พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ลานนาโพสต์ (26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2550)
ร่องรอยจากการเดินทางไกล :
บทความว่าด้วยความเคลื่อนไหวสร้างพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม
บริเวณศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม [1]
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์[2]
ข้อจำกัดของบทความนี้คือ เอกสารนี้เป็นการอธิบายให้เห็นความเคลื่อนไหวผลักดันผ่านประสบการณ์ และมุมมองของ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ต่อไปจะเรียกอย่างลำลองว่า “ล้านคำลำปาง”) เป็นหลัก ดังนั้นกรอบและวิธีการอธิบายรวมไปถึงข้อมูลที่เลือกใช้จึงมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง โปรดอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
ปี 2545 ร่องรอยของจุดเริ่มต้น
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.ลำปาง นำโดย อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ในครั้งนั้นมีการนำเสนอว่าพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิม มีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองลำปาง ในเวลาก่อนหน้านั้นได้มีการจุดกระแสสนับสนุนให้พื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางจากนายเฉลิมพล ประทีปะวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ดำรงตำแหน่ง ตุลาคม 2545 – กันยายน 2546)
ปี 2546 เริ่มประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากที่มีการจัดตั้งสำนักงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ต่อไปจะเรียกอย่างลำลองว่า “ล้านคำลำปาง”)แล้ว โครงการก็ได้เริ่มจับประเด็นพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะเรื่องหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง และได้ทำการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี
ในเวลาต่อมาล้านคำลำปางได้รับการประสานงานกับหอการค้าจังหวัดลำปาง เข้าร่วมประชุมกรอ.จังหวัด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 เพื่อนำเสนอเรื่องการจัดการพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมซึ่งนำไปสู่การประชุมกลุ่มย่อยและปฏิบัติงานต่อไป
ล้านคำลำปางได้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ในหัวข้อว่า “สะดวกเสวนา 5 ศาลากลางเก่าเอาไงดี” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม) การเสวนาครั้งนี้นำไปสู่การวางแผนปฏิบัติ ก็คือ การจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวและทดลองใช้สถานที่ในปีต่อไป ในครั้งนี้ได้เริ่มขยายเครือข่ายผู้ร่วมงานมาที่หอการค้าจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
งานงานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 1 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม จัดโดยเครือข่ายหอศิลป์ฯและล้านคำลำปาง เพื่อทดลองใช้สถานที่และการสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างเครือข่ายและคนลำปาง ใช้ทั้งส่วนพื้นที่อาคารชั้นที่1 เป็นส่วนนิทรรศการแสดงงานศิลปะโดยกลุ่มสล่าเขลางค์ นิทรรศการทางประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายโบราณของลำปางโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสนามหญ้าบริเวณด้านหน้าอาคาร ก็เป็นพื้นที่ของเวทีการแสดง ที่นั่งชมพร้อมขันโตก รวมไปถึงร้านค้า กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจพอสมควร
ปี 2547 เข้าสู่นโยบายระดับจังหวัด
การจัดงานดังกล่าวในด้านหนึ่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่เปิดขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น นิทรรศการของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง แต้มสี ตีเส้น เล่นดิน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 2-20 กุมภาพันธ์ 2547 ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการประสานงานผ่านอาจารย์ที่เป็นสมาชิกในกลุ่มสล่าเขลางค์
การเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของจังหวัดลำปางนั้น เกิดขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางทำการย้ายออกจากตัวอาคารไปอย่างสิ้นเชิง จึงจำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานมาดูแลรักษาอาคารต่อเนื่อง จังหวัดพิจารณาเห็นถึงนโยบายเดิม จึงได้มอบพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางปรับปรุงอาคารได้ตามเหมาะสม ในเหตุผลที่ว่า เพื่อให้อาคารดังกล่าวสามารถรองรับการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ตามหนังสือ ที่ ลป 00169.3/2363 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 ลงนามโดย นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ตุลาคม 2546-กันยายน 2550)
หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้การดำเนินงานต้องประสานงานกับอบจ.ลำปางมากขึ้น อบจ.ลำปางได้ทำการปรับปรุงสภาพอาคารด้วยการทาสีและตกแต่งภายในบางส่วนใหม่ รวมไปถึงการทำสนามด้านหน้าใหม่ มีการปลูกหญ้า ทำประตูรั้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานศาลหลักเมืองใหม่ด้วย
งานฮอมแฮง...แป๋งข่วงเวียงละกอน(เพื่อหอศิลป์) ครั้งที่ 2 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม โดย คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง เมื่อวันที่ 28-30 พฤษภาคม ในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากอบจ.ลำปาง มิเพียงเท่านั้นเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมในลำปางก็เติบโตขึ้นอย่างกว้างขวาง คณะทำงานดังกล่าวกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของเครือข่ายทางศิลปวัฒนธรรมที่มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมนั่นเอง ซึ่งมีนโยบายที่จะเปิดการใช้พื้นที่ให้มากเท่าที่จะทำได้
จึงได้มีการประสานงานร่วมกับกลุ่มและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เป็นพื้นที่กลาง เป็นพื้นที่สาธารณะของคนลำปางในทางปฏิบัติ ทำให้ในปีนี้ได้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และหน่วยงานต่างๆมาร่วมใช้พื้นที่สาธารณะจำนวนมาก เช่น การเรียนการสอนสืบสานซึงสะล้อที่หอศิลป์ฯ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดย ชมรมฮีตละกอน การประชุมฮ่ายฮอมต้อมผญา (ทุก 2 เดือน) งานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโคมศรีล้านนา (กรกฎาคม) กิจกรรมผ่อหนังดีที่หอศิลป์จัดร่วมกับโรงเรียนลำปางกัลยาณี (กรกฎาคม )ชมรมชาวปักษ์ใต้จังหวัดลำปาง มีการจัดงานหมรับ งานบุญเดือนสิบ ที่มีการฉายหนังตะลุงบริเวณลานหน้าอาคาร (ตุลาคม) งานแอ่วหอศิลป์...กิ๋นข้าวแลง (พฤศจิกายน) งานแฮปปี้คอนเสิร์ตเดย์ (ธันวาคม) แม้กระทั่งงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างงานโอท็อปแชมเปี้ยน (ตุลาคม) เองก็ดี ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านั้นล้านคำลำปางยังได้ประสานงานให้สื่อมวลชนนักวิชาการอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ให้มาบรรยายพิเศษในงานที่ชื่อว่า หนทางสู่หอศิลป์ฯในวันที่ 28 มีนาคม อีกด้วย และยังได้อานิสงส์จากบทความที่คุณสุจิตต์เขียนแนะนำลงในหนังสือพิมพ์มติชนทำให้ความพยายามดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังจากการบรรยายดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนเพื่อทำการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้แบ่งเป็นโซนต่างๆ นำไปสู่การทำงานร่วมกับกลุ่มอำเภอต่างๆมากขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ การที่สำนักงานจังหวัดได้ร่วมกับวิทยาลัยโยนก จัดทำ โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง แม้ผลการศึกษาจะเป็นการเน้นไปที่การสร้างพื้นที่การแสดงนิทรรศการศิลปะล้วน ๆ ซึ่งมิได้ตรงกับแนวทางที่เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมกันดำเนินการมาก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า จังหวัดให้ความสนใจกับพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดกิจกรรมจำนวนมาก บทบาทของผู้ประสานงานก็ต้องรับบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารและขออนุญาตการใช้พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกกับอบจ.ลำปางโดยตรง ขณะที่ล้านคำลำปางก็มีงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับหอศิลปวัฒนธรรมโดยตรงที่จำเป็นต้องดำเนินการด้วย จึงนำไปสู่การตัดสินใจลดบทบาทการประสานงานในการใช้พื้นที่ในปีต่อมา
