแนวเหมือนบานประตู มีการใช้บานพับ กลอน และเหล็กเส้นกับประตูหน้าต่าง อันเป็นวัสดุที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนการยึดไม้ใช้ระบบเดือยและสลัก มีการนำตะปูจีนมาใช้กับอาคารด้วย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไม้ ลักษณะที่เด่นที่สุดประการหนึ่งคือ ในส่วนของงานไม้ประดับตกแต่งทั้งหมด ไม่มีการทาสี บ่งบอกความเก่าของอาคารในยุคแรกของการก่อสร้างอาคารอิฐผสมกับไม้

การอนุรักษ์และบูรณะอาคาร "ฟองหลี"

หลังจากเก็บข้อมูลทางกายภาพของอาคารตามสภาพที่ปรากฎอยู่จริงในขณะนั้น พร้อมทั้งทำการคัดลอกแบบรายละเอียด (measure work) และเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเสร็จแล้ว ผู้เขียนจึงได้ประสานงานสถาปนิก คุณเมธี รัศมีวิจิตรไพศาล (สถ.1427 ส.) จากบริษัท Composition A เข้ามาเป็นสถาปนิกอำนวยการก่อสร้าง และ สถาปนิก จิรัฐกา จิตติรัตนากร มาเป็นคณะทำงานซึ่งในการบูรณะครั้งนี้สถาปนิก คุณเมธี ได้เสนอหลายแนวทาง แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปกับการออกแบบ (ภาพที่ 6) ซึ่งมีจุดเด่นที่มีการคงรูปแบบอาคารเก่าในด้านหน้าแลด้านข้างทั้งหมด อีกทั้งรูปทรงคุณค่าและอาคารที่ต่อเติมใหม่เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอย

การบูรณะใช้เวลา 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 จนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม
พ.ศ. 2540 อาคารที่บูรณะแล้วเสร็จ มีความสวยงามตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

รายละเอียดการบูรณะไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้เพราะมีรายละเอียดและขั้นตอนมากมาย ผู้เขียนได้บันทึกรายละเอียดและขั้นการบูรณะอาคาร "ฟองหลี" นี้ไปเป็นกรณีศึกษา บรรยายให้กับนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ "การใช้เทคนิคทางวิศวกรรมโยธาในการอนุรักษ์อาคาร" และหัวข้อ "การอนุรักษ์ศิลปกรรมในการซ่อมแซมอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตย์" ให้กับนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับนำชมสถานที่จริงประกอบการศึกษา

การใช้สอยประโยชน์ของอาคารหลังจากที่อาคารซ่อมเสร็จ ผู้เขียนได้จัดพื้นที่ของอาคาร 2 คูหาทำเป็น
"พิพิธภัณฑ์ตลาดจีน" รวบรวมเรื่องราวสิ่งของเครื่องใช้ โดยขอความอนุเคราะห์ยืมจากครอบครัวเก่าแก่ในละแวกตลาดจีนรุ่งเรือง อาทิเช่น ป้ายไม้ชื่อร้านที่มีการใช้ภาษาแสดงในป้ายถึง 4 ภาษา มีอายุกว่า 100 ปี
ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของชนชาติในยุค 100 ปีเศษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายโบราณของชุมชนตลาดจีน และของใช้สมัยโบราณต่าง ๆ อาทิปิ่นโตโบราณ
ใบแสดงสัญชาติคนในบังคับอังกฤษ ตะเกียงแก้วโบราณ หนังสือจีน โบราณเล่มใหญ่หลายเล่ม รวมทั้ง
รถม้าของจริงแบบดั้งเดิมที่มีประทุนเปิดปิดได้ และมีวงล้อเป็นซี่ไม้สักสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ดีเหมือนเดิม ไม้คัดท้ายหางเรือขนาดใหญ่ ฯลฯ

ส่วนอีกคูหาหนึ่งนั้นได้จัดเก็บ The Old Down Town Gallery จัดแสดง ศิลปกรรมหมุนเวียน ให้เหล่าศิลปินกลุ่มต่าง ๆ หมุนเวียนนำผลงานมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมซึ่งทั้งสองกิจกรรมไม่มีการเก็บมูลค่าเข้าชมแต่อย่างใด ได้รับการตอบรับจากประชาชนโดยเฉพาะนักเรียนเป็นอย่างดี

ตลาดจีนในวันนี้ ผ่านความรุ่งเรืองและการเปลี่ยนแปลง ตามวัฎจักรของสรรพสิ่งทั้งหลาย คนรุ่นก่อนได้สร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันมีคุณค่า ที่ช่วยเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมของเมืองลำปางในปัจจุบันเราชนรุ่นปัจจุบันควรที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้าง เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้มีความภาคภูมิใจ และเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต.
..................................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

อาทิตย์ 6
กันยา 52

Tuesday, July 21, 2009

บทความเพื่อสาธารณะ3 : ร่องรอยพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณศาลากลางเก่า



พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ลานนาโพสต์ (26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2550)

ร่องรอยจากการเดินทางไกล
:
บทความว่าด้วยความเคลื่อนไหวสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม
บริเวณศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม [1]

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์[2]

ข้อจำกัดของบทความนี้คือ เอกสารนี้เป็นการอธิบายให้เห็นความเคลื่อนไหวผลักดันผ่านประสบการณ์ และมุมมองของ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ต่อไปจะเรียกอย่างลำลองว่า ล้านคำลำปาง) เป็นหลัก ดังนั้นกรอบและวิธีการอธิบายรวมไปถึงข้อมูลที่เลือกใช้จึงมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

ปี
2545 ร่องรอยของจุดเริ่มต้น

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.ลำปาง นำโดย อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ในครั้งนั้นมีการนำเสนอว่าพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม มีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองลำปาง ในเวลาก่อนหน้านั้นได้มีการจุดกระแสสนับสนุนให้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางจากนายเฉลิมพล ประทีปะวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่ง ตุลาคม 2545
กันยายน 2546)


ปี
2546 เริ่มประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากที่มีการจัดตั้งสำนักงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ต่อไปจะเรียกอย่างลำลองว่า ล้านคำลำปาง)แล้ว โครงการก็ได้เริ่มจับประเด็นพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะเรื่องหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง และได้ทำการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

ในเวลาต่อมาล้านคำลำปางได้รับการประสานงานกับหอการค้าจังหวัดลำปาง เข้าร่วมประชุมกรอ.จังหวัด เมื่อวันที่
28 กรกฎาคม 2546 เพื่อนำเสนอเรื่องการจัดการพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมซึ่งนำไปสู่การประชุมกลุ่มย่อยและปฏิบัติงานต่อไป

ล้านคำลำปางได้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ในหัวข้อว่า
สะดวกเสวนา 5 ศาลากลางเก่าเอาไงดี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม) การเสวนาครั้งนี้นำไปสู่การวางแผนปฏิบัติ ก็คือ การจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวและทดลองใช้สถานที่ในปีต่อไป ในครั้งนี้ได้เริ่มขยายเครือข่ายผู้ร่วมงานมาที่หอการค้าจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

งานงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่
1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม จัดโดยเครือข่ายหอศิลป์ฯและล้านคำลำปาง เพื่อทดลองใช้สถานที่และการสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างเครือข่ายและคนลำปาง ใช้ทั้งส่วนพื้นที่อาคารชั้นที่1 เป็นส่วนนิทรรศการแสดงงานศิลปะโดยกลุ่มสล่าเขลางค์ นิทรรศการทางประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายโบราณของลำปางโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสนามหญ้าบริเวณด้านหน้าอาคาร ก็เป็นพื้นที่ของเวทีการแสดง ที่นั่งชมพร้อมขันโตก รวมไปถึงร้านค้า กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจพอสมควร


ปี
2547 เข้าสู่นโยบายระดับจังหวัด
การจัดงานดังกล่าวในด้านหนึ่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่เปิดขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น นิทรรศการของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง แต้มสี ตีเส้น เล่นดิน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 2-20 กุมภาพันธ์ 2547 ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการประสานงานผ่านอาจารย์ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มสล่าเขลางค์

การเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของจังหวัดลำปางนั้น เกิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางทำการย้ายออกจากตัวอาคารไปอย่างสิ้นเชิง จึงจำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานมาดูแลรักษาอาคารต่อเนื่อง จังหวัดพิจารณาเห็นถึงนโยบายเดิม จึงได้มอบพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางปรับปรุงอาคารได้ตามเหมาะสม ในเหตุผลที่ว่า เพื่อให้อาคารดังกล่าวสามารถรองรับการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ตามหนังสือ ที่ ลป 00169.3/2363 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 ลงนามโดย นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ตุลาคม 2546-กันยายน 2550)

หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้การดำเนินงานต้องประสานงานกับอบจ.ลำปางมากขึ้น
อบจ.ลำปางได้ทำการปรับปรุงสภาพอาคารด้วยการทาสีและตกแต่งภายในบางส่วนใหม่ รวมไปถึงการทำสนามด้านหน้าใหม่ มีการปลูกหญ้า ทำประตูรั้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานศาลหลักเมืองใหม่ด้วย

งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่
2 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม โดย คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง เมื่อวันที่ 28-30 พฤษภาคม ในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากอบจ.ลำปาง มิเพียงเท่านั้นเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมในลำปางก็เติบโตขึ้นอย่างกว้างขวาง คณะทำงานดังกล่าวกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมที่มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมนั่นเอง ซึ่งมีนโยบายที่จะเปิดการใช้พื้นที่ให้มากเท่าที่จะทำได้

จึงได้มีการประสานงานร่วมกับกลุ่มและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เป็นพื้นที่กลาง เป็นพื้นที่สาธารณะของคนลำปางในทางปฏิบัติ ทำให้ในปีนี้ได้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และหน่วยงานต่างๆมาร่วมใช้พื้นที่สาธารณะจำนวนมาก เช่น การเรียนการสอน
สืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์ฯ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดย ชมรมฮีตละกอน การประชุมฮ่ายฮอมต้อมผญา (ทุก 2 เดือน) งานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโคมศรีล้านนา (กรกฎาคม) กิจกรรมผ่อหนังดีที่หอศิลป์จัดร่วมกับโรงเรียนลำปางกัลยาณี (กรกฎาคม )ชมรมชาวปักษ์ใต้จังหวัดลำปาง มีการจัดงานหมรับ งานบุญเดือนสิบ ที่มีการฉายหนังตะลุงบริเวณลานหน้าอาคาร (ตุลาคม) งานแอ่วหอศิลป์...กิ๋นข้าวแลง (พฤศจิกายน) งานแฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์ (ธันวาคม) แม้กระทั่งงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างงานโอท็อปแชมเปี้ยน (ตุลาคม) เองก็ดี ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้นล้านคำลำปางยังได้ประสานงานให้สื่อมวลชนนักวิชาการอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม
ให้มาบรรยายพิเศษในงานที่ชื่อว่า หนทางสู่หอศิลป์ฯในวันที่ 28 มีนาคม อีกด้วย และยังได้อานิสงส์จากบทความที่คุณสุจิตต์เขียนแนะนำลงในหนังสือพิมพ์มติชนทำให้ความพยายามดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังจากการบรรยายดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนเพื่อทำการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้แบ่งเป็นโซนต่างๆ นำไปสู่การทำงานร่วมกับกลุ่มอำเภอต่างๆมากขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือ การที่สำนักงานจังหวัดได้ร่วมกับวิทยาลัยโยนก จัดทำ
โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง แม้ผลการศึกษาจะเป็นการเน้นไปที่การสร้างพื้นที่การแสดงนิทรรศการศิลปะล้วน ๆ ซึ่งมิได้ตรงกับแนวทางที่เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมกันดำเนินการมาก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า จังหวัดให้ความสนใจกับพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดกิจกรรมจำนวนมาก บทบาทของผู้ประสานงานก็ต้องรับบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารและขออนุญาตการใช้พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกกับอบจ.ลำปางโดยตรง
ขณะที่ล้านคำลำปางก็มีงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับหอศิลปวัฒนธรรมโดยตรงที่จำเป็นต้องดำเนินการด้วย จึงนำไปสู่การตัดสินใจลดบทบาทการประสานงานในการใช้พื้นที่ในปีต่อมา

ปี
2548 ปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของ
นโยบาย สถานที่ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก และงบประมาณ
ปัญหาที่สั่งสมมาก็คือ การขาดงานหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะผลักดันในเชิงนโยบายและงบประมาณ ในระหว่างนี้เป็นขั้นตอนของการตระเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ แม้จะมีปฏิบัติการ กิจกรรมความเคลื่อนไหวในหลายกลุ่มแต่ก็มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง ดังเห็นได้จากกรณีดังต่อไปนี้

เริ่มต้นปี 2548 ด้วยนิทรรศการศิลปะระดับชาติ เมื่อกลุ่มสล่าเขลางค์ในฐานะสมาชิกกลุ่มครูศิลป์แผ่นดินล้านนา ได้จัดนิทรรศการ
ครูศิลป์แผ่นดินล้านนาขึ้นวันที่ 21 มกราคม
21 กุมภาพันธ์ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นำงานมาร่วมแสดง และมาร่วมเสวนาในวันเปิดงานอีกด้วย อาจนับได้ว่าครั้งนี้เป็นการจัดนิทรรศการศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในลำปาง เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และผู้สนใจได้เข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ศิลปะในที่สาธารณะมากขึ้น ต่อจากนั้นก็มีการจัดนิทรรศการศิลปกรรมแต้มสี ตีเส้นเล่นดิน ครั้งที่ 15 อย่างไรก็ตามการดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่เริ่มติดขัด เนื่องจากว่าทางอบจ.ลำปางได้มีการปรับปรุงและย้ายหน่วยงานสำคัญมาใช้ในพื้นที่อาคารมากยิ่งขึ้น การใช้พื้นที่อาคารในฐานะหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางดังที่หวังกันไว้จึงมีข้อจำกัด

ขณะเดียวกันจังหวัดก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางขึ้นมา ตามหนังสือ ที่ วธ 0258/ว2247/115 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีนายเจริญสุข ชุมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางเป็นเลขานุการ เช่นเดียวกันกับมีตัวแทนของเครือข่ายหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดังกล่าวก็เป็นเพียงตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณสนับสนุนที่จะดำเนินการจัดตั้งได้จริง แม้จะมีการประชุมกันหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าใครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบทั้งในการดูแลสถานที่ และงบประมาณในการก่อสร้างใหม่ เนื่องจากว่าเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า บทบาทในการเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมของล้านคำลำปางได้ลดน้อยลง และปรับเปลี่ยนวิธีการจากการบริหารจัดการพื้นที่ไปสู่การลงลึกเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะนำมาบรรจุไว้ในหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง กิจกรรมแรกก็คือ
โครงการสัปดาห์เมืองเก่าสัญจรนครลำปาง ร่วมกันกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่
2 ลำปาง ได้มีการจัดทำนิทรรศการประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อ และภาพถ่ายโบราณ โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ รวมไปถึงมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับเรื่องเมืองเก่าลำปางด้วย นอกจากนั้นล้านคำลำปางยังได้พัฒนาส่วนเนื้อหาด้วยการร่วมสืบค้นเกี่ยวกับลักษณะทางชาติพันธุ์ของคนในจังหวัดลำปาง และในที่สุดออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า ฮู้คิง...ฮู้คนลำปาง เอกสารเพื่อการรู้จักตัวเอง พี่น้องผองเพื่อนชาวลำปาง โดยได้งบสนับสนุนมาจากโครงการสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น : กรณีลำปาง ซึ่งประสานงานผ่านมาทาง รศ.สมโชติ อ๋องสกุล

สิ่งที่ล้านคำลำปางพยายามที่จะกำหนดแนวทางการทำงานในปีนี้อยู่ในแผน
ความเคลื่อนไหว 1 ปีฮู้คิงเพื่อหอศิลป์ฯ (พฤษภาคม 2548-พฤษภาคม 2549) ซึ่งเน้นในการทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นข้อแลกเปลี่ยน กำหนดกรอบของช่วงเวลาเพื่อสร้างเอกภาพในการทำงาน และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องลำปางอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อนำไปสู่เรื่องราวและเนื้อหาในหอศิลป์ ซึ่งในแผนดังกล่าวยังเรียกร้องถึงหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้และได้ทำในระยะนี้ก็คือ การลดบทบาทเกี่ยวกับการประสานงานจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันก็เบนเป้าไปสู่การสร้างความรับรู้ และตื่นตัวในวงกว้าง ในระยะนี้ได้มีการใช้สื่อสาธารณะเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนลำปางอย่างเป็นกิจวัตร เช่น คลื่นวิทยุสมูทเรดิโอ
FM104.5 MHz หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ หนังสือพิมพ์แมงมุม หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์

อย่างไรก็ตามในปีนี้ก็ยังมีงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานจังหวัดลำปางได้แก่ การทำเวทีพิจารณ์ การจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง โดยจัดครั้งที่
1 วันที่ 26 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง

มีกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือ กลุ่มผู้บริหาร ผู้อำนวยการ หัวหน้าส่วนภาครัฐและเอกชน และครั้งที่
2 วันที่ 6 กันยายน 2548 ณ โรงแรมเวียงลคอร กลุ่มเป้าหมายหลักครั้งนี้คือ ภาคประชาชน พลเมืองจังหวัดลำปาง ทั้งสองครั้งดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง มีข้อสรุปการสอบถามข้อมูลในเชิงปริมาณที่ทำให้เห็นว่าควรจะสร้างหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางโดยไม่มีข้อกังขา

ไม่เพียงเท่านั้นสำนักงานจังหวัดยังสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง มายังล้านคำลำปางในการจัดทำสื่อเพื่อการส่งเสริมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อันได้แก่ หนังสือ
จากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง คู่มือรู้จักนครลำปางเบื้องต้น โปสการ์ดชุดฮู้คิง...รู้จักตัวเอง รู้จักลำปาง เพื่อหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง โปสเตอร์และคัทเอาท์รณรงค์ สิ่งเหล่านี้ดำเนินการเมื่อปลายปี 2548

ขณะที่ปรากฏการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของกาดกองต้าถนนคนเดิน
ในเดือนพฤศจิกายน ที่ทำให้พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ติดตลาดขึ้นเป็นกิจวัตร ในทุกวันเสาร์อาทิตย์ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 2549-2550 อาการเหนื่อยล้า และความเคลื่อนไหวที่แผ่วเบา
หลังจากคลื่นทางศิลปวัฒนธรรมลูกใหม่ทยอยซัดเข้ามาถึงชายฝั่ง หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง เริ่มถูกกลบลบเลือนไปตามกาลเวลา ในปี 2549 ถือเป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดนิทรรศการแต้มสี ตีเส้น เล่นดิน ครั้งที่ 16 ที่จัดที่อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ก่อนที่จะกลับไปจัดอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปางในปีหน้า

ล้านคำลำปางยังคงเดินแนวทางการจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาอยู่ ในปีนี้ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.)
จัดทำโครงการเมืองเก่านครลำปาง จัดทำ แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง ที่เชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติที่ให้ลำปางเป็นเมืองเก่าที่ควรได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน จริงอยู่ว่ากระบวนการในการทำแผนที่ได้ทำให้เกิดการลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ จัดเวทีเสวนาและกิจกรรมปลีกย่อยอื่นๆ แต่อาจกล่าวได้ว่าบทบาทนั้น ได้ขยับห่างออกไปจากพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางเป็นอย่างมากแล้ว ที่ยังหลงเหลือความเคลื่อนไหวอยู่ก็มีเพียงชมรมฮีตละกอนที่ยังสอนดนตรีพื้นเมืองอยู่ในช่วงวันหยุด

จนในที่สุดที่ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ สิ้นสุดลงบทบาทในนามล้านคำลำปางก็ยุติลงในที่สุด ก่อนที่จะพยายามถ่ายโอนข้อมูลลงสู่เว็บบล็อก
on Lampang : เปิดโลกลำปาง (http://onlampang.blogspot.com/) อย่างเป็นระบบ และพยายามใช้พื้นที่ดังกล่าวนำความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแวดวงศิลปวัฒนธรรมนครลำปางมาเผยแพร่อยู่เสมอ โดยหวังให้เป็นพื้นที่เสมือนหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางจำลองนั่นเอง

ปี 2551 การหวนกลับมาอีกครั้ง ในโอกาสของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สบร.)
แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สบร.) ได้คัดเลือกจังหวัดลำปางเพื่อเป็นจังหวัดนำร่องในการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในส่วนภูมิภาค มีการบันทึกว่าวันที่ 11 กันยายน 2551 จังหวัดลำปางร่วมกับสภาวัฒนธรรมและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้จัดประชุมโดยมีนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (255-255)เป็นประธาน และเชิญพลเรือเอกธนิฐ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเข้าร่วมประชุม ณ เทศบาลนครลำปาง

