ขบวนแห่ครัวตาน วัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณอนุกูล ศิริพันธุ์

Saturday, June 20, 2009

บทความเพื่อสาธารณะ2 : "ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก"

ปี2549 ครบรอบ 160 ปี ชาตกาล ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุก

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เีสียงประชาชน ราวๆปี 2548

ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่ หากนับไปอีกหนึ่งเดือนก็จะเข้าสู่ปีจอ พ.ศ.2549 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบวาระสำคัญหลายๆประการในแผ่นดินผืนหนังนครลำปางนี้ เช่น ครบรอบ 90 ปีการมาถึงลำปางของรถไฟสายเหนือ, 120 ปีของการก่อสร้างวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ และแน่นอน ครบรอบ 160 ปีชาตกาลของปราชญ์ ครูเมืองละกอน ครูบาอาโนฯ(ขอเรียกสั้นๆว่า ครูบาโนฯ) ผู้มีคุณูปการต่อเมืองนครลำปางและยังนับเป็นปัญญาชนในอดีต ที่คนลำปางไม่ค่อยรู้จัก ผู้เขียนจึงใคร่นำเรื่องราวของครูบาอาโนฯมาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

1.บรรยากาศบ้านเมืองสมัยนั้น
ในยุคที่นครลำปางกำลังเปลี่ยนแปลง เริ่มสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในอีกฟากฝั่งหนึ่งของน้ำแม่วัง โดยที่ พระยาคำโสม(เจ้าหลวงองค์ที่2 พ.ศ.2329-2337) ทำการสร้างวัดกลางเวียงหรือวัดบุญวาทย์ ต่อมาในสมัย พระเจ้าหอคำดวงทิพย์(เจ้าหลวงองค์ที่3 พ.ศ.2337-2368) ได้ฤกษ์ที่จะสร้างเมืองใหม่ ในเดือน 8 ขึ้น 4 ค่ำ (เหนือ ซึ่งนับเร็วกว่าภาคกลาง2เดือน) พ.ศ.2361 [พระครูพุทธิธรรมโสภิต:9] สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นปีที่เริ่มสร้างกำแพงเมือง คูเมือง ประตูเมืองและหอรบ ในการขยายเมืองซึ่งแน่นอนว่า สัมพันธ์กับไพร่ฟ้าประชากรที่เป็นกำลังสำคัญในด้านแรงงานการผลิตและก่อสร้าง ดังกรณีกรุงเทพฯ ใช้แรงงานจามขุดคูเมือง ลาวสร้างกำแพงเมือง [สุจิตต์ วงษ์เทศ : 115-117]

2.กำเนิดจากเชื้อสายจีน
พ่อจ๋อย(จีนไหหลำ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มชาวจีนแรกๆที่ปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์ลำปาง คำถามก็คือว่า มาจากไหน มาทำอะไรที่ลำปาง) และแม่อุตส่าห์ (ที่น่าจะเป็นคนพื้นเมือง)ได้ให้กำเนิดทารกน้อย ณ บ้านปงสนุก นครลำปาง (หรือบ้านพะยาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาคที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ทั้งยังสามารถดำรงสำนึกตัวตนท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน) เมื่อพ.ศ.2369 ร่วมสมัยกับรัชกาลที่2 และพระยาไชยวงศ์(เจ้าหลวงองค์ที่4 พ.ศ.2368-2380) แห่งนครลำปาง ขณะที่พระยาพรหมโวหาร กวีคนสำคัญของภูมิภาค เกิดเมื่อพ.ศ.2345 ณ บ้านสิงห์ชัย

3.เข้าบวชเรียน
ท่านมีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทเมื่อครบ 20 ปีในปีพ.ศ.2389 ที่วัดปงสนุก โดยมีพระครูบาอินต๊ะจักร เป็นพระอุปัชฌาย์(ถือว่าเป็นศิษย์สายพระมหาเกสรปัญโญ หรือครูบามหาป่า แห่งวัดไหล่หิน เกาะคา และศิษย์สายต่างๆนี้เองเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและสำคัญ ดังปรากฏการไปมาหาสู่กันของพระภิกษุ และชาวพุทธในดินแดนแห่งนี้อยู่เสมอๆ ปรากฏอย่างชัดเจนในความเชื่อเรื่องการจาริกเพื่อไหว้พระธาตุตามเมืองต่างๆ