ปี 2548 ปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของ
นโยบาย สถานที่ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก และงบประมาณ
ปัญหาที่สั่งสมมาก็คือ การขาดงานหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะผลักดันในเชิงนโยบายและงบประมาณ ในระหว่างนี้เป็นขั้นตอนของการตระเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ แม้จะมีปฏิบัติการ กิจกรรมความเคลื่อนไหวในหลายกลุ่มแต่ก็มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง ดังเห็นได้จากกรณีดังต่อไปนี้
เริ่มต้นปี 2548 ด้วยนิทรรศการศิลปะระดับชาติ เมื่อกลุ่มสล่าเขลางค์ในฐานะสมาชิกกลุ่มครูศิลป์แผ่นดินล้านนา ได้จัดนิทรรศการครูศิลป์แผ่นดินล้านนาขึ้นวันที่ 21 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นำงานมาร่วมแสดง และมาร่วมเสวนาในวันเปิดงานอีกด้วย อาจนับได้ว่าครั้งนี้เป็นการจัดนิทรรศการศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในลำปาง เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และผู้สนใจได้เข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ศิลปะในที่สาธารณะมากขึ้น ต่อจากนั้นก็มีการจัดนิทรรศการศิลปกรรมแต้มสี ตีเส้นเล่นดิน ครั้งที่ 15 อย่างไรก็ตามการดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่เริ่มติดขัด เนื่องจากว่าทางอบจ.ลำปางได้มีการปรับปรุงและย้ายหน่วยงานสำคัญมาใช้ในพื้นที่อาคารมากยิ่งขึ้น การใช้พื้นที่อาคารในฐานะหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางดังที่หวังกันไว้จึงมีข้อจำกัด
ขณะเดียวกันจังหวัดก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางขึ้นมา ตามหนังสือ ที่ วธ 0258/ว2247/115 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีนายเจริญสุข ชุมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางเป็นเลขานุการ เช่นเดียวกันกับมีตัวแทนของเครือข่ายหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดังกล่าวก็เป็นเพียงตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณสนับสนุนที่จะดำเนินการจัดตั้งได้จริง แม้จะมีการประชุมกันหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าใครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบทั้งในการดูแลสถานที่ และงบประมาณในการก่อสร้างใหม่ เนื่องจากว่าเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า บทบาทในการเป็นผู้ประสานงานกิจกรรมของล้านคำลำปางได้ลดน้อยลง และปรับเปลี่ยนวิธีการจากการบริหารจัดการพื้นที่ไปสู่การลงลึกเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะนำมาบรรจุไว้ในหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง กิจกรรมแรกก็คือ โครงการสัปดาห์เมืองเก่าสัญจรนครลำปาง ร่วมกันกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ได้มีการจัดทำนิทรรศการประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อ และภาพถ่ายโบราณ โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิมเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ รวมไปถึงมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับเรื่องเมืองเก่าลำปางด้วย นอกจากนั้นล้านคำลำปางยังได้พัฒนาส่วนเนื้อหาด้วยการร่วมสืบค้นเกี่ยวกับลักษณะทางชาติพันธุ์ของคนในจังหวัดลำปาง และในที่สุดออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า ฮู้คิง...ฮู้คนลำปาง เอกสารเพื่อการรู้จักตัวเอง พี่น้องผองเพื่อนชาวลำปาง โดยได้งบสนับสนุนมาจากโครงการสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น : กรณีลำปาง ซึ่งประสานงานผ่านมาทาง รศ.สมโชติ อ๋องสกุล
สิ่งที่ล้านคำลำปางพยายามที่จะกำหนดแนวทางการทำงานในปีนี้อยู่ในแผน ความเคลื่อนไหว 1 ปีฮู้คิงเพื่อหอศิลป์ฯ (พฤษภาคม 2548-พฤษภาคม 2549) ซึ่งเน้นในการทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นข้อแลกเปลี่ยน กำหนดกรอบของช่วงเวลาเพื่อสร้างเอกภาพในการทำงาน และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องลำปางอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อนำไปสู่เรื่องราวและเนื้อหาในหอศิลป์ ซึ่งในแผนดังกล่าวยังเรียกร้องถึงหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้และได้ทำในระยะนี้ก็คือ การลดบทบาทเกี่ยวกับการประสานงานจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันก็เบนเป้าไปสู่การสร้างความรับรู้ และตื่นตัวในวงกว้าง ในระยะนี้ได้มีการใช้สื่อสาธารณะเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนลำปางอย่างเป็นกิจวัตร เช่น คลื่นวิทยุสมูทเรดิโอ FM104.5 MHz หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ หนังสือพิมพ์แมงมุม หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
อย่างไรก็ตามในปีนี้ก็ยังมีงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานจังหวัดลำปางได้แก่ การทำเวทีพิจารณ์ การจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง โดยจัดครั้งที่ 1 วันที่ 26 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง
มีกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือ กลุ่มผู้บริหาร ผู้อำนวยการ หัวหน้าส่วนภาครัฐและเอกชน และครั้งที่ 2 วันที่ 6 กันยายน 2548 ณ โรงแรมเวียงลคอร กลุ่มเป้าหมายหลักครั้งนี้คือ ภาคประชาชน พลเมืองจังหวัดลำปาง ทั้งสองครั้งดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง มีข้อสรุปการสอบถามข้อมูลในเชิงปริมาณที่ทำให้เห็นว่าควรจะสร้างหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางโดยไม่มีข้อกังขา
ไม่เพียงเท่านั้นสำนักงานจังหวัดยังสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง มายังล้านคำลำปางในการจัดทำสื่อเพื่อการส่งเสริมการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง อันได้แก่ หนังสือ จากอดีตสู่อนาคตเมืองนครลำปาง คู่มือรู้จักนครลำปางเบื้องต้น โปสการ์ดชุดฮู้คิง...รู้จักตัวเอง รู้จักลำปาง เพื่อหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง โปสเตอร์และคัทเอาท์รณรงค์ สิ่งเหล่านี้ดำเนินการเมื่อปลายปี 2548
ขณะที่ปรากฏการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของกาดกองต้าถนนคนเดิน ในเดือนพฤศจิกายน ที่ทำให้พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ติดตลาดขึ้นเป็นกิจวัตร ในทุกวันเสาร์อาทิตย์ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
ปี 2549-2550 อาการเหนื่อยล้า และความเคลื่อนไหวที่แผ่วเบา
หลังจากคลื่นทางศิลปวัฒนธรรมลูกใหม่ทยอยซัดเข้ามาถึงชายฝั่ง หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง เริ่มถูกกลบลบเลือนไปตามกาลเวลา ในปี 2549 ถือเป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดนิทรรศการแต้มสี ตีเส้น เล่นดิน ครั้งที่ 16 ที่จัดที่อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ก่อนที่จะกลับไปจัดอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปางในปีหน้า
ล้านคำลำปางยังคงเดินแนวทางการจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาอยู่ ในปีนี้ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) จัดทำโครงการเมืองเก่านครลำปาง จัดทำ แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง ที่เชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติที่ให้ลำปางเป็นเมืองเก่าที่ควรได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน จริงอยู่ว่ากระบวนการในการทำแผนที่ได้ทำให้เกิดการลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ จัดเวทีเสวนาและกิจกรรมปลีกย่อยอื่นๆ แต่อาจกล่าวได้ว่าบทบาทนั้น ได้ขยับห่างออกไปจากพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางเป็นอย่างมากแล้ว ที่ยังหลงเหลือความเคลื่อนไหวอยู่ก็มีเพียงชมรมฮีตละกอนที่ยังสอนดนตรีพื้นเมืองอยู่ในช่วงวันหยุด
จนในที่สุดที่ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ สิ้นสุดลงบทบาทในนามล้านคำลำปางก็ยุติลงในที่สุด ก่อนที่จะพยายามถ่ายโอนข้อมูลลงสู่เว็บบล็อก on Lampang : เปิดโลกลำปาง (http://onlampang.blogspot.com/) อย่างเป็นระบบ และพยายามใช้พื้นที่ดังกล่าวนำความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแวดวงศิลปวัฒนธรรมนครลำปางมาเผยแพร่อยู่เสมอ โดยหวังให้เป็นพื้นที่เสมือนหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางจำลองนั่นเอง
ปี 2551 การหวนกลับมาอีกครั้ง ในโอกาสของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สบร.)
แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สบร.) ได้คัดเลือกจังหวัดลำปางเพื่อเป็นจังหวัดนำร่องในการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในส่วนภูมิภาค มีการบันทึกว่าวันที่ 11 กันยายน 2551 จังหวัดลำปางร่วมกับสภาวัฒนธรรมและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้จัดประชุมโดยมีนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (255-255)เป็นประธาน และเชิญพลเรือเอกธนิฐ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเข้าร่วมประชุม ณ เทศบาลนครลำปาง
มีข้อสรุปว่า การจัดตั้งจะต้องครอบคลุมตัวอาคารศาลากลางหลังเก่า และต้องดูเรื่องสนามด้านหน้า รวมทั้งศาลาประชาคม และที่จอดรถด้วย ในเรื่องของการทำงานจะประสานกันระหว่างทางจังหวัดกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้แจ้งในที่ประชุมว่าจะได้ประสานไปยัง อบจ.ลำปาง เทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร เพื่อขอให้รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลหลังจากที่เสร็จสิ้นแล้วด้วย[3] ในขณะนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าจะมีองค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นได้เสนอตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าทางสถาบันจะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างได้มากน้อยเพียงใด
อนึ่งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ยังได้นำประเด็นดังกล่าวบันทึกลงในเว็บไซต์ของสถาบันด้วย ในประเด็นที่ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งมีข้อมูลของจังหวัดลำปางที่ระบุไว้ว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ณ จังหวัดลำปาง ซึ่งเจาะจงในการเลือกใช้อาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง [4]
ปี 2552 สถานที่พร้อม มีหน่วยงานรับผิดชอบ มีงบประมาณสนับสนุน
หากนับการเดินทางมาตั้งแต่ปี 2546 เป็นอย่างช้าก็นับได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วในการดำเนินการ แต่เมื่อเราเปรียบเทียบการสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองแต่ละแห่งแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานนัก เช่น หอวัฒนธรรมนิทัศน์เมืองพะเยา พ.ศ.2532-2539 (7 ปี) หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2536-2545 (9 ปี) และแต่ละแห่งก็มีจุดลงตัวอยู่ที่หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ สถานที่ที่ชัดเจน และมีแหล่งงบประมาณสนับสนุนที่แน่นอน
ในปีนี้ทางสถาบันให้ข้อมูลว่าจะให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการใน 3 ปีเป็นเงินกว่า 155 ล้านบาท ขณะที่ทางเทศบาลนครลำปางก็ยอมรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลจัดการพื้นที่ รวมไปถึงการที่จังหวัดส่งมอบพื้นที่บริเวณศาลหลักเมือง และบริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้กับเทศบาลนครลำปางดูแล ซึ่งจะต่อเนื่องกับการที่เทศบาลได้พัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดหลักเมือง
อนึ่งในการส่งมอบพื้นที่ครั้งนี้อบจ.ลำปางจะย้ายออกราวๆเดือนตุลาคม 2552 ขณะที่ตามข่าวระบุว่า บริเวณศาลาประชาคม และสำนักงานจะยังใช้เป็นที่เก็บของระหว่างที่รอขนย้ายทั้งหมด และจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นมาใช้พื้นที่ต่อไป[5] ในเงื่อนไขตรงนี้ทางจังหวัด เทศบาลนครลำปาง และสถาบันจำต้องทำให้กระจ่างถึงพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องทำเรื่องของใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือไม่
แต่เส้นทางยังพึ่งเริ่มต้นเท่านั้น การที่ได้งบประมาณถือว่าเป็นด่านแรก การร่วมมือในการสร้างพื้นที่ดังกล่าวยังต้องอาศัยการผลักดันอีกไม่น้อย.
.......................
เชิงอรรถ
[1] เอกสารประกอบการประชุมเพื่อชี้แจงและร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 5 ธันวา อาคารกองช่าง-คลัง เทศบาลนครลำปาง
[2] อดีตผู้ประสานงานหลักโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ล้านคำลำปาง) ในช่วงปี 2546-2549
[3] ลานนาโพสต์. จัดสร้างหอศิลป์หาเจ้าภาพดูแลงบปี 53 [ระบบออนไลน์] แหล่งอ้างอิง
http://www.lampangpost.com/news/684-6.htm
[4] พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. พิพิธภัณฑ์ในอนาคต [ระบบออนไลน์] แหล่งอ้างอิง
http://www.ndmi.or.th/2008/museums/future/lampang.html (29 กันยายน 2551)
[5] ลานนาโพสต์ (26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2552)
....................... ผู้สื่อข่าว on Lampang : เปิดโลกลำปาง อังคาร 21 กรกฎา 52
No comments:
Post a Comment