มีข้อสรุปว่า การจัดตั้งจะต้องครอบคลุมตัวอาคารศาลากลางหลังเก่า และต้องดูเรื่องสนามด้านหน้า รวมทั้งศาลาประชาคม และที่จอดรถด้วย ในเรื่องของการทำงานจะประสานกันระหว่างทางจังหวัดกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้แจ้งในที่ประชุมว่าจะได้ประสานไปยัง อบจ.ลำปาง เทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เพื่อขอให้รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลหลังจากที่เสร็จสิ้นแล้วด้วย
[3] ในขณะนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าจะมีองค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นได้เสนอตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าทางสถาบันจะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างได้มากน้อยเพียงใด

อนึ่งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ยังได้นำประเด็นดังกล่าวบันทึกลงในเว็บไซต์ของสถาบันด้วย ในประเด็นที่ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งมีข้อมูลของจังหวัดลำปางที่ระบุไว้ว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ จังหวัดลำปาง ซึ่งเจาะจงในการเลือกใช้อาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง
[4]

ปี 2552 สถานที่พร้อม มีหน่วยงานรับผิดชอบ มีงบประมาณสนับสนุน
หากนับการเดินทางมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นอย่างช้าก็นับได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วในการดำเนินการ แต่เมื่อเราเปรียบเทียบการสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองแต่ละแห่งแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานนัก เช่น หอวัฒนธรรมนิทัศน์เมืองพะเยา พ.ศ.2532-2539 (7 ปี) หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2536-2545 (9 ปี) และแต่ละแห่งก็มีจุดลงตัวอยู่ที่หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ สถานที่ที่ชัดเจน และมีแหล่งงบประมาณสนับสนุนที่แน่นอน

ในปีนี้ทางสถาบันให้ข้อมูลว่าจะให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการใน 3 ปีเป็นเงินกว่า 155 ล้านบาท ขณะที่ทางเทศบาลนครลำปางก็ยอมรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลจัดการพื้นที่ รวมไปถึงการที่จังหวัดส่งมอบพื้นที่บริเวณศาลหลักเมือง และบริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้กับเทศบาลนครลำปางดูแล ซึ่งจะต่อเนื่องกับการที่เทศบาลได้พัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดหลักเมือง

อนึ่งในการส่งมอบพื้นที่ครั้งนี้อบจ.ลำปางจะย้ายออกราวๆเดือนตุลาคม 2552 ขณะที่ตามข่าวระบุว่า บริเวณศาลาประชาคม และสำนักงานจะยังใช้เป็นที่เก็บของระหว่างที่รอขนย้ายทั้งหมด และจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นมาใช้พื้นที่ต่อไป
[5] ในเงื่อนไขตรงนี้ทางจังหวัด เทศบาลนครลำปาง และสถาบันจำต้องทำให้กระจ่างถึงพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องทำเรื่องของใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือไม่

แต่เส้นทางยังพึ่งเริ่มต้นเท่านั้น การที่ได้งบประมาณถือว่าเป็นด่านแรก การร่วมมือในการสร้างพื้นที่ดังกล่าวยังต้องอาศัยการผลักดันอีกไม่น้อย
.
.......................


เชิงอรรถ
[1]
เอกสารประกอบการประชุมเพื่อชี้แจงและร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 5 ธันวา อาคารกองช่าง-คลัง เทศบาลนครลำปาง
[2] อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ล้านคำลำปาง) ในช่วงปี 2546-2549
[3] ลานนาโพสต์. จัดสร้างหอศิลป์หาเจ้าภาพดูแลงบปี 53 [ระบบออนไลน์] แหล่งอ้างอิง
http://www.lampangpost.com/news/684-6.htm
[4] พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. พิพิธภัณฑ์ในอนาคต [ระบบออนไลน์] แหล่งอ้างอิง
http://www.ndmi.or.th/2008/museums/future/lampang.html (29 กันยายน 2551)
[5] ลานนาโพสต์ (26 มิถุนายน 2 กรกฎาคม 2552)
....................... ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง อังคาร 21 กรกฎา 52

Saturday, June 20, 2009

บทความเพื่อสาธารณะ2 : "ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก"

ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เีสียงประชาชน ราวๆปี 2548

ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่ หากนับไปอีกหนึ่งเดือนก็จะเข้าสู่ปีจอ พ.ศ.2549 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบวาระสำคัญหลายๆประการในแผ่นดินผืนหนังนครลำปางนี้ เช่น ครบรอบ 90 ปีการมาถึงลำปางของรถไฟสายเหนือ, 120 ปีของการก่อสร้างวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ และแน่นอน ครบรอบ 160 ปีชาตกาลของปราชญ์ ครูเมืองละกอน ครูบาอาโนฯ(ขอเรียกสั้นๆว่า ครูบาโนฯ) ผู้มีคุณูปการต่อเมืองนครลำปางและยังนับเป็นปัญญาชนในอดีต ที่คนลำปางไม่ค่อยรู้จัก ผู้เขียนจึงใคร่นำเรื่องราวของครูบาอาโนฯมาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

1.บรรยากาศบ้านเมืองสมัยนั้น
ในยุคที่นครลำปางกำลังเปลี่ยนแปลง เริ่มสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในอีกฟากฝั่งหนึ่งของน้ำแม่วัง โดยที่ พระยาคำโสม(เจ้าหลวงองค์ที่2 พ.ศ.2329-2337) ทำการสร้างวัดกลางเวียงหรือวัดบุญวาทย์ ต่อมาในสมัย พระเจ้าหอคำดวงทิพย์(เจ้าหลวงองค์ที่3 พ.ศ.2337-2368) ได้ฤกษ์ที่จะสร้างเมืองใหม่ ในเดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ (เหนือ ซึ่งนับเร็วกว่าภาคกลาง2เดือน) พ.ศ.2361 [พระครูพุทธิธรรมโสภิต:9] สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นปีที่เริ่มสร้างกำแพงเมือง คูเมือง ประตูเมืองและหอรบ ในการขยายเมืองซึ่งแน่นอนว่า สัมพันธ์กับไพร่ฟ้าประชากรที่เป็นกำลังสำคัญในด้านแรงงานการผลิตและก่อสร้าง ดังกรณีกรุงเทพฯ ใช้แรงงานจามขุดคูเมือง ลาวสร้างกำแพงเมือง [สุจิตต์ วงษ์เทศ : 115-117]

2.กำเนิดจากเชื้อสายจีน
พ่อจ๋อย(จีนไหหลำ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชาวจีนแรกๆที่ปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์ลำปาง คำถามก็คือว่า มาจากไหน มาทำอะไรที่ลำปาง) และแม่อุตส่าห์ (ที่น่าจะเป็นคนพื้นเมือง)ได้ให้กำเนิดทารกน้อย ณ บ้านปงสนุก นครลำปาง (หรือบ้านพะยาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาคที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ทั้งยังสามารถดำรงสำนึกตัวตนท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน) เมื่อพ.ศ.2369 ร่วมสมัยกับรัชกาลที่2 และพระยาไชยวงศ์(เจ้าหลวงองค์ที่4 พ.ศ.2368-2380) แห่งนครลำปาง ขณะที่พระยาพรหมโวหาร กวีคนสำคัญของภูมิภาค เกิดเมื่อพ.ศ.2345 ณ บ้านสิงห์ชัย

3.เข้าบวชเรียน
ท่านมีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทเมื่อครบ 20 ปีในปีพ.ศ.2389 ที่วัดปงสนุก โดยมีพระครูบาอินต๊ะจักร เป็นพระอุปัชฌาย์(ถือว่าเป็นศิษย์สายพระมหาเกสรปัญโญ หรือครูบามหาป่า แห่งวัดไหล่หิน เกาะคา และศิษย์สายต่างๆนี้เองเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและสำคัญ ดังปรากฏการไปมาหาสู่กันของพระภิกษุ และชาวพุทธในดินแดนแห่งนี้อยู่เสมอๆ ปรากฏอย่างชัดเจนในความเชื่อเรื่องการจาริกเพื่อไหว้พระธาตุตามเมืองต่างๆ

4.ใกล้ชิดเจ้าหลวง
ครูบาโนฯยังมีความใกล้ชิดกับเจ้าหลวงผู้ครองนครลำปาง ตั้งแต่สมัยเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม(เจ้าหลวงองค์ที่7 พ.ศ.2393-2416) ที่ร่วมกันฝังเสาหลักเมือง ณ วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400(ก่อนที่จะย้ายไปที่ศาลหลักเมืองปัจจุบัน) เจ้าสุริยะจางวาง(เจ้าหลวงองค์ที่9 พ.ศ.2425-2430)ที่ร่วมกันบูรณะวัดพระบาท และรอยพระบาท พ.ศ.2418 ด้วยบารมีดังกล่าว และการที่รู้จักผู้คนกว้างขวาง ก็คงจะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากบ้านเมืองจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปแรก

5.ภูมิศาสตร์ครูบาโนฯ เครือญาติอันกว้างขวาง
ครูบาโนฯยังมีการบันทึกถึงสภาพพื้นที่ต่างๆอีกด้วย ถ้านอกตัวเมืองนครลำปาง ก็มีดังนี้ เมืองแจ้ห่ม แจ้ซ้อน เมืองปาน งาว หางสัตว์(ห้างฉัตร) และยังรวมไปถึงพะยาว(พะเยา)ด้วย ส่วนในบริเวณเมืองนครลำปางและใกล้เคียงก็ปรากฏในบันทึกถึงย่านชุมชน และพื้นที่ต่างๆได้แก่ วัดเชียงราย วัดม่อนกระทิง วัดกู่ขาว วัดปันเจิง วันต้นโทง(ต้นธงชัย) วัดเสด็จ วัดพระบาท วัดกาดเมฆ วัดบ้านกล้วยแพะ บ้านแลง บ้านเอื้อม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการจาริกไปร่วมงานบุญและช่วยงานก่อสร้างเสนาสนะ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางไปมาหาสู่ และกลุ่มบ้านเมืองในสมัยก่อน ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันลึกซึ้ง มากกว่าที่เราคิด

6.ศิลปสถาปัตยกรรม น้ำมือครูบาโนฯ
แม้งานสร้างสรรค์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจะปรากฏอยู่ในบันทึกอย่างหลากหลาย(ได้แก่ การสร้าง, ซ่อมพระพุทธรูป, ฉัตรยอดเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วนครลำปาง) แต่ผลงานชิ้นเอกที่แสนจะโดดเด่นของท่านก็คือ วิหารพระเจ้าพันองค์ บนม่อนดอย วัดปงสนุกเหนือ ที่ลงมือ ในปีพ.ศ.2429 เมื่อครูบาโนฯอายุได้ 60 ปี พรรษา 40 นั่นเอง(คาดว่าน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว)

ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ควรจะตั้งเป็นคำถามอย่างยิ่งก็คือ นอกจากเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารวัดปงสนุกแล้วยังมีมิติอื่นๆอยู่ด้วยหรือเปล่า ในช่วงเวลาดังกล่าวถืออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ทั้งปัจจัยกดดันจากรัฐบาลสยามและปัจจัยภายนอก จากการเข้ามาของธุรกิจการทำไม้ รวมไปถึงฝรั่งและชาวพม่าบวกกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง(ถึงกับมีการก่อตั้งสถานกงสุลอังกฤษ นครลำปาง)และเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง ที่ต่อมาในช่วงตลอดทศวรรษ พ.ศ.2430-2440 ได้มีการก่อสร้างวัดพม่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน(ซึ่งใช้เงินมิใช่น้อย)

ยิ่งเมื่อพิจารณารายชื่อของผู้ร่วมบูรณะที่ประกอบด้วยฝ่ายเจ้านายลำปาง เจ้าสัวชาวจีน พ่อเลี้ยง ชาวลำปางพื้นเมือง ก็น่าจะตั้งเป็นข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง(ฝ่ายเจ้า) กลุ่มเศรษฐกิจ(เจ้าสัว-พ่อเลี้ยง) โดยเฉพาะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกจากรูปแบบทั่วๆไป ที่มีการนำเอาศิลปะแบบหัวเมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองปันนา มาใช้ น่าจะเป็นความพยายามแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตน ที่แตกต่าง ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่กดดันอยู่

วิหารดังกล่าว เป็นวิหารโถงทรงจัตรุมุขย่อมุม สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑป หลังคาซ้อน 3 ชั้นที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศ ตัวอาคารแสดงลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะล้านนา พม่า และจีน(หนักไปทางสิบสองปันนาด้วย) ชาวบ้านเอกันว่าวิหารนี้ สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง(เชียงเจิ๋ง)ในสิบสองปันนา ประเทศจีน

ครูบาอาโนชัยธรรมจินดา นำคติสัญลักษณ์ทางศาสนามาผสานกับงานศิลปกรรมได้อย่างวิจิตร แม้ว่าวิหารพระเจ้าพันองค์จะเป็นอาคารขนาดเล็ก แต่การจัดวางองค์ประกอบที่ย้ำถึงความสำคัญของตัวอาคาร ซึ่งเปรียบประดุจปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รอเพียงการมาของพระศรีอาริยเมตไตรย์ ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต วิหารหลังนี้ยังเน้นย้ำถึงจำนวนมากมายเป็นอเนกอนันต์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จมาเผยแพร่พระธรรมเพื่อให้มนุษย์ก้าวข้ามวัฏสงสาร ขณะเดียวกันก็ใช้งานศิลปกรรมแสดงสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาล รวมไปถึงการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้าที่เขียนเป็นภาพชาดกมาผสมผสานเป็นองค์ประกอบอย่างลงตัว จนศาสตราจาย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวงได้นำความงดงามไปเป็นต้นแบบของ หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง ในปีพ.ศ.2527

วิหารดังกล่าว น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมยุคท้ายๆที่มีพลัง ก่อนที่กระแสนิยมศิลปะแบบพม่า-วิคตอเรียน-อินเดีย และจีน ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง(และแบบมาตรฐานกรมศิลปากร) จะเข้ามามีบทบาทกว้างขวาง ความพยายามดังกล่าวจึงไม่ประสบผลเท่าใดนัก ความสำคัญของวิหารพระเจ้าพันองค์ มิได้ถูกยกย่อง หรือแม้แต่จะพัฒนารูปแบบดังกล่าวให้แตกยอดต่อไป (แม้ในแผนที่การท่องเที่ยว ในยุคกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ไม่ได้รับการระบุไว้)
7.บันทึกครูบาโนฯ พ.ศ.2358-2470
บันทึกดังกล่าวอยู่ในลักษณะบันทึกประจำปี สรุปสั้นๆบอกเหตุการณ์สำคัญต่างๆไว้ ในพ.ศ.2358-2453 เช่น ภัยธรรมชาติ การเดินทางไปบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ หรือกระทั่งเรื่องของเจ้านาย (ซึ่งในสมัยก่อน ตำรา บันทึกส่วนใหญ่เป็นตำรายา คัมภีร์ธรรมะ โหราศาสตร์ต่างๆ) ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับการปริวรรตออกมาสู่สาธารณะ โดย พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจ เมื่อ พ.ศ.2539 (ยังมีตำรา อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้สานต่อ และส่วนหนึ่งได้มีการสูญหายไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรแล้วหรือไม่ที่จะมีการจัดทำระบบการปริวรรตและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน)

ที่สำคัญก็คือ เป็นบันทึกอยู่ระหว่างเหตุการณ์สำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมลำปาง ตั้งแต่ยุคตั้งเมืองนครลำปาง และยุครวบอำนาจเข้าสู่สยามประเทศที่น่าสนใจ(ช่วงเวลานับแต่ก่อนยุคครูบาฯที่มีการคัดลอกต่อมา จนถึงหลังครูบาฯที่มีศิษย์เป็นผู้บันทึกต่อ)

8.ครูเมืองละกอน
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพหูสูต ในศาสตร์ต่างๆ อันได้แก่ การปกครองและเผยแพร่ งานศิลปสถาปัตยกรรม จิตรกรรม อักษรศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วรรณกรรม จนได้รับการขนานนามว่า ครูเมืองละกอน

ภายหลังทายาทได้อนุญาตต่อฝ่ายบ้านเมือง เพื่อใช้นามสกุลว่า “เครือจีนจ๋อย” อันเป็นการระลึกถึงต้นตระกูล (โยมพ่อของ ครูบาโนฯคือ จีนจ๋อยนั่นเอง)

คุณูปการของครูบาโนฯนั้นแม้จะประกาศในหน้ากระดาษ แต่ก็ได้น้อยกว่าน้อย ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องช่วยกันสืบสานต่อ และไม่ใช่กำลังของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงของพ่อแม่พี่น้องชาวลำปาง มิฉะนั้นแล้ว คงจะเหลือเพียงคำบ่น พร่ำเพ้อ ฟูมฟาย ซึ่งในที่สุดก็จะหายไปกับสายลม

อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
1. พระครูพุทธิธรรมโสภิต. ประวัติวัดปงสนุกเหนือและประวัติ,บันทึกครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี. ลำปาง : สหกิจการพิมพ์,2539.
2. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์.ไม่ปรากฏชื่อหนังสือ.2548
3. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯมาจากไหน?, กรุงเทพฯ : มติชน.2548
............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 20
มิถุนา 52

บทความเพื่อสาธารณะ1 :"ปัญญาชนสยาม...นามว่า ส.ธรรมยศ"

ปกนิตยสารโลกหนังสือ ฉบับ 26 ปี ของ ส.ธรรมยศ, เมษายน 2521
ภาพถ่ายแสน ธรรมยศ เมื่ออายุ 20 ปี ในปีค.ศ.1934/พ.ศ.2477 หลังจากสำเร็จการศึกษาจากเวียดนาม

ปัญญาชนสยาม...นามว่า ส.ธรรมยศ

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชน (ลำปาง) ราวๆปี 2548

1.
“...ขอให้เรามาร่วมกันวิเคราะห์ชีวิตของคนไทยผู้นั้น หรือชีวิตของ “พระเจ้ากรุงสยาม” อย่างเสรีตรงไปตรงมา ไม่ใช่อย่างนักการทูต ไม่ใช่อย่างนักพงศาวดารไม่ใช่อย่างพ่อค้า เร่ขายความฉลาด หากเปิดเผยทุกด้านทุกมุมอย่างนักค้นคว้าความเป็นจริงที่จริงที่สุดเท่าที่จะสามารถค้นคว้าได้ในยุคนี้...”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ใน Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม ผลงานชิ้นสุดท้ายของ ส.ธรรมยศ ที่คลอดมา ณ โรงพยาบาลวัณโรคกลาง เมืองนนท์ ที่ๆเดียวกับที่เขาใช้พักฟื้น เช่นเดียวกับที่ๆเขาลาโลกใบนี้ไปในพ.ศ.2495 ปีเดียวกับ ปีที่หนังสือพระเจ้ากรุงสยามปรากฏสู่บรรณพิภพ

แสน ธรรมยศ คือชื่อจริง(ต่อไปจะเรียกว่า แสน) ถือกำเนิด เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2457 ณ ตำบลปงพระเนตรช้าง จ.ลำปาง(ปัจจุบันยังปรากฏชื่อ ตรอกปงพระเนตรช้าง ที่เชื่อมระหว่างถนนทิพย์ช้าง กับ ถนนตลาดเก่า ใกล้กับสำนักงานไปรษณีย์ลำปาง) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พระนคร จนมีโอกาสไปเรียนมหาวิทยาลัยเอี๋ยง จั้ง ทั่น ที่ฮานอย เวียดนาม

แสน ผู้อายุสั้น(อายุเพียง 38ปี) เกิดในยุคที่ประเทศกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ จากยุคบุกเบิกของรถไฟ(สายเหนือมาถึงลำปางเมื่อ พ.ศ.2459) อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังมีประสบการณ์ได้ร่ำเรียนปรัชญาจาก เวียดนามอีกต่างหาก จึงมีหัวคิดที่ก้าวหน้า ชอบถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ มีความสามารถเป็นนักปรัชญา นักเขียน นักปาฐกถา แต่อย่างไรก็ตาม แสน ก็ถูกวิพากษ์กลับว่า เป็นประเภทเอาหลักไม่ได้ เป็นคนเจ้าอารมณ์ (โดย สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์) เป็นคนรีบร้อนเกินไป ไม่ได้ศึกษาให้กว้างขวางเสียก่อน (โดย วิทย์ ศิวะศริยานนท์ นักวรรณกรรม) ไม่ใช่คนเก่งประวัติศาสตร์...ไม่เรียนซ้ายขวามาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาข้อยุติที่ถูกต้อง(โดย ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนสารคดี)

แต่ด้วยความกล้าหาญ และสำนวนที่เป็นหนึ่งไม่เป็นสองของเขา จึงได้รับฉายาว่า ราชสีห์แห่งการเขียน ดั่งในหนังสือพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่4 อย่างตรงไปตรงมา ข้อความหลายหน้า อาจทำให้นักอ่านหัวอนุรักษ์สะดุ้ง แต่ถ้าอ่านด้วยใจเป็นธรรมแล้ว แสนมิได้มีเจตนาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด

มิเพียงเท่านั้น ความก้าวหน้าของแสน ยังปรากฏในข้อเสนอพัฒนาประเทศต่อรัฐบาลด้วย เช่น การเสนอให้เปิดการเรียนการสอนวิชาปรัชญาขึ้น ที่เป็นการศึกษาเพื่อยกระดับความคิดในการรับใช้และสร้างสรรค์สังคมด้วยซ้ำ ขณะที่วิชาดังกล่าวแม้ในปัจจุบันจะเปิดสอนกันเกร่อแต่ก็มิได้เปิดหูเปิดตาร่วมกับสังคมให้เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด บางที่เป็นเพียงวิชาพื้นฐานทั่วไป ปราศจากความสำคัญไปก็มี มีอ้างกันว่าเคยเสนอผู้ใหญ่ในรัฐบาลตั้งสภาการค้นคว้าแห่งชาติ(แสน ธรรมยศ,2547:310) เสนอให้สร้างชาติด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับที่อังกฤษและญี่ปุ่นได้ทำสำเร็จมาแล้ว(ซึ่งอาจจะล้มเหลวที่เมืองไทยก็ได้) เห็นว่าการนำเข้าความรู้เป็นเพียงแค่ชั้นสอง ไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาเองได้(แสน ธรรมยศ,2547:327)

สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดพิมพ์ครั้งที่2 เพื่อฉลอง วาระครบรอบ 2 ศตวรรษแห่งพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2547 แสนถึงได้เกิดใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

2.
แม้ร่างกายสังขารของแสนจะแตกสลาย แต่ก็หลงเหลือคมเขี้ยวของราชสีห์ที่ฝากไว้กับหนังสือ และตำราต่างๆจำนวนมาก (เมื่อเทียบกับอายุการทำงานของแสน) อาจเป็นไปได้ว่า ความคิดความเห็นของเขาจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสังคม ผลงานและชื่อเสียงก็หายเงียบไปกับกาลเวลา

ชื่อเสียงของแสนปรากฏอีกครั้งเมื่อบรรยากาศ 14 ตุลาคม 2516 แต่ก็อยู่ใต้เงาของศรีบูรพา และจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือพระเจ้ากรุงสยามกลายเป็นหนังสือหายาก จนมีคนเข้าใจผิดว่ากลายเป็นหนังสือต้องห้ามไป!!(แสน ธรรมยศ,2547:(9)) พอหลัง 6 ตุลาคม 2519 จึงเริ่มมีการรวบรวมกันอย่างไม่เป็นทางการโดยคนไทยในอเมริกา และไม่ได้แพร่หลายในเมืองไทย

ผลงานของแสน ได้รับการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ ปรัชญา ศิลปวรรณคดี งานวิจารณ์ เรื่องสั้น และประเภทอื่นๆจำนวน 30 ชิ้น(จากโลกหนังสือ) แต่จะมิกล่าวในรายละเอียดในที่นี้

งานของ แสน ถือเป็นเล่มแรกๆที่พยายามจะอธิบายงานทฤษฎีและวรรณคดีวิจารณ์ ซึ่งความใหม่ที่เป็นการนำเข้าความคิดจากนักวรรณกรรมทางตะวันตก ถือว่าเป็นเกียรติคุณอย่างปฏิเสธมิได้ แม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง จนถูกกล่าวว่า ไม่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนังสือวิชาการทีเดียว บางทีแสนอาจจะถ่ายทอดตัวตันทั้งหมดลงไปในข้อคิด งานเขียนอันหลากหลายของเขา ดังปรากฏในผลงานเรื่องสั้นที่มีลีลา และสำนวนอันโดดเด่น ขอยกตัวอย่างข้อความจากเรื่องสั้น เรื่อง วิญญาณที่ท่องเที่ยวไป ดังนี้

“…แต่เราแต่งงานกันไม่ได้หรอกนงราม มันผิดทฤษฎี ฉันต้องการแต่เพื่อนและความรัก ฉันกลัวที่สุดว่า ถ้าแต่งงานแล้ว ลูกของฉันจะโง่กว่าฉัน นี้ไม่เท่าไหร่ แต่เจ้าเด็กโง่นั้น จะไปเพิ่มจำนวนคนโง่แก่ฝูงมนุษย์ ฉันไม่ใช่คนฉลาดเท่าไหร่ก็จริง…แต่ลูกของเรา เธอเชื่อหรือว่ามันจะผ่าน 2 มหาวิทยาลัย เหมือนแม่มัน ขอให้เรารักกันอย่างนี้ อาณาจักรจุมพิต เป็นจักรวาลที่ฉันบูชา จุมพิตคือศาสนา ฉันรักเธอมากที่สุดเหมือนกัน…”

และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต แสนก็มิได้ลงหลักปักฐานกับใครจริงๆ ตายท่ามกลางความอ้างว้างของคนโสด

บุคลิกของแสนนั้น ถือว่าเป็นบุรุษผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง หยิ่งในศักดิ์ศรี ปากจัด นิยมสนทนาวิสาสะกับผู้คน บางท่านให้ความเป็นว่าเป็นนักปาฐกถาฝีปากเอก เป็นผู้บุกเบิกในวงการขีดๆเขียนๆ นี่เป็นบุคลิกในเชิงยกย่อง แน่นอนดังที่กล่าวมาแล้วว่า ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็ย่อมจะมีผู้คนกล่าวไว้เช่นกัน ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ผ่านมา

หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ประทับแน่นด้วยชีวประวัติของคนๆหนึ่ง โดยเฉพาะหน้ากระดาษนี้มิได้หมายเพียงจะเล่าขานถึง ตัวตน และบุคคลที่เป็นปัจเจก ที่ขาดความสัมพันธ์กับใครในโลกเท่านั้น แต่หวังใจอย่างยิ่งที่ให้เห็นถึงบทบาทที่คนหนึ่งคนได้บุกเบิกถางทางให้คนรุ่นหลังอย่างเต็มกำลัง ซึ่งก็เป็นสิทธิของเราที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง และสังคม ว่า เราจะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีเพียงใด ไม่ทำแค่เพียงรอคอยให้ใครบางคน กระโจนเข้ามาพร้อมกับม้าขาวและกำชะตาของสังคม บงการชีวิตของพวกเราทั้งหมด โดยที่เราได้แต่มองตาปริบๆ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยแต่เพียงน้อย ก็ตาม

3.
แสน มิเป็นเพียงชาวลำปางทั่วๆไป แต่ยังถือว่าตัวเขาเกิดในราชตระกูล ณ ลำปาง อันเป็นเชื้อสายทางมารดาที่ชื่อ เกี๋ยงแก้ว บิดาชื่อ ปัญญา ได้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพ่อวงศ์ เจ้าแม่จันทร์เที่ยง คำฝั้นศิริ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แสนจบจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ที่เขาเล่าว่า เมื่ออายุ 10 ขวบได้เป็นบรรณารักษ์ของโรงเรียนบุญวาทย์ฯ!!! เขายังได้ร่ำเรียนที่โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซีที่เป็นโรงเรียนคริสเตียนในลำปาง อันนับว่าเป็นโรงเรียนแนวหน้าในสมัยนั้น

ความสัมพันธ์กับบ้านเกิดของเขา จังหวัดลำปาง ยังปรากฏอยู่ในจดหมายที่บรรยายได้ชัดเจนว่า “...ผมเป็นคนลำปางที่ชาวลำปางหลายร้อยคนกล่าวว่า ลืมลำปาง ซึ่งมีเค้า เพราะผมจากลำปางไปตั้งแต่เด็กๆ เป็นหนุ่มอยู่กรุงเทพฯกับเมืองนอก ทำงานในก.ท. 14 ปี เพิ่งมาอยู่ลำปาง 10 เดือน ก็เมื่อ 29 สิงหา คือตอนป่วยหนัก ปีกลายนี้ แต่ไม่เคยเนรคุณ สถานศึกษาเดิม...ถ้าตาย ก็เสียดายที่จะทำอะไรให้บ้านลำปางบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำ...”(แกะจากลายมือจดหมาย ในโลกหนังสือ)

ไม่เท่านั้นยังฝากฝังอยู่ในเรื่องสั้นและบทความด้วย ได้แก่ "รำพึงมาที่ลำปาง" (ลงใน บางกอก พ.ศ.2489) ประวัตินครลำปาง (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2492 เป็นบรรณาการในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาส์น) ในประวัติฯมิวายที่จะฝากบทวิจารณ์พอแสบๆคันๆ ที่มุ่งวิจารณ์บ้านเมืองไว้ว่า

“...วิเคราะห์ในฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ถนนหนทางในนครลำปางจัดว่าทราม ฝุ่นขิ้นคลุ้งเป็นเมฆหมอก ปอดเมืองหรือสวนสาธารณะแห่งเดียวไม่มี บ้านเรือนและอาคารจัดสร้างกันโดยไม่รู้จักความงาม สถานศึกษาชั้นสามัญเจริญขึ้นมาก แต่อาชีวะศึกษาซึ่งควรขยายอย่างกว้างขวางยังล้าหลัง โรงพยาบาลของรัฐแพ้ โรงพยาบาลคณะมิชชั่น(โรงพยาบาลแวนแซนวูร์ด-ผู้เขียน) สถาบรรณอื่นๆ อันดำเป็นสำหรับเมืองเอกยังขาดอีกมากมาย เช่น โรงงานผลิตน้ำประปา หอสมุด และหอปาฐกสาธารณะ วิทยาลัยอาชีวะชั้นสูง ฯลฯ...”

ชีวิตช่วงหนึ่งของแสน ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์ใสงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ดุสิต พานิชพัฒน์ ลูกลำปางท่านหนึ่ง กล่าวถึงแสนว่า “…นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคุณสงวน สุจริตจันทร์ ซึ่งเป็นญาติกัน เปิดสอนภาษาอังกฤษที่ถนนสายกลาง (ทิพย์ช้าง) ลำปาง และต่อมาก็ได้ร่วมกับคุณแสน ธรรมยศ และคุณบุญเรียบ ศรีอ่อน ตั้งโรงเรียน GRAMMAR SCHOOL เป็นโรงเรียนกลางคืนสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และคำนวณ…”(ระบุว่าอยู่ในช่วงปีพ.ศ.2476)

แม้ว่า สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏลำปางจะเคยยกย่อง แสน ว่าเป็น ปัญญาชนนครลำปาง ในคราว 90 ปี ชาตกาลของเขา แต่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาไม่เพียงพอที่จำกัดอยู่แค่ลำปางเสียแล้ว ชีวิตและผลงานที่ไม่เป็นสองรองใคร รวมทั้งการที่สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ผลงานชิ้นสุดท้าย และชิ้นที่เขาภูมิใจที่สุด คือ Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม เป็นครั้งที่2 เมื่อปีที่แล้ว ควรจะเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า แสน ธรรมยศ คือ ปัญญาชนสยาม คนของประเทศ คนของแผ่นดินนี้ได้อย่างสมบูรณ์

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
"90 ปี ชาตกาล ปัญญาชนนครลำปาง ส.ธรรมยศ" ใน กาสะลอง จุลสารสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบัน
ราชภัฏลำปาง ปีที่3 ฉบับที่6 กันยายน-ธันวาคม 2546
โลกหนังสือ 7 (เมษายน 2521)
ส.ธรรมยศ. Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม,กรุงเทพฯ:มติชน.2547.
ส.ธรรมยศ. ประวัตินครลำปาง พิมพ์เป็นบรรณาการในงานหล่อพระพุทธรูปประจำหอพระธรรมและเทศน์มหาชาติชาดก ณ วัดเมืองสาส์น นครลำปาง 1-5 ธันวาคม 2492, ลำปาง?.2492.
ส.ธรรมยศ. เอแลน บาลอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว, กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า.2531.
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดุสิต พาณิชพัฒน์ ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว.
...................
อย่างไรก็ตาม พบว่า ได้มีการพิมพ์ Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม อีกครั้งในปี 2551 เ่ช่นเดียวกับ ชีวิตและผลงานของ ส.ธรรมยศ ที่เขียนโดย อสิธารา ก็ถูกมาตีพิมพ์ใหม่ในปีเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงการกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งกับปัญญาชนสยามผู้นี้

ผลงานของ ส.ธรรมยศ (ส่วนหนึ่ง)

ก.ปรัชญา
บทนำแห่งปรัชญาศาสตร์ (Introduction to Philosophy) ตีพิมพ์ พ.ศ. 2485
ประวัติศาสตร์ปรัชญา อภิปรัชญา ศาสตร์ปรัชญา ปรัชญาฝ่ายปฏิบัตินิยม

ข. ประวัติศาสตร์
REX SIAMEN SIUM หรือ พระเจ้ากรุงสยาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
ประวัตินครลำปาง
ลานนาไทยกับประวัติศาสตร์
ดร. ดิลกแห่งสยาม ดิลกนเทวราช

ค.ศิลปวรรณคดี
ศิลปแห่งวรรณคดี พิมพ์ครั้งแรก กันยายน พ.ศ. 2480
ปรัชญากับการกวี ตีพิมพ์ครั้งหลังในนิตยสารคุณหญิง เมษายน พ.ศ. 2516
เรื่องของวรรณคดี ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์

ง.งานวิจารณ์
ศิลปะแห่งการวิจารณ์ พิมพ์ลงในหนังสือ "แม่ยมรำลึก ที่จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2508
ปรัชญาของท่านเทียนวรรณ "ก.ศ.ร. กุหลาบ"
ชีวิตและงาน ชีวิตและงานศรีปราชญ์
ความปราชญ์ของสุนทรภู่
วิจารณ์งานของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วิจารณ์งานของหลวงวิจิตรวาทการ

จ. เรื่องสั้น
แมงดา พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารยุคทองรายเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หลงรูปสุดาพรรณ พิมพ์ครั้งแรกในเดลิเมล์วันจันทร์ พ.ศ. 2495
คำสาปวีนัส พิมพ์ครั้งแรกใน ปิยะมิตร พ.ศ. 2493 เสาชิงช้า (รวมเรื่องสั้น)
เอแลน บาลอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว, กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า.2531.

ฉ. ประเภทอื่น ๆ
วิถีแห่งสันติภาพถาวร
ตำราเรียนอังกฤษวิธีลัดใน 90 ชั่วโมง
เทนนิสโต๊ะ ตีพิมพ์ครั้งหลังในนิตยสารคุณหญิง เมษายน พ.ศ. 2509
คู่มือวัณโรค

อ่านเรื่องของ ส.ธรรมยศ เพิ่มเติมได้ที่

ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 20
มิถุนา 52