4.ใกล้ชิดเจ้าหลวง
ครูบาโนฯยังมีความใกล้ชิดกับเจ้าหลวงผู้ครองนครลำปาง ตั้งแต่สมัยเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม(เจ้าหลวงองค์ที่7 พ.ศ.2393-2416) ที่ร่วมกันฝังเสาหลักเมือง ณ วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400(ก่อนที่จะย้ายไปที่ศาลหลักเมืองปัจจุบัน) เจ้าสุริยะจางวาง(เจ้าหลวงองค์ที่9 พ.ศ.2425-2430)ที่ร่วมกันบูรณะวัดพระบาท และรอยพระบาท พ.ศ.2418 ด้วยบารมีดังกล่าว และการที่รู้จักผู้คนกว้างขวาง ก็คงจะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากบ้านเมืองจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปแรก

5.ภูมิศาสตร์ครูบาโนฯ เครือญาติอันกว้างขวาง
ครูบาโนฯยังมีการบันทึกถึงสภาพพื้นที่ต่างๆอีกด้วย ถ้านอกตัวเมืองนครลำปาง ก็มีดังนี้ เมืองแจ้ห่ม แจ้ซ้อน เมืองปาน งาว หางสัตว์(ห้างฉัตร) และยังรวมไปถึงพะยาว(พะเยา)ด้วย ส่วนในบริเวณเมืองนครลำปางและใกล้เคียงก็ปรากฏในบันทึกถึงย่านชุมชน และพื้นที่ต่างๆได้แก่ วัดเชียงราย วัดม่อนกระทิง วัดกู่ขาว วัดปันเจิง วันต้นโทง(ต้นธงชัย) วัดเสด็จ วัดพระบาท วัดกาดเมฆ วัดบ้านกล้วยแพะ บ้านแลง บ้านเอื้อม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการจาริกไปร่วมงานบุญและช่วยงานก่อสร้างเสนาสนะ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบริเวณนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินทางไปมาหาสู่ และกลุ่มบ้านเมืองในสมัยก่อน ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันลึกซึ้ง มากกว่าที่เราคิด

6.ศิลปสถาปัตยกรรม น้ำมือครูบาโนฯ
แม้งานสร้างสรรค์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจะปรากฏอยู่ในบันทึกอย่างหลากหลาย(ได้แก่ การสร้าง, ซ่อมพระพุทธรูป, ฉัตรยอดเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วนครลำปาง) แต่ผลงานชิ้นเอกที่แสนจะโดดเด่นของท่านก็คือ วิหารพระเจ้าพันองค์ บนม่อนดอย วัดปงสนุกเหนือ ที่ลงมือ ในปีพ.ศ.2429 เมื่อครูบาโนฯอายุได้ 60 ปี พรรษา 40 นั่นเอง(คาดว่าน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว)

ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ควรจะตั้งเป็นคำถามอย่างยิ่งก็คือ นอกจากเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารวัดปงสนุกแล้วยังมีมิติอื่นๆอยู่ด้วยหรือเปล่า ในช่วงเวลาดังกล่าวถืออยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ทั้งปัจจัยกดดันจากรัฐบาลสยามและปัจจัยภายนอก จากการเข้ามาของธุรกิจการทำไม้ รวมไปถึงฝรั่งและชาวพม่าบวกกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง(ถึงกับมีการก่อตั้งสถานกงสุลอังกฤษ นครลำปาง)และเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง ที่ต่อมาในช่วงตลอดทศวรรษ พ.ศ.2430-2440 ได้มีการก่อสร้างวัดพม่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน(ซึ่งใช้เงินมิใช่น้อย)

ยิ่งเมื่อพิจารณารายชื่อของผู้ร่วมบูรณะที่ประกอบด้วยฝ่ายเจ้านายลำปาง เจ้าสัวชาวจีน พ่อเลี้ยง ชาวลำปางพื้นเมือง ก็น่าจะตั้งเป็นข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง(ฝ่ายเจ้า) กลุ่มเศรษฐกิจ(เจ้าสัว-พ่อเลี้ยง) โดยเฉพาะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกจากรูปแบบทั่วๆไป ที่มีการนำเอาศิลปะแบบหัวเมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองปันนา มาใช้ น่าจะเป็นความพยายามแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตน ที่แตกต่าง ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่กดดันอยู่

วิหารดังกล่าว เป็นวิหารโถงทรงจัตรุมุขย่อมุม สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑป หลังคาซ้อน 3 ชั้นที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศ ตัวอาคารแสดงลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะล้านนา พม่า และจีน(หนักไปทางสิบสองปันนาด้วย) ชาวบ้านเอกันว่าวิหารนี้ สร้างโดยช่างเชียงแสน เลียนแบบหอคำเมืองเชียงเกี๋ยง(เชียงเจิ๋ง)ในสิบสองปันนา ประเทศจีน

ครูบาอาโนชัยธรรมจินดา นำคติสัญลักษณ์ทางศาสนามาผสานกับงานศิลปกรรมได้อย่างวิจิตร แม้ว่าวิหารพระเจ้าพันองค์จะเป็นอาคารขนาดเล็ก แต่การจัดวางองค์ประกอบที่ย้ำถึงความสำคัญของตัวอาคาร ซึ่งเปรียบประดุจปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รอเพียงการมาของพระศรีอาริยเมตไตรย์ ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต วิหารหลังนี้ยังเน้นย้ำถึงจำนวนมากมายเป็นอเนกอนันต์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จมาเผยแพร่พระธรรมเพื่อให้มนุษย์ก้าวข้ามวัฏสงสาร ขณะเดียวกันก็ใช้งานศิลปกรรมแสดงสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาล รวมไปถึงการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้าที่เขียนเป็นภาพชาดกมาผสมผสานเป็นองค์ประกอบอย่างลงตัว จนศาสตราจาย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวงได้นำความงดงามไปเป็นต้นแบบของ หอคำไร่แม่ฟ้าหลวง ในปีพ.ศ.2527

วิหารดังกล่าว น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมยุคท้ายๆที่มีพลัง ก่อนที่กระแสนิยมศิลปะแบบพม่า-วิคตอเรียน-อินเดีย และจีน ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง(และแบบมาตรฐานกรมศิลปากร) จะเข้ามามีบทบาทกว้างขวาง ความพยายามดังกล่าวจึงไม่ประสบผลเท่าใดนัก ความสำคัญของวิหารพระเจ้าพันองค์ มิได้ถูกยกย่อง หรือแม้แต่จะพัฒนารูปแบบดังกล่าวให้แตกยอดต่อไป (แม้ในแผนที่การท่องเที่ยว ในยุคกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็ไม่ได้รับการระบุไว้)
7.บันทึกครูบาโนฯ พ.ศ.2358-2470
บันทึกดังกล่าวอยู่ในลักษณะบันทึกประจำปี สรุปสั้นๆบอกเหตุการณ์สำคัญต่างๆไว้ ในพ.ศ.2358-2453 เช่น ภัยธรรมชาติ การเดินทางไปบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ หรือกระทั่งเรื่องของเจ้านาย (ซึ่งในสมัยก่อน ตำรา บันทึกส่วนใหญ่เป็นตำรายา คัมภีร์ธรรมะ โหราศาสตร์ต่างๆ) ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับการปริวรรตออกมาสู่สาธารณะ โดย พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจ เมื่อ พ.ศ.2539 (ยังมีตำรา อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้สานต่อ และส่วนหนึ่งได้มีการสูญหายไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรแล้วหรือไม่ที่จะมีการจัดทำระบบการปริวรรตและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน)

ที่สำคัญก็คือ เป็นบันทึกอยู่ระหว่างเหตุการณ์สำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมลำปาง ตั้งแต่ยุคตั้งเมืองนครลำปาง และยุครวบอำนาจเข้าสู่สยามประเทศที่น่าสนใจ(ช่วงเวลานับแต่ก่อนยุคครูบาฯที่มีการคัดลอกต่อมา จนถึงหลังครูบาฯที่มีศิษย์เป็นผู้บันทึกต่อ)

8.ครูเมืองละกอน
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพหูสูต ในศาสตร์ต่างๆ อันได้แก่ การปกครองและเผยแพร่ งานศิลปสถาปัตยกรรม จิตรกรรม อักษรศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วรรณกรรม จนได้รับการขนานนามว่า ครูเมืองละกอน

ภายหลังทายาทได้อนุญาตต่อฝ่ายบ้านเมือง เพื่อใช้นามสกุลว่า “เครือจีนจ๋อย” อันเป็นการระลึกถึงต้นตระกูล (โยมพ่อของ ครูบาโนฯคือ จีนจ๋อยนั่นเอง)

คุณูปการของครูบาโนฯนั้นแม้จะประกาศในหน้ากระดาษ แต่ก็ได้น้อยกว่าน้อย ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องช่วยกันสืบสานต่อ และไม่ใช่กำลังของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงของพ่อแม่พี่น้องชาวลำปาง มิฉะนั้นแล้ว คงจะเหลือเพียงคำบ่น พร่ำเพ้อ ฟูมฟาย ซึ่งในที่สุดก็จะหายไปกับสายลม

อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
1. พระครูพุทธิธรรมโสภิต. ประวัติวัดปงสนุกเหนือและประวัติ,บันทึกครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี. ลำปาง : สหกิจการพิมพ์,2539.
2. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์.ไม่ปรากฏชื่อหนังสือ.2548
3. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯมาจากไหน?, กรุงเทพฯ : มติชน.2548
............................
ผู้สื่อข่าว
on Lampang :
เปิดโลกลำปาง

เสาร์ 20
มิถุนา 52

No comments: